ยาน Mars Express ถ่ายภาพ Korolev Crater แอ่งหิมะบนดาวอังคาร

หลังจากที่ยาน Mars Express สามารถถ่ายรูปของเมฆยาวกว่า 1,500 กิโลเมตร บนดาวอังคารได้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2018 (สามารถอ่านเรื่องราวของเมฆปริศนานี้ได้ ที่นี้) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ทาง ESA หรือองค์การอวกาศยุโรปได้เปิดเผยภาพถ่ายของหลุมอุกกาบาตที่ชื่อว่า Korolev ซึ่งปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง

ความพิเศษของภาพถ่ายนี้ไม่เหมือนกับภาพถ่ายหลุมอุกกาบาตปกติที่เราเห็นจากยานที่โคจรรอบดาวอังคารปกติ แต่มันคือภาพถ่ายแบบ Bird Eye View ของหลุมอุกกาบาต Korolev ซึ่งมันจะเปิดเผยบางสิ่งบางอย่างของหลุมอุกกาบาตนี้

Korolev Crater หลุมอุกกาบาตที่หนาวเย็นบนดาวอังคาร

หลุมอุกกาบาต Korolev Crater นั้นเป็นหลุมอุกกาบาตที่อยู่บริเวณขั้วเหนือของดาวอังคาร ซึ่งหลุมอุกกาบาตนี้นับเป็นหลุมอุกกาบาตที่สวยงามและเต็มไปด้วยน้ำแข็งตั้งแต่ปี 1976 ชื่อของมันถูกตั้งตามชื่อจากหัวหน้าวิศวกรจรวดและการออกแบบชื่อ Sergei Korolev บิดาแห่งเทคโนโลยีอวกาศของสหภาพโซเวียต

Korolev ทำงานให้กับโครงการอวกาศหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการสปุตนิก (Sputnik Program) ซึ่งถือเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลกในปี 1957 หลังจากนั้น 1 ปี เขาก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Vostok ที่ส่ง Yuri Gagarin ขึ้นไปบนอวกาศเป็นคนแรกของโลก หลังจากนั้นก็ทำงานให้กับโครงการสำรวจอวกาศมากมาย เช่น โครงการสำรวจดวงจันทร์ นอกจากนี้เขายังเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาหลักของจรวด Soyuz ที่ใช้กันจนถึงทุกวันนี้

หลุมอุกกาบาตภายในวงกลมสีแดงคือ Korolev Crater ภาพจากยาน Viking ที่มา NASA

Korolev Crater คือหลุมอุกกาบาตขนาด 81.4 กิโลเมตร ตำแหน่งของมันอยู่บริเวณที่ราบต่ำทางตอนเหนือของดาวอังคาร แถวทะเลทราย Olympia Undae บนขั้วเหนือของดาวอังคาร Korolev Crater ถือเป็นหนึ่งในไม่กี่หลุมอุกกาบาตของดาวอังคารที่ไม่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ แต่มันถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งแทน โดยน้ำแข็งของมันจะหนาราว ๆ 1.8 กิโลเมตร ตลอดปี

หลุม Korolev จากภาพถ่าย False Color แสดงระดับสูงต่ำของพื้นผิว ที่มา – ESA

ปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดน้ำแข็งในหลุมอุกกาบาตเรียกว่า “Cold Trap” โดยที่ตัวหลุมเองลึกมาก ๆ ประมาณ 2 กิโลเมตร จากปากหลุม ทำให้ส่วนที่ลึกที่สุดของ Korolev Crater ซึ่งมีน้ำแข็งอยู่แล้ว (เพราะไม่โดนแสงแดด) เกิดกระบวนการ “Natural Cold Trap” โดยอากาศที่เย็นจะไหลลงมาก่อตัวเป็นเหมือนชั้นอากาศเหนือผิวน้ำแข็ง และเนื่องจากอากาศเป็นตัวนำความร้อนที่ห่วยมากทำให้น้ำแข็งไม่สามารถร้อนขึ้น และละลายได้ Korolev Crater จึงคงสภาพน้ำแข็งไว้ได้ตลอดปี

หลุมอุกกาบาต Korolev crater ที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง ที่มา – ESA/DLR/FU

ซึ่งภาพของ Korolev Crater นั้น ถูกถ่ายด้วยกล้อง HRSC (High Resolution Stereo Camera) ของยาน Mars Express ซึ่งมันจะค่อย ๆ ถ่ายไปทีละแถบแล้วนำมารวมกันเป็นภาพเดียว นอกจากนี้ยาน Mars Express ยังได้ถ่ายภาพของ Korolev Crater ไว้ในรูปแบบอื่นอีก เช่น รูปถ่ายแบบภูมิประเทศ (Topographic) เพื่อใช้วิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้เครื่องมือ The Colour and Stereo Surface Imaging System (CaSSIS) ของ ExoMars Trace Gas Orbiter (TGO) ที่เริ่มภารกิจบนดาวอังคารเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2018 มีจุดประสงค์เพื่อหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ก็ได้ถ่ายภาพมุมมองอีกมุมมองหนึ่งที่สวยงามของหลุมอุกกาบาต Korolev ซึ่งนี้ยังเป็นภาพแรกของยานอวกาศลำนี้ที่ถูกส่งกลับมายังโลกนับตั้งแต่มันได้ไปถึง

ExoMars ถ่ายภาพหลุมอุกกาบาต Korolev Crater. ที่มา – ESA/Roscosmos/CaSSIS

พื้นที่บริเวณหลุมอวกาศ Korolev Crater นั้นเป็นที่สนใจแก่นักสำรวจอวกาศจำนวนมากในการศึกษา ค้นคว้าหาสิ่งมีชีวิตหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร อีกนักดาราศาสตร์ทั้งยังให้ความสนใจกับน้ำแข็งที่ก่อตัวขึ้นบริเวณปากหลุมอุกกาบาตอีกด้วย ซึ่งการถ่ายภาพครั้งนี้ก็อาจจะให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อวงการดาราศาสตร์ในอนาคตต่อไปได้ไม่มากก็น้อย

และก็เพื่อสุขสันต์วันคริสต์มาสจากดาวอังคารที่กำลังใกล้เข้ามานี้อีกด้วย !

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง 

Mars Express gets festive: A winter wonderland on Mars

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.