ใครคือลูกค้าของ SpaceX รวมลูกค้าประจำที่ทำเงินให้ Elon Musk

SpaceX บริษัทธุรกิจการขนส่งอวกาศที่ตอนนี้กำลังมาแรงมากที่สุด ปัจจุบัน SpaceX ได้ทำการส่ง Falcon 9 จรวดที่ทันสมัยที่สุดในโลกให้บริการลูกค้าต่าง ๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชนไปแล้วมากกว่า 50 เที่ยว และในปี 2018 นี้ SpaceX มียอดจองเที่ยวบินสูงถึง 30 เที่ยว เฉลี่ยง่าย ๆ ว่ามีการปล่อย 2-3 ครั้งในแต่ละเดือน ซึ่งเรียกได้ว่าสูงที่สุดและมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกในแต่ละปี

ก็เหมือนจะสมเหตุสมผล ปัจจุบันนอกจากเราจะมีบริษัทด้านดาวเทียมขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกตั้งแต่ Intelsat, Iridium, Inmarsat, SES, AsiaSat หรือ Thaicom ณ ปัจจุบันเรายังมีบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ มากมายด้านอวกาศ รวมถึงของไทยที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่าง Mu Space และบริษัทอื่น ๆ อีกนับร้อย ยังไม่รวมดาวเทียมทดลองของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมที่ต่างต้องการจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร นั่นทำให้การแข่งขันทางด้านราคาและการให้บริการของบริษัท Launch Provider (บริการส่งของขึ้นสู่อวกาศ) ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบัน SpaceX ถ้าเทียบกันกิโลกรัมต่อกิโลกรัมแล้ว ก็กลายเป็นผู้ให้บริการที่มีมาตรฐานสูงแต่มีราคาถูกที่สุด

ดาวเทียมขนาดเล็กของบริษัท PlanetLab ที่มา – Planet

ผู้เขียนมีโอกาสได้คุยกับสตาร์ทอัพหลายบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึง Planet Lab ที่ทำดาวเทียมถ่ายรูปขนาดเล็กบนวงโคจรโลก ก็พบว่าบริษัทพวกนี้จะมีตัวเลือกสำคัญอยู่ 2 ทางคือ SpaceX และจรวดของอินเดีย อย่างไรก็ตามบริษัทสตาร์ทอัพเหล่านี้เป็นการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กฝากขึ้นไปในลักษณะของ Secondary Payload ซึ่งจะส่งขึ้นไปพร้อมกับดาวเทียมดวงใหญ่

จรวด Delta IV Heavy จรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกก่อนการมาของ Falcon Heavy ผลิตโดย Boeing ที่มา – Spaceflight Insider

ดาวเทียมดวงใหญ่ที่ว่าก็ได้แก่ดาวเทียมจากบริษัทขนาดใหญ่ที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งก็มีเพียงไม่กี่บริษัทด้านการขนส่วอวกาศที่สามารถส่งได้ หลัก ๆ ก็คือ SpaceX, ULA (ความร่วมมือระหว่าง Boeing และ Lockheed Marin), ArianeSpace จากฝั่งยุโรป และจรวดของจีน รัสเซีย บริษัทพวกนี้คือบริษัทที่มีจรวดขนส่งขนาดใหญ่พอที่จะส่งดาวเทียมหลักสิบหรือหลายสิบตันขึ้นสู่วงโคจรได้ ที่เหลืออย่าง Rocket Lab จะสามารถปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กเท่านั้น

แน่นอนว่ารายได้หลักของ SpaceX นั้นก็มาจากดาวเทียมขนาดใหญ่ ซึ่งผู้เขียนจะสรุปในบทความนี้ว่ามีบริษัทไหนบ้าง แต่ความจริง จริง ๆ ก็คือ ลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ SpaceX นั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น NASA องค์การด้านอวกาศของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

NASA กับเงินก้อนมหาศาล

SpaceX นั้นมีความสัมพันธ์กับ NASA มาอย่างยาวนาน NASA ได้ให้ทุน SpaceX ในโครงการ Commercial Resupply เพื่อจัดหายานอวกาศในการส่งของขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ SpaceX ได้สร้างยาน Dragon และจรวด Falcon 9 ขึ้น ซึ่งก็มีการพัฒนาและใช้งานในโครงการ CRS มาจนถึงปัจจุบัน และมีกำหนดสิ้นสุดสัญญาที่ 20 ครั้ง สัญญานี้ทำให้ SpaceX มีรายได้เข้ามา หนึ่งหมื่นสี่พันล้านเหรียญ ประมาณ สี่แสนสามหมื่นล้านบาท แลกกับการส่งของให้ ISS 20 ครั้ง

ยาน Dragon กำลังถูกจับโดยแขนกลของสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – SpaceX

ในตอนนั้น NASA ยังได้มอบทุนเท่ากันให้กับบริษัท Orbital ATK เจ้าของยานอวกาศชื่อ Cygnus แต่ Orbital สามารถส่งยานให้กับ NASA ได้เพียงแค่ 10 ครั้งเท่านั้น (ทำให้เมื่อเทียบกัน flight ต่อ flight แล้ว SpaceX ถูกกว่าถึง 2 เท่า)

ล่าสุดกับทาง NASA SpaceX ได้รับทุนก้อนที่สองได้แก่ทุน Commercial Crew หรือการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศ ณ ตอนนี้ 3,144 ล้านเหรียญ​หรือเกือบหนึ่งแสนล้านบาท จำนวนนี้เพียงเพื่อพัฒนายานอวกาศสำหรับคนนั่ง ซึ่งตามแผนของ SpaceX คือยาน Drago 2 สัญญานี้ยังไม่รวมการส่ง ซึ่งถ้า SpaceX ทำสำเร็จก็อาจจะมีรายได้เข้ามาแตะถึงหลักล้านล้านบาท ในเวลาประมาณ 5-10 ปี

ยาน Dragon 2 ของ SpaceX ที่มา – SpaceX

นั่นทำให้รายได้อันดับหนึ่งของ SpaceX มาจาก NASA เป็นหลักอย่างชัดเจน ส่วนอันดับถัด ๆ ไปนั้นก็จะมาจากการให้บริการการปล่อยดาวเทียม (เรียกกลุ่มนี้รวมว่าบริษัทดาวเทียม) ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว SpaceX จะคิดราคาการปล่อย Falcon 9 อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านเหรียญต่อเที่ยว บวกลบหลักล้าน และหากมีการใช้จรวดที่ผ่านการใช้งานแล้วก็จะได้ราคาที่ถูกลง รวมถึงหากเป็นการปล่อยสัญญาระยะยาวก็จะไ้ด้รับส่วนลดเช่นกัน เหมือนที่ Iridium เลือก SpaceX ในการปล่อยดาวเทียมชุด Iridium NEXT

ABS และ Eutelsat ทำการหารค่าปล่อยกันด้วยการเอาดาวเทียมมาซ้อนกัน ที่มา – Eutelsat/ABS

อีกหนึ่งวิธีที่บริษัทดาวเทียมนิยมทำกันคือการหารค่าปล่อย เช่น EutelSat และ ABS เคยทำการหารค่าปล่อยกันด้วยการติดตั้งดาวเทียมซ้อนกัน แล้วปล่อยขึ้นไปกับจรวดลำเดียว ในเดือนมิถุนายนปี 2016

ซึ่งเมื่อเรียงตามลำดับครั้งการปล่อยแล้ว (จริง ๆ ผู้เขียนอยากจัดเรียงตามรายได้ แต่ SpaceX ไม่มีการเปิดเผยรายได้ตามสัญญา ทำให้ไม่สามารถเรียงตามราคาได้ แต่ราคาต่อ Flight ก็จะไม่ต่างกันมาก ทั้งนี้จะมีการบอกว่าเป็นการใช้จรวดซ้ำกี่ครั้ง เพื่อหักส่วนลดได้)

Iridium ดีลใหญ่ 7 เที่ยวบิน

Iridium บริษัทดาวเทียมเก่าแก่ของโลกผู้สร้างโครงข่ายสื่อสารบน Low Earth Orbit ด้วยกลุ่มดาวเทียมหลาย ๆ ดวง ในปี 2015 Iridium ได้ทำการพัฒนาดาวเทียมชุดใหม่เพื่อทดแทนดาวเทียมกลุ่มเก่าในชื่อว่า Iridium NEXT โดย Iridium จะมีดาวเทียมทั้งหมด 70-75 ดวงตลอดการปล่อยทั้งหมด 7-8 ครั้งของ Falcon 9 โดยใน 1 เที่ยว Falcon 9 จะทำการบรรทุกดาวเทียมจำนวน 10 ดวง ขึ้นสู่วงโคจร

ดาวเทียมชุด Iridium NEXT ที่มา – SpaceX

สัญญาที่ Iridium ได้ทำไว้กับ SpaceX สำหรับการปล่อย 7 เที่ยวนี้อยู่ที่ 492 ล้านเหรียญ หรือ หนึ่งหมื่นห้าพันล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดจากบริษัทให้บริการดาวเทียมที่มอบให้กับ SpaceX ปัจจุบัน SpaceX ณ วันที่เขียนบทความได้ทำการส่งดาวเทียมให้กับ Iridium ไปแล้ว 5 ดวง ดังนั้นเหลืออีกแค่ 2 เที่ยว ก็จะครบตามสัญญา ส่วนในด้านของการลดต้นทุนนั้น SpaceX ได้ใช้จรวดซ้ำในการส่งไปแล้ว 2 ลำ และเป็นที่ค่อนข้างชัดเจนว่า SpaceX จะใช้จรวดซ้ำกับ Iridium ในรอบถัดไป

SES 4 เที่ยวบิน

SES บริษัทดาวเทียมยักษ์ใหญ่ของโลกจากประเทศลักเซมเบิร์กเจ้าของดาวเทียม SES ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่ให้บริการลงมาจากวงโคจร Geostationary Orbit หรือวงโคจรค้างฟ้า ปัจจุบัน SES ทำการปล่อยดาวเทียมกับ SpaceX ไปแล้ว 4 ครั้ง โดยในครั้งแรก การส่งดาวเทียม SES-8 ในเดือน ธันวาคมปี 2013 และก็ได้ทำการปล่อยเรื่อยมาตั้งแต่ SES-9 , SES-10, SES-11 และ SES-16 ครั้งล่าสุด

SpaceX ทำการปล่อยดาวเทียม SES-10 ที่มา – SpaceX

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ SpaceX มีการใช้จรวดที่ผ่านการใช้งานแล้วในการปล่อยดาวเทียม SES-10, SES-11, 12 รวมถึงในการปล่อย SES-16 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2018 ก็จะเป็นการใช้งานจรวดซ้ำเช่นเดียวกัน

SES นั้นเป็นบริษัทที่ใช้งานผู้ให้บริการปล่อยค่อนข้างหลายเจ้า ดังนั้นเราจะเห็นดาวเทียมของ SES ปล่อยกับผู้ให้บริการรายอื่นอยู่บ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะ SES ปล่อยดาวเทียมมาก่อนที่จะมี Falcon 9 เสียอีก

Orbcomm 3 เที่ยวบิน

บริษัทให้บริการดาวเทียมบน Low Earth Orbit สัญชาติอเมริกาในดาวเทียมชุด Orbcomm-OG2 ซึ่งมีการเซ็นสัญญากันในปี 2009 ว่าจะมีการปล่อยกับ SpaceX จำนวน 18 ดวง ในราคา 42.6 ล้านเหรียญ (ซึ่งนับว่าถูกมาก) และมีการปล่อยครั้งแรกเมื่อปี 2012 เป็นเที่ยวบินทดสอบที่ Orbcomm ยอมจ่ายถึง 10 ล้านเหรียญเพื่อให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีจรวดของ SpaceX นั้นใช้งานได้จริง

ดาวเทียมชุด Orbcomm OG-2 ถูกติดตั้งเข้ากับอุปกรณ์พิเศษที่ใช้ในการปล่อยทีละดวง ที่มา – Orbcomm Blog

ในปลายปี 2014 จรวด Falcon 9 ก็ทำการนำส่งดาวเทียมชุด Orbcomm-OG2 จำนวน 6 ดวง (ซึ่งเที่ยวบินนั้นเป็นเที่ยวบินแรกที่ SpaceX ทำการลงจอดจรวดสำเร็จ) และหนึ่งปีหลังจากนั้นในเดือนธันวาคมปี 2015 SpaceX ก็ได้ทำการปล่อยดาวเทียมชุด OG-2 ให้กับ Orbcomm เพิ่มอีก 11 ดวง

นั่นทำให้ Orbcomm กลายเป็นลูกค้ารายสำคัญของ SpaceX ด้วยการซื้อการปล่อยถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดย Orbcomm นั้นเป็นบริษัทที่ค่อนข้างไว้ใจ SpaceX และรับความเสี่ยงสูง เพราะเที่ยวบินแรกของ OG-2 นั้นเกิดขึ้นหลังการระเบิดของจรวด Falcon 9 ในภารกิจ CRS-7 เมื่อกลางปี 2015

Thaicom 3 เที่ยวบิน

Thaicom บริษัทดาวเทียมสัญชาติไทยผู้ผ่านการใช้บริการจาก SpaceX ถึง 3 ครั้ง เดิมทีนั้นดาวเทียม Thaicom ชุดแรก ๆ จะถูกปล่อยด้วยจรวด Ariane ของ ESA แต่หลังจากที่ SpaceX ได้พัฒนาจรวด Falcon 9 รุ่น 1.1 ดาวเทียม Thaicom 6 ก็เป็นดาวเทียมดวงแรกที่ถูกปล่อยด้วยจรวด Falcon 9 ของ SpaceX เมื่อช่วงต้นปี 2014 ในราคาที่ถูกกว่าของ ESA ทำให้ SpaceX ได้แย่งลูกค้าเจ้าสำคัญนี้ไป Thaicom นั้นมีชื่อเสียงมาจากดาวเทียม Thaicom 4 IPSTAR ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก หนักที่สุดในโลก และช่องสัญญาณกว้างและเร็วที่สุดในโลก

ดาวเทียม Thaicom ในห้อง Payload Operation ของ SpaceX ที่มา Thaicom/SpaceX

ดาวเทียม Thaicom 7 นั้นเป็นความร่วมมือโดยใช้ดาวเทียมดวงเดียวกับ AsiaSat-8 แต่อย่างไรก็ตาม Thaicom ก็ต้องเป็นผู้ชำระค่าบริการส่วนหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนนับครั้งนั้นว่าเป็นการซื้อบริการจาก SpaceX เช่นกัน และดวงล่าสุด Thaicom 8 ที่ปล่อยไปเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาก็เป็นการปล่อยอีก 1 ครั้ง

ทำให้ปัจจุบัน Thaicom ใช้บริการจาก SpaceX มาแล้วถึง 3 ครั้ง

AsiaSat, EutelSat, ABS, EcoStar เจ้าละ 2 เที่ยวบิน

ไม่ว่าจะเป็นบริษัท AsiaSat บริษัทดาวเทียมจากประเทศฮ่องกง EutelSat จากประเทศฝรั่งเศส ABS จากอังกฤษ และ EchoStar จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ล้วนแล้วแต่เคยผ่านการปล่อยกับ SpaceX มาแล้วเจ้าละ 2 ครั้ง ซึ่ง AsiaSat นั้นก็ดังที่บอกไปว่ามีการใช้ดาวเทียมร่วมกับ Thaicom จำนวน 1 ครั้ง (Thaicom 7)

SpaceX ทำการปล่อย ABS และ Eutelsat ที่มา – SpaceX

ดีลของบริษัทพวกนี้จะไม่มีอะไรพิเศษมากนักเนื่องจากเป็นการปล่อยแบบครั้งต่อครั้งไม่มีการเซ็นสัญญาระยะยาว แม้ว่าบริษัทเหล่านี้ในอนาคตอาจจะมีการซื้อบริการจาก SpaceX อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่เอามานับรวมเนื่องจากยังไม่เกินขึ้น ซึ่งหลายเจ้าก็มีโอกาสที่จะได้ใช้บริการจรวด Falcon Heavy จรวดรุ่นใหม่ที่ทรงพลังที่สุดของ SpaceX

บริษัทดาวเทียมอื่น ๆ อีก

ที่เหลือนี้ก็จะเป็นบริษัทดาวเทียมที่ผ่านการดีลกับ SpaceX เพียงครั้่งเดียว เช่น Paz ของสเปน, FermoSat ของไต้หวัน, Inmarsat และ IntelSat ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงบริษัทอื่น ๆ และองค์กรของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (NOAA หรือกองทัพอากาศ) อีกนับ 10 เจ้าที่เคยผ่านการปล่อยกับ SpaceX มีเรื่องที่น่าจับตามองก็คือ หลังจากที่ SpaceX มีจรวด Falcon 9 Block 5 ที่ทรงพลังกว่าเดิมและจรวดอย่าง Falcon Heavy เราจะเห็นผู้ให้บริการดาวเทียมขนาดใหญ่หันมาใช้ SpaceX กันมากขึ้น โดยเฉพาะ Inmarsat และ Intelsat ที่ตอนแรกก็ book เที่ยวบินกับ Falcon Heavy ไว้ แต่พอ Faclon 9 มีพลังแรงขึ้นจากการพัฒนาต่าง ๆ ก็กลายเป็นว่าสามารถใช้ Falcon 9 ปล่อยได้ในราคาที่ถูกลงไปอีก

จรวดของ SpaceX กำลังส่งยาน DSCOVR ให้กับ NASA โดยจ่ายค่าจ้างตามปกติ ที่มา – SpaceX

SpaceX นั้นจะมีข่าวออกมาเรื่อย ๆ ว่าได้รับสัญญาจากเจ้าต่าง ๆ ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นเม็ดเงินมหาศาลให้กับ SpaceX อีก และหลังจากที่ SpaceX ได้รับ Certificate จากกองทัพอากาศสหรัฐ ทำให้การรับงานต่าง ๆ จากทางกองทัพนั้นสามารถทำได้ ในส่วนของภารกิจลับต่าง ๆ ซึ่ง SpaceX ก็ได้ทำภารกิจลับไปแล้วถึง 2 ภารกิจ และไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงิน

เนื่องจาก SpaceX นั้นต้องการคงสถานะเป็น Private Company จึงไม่มีการเปิดให้มีหุ้นแต่อย่างไร แต่ก็จะมีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ย่อยไป เช่นในปี 2015 Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) ที่ได้ส่วนแบ่งไปถึง  7.5% มีบางบทความก็บอกว่าถ้าอยากลงทุนใน SpaceX ก็ให้ไปลงทุนกับ Google ซึ่งจะบอกว่า Make-sense ก็ Make-sense แต่จะบอกว่าไม่ก็ไม่ (ฮา)

โครงการ Earth to Earth ของ SpaceX ที่มา – SpaceX / IAC

ปัจจุบัน SpaceX อยู่ระหว่างการพัฒนาจรวดรุ่นใหม่หรือ BFR ที่จะมาพร้อมกับบริการใหม่ก็คือการขนส่งคนข้ามทวีป หาก SpaceX สามารถพัฒนาระบบการขนส่งนี้ได้สำเร็จก็จะทำให้ SpaceX มีรายได้จากการขนส่งระหว่างทวีปนอกเหนือจากการปล่อยดาวเทียมอย่างเดียว

แม้ SpaceX จะไม่ใช่บริษัทที่เติบโตมากในด้านของผลกำไรเนื่องจากจริง ๆ แล้ว SpaceX ก็สร้างขึ้นมาเพื่อสนองความอยากของ Elon Musk ในการไปดาวอังคาร ทำให้ในเรื่องของการบริการนั้นเหมือนกับทำเอามันส์ไม่ได้เอารวย แล้วเอาเงิน เทคโนโลยี คน มามุ่งพัฒนาเพื่อให้มนุษย์ได้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เดินทางไปมาระหว่างดาวได้อย่างอิสระ

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง 

Why Google invested $1 billion in SpaceX – Business Insider

SpaceX Launch Stat

SpaceX Wins Orbcomm Contract to Launch 18-Satellite

Commercial Resupply Services Overview | NASA

Mission Awards Secure Commercial Crew Transportation  – NASA

Launch Manifest | SpaceX

Iridium NEXT

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.