ยาน Dragon 2 เดินทางสู่สถานีอวกาศเป็นครั้งแรก สรุปทุกข้อมูล

ช่วงบ่ายของวันที่ 2 มีนาคม ตามเวลาประเทศไทย SpaceX ได้ปล่อยจรวดเที่ยวบินประวัติศาสตร์ เมื่อจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ได้บรรทุกยาน Dragon 2 ยานอวกาศไร้คนขับที่จะถูกออกแบบมาสำหรับใช้ส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติขึ้นสู่วงโคจรเป็นครั้งแรกหลังจากการผลิตและทดสอบนานหลายปี เปิดจากการเดินทางสู่อวกาศโดยเอกชน และเป็นยานอวกาศคนนั่งลำที่ 3 ที่เดินทางเทียบสถานีอวกาศ นับจากยาน Soyuz, กระสวยอวกาศ

พฤษภาคม 2014 Elon Musk ได้เปิดตัวยานอวกาศที่ชื่อว่า Dragon V2 ยานอวกาศรูปร่างแปลกตาและดูทันสมัยที่จะพานักบินอวกาศเดินทางกลับขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติอีกครั้งหลังจากการปลดประจำการกระสวยอวกาศ ซึ่ง SpaceX ได้รับทุนจาก NASA ให้สร้างและพัฒนายานดังกล่าวในโครงการที่ชื่อว่า Commercial Crew ร่วมกับคู่แข่งตัวสำคัญอย่าง Boeing ที่ก็กำลังพัฒนายานรุ่นใหม่นี้เช่นกัน

การทดสอบ Dragon 2 นั้น ดำเนินการมาเป็นระยะ ๆ เราได้เห็นการทดสอบเครื่องยนต์ Draco Engine ที่ผลิตด้วยเทคนิค 3D Printing ได้เห็นการทดสอบ Launch Abort (ระบบดีดตัวออกจากจรวดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน) ในปี 2015 และ Hover หรือลอยอยู่กลางอากาศในปี 2016 ภาพ Render ต่าง ๆ ออกมาให้เราได้เห็นเป็นระยะ ๆ รวมถึงภาพจริงที่ถ่ายจากโรงเก็บของ SpaceX เองบ่งบอกว่า Dragon 2 นั้นยังอยู่ในการโฟกัสของ SpaceX

ยาน Dragon 2 ระหว่างพัฒนาในปี 2015 ที่มา – SpaceX

ครั้งหนึ่ง SpaceX เคยหวังให้ Dragon 2 นี้เป็นยานอวกาศลำแรกของ SpaceX ที่ลงไปแตะดาวอังคารในชื่อภารกิจว่า Red Dragon ในขณะที่โครงการ BFR หรือ Starship ในปัจจุบันยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่การยกเลิก Red Dragon ก็ทำให้ SpaceX หันมาโฟกัสกับ Starship ได้มากขึ้น แต่ Dragon 2 ก็ยังต้องทำต่อไป เนื่องจากรับเงิน NASA ในโครงการ Commercial Crew ไปแล้ว

วันทดสอบบินครั้งแรกของ Dragon 2

NASA ประกาศตารางการทดสอบยานทั้ง 2 รุ่นจาก SpaceX และ Boeing เป็นตารางที่อัพเดทล่าสุด 7 กุมภาพันธ์ว่า ในวันที่ 2 มีนาคม จะเป็นการทดสอบเที่ยวบินแรกของ Dragon 2 ในชื่อว่า Dragon Demo Flight ซึ่งการ Demo รวมไปถึงการเทียบท่าเข้ากับ International Space Station และเดินทางกลับสู่โลกด้วยตัวเอง (ซึ่งยาน Dragon ก็แทบจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติทั้งหมดอยู่แล้ว)

ถ้าเราดูจาก List เราจะเห็นว่าการทดสอบต่าง ๆ จะเป็นไปตามที่ NASA กำหนดกรอบไว้หมด ซึ่งคร่าว ๆ ก็คือ

  • ทดสอบ Pad Abort Test คือระบบดีดตัว ซึ่งเป็นการทดสอบดีดตัวขึ้นจากฐานปล่อยเฉย ๆ
  • Landing Test and Recovery การทดสอบลงจอดบนผิวน้ำและการนำยานกลับขึ้นฝั่ง
  • Demo Flight Uncrew ทดสอบบินเหมือนภารกิจจริงโดยไม่มีนักบินไปด้วย
  • Launch Abort Test คล้ายกับ Pad Abort แต่จะต้องดีดตัวเมื่อยานกำลังถูกปล่อย
  • Demo Flight Crew บินไปจริง ๆ พร้อมกับนักบินอวกาศ แต่ยังไม่นับว่าเป็นภารกิจจริง

การทดสอบ Pad Abort Test ในปี 2014 ที่มา – SpaceX

เมื่อทดสอบเหล่านี้ครบถ้วนแล้ว Dragon 2 ก็พร้อมที่จะเข้ามาประจำการและทำหน้านี่เป็น “แท็กซี่อวกาศ” รับ-ส่ง นักบินอวกาศให้กับ NASA โดยไม่ต้องไปง้อค่าส่งที่แพงแสนแพงของฝั่งรัสเซียอีกต่อไป

ยาน Dragon ทดสอบลอยตัวด้วยเครื่องยนต์ Draco Engine ที่มา – SpaceX

ภารกิจ Crew Demo-1 การส่ง

แน่นอนว่า SpaceX จะต้องใช้จรวด Falcon 9 ส่งยาน Dragon 2 ขึ้นไป ดังนั้นความยากไม่ใช่การส่งขึ้น แต่เป็นระบบอัตโนมัติ ไฟฟ้า และระบบการ Docking ที่ยาน Dragon 2 จะต้องจัดการกับตัวเองให้สำเร็จ ในแง่ของวิถีโคจรนั้น SpaceX มีความเชี่ยวชาญในการส่งยานอวกาศ Dragon รุ่นแรกไปยังสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้วเกือบ 20 ครั้ง ด้วยความล้มเหลวเพียงแค่ 1 ครั้ง ในภารกิจ CRS-7 ที่จรวดดันระเบิดเสียก่อน

ยาน Dragon 2 ในโรงเก็บของ SpaceX ก่อนทีจะถูกนำมาประกอบเข้ากับจรวด Falcon 9 ที่มา – SpaceX

ยาน Dragon 2 จะเทียบท่ากับ ISS ด้วยพอร์ตการเชื่อมต่อแบบใหม่ที่เรียกว่า Internationa Docking Adapter ซึ่งเป็นมาตรฐานในการเชื่อมต่อยานหลังจากนี้ทั้ง Dragon 2 ยานของ Boeing และยาน Orion ของ NASA เอง ก็จะใช้มาตรฐานแบบเดียวกัน ซึ่ง SpaceX ได้นำ IDA ไปติดตั้งแล้วในภารกิจ CRS-9 ปี 2016 และอีกชิ้นกำลังจะตามขึ้นไปในกลางปี 2019

จรวด Falcon 9 ทำ Static Fire พร้อมยาน Dragon 2 อยู่ด้านบน ณ ฐานปล่อยในตำนานที่เคยปล่อยยาน Apollo สู่ดวงจันทร์ ที่มา – NASA/SpaceX

และในวันที่ 2 มีนาคมยาน Dragon ก็เดินทางสู่อวกาศเรียบร้อยโดยมี Hilight ของการเดินทางที่น่าสนใจดังนี้

  • เดินทางบนจรวด Falcon 9 ลำใหม่ที่ยังไม่เคยถูกใช้มาก่อนและจรวดก็กลับมาลงจอดบน DroneShip ได้สำเร็จ
  • ในครั้งนี้มีการนำหุ่นมนุษย์อวกาศชื่อ “Ripley” ขึ้นไปด้วย
  • ยังมีการตัดสินใจเอาตุ๊กตารูปโลกขึ้นไปเพื่อให้ลอยเคว้งคว้างในภาวะไร้น้ำหนักอีกด้วย (เล่นเยอะไปไหน)
  • ยานจะใช้เวลาเพียงแค่ 1 วันในการเดินทาง ถือว่าเร็วที่สุดในการเดินทางสู่ ISS ของ SpaceX
  • เที่ยวบินต่อไปอาจเป็นการทดสอบจริง ๆ โดยใช้มนุษย์ (น่าตื่นเต้นมาก)

ยาน Dragon เดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – SpaceX

สิ่งสำคัญในการทดสอบนี้ก็คือ ตรวจดูการทำงานของระบบต่าง ๆ Flight Dynamic ระบบคอมพิวเตอร์ GNC หรือ Guidence Navigation and Control และระบบการเชือมต่ออัตโนมัติที่จะเป็นการเชื่อมต่ออัตโนมัติครั้งแรกของ SpaceX เพราะยาน Dragon รุ่นแรก ยังต้องเชื่อมต่อด้วยการใช้แขนกล Canadarm 2 จับไปต่อกับตัวสถานีอยู่

ยาน Dragon 2 ที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่สถานีอวกาศนานชาติ ที่มา – SpaceX

หลังจากนั้นระบบการปรับความดันให้ตัวยานกับตัวสถานีเท่ากันจะต้องเริ่มทำงาน แล้วยาน Dragon ก็จะยังต้องถูกทดสอบอีกหลาย ๆ อย่าง จนสุดท้ายพวกเขาจะให้นักบินอวกาศเข้าไปในตัวยานและตรวจสอบความเรียบร้อยเหมือนกับที่นักบินอวกาศ Don Pettit ได้ถูกส่งเข้าไปในยาน Dragon รุ่นแรกในปี 2012 เพื่อดูความพร้อม

ในวันต่อมหลังจากการปล่อย Dragon 2 ของ SpaceX เชื่อมต่อเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ และการเปิดฝาออกในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเพื่อให้นักบินอวกาศได้เข้าไปทดสอบเคลื่อนย้ายของ และตรวจสอบโครงสร้างของยาน

ในห้องควบคุมของ NASA ที่ดูความเรียบร้อยของภารกิจ ที่มา – NASA

แม้จะใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการตรวจสอบความดันว่าไม่มีรอยรั่ว นักบินอวกาศยังคงต้องใส่หน้ากากกันแก๊สพิษในกรณีที่อาจมีเหตุขัดข้องหรืออื่น ๆ รวมถึงทางโมดูลในฝั่งรัสเซียยังปิดตายกับฝั่งสหรัฐฯ หากว่าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติจะไม่เสียหายหมดทั้งสถานี

Elon Musk และทีมงาน SpaceX ถ่ายภาพร่วมกันโดยมียาน Dragon 2 ที่เชื่อมเข้ากับ ISS เป็นพื้นหลังในสำนักงานใหญ่ของ SpaceX ที่แคลิฟอร์เนีย ที่ม – Elon Musk/Twitter

สรุปแล้วนับตั้งแต่วันแรกที่ยาน Dragon รุ่นแรกเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติ SpaceX ใช้เวลา 7 ปี ในการพัฒนา Dragon 2 ให้บินตามรุ่นพี่มันไป ณ ตอนนี้ภารกิจของ Dragon รุ่นแรกก็ยังไม่จบลงและก็ไม่แน่ว่าอาจจะต้องมีภารกิจ CRS ใน Phase ที่ 2 ต่อมาอีก ดังนั้น ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เรามีโอกาสที่จะได้เห็น Dragon 1 และ Dragon 2 บินขึ้นลงสถานีอวกาศนานชาติไม่ต่ำกว่า 20 เที่ยวบิน เป็นการเปิดยุคการขนส่งอวกาศโดยเอกชนที่แท้จริง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.