เบื้องหลังฟ้าผ่า Apollo 12 กับเสี้ยววินาทีก่อนยกเลิกภารกิจ

ภารกิจที่ 2 ของนาซ่าที่จะส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์นั้นเกือบจบลงด้วยการยกเลิกภารกิจก่อนที่ยานจะถึงอวกาศเสียอีก

เพราะเพียงแค่ประมาณ 36 วินาทีหลังจากปล่อยยานขึ้นจากฐานปล่อย 39A ที่ Kennedy Space Center เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1969 เมื่อจรวด Saturn V SA-507 ที่ถูกปล่อยขึ้นท่ามกลางพายุฝนที่โหมกระหน่ำก็ถูกฟ้าผ่าเข้าอย่างจัง ต่อหน้าต่อตาประธานาธิบดี Richard Nixon ที่อาจจะได้เห็นการยกเลิกภารกิจนี้ในอีกไม่ถึงนาทีครึ่งให้หลัง ตัดภาพไปที่ยาน Yankee Clipper (ชื่อยานควบคุมของ Apollo 12) ที่วงจรป้องกันของถังน้ำมันบนยานตรวจจับได้ว่ามีไฟไหลผ่านวงจรมากเกินไป และตัดการทำงานของถังน้ำมันทั้งสามถังในทันที รวมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ บนยานอีกด้วย คำพูดที่ว่าฟ้าจะไม่ผ่าลงที่เดิมซ้ำสองรอบกำลังจะถูกหักล้างลงในอีก 16 วินาทีให้หลัง

Apollo 12 ถูกปล่อยขึ้นจากฐานปล่อย 39A

52 วินาทีหลังจากปล่อยยาน ฟ้าผ่าระลอก 2 ก็ซัดลงมาที่ Saturn V อีกครั้ง ทำให้เจ้าตัว “8-ball” attitude indicator เจ๊งในทันที แถมข้อมูลที่ส่งลงมายังห้องควบคุมภารกิจก็เสียหายด้วยเช่นกัน ห้องควบคุมเหมือนถูกปิดตาในทันทีเมื่อพวกเขาไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่อย่างน้อย Saturn V ก็ยังสามารถบินต่อไปได้อย่างปกติเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากฟ้าผ่าทั้งสองครั้ง

และเมื่อไม่สามารถใช้พลังงานจากถังน้ำมันแบบปกติได้ Apollo 12 ต้องใช้ไฟจากแบตเตอรี่เท่านั้น ซึ่งไฟจากแบตเตอรี่นั้นให้กำลังที่ต่ำกว่ามากถึงขั้นทำให้ AC Inverter ไม่สามารถทำงานได้ และไฟแจ้งเตือนก็พร้อมใจก็ติดขึ้นมาโดยมิได้นัดหมาย ตอนนี้ไฟแจ้งเตือนแปลก ๆ ที่ตลอดการซ้อมไม่เคยเห็นก็ติดขึ้นมาเป็นบุญตานักบินอวกาศเป็นครั้งแรก (ลูกเรือ Apollo 12 คงไม่ภูมิใจกับสถานการณ์แบบนี้เท่าไหร่) ในเวลานี้ทุกคนคาดหวังว่า EECOM John Aaron จะสั่งการให้ยกเลิกภารกิจนี้ทิ้งซะ ซึ่งในหัวของ Flight Director อย่าง Gerald Griffin ก็คิดแบบนี้อยู่ในตอนนั้น ซึ่งขั้นตอนการยกเลิกก็แค่แยกห้องนักบินออกมาจากส่วนอื่นของยาน และก็ระเบิด Saturn V ทิ้งบนอากาศ และก็ระเบิดฝันของนักบิน Apollo 12 ที่จะไปเหยียบดวงจันทร์เช่นกัน

ความวิตกกังวลในศูนย์ควบคุม Houston กับการพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของภารกิจ

แต่ Aaron ไม่ได้ทำแบบนั้น เขาเคยเห็นรูปแบบประหลาด ๆ นี้แล้วครั้งนึงโดยบังเอิญเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดปัญหาขึ้นจากสวิตช์ที่มีชื่อว่า SCE (Signal Conditioning Equipment) ซึ่งควบคุมกล่องที่ทำหน้าที่แปลข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ บนยานมาสู่สัญญาณที่จะส่งไปแสดงผลยังหน้าจอของนักบินและห้องควบคุมภาคพื้นดิน ซึ่งปกติจะถูกตั้งให้ใช้ไฟสูงเพื่อความแม่นยำ แต่ในโหมด auxillary นั้นเจ้า SCE นี่จะสามารถทำงานได้แม้จะรับไฟจากแบตเตอรี่ก็ตาม Aaron จึงสั่งการให้ลูกเรือ Apollo 12 ทำการ “SCE To Aux” หรือก็คือปรับสวิตช์ให้ไปอยู่ในโหมด auxillary นั่นเอง

ภาพในศูนย์ควบคุมการปล่อยยาน สังเกตุได้ว่ามีสัญญาณเตือนติดขึ้นมาค่อนข้างเป็นจำนวนมาก

ความงงงวยปกคลุมห้องควบคุมในทันที ทั้ง Flight Director และ CAPCOM ต่างไม่ทราบคำสั่งนี้ทั้งคู่ แต่ก็ยังส่งต่อคำสั่งไปยังบนยาน ที่แม้แต่ Pete Conrad Commander ของภารกิจนี้ก็ยังไม่ทราบ และยังอุทานมาว่า “ปุ่ม_่าอะไรวะ” แต่โชคดีที่นักบินยานลงจอดดวงจันทร์อย่าง Alan Bean ทราบตำแหน่งของสวิตช์นั้น และปรับให้ไปอยู่ในตำแหน่ง aux ซึ่งทำให้ข้อมูลทั้งหมดกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งต้องขอบคุณความจำของเขาจากห้อง simulator ที่เขาเคยฝึกซ้อมในสถานการณ์คล้าย ๆ กันนี้มาแล้ว รวมไปถึงความรวดเร็วในการคิดและแก้ไขเหตุการณ์ของ John Aaron ที่ทำให้ภารกิจนี้ไม่ถูกยกเลิกลง

รูปแบบข้อมูลที่ John Aaron เห็นในขณะที่เกิดปัญหา

ลูกเรือของ Apollo 12 สามารถทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ตามปกติ แต่ก็ยังมีความลับนึงที่ศูนย์ควบคุมที่ภาคพื้นยังไม่ได้บอกบรรดาลูกเรือ เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าร่มชูชีพจะกางได้ปกติดีหรือไม่หลังจากโดนฟ้าผ่า เพราะหากไม่กางปุ๊ปลูกเรือ Apollo 12 จะพุ่งสู่มหาสมุทรด้วยความเร็วสูงมาก ศูนย์ควบคุมจึงอุบปากเงียบไว้ และทุกอย่างก็ทำงานได้อย่างปกติ

Apollo 12 อาจดูเป็นพระรองของ Apollo 11 แต่เป็นภารกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายต่าง ๆ และยังเป็นสถานการณ์ที่สร้างฮีโร่อย่าง John Aaron ให้เป็นที่โด่งดัง รวมไปถึงช็อตสุดฮาของ Pete Conrad และ Alan Bean ที่ทำกล้อง TV พังบนดวงจันทร์ รวมไปถึงการควานหาปุ่มเพื่อที่จะถ่ายเซลฟี่ของพวกเขาทั้งสอง (ซึ่งกว่าจะเจอก็ตอนกลับมาโลกแล้ว) หากไม่ได้การแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้ทันท่วงทีแล้วนั้นทุกอย่างที่กล่าวมานี้ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์คงเปลี่ยนไปจากที่เรารู้กันในทุกวันนี้อย่างแน่นอน

อ้างอิง https://spaceflight.nasa.gov/outreach/SignificantIncidents/assets/analysis-of-apollo-12-lightning-incident.pdf

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138