NASA ทุ่มงบหลายล้านส่งสเปิร์มขึ้นสถานีอวกาศ ทั้ง ๆ ที่บนนั้นมีผู้ชายตั้ง 6 คน

แน่นอนว่าในการขนส่งสิ่งของแต่ละอย่างขึ้นไปบนอวกาศนั้น เพียงแค่ 1 กิโลกรัม ก็ใช้เงินมากถึงเจ็ดแสนบาท โดยประมาณ นั่นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ISS Logistic Problem หรือการแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งของสถานีอวกาศนานาชาติ ที่ NASA จะต้องคำนวณต้นทุนให้คุ้มค่าที่สุดเวลาจะส่งอะไรก็ตามขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร การทดลอง และอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องใหญ่พอสมควรที่จะทำการจัดการทุกอย่างให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

นั่นหมายความว่าทุกอย่างบนสถานีอวกาศนานาชาตินั้น อะไรใช้ซ้ำได้ก็จะต้องถูกใช้ซ้ำทั้งหมด รวมถึงน้ำเสียจากตัวสถานีและจากนักบินอวกาศ ก็จะถูกนำมากลั่นเป็นน้ำไว้ใช้ในการดื่มกินด้วยเช่นกัน

ยาน Dragon ที่ถูกส่งขึ้นไปในภารกิจ CRS-14 ที่มา – SpaceX

มีเรื่องน่าสนใจล่าสุดเมื่อ NASA ได้ทำการส่งสเปิร์มของมนุษย์จำนวนหนึ่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติร่วมกับสัมภาระอื่น ๆ ในยาน Dragon ของ SpaceX ในภารกิจ CRS-14 ที่ถูกส่งขึ้นไปเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา นอกจากสเปิร์มของมนุษย์แล้วยังได้มีการส่งสเปิร์มของวัวขึ้นไปด้วยเช่นกัน

สำหรับการส่งในครั้งนี้นั้น NASA ต้องการที่จะทดลองความสามารถในการเคลื่อนที่ของสเปิร์มในสภาวะไร้น้ำหนัก ว่าพฤติกรรมการแหวกว่ายในน้ำ Semen นั้นเอื้ออำนวยต่อการสืบพันธ์ของมนุษย์ในอวกาศหรือเปล่า แน่นอนว่าในอนาคตมนุษย์จะเข้าสู่ยุคที่ต้องเดินทางในอวกาศเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเดินทาง หรือระหว่างที่อยู่บนดาวอื่น ดาวอังคาร หรือดวงจันทร์ ที่ล้วนแล้วแต่มีความเร่งจากแรงโน้มถ่วงน้อยกว่าโลก

นักวิทยาศาสตร์กำบังบรรจุสเปิร์มก่อนขึ้นยาน ที่มา – NASA

การทดลองนี้จะศึกษาตัวแปรสำคัญได้แก่ ความเร็วในการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม ความอิสระในการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม และโอกาสที่จะเกิดการปฏิสนธิกับไข่ ในสภาวะไร้น้ำหนัก (ซึ่งจะเป็นการศึกษาแนวโน้มเฉย ๆ ยังไม่มีการส่งเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียขึ้นไป) และหลังจากการทดลองนี้ จะมีการทำการแช่แข็งสเปิร์มอีกครั้งแล้วส่งกลับมายังโลกด้วยยาน Dragon เช่นกัน

เรื่องน่าสนใจและน่านำมาคิดก็คือ ทำไม NASA ถึงไม่ใช้ประโยชน์จากนักบินอวกาศชายที่ตอนนี้มีถึง 6 คนประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ในการสร้างตัวอย่างขึ้นมา แทนที่จะต้องนำตัวอย่างขึ้นไปจากบนโลก Live Science ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้เช่นกันบอกว่า “it’s understandable why the space agency didn’t go that route, if for no other reason than the limits of what can be reasonably demanded in even an outer space workplace” หมายความว่า มันก็เป็นเรืองที่เข้าใจได้ว่าทำไม NASA ถึงไม่ยอมใช้วิธีนั้น (ให้นักบินช่วยตัวเอง)  ซึ่งก็น่าจะเป็นเหตุผลด้านข้อจำกัดของสิ่งที่สมควรแก่การทำทำในสภาพการทำงานในอวกาศ

สเปิร์มเมื่อมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ ที่มา – The University of Kansas/Joseph Tash

ในรายงานเรื่องการทดลอง Micro-11 ของ NASA บอกว่า ในการทำการทดลองนักบินอวกาศจะนำสเปิร์มมากระตุ้นให้เคลื่อนที่ด้วยสารเคมี จากนั้นจะมีการบันทึกภาพการเคลื่อนที่ผ่านกล้องจุลทรรศน์และอัดวิดีโอไว้เพื่อนำมาศึกษา และแน่นอนว่าเราก็คงจะได้เห็นวิดีโอการเคลื่อนที่ของสเปิร์มในอวกาศเร็ว ๆ นี้

ปัจจุบันมนุษย์เริ่มมีความเข้าใจต่อผลกระทบทางร่างกายในการอาศัยอยู่ในอวกาศอย่างเป็นเวลานาน ตั้งแต่ระดับกล้ามเนื้อ อารมณ์ จนไปถึงระดับ DNA แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ปรากฏชัดก็คือความสามารถในการสืบพันธุ์ของมนุษย์ในอวกาศ และแน่นอนว่ายังไม่เคยมีใครทำอะไรกันในอวกาศมาก่อน ทั้งนี้ซักวันหนึ่งเมื่อความรู้ความเข้าใจของเรามาถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว สองมนุษย์คู่แรกที่ทำอะไรกันในอวกาศจะต้องถูกบันทึกไว้อย่างน่าภาคภูมิใจแน่นอน

อ้างอิง

Futurism – Can Humans Conceive In Space? NASA Sent Sperm To The ISS To Find Out

Smithsonian – NASA Send Sperm to the ISS

Live Science – There’s a Lot of Sperm on the International Space Station Right Now

NASA – Micro-11

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.