Ross 128b เพื่อนบ้านที่อาจมีสภาพเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต

ในปีที่แล้วนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ชื่อ Ross 128b ซึ่งอยู่ห่างจากโลกไปเพียง 11 ปีแสงเท่านั้น นอกจากมันจะเป็นดาวเคราะห์หินที่อยู่ในโซนอยู่อาศัยรอบดาว Ross 128 แล้ว จากงานวิจัยล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่ามันอาจจะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตได้

ถึงแม้จะไม่ใช่ฝาแฝดของโลก (แต่ก็ดีอยู่นะ เพราะลองดูดาวศุกร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นฝาแฝดของโลกดูสิไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ใช่มั้ย) และยังมีอีกมากมายที่เราต้องทำความเข้าใจกับมัน แต่จากข้อมูลล่าสุดก็ช่วยสนับสนุนความเป็นไปได้ที่มันมีสภาพที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตจะอาศัยอยู่ได้ โดยนักดาราศาสตร์ใช้เครื่อง spectroscope ที่ช่ือย่อว่า APOGEE บนหอดูดาวที่ New Mexico ในการวัดแสงของดาว Ross 128 ที่ช่วงแสงใกล้อินฟาเรด ซึ่งเป็นช่วงแสงที่ดาวฤกษ์ดวงนี้จะสว่างที่สุด

ภาพจำลองสภาพของดาว Ross 128b และดาวฤกษ์ Ross 128 – ที่มา ESO/M. Kornmesser

อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัว Ross 128 ซึ่งเป็นดาวแคระแดงหรือ Red Dwarf นั่นหมายความว่ามันคือดาวฤกษ์ที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์และอุณหภูมิต่ำกว่า (ของ Ross 128 มีอุณหภูมิที่ใกล้พื้นผิวของมันเพียง 3,000 องศาเซลเซียสเท่านั้น) แต่ก็จะมีข้อเสียที่ค่อนข้างจะเป็นพวกหัวร้อนเกรี้ยวกราด ชอบปล่อยอนุภาคออกมาและมักจะไปโดนดาวเคราะห์ที่โคจรรอบมัน เช่น Proxima Centauri ที่คอยทำร้าย Proxima b อยู่เรื่อย ๆ จนอาจจะพังทลายชั้นบรรยากาศของมันไปหมดแล้วก็ได้ แต่กับ Ross 128 มันเป็นดาวฤกษ์ที่ผู้ดีและสุขุมกว่า (ค่อนข้างมาก) และนั่นทำให้ Ross 128b เป็นเป้าหมายที่น่าติดตามสำรวจอย่างมาก

และจากข้อมูลที่ได้นั้นแสดงให้เห็นถึงการมีคาร์บอน ออกซิเจน แมกนีเซียมและเหล็กในดาว Ross 128 เป็นจำนวนมาก ซึ่งดาวฤกษ์และดาวเคราะห์เหล่านี้ต่างล้วนเกิดมาจากที่เดียวกัน (อ่านเรื่องการเกิดของดวงดาวได้ที่นี่) และเมื่อเอาข้อมูลที่ได้มารวมกับมวลที่เรารู้เกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้ ทำให้เรารู้ได้ว่าดาวเคราะห์ Ross 128b มีรัศมีใหญ่กว่าโลกอยู่เล็กน้อย แต่ไม่มากเกินไปจนทำให้มันเป็นดาวเคราะห์แก๊ส ดังนั้นจึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่าเมื่อวันหนึ่งที่เรามีเทคโนโลยียานลงจอดที่ดีพอ เราจะสามารถส่งยานไปเยือนมันได้เลย (แต่เสียใจด้วย คุณอาจอยู่ไม่ทันได้เห็น รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วยเช่นกัน)

ทีนี้ข้อมูลที่ได้จากรัศมีของมันทำให้เราสามารถวัดข้อมูลได้อีกตัว นั่นก็คือแสงและความร้อนที่ดาวได้รับ ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ยืนยันได้ว่ามันอยู่ใน Goldilocks zone หรือเขตที่อยู่อาศัยได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกมากมายที่เราต้องตามหาคำตอบเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้ เช่น

  • มันมีชั้นบรรยากาศมั้ย ถ้ามีแล้วมันหนาหรือบางเท่าไหร่
  • จากด้านบน ถ้ามีแล้วสภาพมันยังเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตหรือไม่ (ยกตัวอย่างดาวศุกร์กับดาวอังคาร ซึ่งล้วนมีชั้นบรรยากาศเหมือนกัน)
  • สนามแม่เหล็กของดาวนั้นเป็นอย่างไร

ดาวศุกร์ก็มีชั้นบรรยากาศ แถมอยู่ในโซนอยู่อาศัยได้ด้วย แต่เราก็ทราบกันดีว่าสภาพมันโหดร้ายเกินไปสำหรับสิ่งมีชีวิต (เท่าที่เรารู้ในตอนนี้) – ที่มา ESA/MPS, Katlenburg-Lindau, Germany

มีข้อมูลอีกมากมายที่เราต้องตามหาคำตอบจากเพื่อนบ้านของเราดวงนี้ และไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้ทักทายกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ห่างจากเราไปไม่กี่ปีแสงนี้ก็ได้

หรือเราอาจจะเจอดาวศุกร์ V.2 ก็ได้เหมือนกัน

อ้างอิง:

Stellar and Planetary Characterization of the Ross 128 Exoplanetary System from APOGEE Spectra

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138