Ultima Thule วัตถุที่ไกลที่สุดที่ถูกสำรวจโดยยาน New Horizons

เจ้า 2014 MU69 เคยเป็นอะไรที่เราไม่รู้จักมาตลอด มันล่องลอยอยู่ท่ามกลางหมู่ดาวที่ห่างไกลจากสายตาของพวกเรา จนถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2014 เมื่อนักดาราศาสตร์ส่องกล้องฮับเบิลมองไปเห็นมันเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นมามันก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อมันได้รับเลือกให้เป็นเป้าหมายต่อไปที่ยานนิวฮอไรซอนจะเดินทางไปสำรวจในวันขึ้นปีใหม่ของปี 2019 ซึ่งทั่วโลกก็ได้ร่วมชื่นชมความสำเร็จของการเดินทางเยือนวัตถุที่ไกลที่สุดที่เคยถูกสำรวจ

ภาพถ่ายในห้องควบคุมภารกิจหลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ได้รับสัญญาณแรกจาก New Horizons หลังการบินผ่าน ที่มา – Bill Ingalls / NASA

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้การค้นพบของมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เนื่องจากในช่วงมิถุนายนของปี 2014 นั้นนักดาราศาสตร์กำลังตามหาวัตถุในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Object) ที่เหมาะต่อการสำรวจโดยยานนิวฮอไรซอน (New Horizons) ซึ่งการสำรวจนั้นจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล เนื่องจากค่าแมกนิจูดหรือค่าความส่องสว่างปรากฏที่ 26.8 นั้นยากที่จะสังเกตุได้จากบนโลก (ตาของมนุษย์เองมองเห็นได้ถึงแค่ 6-7 และขนาดกล้องฮับเบิลสามารถเห็นได้ถึงแค่ 30 เท่านั้น) นอกจากความสามารถในการมองเห็นของมันแล้วมันยังสามารถระบุตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของวัตถุได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

ภาพของ 486958 ที่ถูกถ่ายไว้ได้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

และเมื่อมันถูกค้นเจอ ชื่อแรกของวัตถุชิ้นนี้ก็คือ 1110113Y หรือชื่อสั้น ๆ คือ 11 (ไม่รับประกันว่าจะออกเลขท้ายสองตัว) มันถูกเปิดตัวว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่นิวฮอไรซอนจะไปสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2014 และนั่นคือที่มาของชื่อ PT1 ของมัน ซึ่งถูกย่อมาจาก Potential Target 1 นั่นเอง และมันก็ได้รับชื่ออย่างเป็นทางการในปัจจุบันว่า 2014 MU69 เมื่อข้อมูลวงโคจรของมันถูกยืนยันและตรวจสอบในเดือนมีนาคม 2015 และได้รับเลขประจำตัวดาวเคราะห์น้อยว่า 486958 (ไม่รับประกันว่าจะถูกหวยอีกเช่นกัน) ในเดือนมีนาคม 2017 ที่ผ่านมา

เพิ่มเติมในเรื่องการตั้งชื่อของมัน ชื่อ 2014 MU69 นั้นหมายความว่ามันคือวัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อยที่ถูกค้นพบเป็นลำดับที่ 1,745 ในครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนปี 2014 ซึ่งในการตั้งชื่อพวกเขาจะใช้รูปแบบนี้กับดาวเคราะห์น้อยทุกดวง เริ่มด้วยปีที่ค้นพบ ตามด้วยตัวอักษรสองตัวและตัวเลข ซึ่งตัวอักษรตัวเลขนั้นแทนช่วงที่ถูกค้นพบ ในที่นี้คืออักษร M แทนช่วงวันที่ 16-30 มิถุนายน และตัวที่สองกับตัวเลขจะแทนลำดับที่ถูกค้นพบ โดยพวกเขาจะแทนลำดับการค้นพบโดยใช้ตัวอักษรในภาษาอังกฤษ ซึ่งในที่นี้จะไม่มีตัว I ดังนั้นจาก A-Z จะมีทั้งสิ้น 25 ตัว และเลข 69 จะแทนจำนวนรอบที่นับผ่านไป ดังนั้นนำ 69×25 = 1,725 บวกกับตัว U ที่อยู่ในตำแหน่งตัวอักษรที่ 20 จะได้เป็นลำดับที่ 1,745 นั่นเอง และชื่อเสียงเรียงนามจริง ๆ ของมันก็กำลังจะถูกเลือกในอนาคตอันใกล้ แต่ในปัจจุบันนาซ่าก็กำลังพิจารณาชื่อเล่นให้กับ MU69 แทนที่จะต้องเรียกกันแบบยาว ๆ ราวกับเลขทะเบียนรถยนต์แบบนี้

แอบมองโฉมหน้าของ MU69 Contact Binary

จากความสว่างที่มันปรากฏและระยะทางของมัน MU69 ถูกคาดการณ์ว่ามีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18-41 กิโลเมตร และมันอาจเป็นระบบดาวคู่แบบใกล้ชิดหรือแบบติดกัน (Close or contact binary) อยู่ในวงโคจรที่ใช้เวลาประมาณ 295 ปีต่อการโคจรครบหนึ่งรอบ ซึ่งมันมีค่าความเอียงและความเยื้องศูนย์กลางที่ต่ำกว่าวัตถุอื่นในแถบไคเปอร์

เมื่อมันถูกเลือกให้เป็นเป้าหมายของยานนิวฮอไรซอน MU69 ก็โด่งดังราวกับดาวมหาลัย กล้องฮับเบิลถูกหันไปมองมันรวมแล้วกว่า 24 รอบวงโคจรระหว่างวันที่ 25 มิถุนายนถึง 4 กรกฏาคม 2017 นอกเหนือจากกล้องใหญ่ในอวกาศแล้ว บนโลกเราก็ตั้งทีม KBO Chaser หรือนักล่าวัตถุในแถบไคเปอร์ เพื่อออกไปสำรวจการเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวฤกษ์ในพื้นหลังทั้งสามครั้งของ MU69 ซึ่งในวันที่ 3

มิถุนายน 2017 พวกเขาไปดักรอถ่ายเงาที่อาร์เจนตินาและแอฟริกาใต้ แต่ในครั้งแรกนี้ทั้งทีมก็ได้กินแห้วไปเต็ม ๆ เนื่องจากพวกเขาตั้งกล้องไปผิดที่ (ซะงั้น) ส่วนในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2017 ทีม KBO Chaser ได้ส่งเครื่องบิน SOFIA ที่ติดกล้องไว้พร้อมบินไล่ล่าเงาของมันอีกครั้ง ซึ่งถึงแม้จะพลาดถ่ายช่วงที่สำคัญที่สุดไป แต่ข้อมูลที่ SOFIA ได้มานั้นก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการค้นหาวัตถุที่อาจเป็นอันตรายต่อนิวฮอไรซอนในการบินผ่านเข้าไปสำรวจ

เครื่องบิน Sofia ติดกล้องโทรทรรศน์ของ NASA เทคนิคนี้ช่วยให้เราสามารถถ่ายรูปวัตถุบนท้องฟ้าได้อย่างชัดเจนด้วยการบินในชั้นบรรยากาศที่เบาบาง ที่มา – NASA

และในโอกาสสุดท้ายที่จะสังเกตเงาของ MU69 ในวันที่ 17 กรกฏาคม 2017 ทั้งกล้องฮับเบิลและทีม KBO Chaser ต่างเตรียมพร้อมกับอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะบนภาคพื้นที่พวกเขาตั้งระยะสังเกตุการณ์เป็นแนวยาวทั้งสิ้น 24 จุดในตอนใต้ของอาร์เจนตินา และแต่ละจุดห่างกันเฉลี่ยเพียง 4.5 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งความพยายามในครั้งนี้ก็สำเร็จผล เนื่องจากอย่างน้อย 5 จุดบนภาคพื้นสามารถมองเห็นเงาของมันได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะเป็นเวลาไม่ถึง 2 วินาทีเท่านั้นก็ตาม จากข้อมูลในการสำรวจครั้งนี้นี่เองที่ทำให้คาดเดาว่ามันอาจเป็นระบบดาวคู่ และน่าจะมีบริวารโคจรรอบมันอยู่ที่ระยะห่างออกไป 200-300 กิโลเมตร

ไม่ถึงปีหลังจากนั้นมันก็ได้รับชื่อใหม่ว่า Ultima Thule ซึ่งต่อจากนี้ไปเราจะเรียกมันว่า Ultima Thule

ปีใหม่ที่ Ultima Thule ของนิวฮอไรซอน

หลังจากทำการบินผ่านดาวพลูโตครั้งประวัติศาสตร์ไปเมื่อปี 2015 นิวฮอไรซอนก็เดินทางไปยัง Ultima Thule เพื่อทำการบินผ่านในวันที่ 1 มกราคม 2019 ที่ระยะ 3,500 กิโลเมตรจากพื้นผิว ซึ่งเฉียดเข้าไปใกล้กว่าตอนบินผ่านดาวพลูโตถึงสามเท่า เนื่องจากระยะทางที่ห่างจากโลกไปถึง 43.4 AU (43.4 เท่าของระยะทางจากโลกไปดวงอาทิตย์) ช่วงเวลาการส่งสัญญาณวิทยุไป-กลับจะกินเวลาเกือบ 12 ชั่วโมง และภาพถ่ายภาพแรกถูกถ่ายเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2018 สามวันก่อนเข้าใกล้ Ultima Thule

ภาพถ่ายของ Ultima Thule แรกจาก New Horizon ที่มา – JHU/NASA

จุดประสงค์ในการสำรวจครั้งนี้คือการสำรวจลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นผิว ทำแผนที่สามมิติของพื้นผิว การค้นหาส่วนประกิบของแก๊สบนวัตถุ และการตามหาดวงจันทร์บริวาร วงแหวน และลักษณะโดยรอบของมัน ซึ่งจะเป็นวัตถุที่อยู่ไกลที่สุดที่มนุษย์ได้ส่งยานไปสำรวจอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะตามรุ่นพี่ของมันทั้งสี่สู่เส้นทางออกนอกระบบสุริยะต่อไป และถึงแม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ที่นิวฮอไรซอนไปเฉียดใกล้ แต่งานสำหรับทีมบนโลกนั้นกลับเพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้นเอง พวกเขาใช้เวลากว่า 16 เดือนในการรับข้อมูลจากการสำรวจดาวพลูโต และด้วยเรทเดียวกันนี้พวกเขาอาจต้องรอถึงปลายปี 2020 เพื่อเก็บข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากการสำรวจ Ultima Thule กลับมา

แผนภาพแสดงการเดินทางของ New Horizons จากพลูโตสู่ 2014 MU69 ที่มา – NASA/JHU

แม้ว่าอาจจะมีอีกหลากหลายภารกิจที่จะเดินทางมาสำรวจวัตถุในแถบไคเปอร์ และแม้แต่ Ultima Thule ก็ตาม แต่มันจะมีภารกิจลำแรกที่ออกเดินทางมาถึงวัตถุนี้ลำเดียวเท่านั้น และมันจะเป็นที่กล่าวขานไปนานเท่านาน ไม่ว่าการสำรวจของมันจะออกมาในรูปแบบไหนก็ตาม และเราจะฉลองปีใหม่ของปี 2019 พร้อมกับรอคอยความสำเร็จของนิวฮอไรซอนที่กำลังฉลองปีใหม่ที่มุมไกลของระบบสุริยะของเรา

การสำรวจในค่ำคืนประวัติศาสตร์

ในคืนวันที่ 1 มกราคม ในขณะที่คนทั่วโลกกำลังเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ยานนิวฮอไรซอน ก็ทำการบินเฉียด Ultima Thule ในระยะ 3,500 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นการสำรวจวัตถุที่อยู่ไกลที่สุดที่เคยมีการสำรวจมา ในคืนนั้นคุณ Brian May มือกีตาร์แห่งวง Queen ก็ได้ปล่อยเพลงใหม่ชื่อ New Horizons เพื่อเฉลิมฉลองภารกิจด้วย สำหรับคุณ Brian May นั้น ก็อยู่ในทีม New Horizons มาโดยตลอด และก็ได้มีส่วนร่วมในการสร้างภาพถ่ายของดาวพลูโตที่ชัดเจนที่สุดอีกด้วย

ภาพถ่ายระยะใกล้ภาพแรกของ Ultima Thule ที่มา – NASA/JHU

เช้าของวันที่ 3 มกราคมเวลาประเทศไทย ภาพถ่ายแรกของ Ultima Thule ก็ได้ถูกส่งกลับมายังโลก จากภาพจะเห็นว่า Ultima Thule มีลักษณะเป็น Contacted Binary หรือเป็นวัตถุสองวัตถุที่เชื่อมต่อกันจริง ๆ ด้วย

วัตถุนี้มีขนาดจากอีกด้านไปถึงอีกด้านอยู่ที่ 14 กิโลเมตร ซึ่งใหญ่เท่า ๆ กับแค่เมืองเมืองเดียวเท่านั้น นักดาราศาสตร์บอกว่า Ultima Thule เป็นวัตถุที่ “โบราณ” เนื่องจากมันเกิดมาในช่วงยุคแรก ๆ ของระบบสุริยะ และเย็นตัวลงมาเป็นเวลาหลายพันล้านปีที่แล้ว เราเรียกวัตถุแบบนี้ว่า Chilling Object หรือวัตถุเย็น เนื่องจากมันไม่ได้มีความร้อนมาเป็นเวลานานและอยู่เช่นนี้มาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของระบบสุริยะ 

หลังจากนี้หลายเดือนข้อมูลจากนิวฮอไรซอนจะค่อย ๆ ถูกอัพโหลดมายังโลกเรื่อย ๆ ผ่านทางจานรับสัญญาณ Deep Space Network ซึ่งอาจกินเวลานานถึง 20 เดือนเลยทีเดียว ส่วนตัวยานก็จะเดินทางไปเรื่อย ๆ และออกนอกระบบสุริยะไปในที่สุด และก็เหมือนกับว่ามันจะไม่ถูกใช้เพื่อสำรวจวัตถุใด ๆ อีกแล้วเนื่องจากเชื้อเพลิงบนยานเหลือน้อยเกินกว่าที่จะสามารถใช้ปรับวิถีการโคจรของมันได้

การสำรวจ Ultima Thule จะช่วยให้เราเข้าใจระบบสุริยะในยุคต้น ๆ เหมือนกับที่เราสำรวจดาวหางและอุกกาบาต สิ่งนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจในการฟอร์มตัวของดาวเคราะห์หิน เช่น โลกและดาวอังคาร อุปกรณ์ต่าง ๆ บนยาน New Horizons จะสร้างข้อมูลมากกว่า 1 GB และปล่อยให้เราได้ทำการศึกษากันในภายหลัง

 

อ้างอิง 

JPL Database

STSCI – New Horizons

JHUAPL – 2019 Flyby

JHUAPL Ultima Thule

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138