การถ่ายภาพที่ไกลจากโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ภาพ Pale Blue Dot จากยานวอยาเจอร์ 1 ที่ทำให้เรารู้ว่าโลกใบใหญ่ของเรานั้นก็ไม่ต่างอะไรกับจุดเล็ก ๆ หนึ่งจุดในระบบสุริยะ ซึ่งนั่นเป็นภาพถ่ายที่ถูกถ่ายขึ้นจากระยะ 6,060 ล้านกิโลเมตรจากโลกในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1990 ครองตำแหน่งภาพถ่ายที่ไกลจากโลกมากที่สุดมาตลอดระยะเวลาเกือบ 28 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้ เมื่อรุ่นน้องของมันอย่างนิวฮอไรซอนได้โค่นตำแหน่งนั้นลงไปอย่างเรียบร้อย

ภาพถ่าย Pale Blue Dot จุดสีขาวที่เห็นกลางภาพนั่นคือโลกของเรา ที่มา – NASA/JPL

ในขณะที่มันกำลังเดินทางไปยังวัตถุในแถบไคเปอร์อย่าง 2014 MU69 นิวฮอไรซอนได้ถ่ายภาพกระจุกดาวเปิด “Wishing Well” จากกล้องถ่ายภาพระยะไกล LORRI (Long Range Roconnaissance Imager) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้นมันอยู่ที่ระยะ 6,120 ล้านกิโลเมตรจากโลก ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ภาพ ๆ นี้กลายเป็นภาพถ่ายที่ไกลจากโลกมากที่สุดได้อย่างไม่ยากเย็น

ภาพถ่าย “Wishing Well” ที่มา – NASA/JHU

แต่สถิติมีไว้ให้ทำลาย เพราะไม่ถึง 2 ชั่วโมงให้หลัง ภาพถ่าย False color ของ 2012 HZ84 และ 2012 HE85 สองวัตถุในแถบไคเปอร์ก็ยึดตำแหน่งนั้นมาแทนในทันที และสถิติของมันก็กำลังรอวันถูกทำลายอยู่อย่างเรื่อย ๆ เมื่อนิวฮอไรซอนสามารถเดินทางได้ถึง 1.1 ล้านกิโลเมตรต่อวันเลยทีเดียว และนี่ก็ยังเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของการสำรวจวัตถุในโพ้นอวกาศลึก โดยนิวฮอไรซอนนั้นเป็นยานลำที่ 5 ที่เดินทางไปไกลกว่าวงโคจรของดาวเนปจูน ดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลออกไปที่สุดในระบบสุริยะ และยังครองสถิติต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น

  • การทำ course-correction maneuver ที่ไกลที่สุด (จุดเครื่องยนต์เพื่อเปลี่ยทิศทางการเดินทาง)
  • การสำรวจวัตถุที่ไกลที่สุดจากโลก (2014 MU69)
  • ยานลำแรกที่สำรวจดาวพลูโต
  • ยานลำแรกที่สำรวจวัตถุในแถบไคเปอร์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจก็คือยาน New Horizons นั้นได้นำเถ้ากระดูกของ Clyde Tombaugh ผู้คนพบดาวพลูโตไปกับยานด้วย ทำให้เขากลายเป็นมนุษย์ที่เดินทางออกไปไกลที่สุดในประวัติศาสตร์

LORRI  Long Range Reconnaissance Imager เป็นตาดวงสำคัญของยาน New Horizons เพราะมันทำหน้าที่เป็นกล้องสำหรับการนำร่องและถ่ายภาพเพื่อประมวลผลเส้นทาง,การหมุน ของตัวยาน ตัวนี้มีความละเอียดสูงมาก แต่น่าเสียดายที่กล้องตัวนี้ถ่ายได้แค่ภาพขาวดำเท่านั้น ส่วนภาพถ่ายของดาวพลูโตที่เราเห็นกันถูกถ่ายด้วยกล้อง Ralph กล้องถ่ายภาพสี ที่ถ่ายได้ตั้งแต่ช่วงคลื่นที่เรามองเห็นไปจนถึงอินฟาเรด

Objects 2012 HZ84 และ 2012 HE85 ที่ถ่ายโดยยาน New Horizons ที่มา – NASA/JHU

แถบไคเปอร์คือแถบของวัตถุก้อนหินและก้อนน้ำแข็งสกปรกที่อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป 4 – 14 พันล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นที่อยู่ของดาวเคราะห์แคระพลูโต รวมถึง 2014 MU69 เป้าหมายต่อไปของยาน New Horizons ด้วย ซึ่งมันอยู่ห่างออกไปจากโลกถึง 7,500 ล้านกิโลเมตร ณ ตอนนี้ยาน New Horizons กำลังเดินทางไปหามันด้วยความเร็วประมาณหนึ่งล้านกิโลเมตรต่อวัน

ปัจจุบันยาน New Horizons ได้เดินทางผ่านวงโคจรของดาวพลูโตไปเรียบร้อยแล้ว เข้าสู่แถบไคเปอร์ของระบบสุริยะ ที่มา – Plutosafari.com

NASA มีสถานีรับสัญญาณบนพื้นโลกทั้งหมด 3 จุด คือที่ ทะเลทรายโมเจฟในแคลิฟอร์เนีย , กรุงมาดริด ประเทศเสปน และ กรุงแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย จานทั้ง 3 จุดจะทำหน้าที่สลับกันรับข้อมูลในขณะที่โลกหมุนรอบตัวเอง ทำให้เราสามารถติดต่อกับยานอวกาศได้ตลอดเวลา NASA เรียกโครงข่ายนี้ว่า Deep Space Network

ในตอนนี้นิวฮอไรซอนกำลังอยู่ในช่วงภารกิจต่อขยาย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2017 และกำลังอยู่ในโหมดจำศีล และทางผู้ควบคุมภารกิจจาก Johns Hopkins Applied Physics Laboratory ตั้งใจจะปลุกมันพ้นจากนิทราในวันที่ 4 มิถุนายน เพื่อเตรียมความพร้อมกับการสำรวจ 2014 MU69 อ่านเรื่อง 2014 MU69 ได้ที่นี่

 

ที่มา NASA/JHU

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138