มองแผลสงครามเย็น เมื่อหันด้านแข็งเข้าสู้ แต่เบื้องหลังคือความเจ็บปวด ในหนัง First Man

เมื่อหลายเดือนก่อน ผู้เขียนได้ดูหนังรัสเซียเรื่อง время первых (ที่แปลว่าครั้งแรก) คุ้น ๆ ไหม ใช่ วิธีการเล่าเรื่องมันจะคล้าย ๆ First Man หนังที่สร้างมาจากหนังสือ First Man ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือชีวประวัติของคุณนีล อาร์มสตรอง ชายคนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ ส่วนหนังเรื่อง время อะไรนี่จะเกี่ยวกับเรื่องของคุณอเล็กเซย์ เลโอนอฟ นักบินอวกาศคนแรกที่ทำ EVA หรือการออกมานอกยานอวกาศครั้งแรก

หนังทั้งสองเรื่องนี้ใช้วิธีการเล่าคล้าย ๆ กันคือการเล่าชีวประวัติเบื้องหลังทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องการทำงาน ความยากลำบาก และการที่ต้องอยู่ใกล้กับความตายตลอดเวลา สุดท้ายหนังจบลงด้วยทั้งสองปฏิบัติภารกิจที่กลายเป็นหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ แล้วกลับลงมาในฐานะฮีโร่

ซึ่งในหนังเราจะเห็นจุดตัดกันเล็ก ๆ ในฉากทีวีที่สื่ออเมริกัน รายงานข่าวว่าสหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการทำ EVA ครั้งแรก ตัดหน้าคุณเอ็ด ไวท์ ที่กำลังจะทำ EVA ครั้งแรกเช่นกันในภารกิจเจมิไน 4 (และไวท์ ก็เสียชีวิตต่อมาในอะพอลโล 1)

ประวัติศาสตร์คือการบันทึกเหตุการณ์ ไม่ได้บันทีกคน

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้องมีหนักชีวประวัติออกมา ก็เพราะว่าหลายคนอาจจะรู้จักเหตุการณ์ต่าง ๆ เรารู้ว่าโซเวียตส่งนักบินอวกาศครั้งแรกในปี 1961 อเมริกาส่งคนไปดวงจันทร์ปี 1969 จรวด Saturn V คือจรวดที่ทรงพลังมากที่สุดในโลก หรือวาทกรรม “ก้าวเล็ก ๆ ของชายคนหนึ่ง” ของนีล ในขณะที่เขาลงเหยียบพื้นของดวงจันทร์ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เราจะได้เห็นในหนังเรื่อง First Man แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะได้เห็นมากขึ้นว่าการบันทึกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ก็คือมนุษย์

นีล อาร์มสตรอง ถูกฉายในบทบาทของพ่อ เขาเล่นกับลูกและมีความเจ็บปวดฝังลึกในอดีตจากการที่ต้องเสียลูกสาวคนแรกไป ยังไม่รวมเพื่อนร่วมงานอีกหลายต่อหลายคนที่ทำให้การสำรวจอวกาศดูเป็นเรื่องโหดร้ายไปเลย

อันที่จริง การสำรวจอวกาศไม่ใช่เรื่องโหดร้ายขนาดนั้น ชีวิตต่างหากที่โหดร้าย ไม่ใช่แค่การสำรวจอวกาศ แต่ในทุกวัน คนเราต้องเผชิญกับความสูญเสีย และเรื่องที่คอยทำให้เรารู้สึกแย่กับโลกเต็มที เพราะมันคือความเป็นมนุษย์ ความไม่สมบูรณ์แบบ ความเจ็บปวด การพลัดพราก และความตาย ภาพยนตร์เรื่อง First Man แค่นำหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ มาซ้อนทับกับความเป็นมนุษย์นี้และถ่ายทอดมันออกมาในแง่ที่ธรรมดา ๆ ไม่มีลูกเล่นมาก แต่กลับดู Real และน่าติดตามอย่างเหลือเชื่อ

ในทุกความสำเร็จ มีเมีย ลูก ครอบครัว

ความน่าเจ็บปวดของหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องในครอบครัว การเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว Armstrong และ White เป็นเรื่องของเพื่อนบ้านทั่ว ๆ ไป ซึ่งก็เป็นเกร็ดความรู้อีกอย่างนึงคือ NASA ได้ให้ครอบครัวของนักบินและผู้มีส่วนร่วมในภารกิจต่าง ๆ ย้ายมาอยู่ในบริเวณแหลมเคอเนอเวอรัล เพื่อความง่ายในการทำงาน

คืนก่อนหน้า อะพอลโล 1 นั้น เอ็ด ยังเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้กับนีลฟังถึงลูกชายที่สนใจและตื่นเต้นกับยานลำใหม่ที่พ่อของเขาจะได้นั่งในเช้าวันต่อไป แต่กลายเป็นว่ายานลำนั้นคือยานที่พาพ่อของเขาไปไกลแสนไกลและไม่ได้กลับมาอีก

คุณเห็นไหม แพทต้องเป็นม่าย ลูก ๆ เขาไม่มีพ่ออีกแล้ว

เจเนตตะคอกใส่นีลในขณะที่นีลยังไม่ยอมรับว่าการเดินทางของเขาอาจจะเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายและไม่ได้กลับมาเจอลูก ๆ อีก

ถ้าเราเป็นชาวอเมริกันในวันนั้น วันที่เอ็ด และเพื่อนอีก 2 คนเสียชีวิตในยานอะพอลโล่ 1 สิ่งที่เราคิดเลยก็คืออเมริกาตามหลังโซเวียตอีกแล้วหรือ NASA ทุ่มงบไปกับสิ่งที่สูญเปล่า แต่สิ่งที่หนังถ่ายทอดออกมาก็คือ แพทที่ไม่ยอมออกจากบ้าน และลูก ๆ ของนีลที่อาจจะสงสัยว่า ลูกบ้านนั้นไปไหน ทำไมไม่ออกมาเล่นด้วยเหมือนเช่นเคย

ความเจ็บปวดที่ฝังลึกกับการสำรวจอวกาศ และสงครามเย็นชา

จะสังเกตว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฝั่งอเมริกา ยังมีเรื่องราวอีกมากในฝั่งโซเวียตที่คล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณวลาดิเมียร์ คามารอฟ ที่ตกจากอวกาศในภารกิจโซยุส 1 เมื่อร่มหลักไม่ยอมกางออก ในตอนนั้นวาเลนตินา ภรรยาของคามารอฟก็ถูกโทรศัพท์เรียกให้มาคุยกับสามีเธอเป็นครั้งสุดท้าย

สิ่งนี้ใกล้เคียงกับตอนที่เจนเน็ตถูกตัดสัญญาณที่ Capcom คุยกับ นีล ในภารกิจเจมีนี 8 จนทำให้เธอกระวนกระวายว่าเกิดอะไรขึ้นกับสามีเธอจนต้องขับรถมาโวยที่ NASA

พวกคุณก็แต่เด็กหัดบิน ที่พยายามจะบอกว่าทุกอย่างโอเค แต่มันไม่เคยมีอะไรโอเค!

สิ่งนี้คือความโหดร้ายของสงครามไม่ว่าจะในสงครามไหนก็ตาม มันมีเบื้องหลังของความเจ็บปวด แต่สิ่งที่ทำให้สงครามเย็นดูเหมือนจะน่าสนใจก็อยู่ตรงที่มันคือสงครามเย็นชา เย็นชาต่อความเจ็บปวดเพื่อที่จะบอกว่า “เรายังไหว ประเทศนี้ยังไหว” เราแข่งกันโดยหันด้านแข็งเข้าสู้ ด้านที่ไม่มีบาดแผล แต่ในความจริง ถ้าเราลองพลิกอีกด้านนึงดู ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา หรือสหภาพโซเวียต มันเต็มไปด้วยบาดแผล

ไม่ใช่บาดแผลทางการเมือง แต่เป็นบาดแผลความเจ็บปวดของคน การสูญเสีย ที่แม้กระทั่งจนถึงตอนนี้ยังมีน้อยคนที่จะรู้จักกับมัน หลายคนเพิ่งรู้ว่าอะพอลโล่ 1 เสียชีวิตยกลำ, หลายคนเพิ่งรู้ว่านีล อาร์มสตรองเจ็บปวดจากลูกสาวที่เสียชีวิต หลายคนไม่รู้ว่าความสำเร็จของโซเวียตในการทำ EVA ครั้งแรกโดยคุณอเล็กเซย์ เลโอนอฟ นั้นเกือบจะแลกมาด้วยการปล่อยฮีโร่แห่งสภาพโซเวียตนี้ไว้บนอวกาศเนื่องจากกลับเข้ายานไม่ได้ (ซึ่งแน่นอนว่าหนังเรื่อง время первых จะเปลี่ยนไปทันที)

โลกที่เราให้ความสำคัญกับคนน้อยกว่าเรื่องราว

หลายเหตุการณ์ เราจดจำมัน จดจำว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เราอาจจะไม่ได้จดจำว่า “คนคนนั้นเขาคือใคร มีที่มาอย่างไร สังคมของเขาเป็นแบบไหน” การจดจำคนในที่นี้ไม่ใช่แค่รู้จักว่าเขาชื่ออะไร แต่รู้ว่าพวกเขาคือใคร พวกเขามีพื้นหลังที่มาอย่างไร สภาพแวดล้อมแบบไหนที่ทำให้ นีล เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญจนเป็นมนุษย์คนแรกที่ได้เหยียบดวงจันทร์ สภาพแวดล้อมแบบไหนที่ทำให้ผู้กล้าต่าง ๆ สร้างประวัติศาสตร์

เราอยากฟังเรื่องราวของนักดับเพลิงที่วิ่งสวนทางคนที่หนีลงมาจากตึกในวันที่ 11 กันยายน เราอยากฟังเรื่องราวของทหารที่วิ่งขึ้นบกที่นอร์ม็องดี เราอยากฟังเรื่องของคนที่ถูกแขวนขอและฟาดด้วยเก้าอี้ในวันที่ 6 ตุลา 2519 เราควรรู้จักคนพวกนี้ และการได้รู้จักพวกเขาเหล่านี้จะทำให้หัวใจของเราเปิดกว้างขึ้น ว่าบางที โลกมันอาจจะไม่ได้เป็นในแบบที่เราเห็นและถูกออกแบบมาให้เป็น แต่มันเป็นในแบบที่มันเป็นต่างหาก

หนังเรื่อง First Man คือตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าในทุกความสำเร็จ และทุกหน้าประวัติศาสตร์ มันแฝงไปด้วยความเป็นมนุษย์ ที่มีความเจ็บปวด มีเบื้องหลังที่ไม่น่าจดจำ มีการจากลา และรายล้อมไปด้วยความตาย

ความเจ๋งของ First Man คือการช่วยเปิดมุมมองเหล่านี้ จากที่เรารู้จักนีล อาร์มสตรอง ในหนังสือเรียน และท่องจำกันว่าเขาเป็นมนุษย์คนแรกที่เหยียบดวงจันทร์ กลายเป็นว่าเขาก็คือชายคนนึง มีความรัก มีครอบครัว ไม่ต่างจากเรา ๆ เท่าไหร่ เรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์บางทีก็เป็นแค่ Another day at work ของใครบางคน

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.