พลังแห่งความรวยและฉลาด มาดูแผนไปดาวอังคารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ในสมัยสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างแข่งกันกันส่งยานอวกาศไปดาวอังคาร ในปี 2003 ยาน Mars Express ของสหภาพยุโรปเดินทางไปถึงดาวอังคารเป็นครั้งแรก ทำให้ดาวอังคารไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ของรัสเซียและอเมริกาอีกต่อไป ตามมาด้วยในปี 2013 ยาน Mangalyaan (มังคลายาน) ของอินเดียกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สำเร็จในการส่งยานไปโคจรรอบดาวอังคาร ผ่านไป 4 กลุ่มประเทศ

แล้วประเทศไหนจะมาเป็นเจ้าที่ 5 แห่งการสำรวจดาวอังคาร จีนเหรอ ญี่ปุ่นเหรอ ไม่ใช่ทั้งคู่ จีนพยายามส่งยานอวกาศเดินทางไปดาวอังคารร่วมกับรัสเซียแต่ก็เกิดข้อผิดพลาด เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ยานของพวกเขาไม่เคยเดินทางไปถึงดาวอังคาร แล้วทั้งคู่ก็ยังไม่มีแผนที่จะส่งยานไปในอนาคนอันใกล้ แต่กลับมีประเทศหนึ่งที่ปัจจุบันยังไม่เคยมียานสำรวจอวกาศ ยังไม่เคยส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ด้วยซ้ำ แต่เป้าหมายแรกของพวกเขาคือการไปดาวอังคาร ประเทศนั้นก็คือเศรษฐีน้ำมันแห่งตะวันออกกลาง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคตูม ในงาน Dubai Expo 2020 ที่มา Mohammed bin Rashid Space Centre

ในปี 2014 ชีค คาลีฟะฮ์ บิน ซายิด บิน สุลฏอน อัลนะฮ์ยาน แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทรงประกาศว่า UAE จะส่งยานอวกาศไปดาวอังคารโดยปล่อยในปี 2020 และเดินทางถึงดาวอังคารในปี 2021 เป็นการเริ่มต้นศักราชการสำรวจอวกาศและฉลองปีแห่งการก่อตั้งประเทศครบ 50 ปี

“ชาวอาหรับทั้งหลาย ในอดีตเราเคยเป็นผู้สร้างภูมิปัญญาต่าง ๆ ให้กับโลกมามากมาย และในวันนี้เราจะเป็นเช่นนั้นอีกครั้ง”

ยานดังกล่าวมีชื่อว่า Hope ยานอวกาศหนัก 1.5 ตันสร้างและประกอบใน UAE เองในความร่วมมือระหว่าง UAE Space Agency และ Mohammed bin Rashid Space Centre แห่งนครดูไบ เจ้าของโครงการ DubaiSat, KhalifaSat และ Nayif ดาวเทียมที่สร้างโดยชาวอาหรับเอมิเรตส์ทั้งหมด ที่ปัจจุบันยังคงโคจรถ่ายภาพอยู่บนวงโคจรโลก

ทีมวิศวกรกำลังตรวจสอบยาน Hope ยานอวกาศที่จะเดินทางไปดาวอังคาร ที่มา – Mohammed bin Rashid Space Centre

สำหรับแผนการไปดาวอังคารของ UAE นั้นเป็นการรวมตัวกันของทีมวิศวกรชาวเอมริเรตส์กว่า 70 ชีวิต และจะมีทีมใหม่ ๆ เข้ามาสมทบกว่า 150 ชีวิตภายในปี 2020 รวมถึงจากหน่วยงานนอกประเทศอย่าง University of Colorado, University of California และ Arizona State University

รู้จักกับยาน Hope

Hope หรือ “ความหวังนั้น” UAE หวังว่ามันจะเป็นความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ในการเดินทางท่องอวกาศ ชื่อของมันได้มาจากการเสนอจากชาติอาหรับ ซึ่งเป็นการโชว์ความเป็นหนึ่งในด้านวิทยาศาสตร์แห่งโลกอาหรับของ UAE ยานอวกาศมีน้ำหนัก 1.5 ตัน สูงกว่า 2 เมตรนี้ มีขนาดเท่า ๆ กับยานสำรวจดาวอังคารของ NASA เลยทีเดียว

โครงสร้างและอุปกรณ์บนยาน Hope ที่มา – Mohammed bin Rashid Space Centre

สำหรับเครื่องมือบนยาน ยาน Hope นี้ถูกออกแบบมาให้สำรวจชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร เป็นการช่วยไขปัญหาเกี่ยวกับการคลายไฮโดรเจนและออกซิเจนออกจากชั้นบรรยากาศสู่อวกาศของดาวอังคาร ซึ่งมันจะทำงานร่วมกับกองทัพยานอวกาศนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น MAVEN จากสหรัฐ หรือ ExoMars จากยุโรป ในการทำความเข้าใจชั้นบรรยากาศของดาวอังคารให้มากขึ้น

  • Emirates eXploration imager (EXI): ตรวจวัดน้ำ นำ้แข็ง ฝุ่น และโอโซนบนชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร
  • Emirates Mars Ultraviolet Spectrometer (EMUS): เป็น Spectrometer ในย่านคลื่นอัลตราไวโอเล็ต ที่ใช้ตรวจสอบธาตุองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร
  • Emirates Mars Infrared Spectrometer (EMIRS): เป็น Spectrometer ในย่านคลื่นอินฟาเรดที่ใช้วัดอุณหภูมิของสสารต่าง ๆ บนชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร

ตัวยานใช้พลังงานจาก Solar Arrays หรือแผงพลังแสงอาทิตย์ และสื่อสารกลับโลกด้วยเสาอากาศขนาด 1.5 เมตร ด้วยความเร็วข้อมูลประมาณ 250 Kb/s ระบบควบคุมการเคลื่อนที่ของยาน (altitute control) จะใช้ระบบ Star Tracking คือการดูดาวบนท้องฟ้าแล้วคำนวณตำแหน่งและทิศทางการหันของยาน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ยานอวกาศส่วนมากใช้

ยาน Hope จะถูกปล่อยขึ้นในเดือนกรฏกาคม 2020 ด้วยจรวด H-II ของประเทศญี่ปุ่น ณ Tanegashima Space Center เพราะปัจจุบัน UAE ยังไม่มีจรวดเป็นของตัวเอง (ซึ่งแน่นอนว่าอยู่ระหว่างพัฒนา เพราะพื้นที่ค่อนข้างเหมาะสมเลยทีเดียว)

หลังจากการปล่อยมันจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 200 วันเพื่อเดินทางถึงดาวอังคารก่อนที่จะจุดจรวดลดความเร็วเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารภายในปี 2021 เพื่อโคจรรอบดาวอังคารเป็นวงโคจรวงรี ระหว่าง 22,000 ถึง 44,000 กิโลเมตร

แผนอวกาศของ UAE ในอนาคต

โครงการ Hope เป็นเพียงแค่ก้าวแรกสู่การสำรวจอวกาศของ UAE พวกเขายังมีแผนและโครงการต่าง ๆ อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการรับสมัครนักบินอวกาศ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมการคัดเลือกแล้วกว่า 3,000 คน และ 1 ใน 4 ของทั้งหมดเป็นผู้หญิงด้วย ปกติแล้วการฝึกจะใช้เวลา 2-4 ปี ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ UAE ยังไม่มีโครงการสร้างยานอวกาศสำหรับคนนั่ง แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีความร่วมมือกับทาง NASA หรือ Roskosmos รัสเซีย ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ

มากไปกว่านั้นภายในปี 2117 UAE หวังว่าพวกเขาจะสามารถไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคารได้ ตอนนี้เริ่มมีโครงการ Mars City ซึ่งเป็นการจำลองสังคมบนดาวอังคารเตรียมทดลองอยู่ที่มหานครดูไบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีการเริ่มต้นในปี 2020

มหานครดูไบแห่ง UAE ที่มา – Martinschuschi/Pixelbay

ดังเช่นที่ท่านชีคทรงกล่าวไว้ ชาติอาหรับนั้นมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิปัญญาให้กับโลกใบนี้มาเป็นเวลากว่า 1,000 ปี และเป็นหนึ่งในชาติวิทยาศาสตร์แรก ๆ การจะก้าวกลับมาเป็นหนึ่งในด้านวิทยาศาสตร์อีกครั้งนั้นสำหรับ UAE และบรรดาชาติอาหรับทั้งหลายแล้วก็ไม่แน่ว่าซักวัน เราอาจจะเดินทางไปยังดาวอังคารบนยานของชาวอาหรับ ชนชาติที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำด้าน ดาราศาสตร์, คณิตศาสตร์, เคมี, ปรัชญา และภูมิศาสตร์ แต่ในวันนี้ร้อยปีพันปีพวกเขาจะกลับมาอีกครั้งในฐานะนักท่องอวกาศ

อ้างอิง

Emirates Mars Mission

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.