เกือบหล่นใส่บ้าน ชิ้นส่วนจรวดจีนตกต่อหน้าต่อตาประชาชีในมณฑลกวางสี

ในขณะที่ SpaceX พยายามเก็บทุกชิ้นส่วนจรวด ตั้งแต่ First Stage จนไปถึงฝาครอบ Payload เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในโครงการ Reuseable Launch อีกฝากนึงของโลกที่จีนประเทศที่ชอบทิ้งคว้างชิ้นส่วนจรวดซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของโครงการอวกาศ แต่กลับกันที่สไตล์พี่จีนทั้งที พี่แกไม่ได้แคร์คำว่าเขตชิ้นส่วนจรวดตกเลย คลิปวิดีโอล่าสุดจากมณฑลกวางสี ประเทศจีนแสดงให้เห็นชิ้นส่วนของจรวด Long March 3B ตกลงมาระเบิดต่อหน้าต่อตาสายตาประชาชีในบริเวณนั้นที่กำลังปฏิบัติกิจวัตรประจำวันกันอยู่ ให้บรรดาผู้โชคดีเหล่านั้นได้ถ่ายรูปมาอวดลงโซเชียล

บทความแนะนำ

 

 

วิดีโอนี้มีที่มาจากโซเชียลที่ไว้สำหรับแชร์วิดีโอของจีนชื่อ Sina Weibo (ผ่าน Twitter ChinaSpaceflight) แสดงให้เห็นถึงชิ้นส่วน Booster ของจรวด Long March 3B ตกลงในบริเวณเขตชุมชนของมลมณฑลกวางสีทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน จรวดลำดังกล่าวบินขึ่นจากฐานปล่อยซีฉาง ฐานปล่อยแห่งหนึ่งในประเทศจีนเพื่อทำการส่งดาวเทียม Beidou-3  ดาวเทียมเพื่อการนำทางของ CASC หรือหน่วยงานอวกาศของจีน ขึ้นสู่วงโคจร การดำเนินไปของภารกิจนั้นสำเร็จลุล่วงดี ไม่กี่นาทีหลังจากที่จรวด Long March 3B พุ่งขึ้น จรวด Booster ทั้ง 4 ตัวก็แยกออก พวกมันถูกวางแนวการตกให้อยู่บริเวณเมืองเทียนเติง มณฑลกวางสี ห่างจากฐานปล่อยประมาณ 700 กิโลเมตร

การปล่อยดาวเทียม Beidou-3 จาก Xichang Satellite Launch Center ที่มา – สำนักข่าว XinHua

 

 

แม้จะไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือความเสียหายที่เกิดจากการตกของจรวดครั้งนี้ แต่จรวด Long March 3B เป็นจรวดที่ใช้เชื้อเพลิงแบบ unsymmetrical dimethylhydrazine (UDMH) ร่วมกับ dinitrogen tetroxide (N2O4) ซึ่งเป็นเทคนิคการใช้เชื้อเพลิงแบบ hypergolic คล้ายกับจรวด Proton ของรัสเซีย และเชื้อเพลิงเช่นนี้มีความเป็นพิษสูงมาก หากโดนร่างกายหรือสูดดมเข้าไปอาจจะทำให้ถึงขั้นป่วยและเสียชีวิตได้หากเกิดการสะสมในร่างกาย ขนาดนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับจรวดพวกนี้ยังต้องใส่ชุดกันสารพิษ แต่ทางการจีนกลับปล่อยให้จรวดตกในพื้นที่ไม่ห่างไกลจากชุมชน และตามคลิปที่ปรากฏ ประชาชนบริเวณนั้นก็รีบแห่เข้าไปตื่นเต้นกับซากจรวด พร้อมกับสูดสมสารพิษกันเข้าไปในร่างกาย

การทำงานร่วมกับเชื้อเพลิง Hypergolic ต้องทำการใส่ชุดอย่างแน่นหนาเพื่อไม่ให้สารพิษเข้าสู่ร่างกาย ที่มา – ESA/Arianespace

สำหรับการใช้งานในรัสเซีย ฐานปล่อยจรวด Proton นั้นอยู่ท่ามกลางทะเลทรายเป็นดินแดนรกร้างไม่มีคนอยู่ดังนั้นก็ไม่ต้องห่วงเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อเพลิงอันเป็นพิษเหล่านี้ แต่สำหรับประเทศจีนซึ่งเป็นเขตชื้นกว่าทะเลทรายของรัสเซีย การปล่อยให้สารพิษอันตรายแบบนี้ตกในบริเวณป่าใกล้พื้นที่ชุมชนไม่ใช่เรื่องดีแน่

สำหรับประเทศจีนนั้นการปล่อยให้ชิ้นส่วนจรวดตกใส่บ้านชาวบ้านนั้นปรากฏให้เห็นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์จรวดตกใส่หลังคาบ้านของชายผู้โชคร้ายท่านหนึ่ง ที่เคยปรากฏเป็นภาพไวรัลบนอินเทอร์เน็ตมาแล้ว

ชิ้นส่วน Booster ของจรวด Soyuz ของรัสเซียที่ตกลงสู่พื้นโลก ที่มา – Roskosmos

ทีมงาน Spaceth.co เคยเขียนบทความเรื่อง SPACE DEBRIS ทำยังไงดีถ้ามีชิ้นส่วนจรวดตกทะลุหลังคาบ้าน ไว้แล้วซึ่งในบทความก็ได้ทำการอ้างอิง Outer Space Treaties ตามข้อตกลงที่ว่า บุคคลใด หรือรัฐ หรือองค์กรใดที่ทำการปล่อยวัตถุออกไปนอกโลก รวมถึงไปยังดวงจันทร์และวัตถุในอวกาศ เช่น ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ อุกกาบาต ถือเป็นเจ้าของในวัตถุนั้น ซึ่งบุคคลหรือรัฐหรือองค์กรนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นในข้อตกลงหรือบุคคลและทรัพย์สินทั้งบนพื้นโลก ในอากาศ ในอวกาศ และวัตถุในอวกาศนั้น

หมายความว่าชิ้นส่วนใด ๆ ก็ตามที่ตกลงมาหากทำให้เกิดความเสียหายทั้งกับร่างกาย สถานที่ ทรัพย์สิน หรือมีผู้ฟ้องว่าทำให้เกิดความเสียหายนั้น เจ้าของวัตถุอวกาศชิ้นดังกล่าวจะต้องชดใช้ ไม่ว่าจะเป็นกลบหลุม ซ่อมหลังคา จ่ายค่าทำขวัญ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงค่าทำความสะอาดและแก้ไขการปนเปื้อนในกรณีที่มีสารเคมีรั่วไหลจากชิ้นส่วนนั้นด้วย

คงจะมีแต่ SpaceX เจ้าเดียว ณ ตอนนี้ ที่จัดการกับชิ้นส่วนของจรวดได้เท่ที่สุดด้วยการบังคับให้ลงจอดบนฐานลงจอดอย่างนิ่มนวล ที่มา – SpaceX

ไม่ว่าจะยังไงก็ตามช่วงนี้พี่จีนอาจจะต้องออกมาพูดเยอะหน่อย เพราะไม่ใช่แค่เหตุการณ์จรวดตกในข่าวนี้เท่านั้น แต่สถานีอวกาศเทียนกงของจีน ก็กำลังจะตกลงสู่โลกเช่นกัน ทางการจีนคาดการณ์ว่าพวกเขาจะคำนวณตำแหน่งที่มันจะตกลงได้ก็ต่อเมื่อประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนที่มันจะลงมายังโลกเท่านั้น และหากมันไปตกลงในเมืองใหญ่ ๆ ก็สามารถทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามโอกาสที่มันจะตกลงสู่ในเมืองใหญ่ หรือแม้แต่พื้นที่ ๆ มีมนุษย์อาศัยอยู่นั้นก็ค่อนข้างเป็นไปได้น้อย เมื่อเทียบระหว่างอัตราส่วนของพื้นน้ำกับพื้นดินของโลกเรา อย่างไรก็ดีการติดตามตำแหน่งของยานนั้นก็ยังจำเป็นที่ต้องได้รับการเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดต่อไป

บทความแนะนำ

รายงานผ่าน

GB Times

ChinaSpaceflight

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.