Government Shutdown ส่งผลต่อวงการอวกาศอย่างไร เอกชนก็พาซวยไปด้วย

หลังจากการประกาศ Government Shutdown อย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐในรัฐบาลของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งการทำ Shutdown นี้เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2013 ในรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า สำหรับสาเหตุของการประกาศ Shutdown นั้นเนื่องมาจากวิกฤตด้านงบประมาณ ทำให้รัฐไม่สามารถอนุมัติงบให้กับหน่วยงานรัฐได้ พนักงานบางส่วนต้องกลับบ้านเนื่องจากไม่มีงานให้ทำ เว้นเพียงแต่งานของรัฐที่สำคัญ ๆ เช่น งานสาธรณสุข งานด้านการทหารที่จำเป็นมาก ๆ การจัดการจราจรทางอากาศ และการดูแลนักบินอวกาศที่อยู่บนวงโคจรโลก

เมื่อพูดถึงนักบินอวกาศ เราก็จะนึกถึง NASA ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลและต้องได้รับผลกระทบโดยตรงจาก Government Shutdown เช่นเดียวกันหน่วยงานรัฐอื่น ๆ แต่ในการ Shutdown ครั้งล่าสุดนี้ NASA ก็ยังไม่มีประกาศออกมาอย่างเป็นทางการถึงแผนการการรับมือ แต่ถ้าอ้างอิงจากเหตุการณ์เมื่อปี 2013 ทำให้เราพอจะมองภาพออกว่าในสถานการแบบนี้ NASA จะรับมืออย่างไร

สถานีอวกาศนานาชาติ โครงการความร่วมมือนานาชาติในการสร้างสถานีอวกาศ ที่มา – NASA

สำหรับ NASA พวกเขามียานอวกาศนับสิบลำที่กำลังทำงานอยู่ในอวกาศ ตั้งแต่บนวงโคจรของโลก ไปจนถึงดาวอังคาร ดาวพฤหัส และยานที่กำลังเดินทางออกนอกระบบสุริยะอย่างโวยาเจอร์ ที่สำคัญคือ NASA จำเป็นต้องดูแลชีวิตของนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึงทีมภาคพื้นดินก็ต้องเตรียมพร้อมต่อภารกิจต่าง ๆ ในอนาคต เช่นการเตรียมเสบียงสำหรับส่งขึ้นไป และการจัดตารางการทำงานของนักบินอวกาศบนสถานี

ผลกระทบต่อ NASA

ในกรณีเช่นนี้ NASA จะต้องเลือกเฉพาะงานที่จำเป็นเท่านั้น มาลองดูงานล่าสุดของสถานีอวกาศนานาชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในอาทิตย์นี้คือ NASA จะทำการส่งนักบินอวกาศ 2 คน (จาก NASA 1 คนและ JAXA 1 คน) ออกไปนอกสถานีเพื่อทำการซ่อมแซมอุปกรณ์บนสถานี เรียกว่าการทำ Spacewalk ซึ่งเป็นสิ่งที่เสี่ยงอันตรายมากและต้องมีเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินดูแลภารกิจอย่างใกล้ชิด เนื่องจาก International Space Station เป็นโครงการร่วมมือนานาชาติทำให้ NASA ไม่สามารถปฏิเสธหรือยกเลิกภารกิจได้เองเพียงลำพัง สิ่งที่ NASA ทำได้คือเตรียมพร้อมบุคลากรภาคพื้นดินที่จำเป็นต่อภารกิจเท่านั้น

  • เจ้าหน้าที่ในห้อง Mission Control จะต้องทำงานเพื่อสนับสนุนนักบินอวกาศบนสถานีต่อไป
  • ในส่วนของการดูแลสถานี NASA จำเป็นต้องใช้คนให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
  • นั่นหมายความว่า “รายจ่ายที่ไม่จำเป็น” รวมถึงทีมงานถ่ายทอดสดและบรรยายภารกิจ ทำให้เราอาจจะไม่ได้ชมการถ่ายทอดสดผ่านทาง NASA TV เหมือนเช่นเคย

การทำงานของ NASA ในด้านของการดูแลสถานีอวกาศจะคงดำเนินต่อไป แต่จะเน้นไปที่การกำจัดรายจ่ายส่วนที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือแต่งานที่สำคัญ ๆ ต่อชีวิตคนเท่านั้น

บรรยากาศในห้อง Mission Control ของ NASA ที่มา – NASA/JSC

นอกจากบนสถานีแล้ว NASA ยังมีงานอีกจำนวนมากบนพื้นโลกเช่น การทำวิจัย การสร้างยานอวกาศ (ที่ถูกจับตามองมากที่สุดก็คือ James Webb Space Telescope) การตรวจดูวัตถุท้องฟ้า และการทำสื่อต่าง ๆ เพื่อสื่อสารองค์กร เช่นเดียวกันงานในส่วนนี้จะต้องถูกตัดทีมงานออกให้เหลือแต่ที่จำเป็น

  • อ้างอิงจาก Nature รายงานมา James Webb Space Telescope ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการทดสอบ จะต้องพักการทดสอบไปก่อนจนกว่ารัฐบาลจะจัดการกับวิกฤตรายจ่ายนี้ได้
  • โครงการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น SLS หรือการทดสอบยาน Orion จะต้องถูกพักเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่กระทบต่อความเป็นความตายของใครโดยตรง
  • NASA จะหยุดทำสื่อต่าง ๆ ทั้งบน Social Media และบนเว็บไซต์ต่าง ๆ ของ NASA เอง

สรุปก็คือสำหรับ NASA การดูแลนักบินอวกาศบนสถานีและการทำงานของยานอวกาศในส่วนที่สำคัญจะคงดำเนินต่อไป แต่งานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นความตายจะต้องถูกพักไว้ก่อน

การทดสอบ James Webb Space Telescope ที่มา – NASA

หน่วยงานเอกชนก็พาซวยไปด้วย

ไม่ว่าจะเป็น Boeing หรือ SpaceX ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหน่วยงานเอกชน ถ้าฟังดูอาจจะเหมือนไม่ได้รับผลกระทบต่อการ Shutdown ในครั้งนี้ แต่อย่าลืมว่างานของบริษัทเอกชนพวกนี้ยังคงต้องพึ่งรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการปล่อยและทดสอบจรวดที่จะต้องประสานงานกับ FAA และกองทัพอากาศสหรัฐ United State Airforce

จรวด Falcon Heavy ยังคงรอการทดสอบอยู่บนฐานปล่อยของ NASA ที่มา – SpaceX

ในปลายเดือนนี้ SpaceX มีแผนที่จะทดสอบ Falcon Heavy จรวดขนาดยักษ์ โดยจะมีเหตุการณ์การทดสอบที่สำคัญ 2 เหตุการณ์คือ การทำ Static Fire หรือการทดสอบเครื่องยนต์ และการปล่อยจริง ๆ เพื่อส่งรถยนต์ Tesla Roadster ของ Elon Musk ขึ้นไปยังอวกาศห้วงลึก แม้จะเลื่อนการทดสอบหลายครั้งจากปัญหาเทคนิค การทดสอบดูเหมือนจะเป็นไปได้ภายใต้สภาวะ Shutdown นี้ แต่อย่าลืมว่าฐานปล่อยที่ SpaceX ใช้ คือ LC-39A ซึ่งเป็นสถานที่ของ NASA และในการปล่อยหรือทดสอบจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติ Range จาก United State Airforce ภายใต้การดูแลของ 45th Space Wing ที่ดูแลฐานทัพอากาศเคอเนอเวอรัล บริเวณฐานปล่อย รวมไปถึงการปิดน่านน้ำที่จะต้องใช้การดูแลของยามฝั่ง United State Coast Guard ทำให้การทดสอบต่าง ๆ นั้นอาจจะต้องถูกเลื่อนไปจนกว่าหน่วยงานรัฐพวกนี้จะพร้อม เพราะถ้าไม่มีการอนุมัติ การปล่อยวัตถุอวกาศหรือการทดสอบใด ๆ นั้นจะถือว่าผิดกฏหมาย  

Emre Kelly‏ บล็อกเกอร์สายอวกาศจาก Florida Today ออกมายืนยันถึงผลกระทบต่อการทดสอบ Falcon Heavy

นั่นหมายความว่าโอกาสที่เราจะยังไม่ได้เห็น Falcon Heavy ทำการทดสอบหรือขึ้นบินนั้นมีสูงมาก และเราอาจจะไม่สามารถเห็นการทดสอบได้ทันสิ้นเดือนนี้ตามที่ SpaceX ตั้งเป้าไว้

อย่างไรก็ตามเราคงต้องติดตามข่าวสารกันต่อไป เพราะแม้ว่าการ Shutdown นี้จะเกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่อเมริกาก็เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็เกิดผลกระทบ หรืออย่างน้อยก็เป็นข่าวไปทั่วโลก และส่งผลต่อโลกเราอย่างปฏิเสธไม่ได้

อ้างอิง

Shutdown Plan | NASA

What a US government shutdown would mean for science | Nature

Emre Kelly | Twitter

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.