STS-400 ภารกิจกู้ภัยกลางอวกาศ (ที่ไม่เกิดขึ้นจริง)

ในขณะที่กระสวยอวกาศ Atlantis เที่ยวบินที่ STS-125 ถูกติดตั้งไว้อยู่บนฐานปล่อย LC-39A เพื่อรอทะยานขึ้นไปทำภารกิจซ่อมบำรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล กระสวยอวกาศ Endeavour นั้นก็ถูกติดตั้งไว้บนฐานปล่อย LC-39B ที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ต่างกันเพียงแค่ลูกเรือของภารกิจ STS-400 นั้นไม่คาดหวังที่จะต้องทะยานขึ้นสู่อวกาศ เพราะเมื่อมันจำต้องขึ้นบินนั้น หมายความว่า Atlantis ไม่สามารถกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัย และ Endeavour จะกลายเป็นยานกู้ภัยในทันที

กระสวยอวกาศ Atlantis เที่ยวบินที่ STS-125 ถูกติดตั้งไว้อยู่บนฐานปล่อย LC-39A

ภารกิจกู้ภัยต่าง ๆ ของนาซ่า

ในทุก ๆ ภารกิจของนาซ่านับตั้งแต่ STS-114 หรือภารกิจแรกหลังจากที่เสียกระสวยอวกาศ Columbia ไป พวกเขาจะมีภารกิจกู้ภัยที่ถูกตั้งชื่อเรียกไว้ว่า STS-3XX โดยพวกเขาจะถูกส่งขึ้นบินเมื่อรับรู้ว่ากระสวยอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่นั้นไม่สามารถกลับมายังโลกได้ และลูกเรือที่จะมาทำหน้าที่ในหน่วยกู้ภัยเฉพาะกิจนั้นจะเป็นลูกเรือที่ถูกเตรียมไว้ขึ้นบินในภารกิจต่อไป เช่นถ้าภารกิจ STS-117 นั้นไม่สามารถกลับมายังโลกได้บนกระสวยอวกาศ Atlantis ลูกเรือของ STS-118 จะรับหน้าที่ใหม่ในภารกิจ STS-318 บนกระสวยอวกาศ Endeavour พร้อมกับลูกเรือจำนวน 4 คนที่บินขึ้นไป และพวกเขาจะกลับลงมาสู่โลกโดยมีลูกเรือทั้งสิ้น 10-11 คน และภารกิจกู้ภัยถูกวางแผนไว้ให้กินเวลาไม่เกิน 11 วัน โดยลูกเรือของกระสวยอวกาศที่กำลังรอการกู้ภัยนั้นจะต้องอาศัยอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติอย่างชั่วคราว

กระสวยอวกาศทำการ Dock กับสถานีอวกาศนานาชาติ Intenational Space Station

แต่ก็ยังมีภารกิจที่มีแผนกู้ภัยแตกต่างไปจากนี้ เช่น STS-135 ที่ไม่มีกระสวยอวกาศลำอื่นถูกวางไว้ให้เป็นยานกู้ภัย เนื่องจากเป็นภารกิจสุดท้ายในโครงการกระสวยอวกาศของนาซ่า ดังนั้นหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นพวกเขาจะค่อย ๆ กลับสู่โลกโดยใช้ยานโซยูสของรัสเซียทีละคน

ยานโซยุสของรัสเซีย ซึ่งมีความจุรองรับนักบินอวกาศได้เพียงแค่ 3 คนเท่านั้น

นี่ไม่ใช่โครงการแรกที่ทางนาซ่าได้วางแผนภารกิจกู้ภัยเอาไว้ เพราะในระหว่างโครงการสถานีอวกาศสกายแลปนั้นก็ได้มีแผนที่จะนำยานอพอลโล่ที่ถูกดัดแปลงมาเพื่อรองรับนักบินอวกาศได้ถึง 5 คน และเกือบจะได้ใช้เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นกับยานของลูกเรือ Skylab 3 จนมีครั้งหนึ่งที่ยานกู้ภัยในชื่อภารกิจ Skylab Rescue (รหัสของยานคือ CSM-119) ถูกนำออกมาติดตั้งบนฐานปล่อย LC-39B แต่สุดท้ายภารกิจนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

 

ภาพแสดงตัวอย่างการนั่งในยานของ Skylab Rescue ที่มา – NASA

เมื่อการเอาตัวรอดนั้นไม่ง่ายอย่างในหนัง

แทบทุกภารกิจหลังจากการสูญเสียกระสวยอวกาศ Columbia นั้นมีเป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือสถานีอวกาศนานาชาติ แต่เนื่องจากว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลนั้นมีกำหนดซ่อมบำรุงอยู่เป็นระยะ และกระสวยอวกาศไม่สามารถเดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลได้ในภารกิจเดียวกัน รวมถึงแรงกดดันจากสาธารณะและนักดาราศาสตร์ที่ต้องการให้กล้องฮับเบิลยังสามารถใช้งานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้นาซ่าต้องส่ง STS-125 ขึ้นไปซ่อมบำรุงกล้องฮับเบิลในปี 2009 และเป็นภารกิจสุดท้ายที่จะถูกส่งไปซ่อมบำรุงอีกด้วย โดยพวกเขาขึ้นทะยานขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 11 พฤษภาคม 2009 และไปถึงกล้องฮับเบิลในวันที่ 3 ของภารกิจ

STS-125 ทำการ Dock กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ที่มา – NASA

เนื่องจากเป็นภารกิจเดียวที่ไม่สามารถแม้แต่จะเดินทางมายังจุดนัดพบกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ ลูกเรือของ STS-125 นั้นมีอุปกรณ์ที่สามารถใช้ซ่อมกระสวยอวกาศของพวกเขาได้ในอวกาศ และถูกฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี แต่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงมากจนเกินความสามารถที่จะซ่อมได้ล่ะ พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องมีแผนสำรองที่บ้าระห่ำกว่าทุกภารกิจที่ผ่านมา (แต่ถ้าเสียหายแบบในหนัง Gravity อันนั้นก็เป็นไปได้ยากที่จะช่วยเหลือได้นะ)

โลโก้ของภารกิจกู้ภัย STS-400

STS-400 ภารกิจกู้ภัยที่เสี่ยงภัยที่สุด

เมื่อลูกเรือ STS-125 บนกระสวยอวกาศ Atlantis สามารถอยู่ในกระสวยอวกาศได้นานสุดประมาณ 3 อาทิตย์เท่านั้น และหากข้อผิดพลาดที่รุนแรงดันมาเกิดขึ้นในช่วงท้าย ๆ ของภารกิจก็จะยิ่งหักลบเวลาที่เหลือของลูกเรือลงไปอีก ทำให้ภารกิจกู้ภัยอย่าง STS-400 นั้นต้องสามารถขึ้นบินได้ภายในหนึ่งอาทิตย์เท่านั้น ซึ่งนั่นคือเหตุที่ทำไมกระสวยอวกาศ Endeavour ถึงถูกนำมาตั้งบนฐานปล่อยพร้อม ๆ กับ Atlantis

หาก Atlantis ไม่สามารถกลับโลกได้จริง ๆ ยาน Endeavour จะบินขึ้นไปหายาน Atlantis ในวงโคจรที่สูงประมาณ 550 กิโลเมตรจากพื้นโลกภายในวันที่ 2 ของภารกิจ และจะนำแขนกลบนยานไปยึดกับ Atlantis ไว้ที่ระยะห่างประมาณ 7.42 เมตร  และจะเริ่มการเคลื่อนย้ายลูกเรือจาก Atlantis มายัง Endeavour ในวันที่ 3 ของภารกิจ โดยรายละเอียดของการกู้ภัยนั้นจะเป็นดังต่อไปนี้

ขั้นเริ่มต้น Atlantis มีลูกเรือ 7 คน มีชุด LES ที่ใช้สำหรับใส่ตอนขึ้นบินและกลับเข้าสู่วงโคจรโลก อยู่ 7 ชุด มีชุด EMU ที่ไว้ใช้สำหรับการทำ EVA อยู่ 4 ชุด

Endeavour นั้นมีลูกเรือ 4 คน ชุด LES อยู่ 4 ชุด มีชุด EMU ที่ไว้ใช้สำหรับการทำ EVA อยู่ 2 ชุด

Megan McArthur, Andrew Feustel และ John Grunsfeld จะทำ EVA 1 จาก Atlantis ไปยัง Endeavour เพื่อพาพวกเขาในชุด EMU ทั้ง 3 คนไปยัง Atlantis พร้อมกับนำชุด EMU จาก Endeavour กลับมายัง Atlantis และสิ้นสุดการทำ EVA 1 และภารกิจในวันที่ 3 ของการกู้ภัย

ในตอนนี้ Atlantis มีลูกเรือ 4 คน ชุด LES 7 ชุด และมีชุด EMU อีก 3 ชุด

Endeavour นั้นมีลูกเรือ 7 คน ชุด LES 4 ชุด และมีชุด EMU อีก 3 ชุด

สำหรับวันที่ 3 นั้นจะเป็นการทำ EVA อีกสองครั้งสุดท้าย โดยในครั้งแรกของวันนั้น Gregory Johnson และ Michael Massimino จะเครื่องย้ายชุด LES จำนวน 4 ชุดไปยัง Endeavour และนำชุด EVA อีกสามชุดกลับไปยัง Atlantis ที่มี Scott Altman และ Michael Good ผู้บัญชาการภารกิจและผู้เชี่ยวชาญภารกิจลำดับที่ 1 รออยู่ ซึ่งพวกเขาทั้งสองจะเป็นสองคนสุดท้ายที่ออกมาจาก Atlantis พร้อมกับชุด LES อีก 3 ชุดสุดท้าย และนำ EMU อีกชุดไปไว้ในยาน Atlantis ที่ในตอนนี้กลายเป็นยานร้างไปแล้ว และจะถูกศูนย์ควบคุมบังคับให้กลับเข้าสู่โลกเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนเหนือของฮาวาย ในขณะที่ Endeavour พร้อมลูกเรือ 11 คนจะทำการตรวจสอบแผ่นกันความร้อนของยานในวันที่ 5 ของภารกิจ (ในขณะที่ภารกิจปกติจะทำการตรวจสอบในวันที่  2 ของภารกิจ) และยาน Endeavour ในภารกิจกู้ภัยนี้จะกลับมาลงจอดในวันที่ 8 ของภารกิจ พร้อมกับเป็นการปิดฉากโครงการกระสวยอวกาศของสหรัฐในทันที เพราะจะทำให้พวกเขาเหลือกระสวยอวกาศเพียงแค่ 2 ลำคือ Discovery และ Endeavour ซึ่งนั่นเป็นไปได้ยากที่นาซ่าจะดำเนินโครงการเสี่ยงภัยโครงการนี้ต่อไป

แผนภาพแสดงการทำ EVA เพื่อขนย้ายลูกเรือและอุปกรณ์ระหว่างทั้งสองลำ

และเป็นที่โชคดีที่ Endeavour ไม่ต้องนำพาลูกเรือของภารกิจ STS-400 ขึ้นสู่อวกาศ และในวันที่ 21 พฤษภาคม 2009 ที่ Atlantis นั้นกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการลงจอด ยาน Endeavour ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวแปลงร่างเป็นยานกู้ภัยอีกแล้ว และถูกนำไปเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจ STS-127 ที่ได้เดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 15 กรกฏาคม 2009 ในขณะที่ฐานปล่อย LC-39B ก็ได้ถูกปรับโฉมสำหรับรองรับการปล่อยจรวด Ares I-X (ที่ถูกยกเลิกไปในปลายปีนั้น หลังจากได้ปล่อยไปแค่ครั้งเดียว) ในขณะที่โครงการกระสวยอวกาศนั้นดำเนินต่อมาจนถึงภารกิจสุดท้ายดั่งที่ทุกคนคาดหวังไว้ เมื่อ STS-135 ปิดฉากโครงการนี้ลงอย่างสวยงามด้วยการลงจอดบนรันเวย์ที่ Kennedy Space Center วันที่ 21 กรกฏาคม 2011

แหล่งอ้างอิง:
NASA Spaceflight
STS-400 Flight Plan
NASA

 

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138