Soyuz 1 หายนะกลางเวหาในม่านเหล็กสีแดง

ทุกความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ย่อมต้องมีจุดเริ่มต้นเสมอ เช่นเดียวกันกับโครงการอวกาศโซยูส (Soyuz) ที่จะเป็นก้าวแรกและสถานีสุดท้ายสู่ดวงจันทร์ ยานโซยูส 1 ยานที่เป็นดั่งก้าวแรกของโครงการกำลังจะแซงหน้าอเมริกาอีกครัั้ง แต่การก้าวที่เร็วเกินไปก็ทำให้ล้มลงได้ เมื่อโซยูส 1 จบลงด้วยความสูญเสียหลังจากพยายามรีบนำยานขึ้นบิน ทำให้โซเวียตพลาดโอกาสที่จะแซงอเมริกาไปในทันที และฝันไปดวงจันทร์เป็นชาติแรกก็เริ่มมืดลงอีกครั้ง

โซยูสมุมแดง อพอลโล่มุมน้ำเงิน

ภาพวาดยานโซยูส 1

โซยูส 1 เป็นเที่ยวบินแรกในโครงการอวกาศโซยูส ที่ปัจจุบันถูกใช้เป็นเรือข้ามฝากส่งคนจากโลกไปสถานีอวกาศนานาชาติ และกลับลงมาโลกอีกครั้ง ซึ่งในยุคนั้นมันเป็นยานที่ถูกวางแผนไว้ใช้ในการเดินทางไปยังดวงจันทร์คล้าย ๆ กับยานอพอลโล่ของทางอเมริกา ถึงแม้การทดสอบในสามครั้งก่อนหน้าจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง รวมไปถึงการตรวจพบข้อผิดพลาดของการออกแบบที่มากถึง 203 จุด แต่ภารกิจโซยูส 1 ก็ยังได้รับคำสั่งเดินหน้าต่อไป เนื่องจากเหตุผลที่ว่าพวกเขาจะไม่ทันวันเกิดของเลนิน (วันที่ 22 เมษายน) แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ มาร่วมกดดันอีกด้วย เช่นการแข่งขันกับสหรัฐสู่การเป็นชาติแรกบนดวงจันทร์ และเหตุไฟไหม้บนยานอพอลโล่ 1 ที่ทำให้สหรัฐต้องชะลอแผนไปดวงจันทร์ออกไปอีกปีครึ่ง

วลาดิเมีย คามารอฟ

วลาดิเมีย คามารอฟ (Vladimir Komarov) ผู้เคยมีประสบการณ์มาแล้วกับยานวอสคุด 1 (Voskhod) ยานอวกาศลำแรกที่มีนักบินขึ้นไปถึง 3 คน ได้รับเลือกให้ขึ้นบินกับภารกิจเสี่ยงตายในครั้งนี้ โดยที่ยูริ กาการิน เป็นนักบินสำรองของภารกิจ ซึ่งกาการินรู้ดีว่ามีปัญหากับยานอยู่มากมาย และพยายามที่จะผลักคามารอฟออกจากภารกิจ เพื่อที่เขาจะได้ขึ้นมาเป็นนักบินตัวจริง และทางโซเวียตจะสั่งยกเลิกภารกิจทิ้งในทันที เนื่องจากพวกเขาคงจะไม่เอาชีวิตวีรบุรุษของชาติไปเสี่ยงแน่ ๆ แต่คามารอฟปฏิเสธที่จะทำแบบนั้น ถึงแม้จะรู้ดีว่าเขาเองอาจไม่มีโอกาสกลับมายังโลกได้อีกครั้ง

จากลาไป (เสี่ยง) ตาย

โซยูส 1 บนฐานปล่อย

โซยูส 1 ถูกปล่อยขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน ปี 1967 จากฐานปล่อยหมายเลข ⅕ ฐานปล่อยฐานเดียวกับที่ส่งกาการินขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก ที่ไบโคเนอร์ คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome) และทำให้คามารอฟกลายเป็นนักบินอวกาศโซเวียตคนแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศสองครั้ง ถึงแม้ว่ายานจะขึ้นไปสู่วงโคจรที่วางแผนไว้แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าภารกิจนี้จะราบรื่นดั่งแผน เพราะเมื่อโซยูสอยู่นอกเหนือระยะการสื่อสารกับศูนย์ควบคุม ข้อมูลที่ศูนย์ได้รับคือแผงโซล่าเซลฝั่งซ้ายไม่ได้ถูกกาง นอกจากจะลดพลังงานแล้วมันยังไปขวางกับทำงานของเซนเซอร์ที่ไว้ควบคุมการเคลื่อนไหวของยานอีกด้วย ซึ่งมันเป็นระบบที่สำคัญมาก เพราะหากมันทำงานไม่ได้แล้วการจุดจรวด ปรับตำแหน่งของยานนั้นแทบจะทำไม่ได้เลย คามารอฟนั้นได้พยายามแก้ปัญหานี้อย่างสุดความสามารถ ถึงขั้นที่เขาใช้ขาถีบด้านข้างของยานเพื่อให้แผงโซล่าเซลนั้นการออก และเมื่อไม่มีอะไรดีขึ้น เขาต้องควบคุมการเคลื่อนที่ของยานด้วยตนเองโดยใช้เชื้อเพลิง แต่มันก็เป็นการใช้เชื้อเพลิงสูญเปล่า เพราะเมื่อพลังงานที่ได้รับนั้นน้อยลง หลาย ๆ ส่วนของยานก็เริ่มที่จะทำงานผิดพลาดมากยิ่งขึ้น ภารกิจโซยูส 2 นั้นที่แต่เดิมถูกวางไว้ให้เป็นภารกิจ “โชว์ของ” ก็ได้ถูกปรับแผนมาเป็นภารกิจกู้ภัยในทันที และเตรียมตัวที่จะถูกส่งขึ้นไปซ่อมแผงโซล่าเซลที่มีปัญหาบนโซยูส 1 แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ย่ำแย่ในคืนนั้นทำให้แผนนี้ถูกล่มไป

หลังจากการโคจรรอบที่ 13 ที่พลังงานในยานเริ่มต่ำลง รวมทั้งหลาย ๆ อุปกรณ์ก็เริ่มส่อแววงอแงแล้ว ผู้ควบคุมภารกิจจึงได้สั่งการยกเลิกในทันที โดยตั้งเป้าว่าพวกเขาจะนำคามารอฟกลับมาภายในการโคจรครั้งที่ 17 โดยมีโอกาสให้ลองใหม่ได้อีก 2 ครั้ง และการพายานกลับมายังโลกก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะหากองศาของยานทำมุมตื้นเกินไปจะทำให้ยานกระดอนออกจากชั้นบรรยากาศโลก และอาจหลุดไปในอวกาศ หากทำมุมลึกไปก็อาจจะถูกเผาไหม้ได้ และกับยานโซยูส 1 พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการบังคับยานเพื่อลงจอดด้วยตัวเอง ความเป็นความตายของภารกิจทั้งหมดนั้นแทบจะถูกชี้ชะตาจากที่จุดนี้ แม้ว่าโคมารอฟจะทำหน้าที่ของเขาได้อย่างเต็มที่แล้ว เจ้ายานโซยูสที่ไม่มีแผงโซล่าเซลไปซีกนึงก็สร้างปัญหาให้กับการจุดจรวดเพื่อกลับสู่โลก เพราะระบบอัตโนมัติตัดการทำงานของจรวดก่อนที่จะครบกำหนดเวลาที่วางไว้ ถึงแม้มันจะห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ แต่ยานโซยูส 1 ก็สามารถกลับลงมาสู่ช้นบรรยากาศได้ คามารอฟกำลังจะโกงความตายและกลับสู่มาตุภูมิของเขาอีกครั้ง

โกงความตาย แต่ต้องตาย

แต่แล้วความผิดพลาดหนึ่งใน 203 อย่างก็สำแดงอิทธิฤทธิ์ของมันออกมา เพราะหลังจากทะลุชั้นบรรยากาศมาได้แล้ว ร่มชูชีพชุดแรกถูกปล่อยออกมาเพื่อชะลอความเร็วได้สำเร็จ แต่มันไม่สามารถกางร่มอันหลักได้ และแม้ยานจะมีร่มสำรองแต่มันก็ไปพันกับร่มชุดแรก แทนที่ความเร็วของยานจะถูกลดลงด้วยร่มชูชีพ มันกลับดำดิ่งโหม่งโลกด้วยความเร็วที่สูงถึง 40 เมตร/วินาที แรงกระแทกของมันรุนแรงพอที่จะยุบยานลงจอดสูง 2 เมตร ให้เหลือเพียงแค่ 70 เซนติเมตร พร้อมกับทำให้จรวดเชื้อเพลิงแข็งที่ด้านใต้ของยานระเบิดในทันที ความร้อนของมันสูงพอที่จะหลอมโครงสร้างเหล็กของยานให้ละลายได้ในทันที

สภาพของโซยูส 1 ที่แหลกไม่เป็นชิ้นดี

ทีมงานกู้ภัยชุดแรกได้เดินทางมาถึงจุดที่ยานตก ( 51.13° N57.24° E) และรู้ดีว่าสิ่งที่เขากำลังเห็นนั้นคือหายนะ แต่ด้วยลูปสนทนาที่เป็นระบบเปิด เขาไม่สามารถหลุดพูดเรื่องการ “ตาย” ของนักบินอวกาศออกไปได้ และทำได้แค่เพียงบอกว่าต้องการแพทย์อย่างเร่งด่วน เมื่อทีมแพทย์มาถึงพวกเขาก็รับรู้ได้เลยว่าแทบไม่มีหนทางที่จะช่วยเหลือนักบินจากเปลวเพลิงนรกนี้ ถังดับเพลิงไม่สามารถดับไฟที่กำลังลุกโชนนี้ได้ นั่นทำให้ทีมกู้ภัยต้องตักดินมากลบยาน ด้วยความหวังที่ว่ามันจะหยุดการเผาไหม้ลง เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้นโครงสร้างก็พังทลายลง หลงเหลือไว้เพียงเศษซากประหักพังเล็ก ๆ กองอลูมิเนียมเหลว กับประตูเข้ายาน ข้างใต้นั้นคือคามารอฟที่ตอนนี้เหลือเพียงแค่ก้อนเนื้อขนาดกว้าง 30 เซนติเมตรและยาว 80 เซนติเมตรเท่านั้น คามารอฟกลายเป็นนักบินอวกาศคนแรกที่เสียชีวิตในระหว่างภารกิจ (อพอลโล่ 1 เสียชีวิตก่อนขึ้นบินจริง ในระหว่างทดสอบระบบสเมือนจริงเท่านั้น)

ส่วนที่เหลือจากร่างของคามารอฟ

การวิเคราะห์สาเหตุของหายนะในครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่า ที่เก็บร่มชูชีพถูกเปิดที่ระดับความสูง 11 กิโลเมตร แต่มันถูกบีบอัดจนผิดรูปและไม่สามารถกางได้อย่างปกติ ถึงแม้ร่มชุดแรกจะกางออกมาแต่มันก็ไม่สามารถดึงร่มหลักออกมาได้ ซึ่งก็เกิดจากแรงดันอากาศในยานลงจอดที่กระทำกับที่เก็บร่มชูชีพ ถึงแม้ปัญหาเหล่านี้จะยังไม่เคยเกิดขึ้นในระหว่างการทดสอบ แต่มันก็เป็นบทเรียนที่สำคัญซึ่งสามารถช่วยชีวิตภารกิจหลัง ๆ ได้ และที่สำคัญคามารอฟยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยชีวิตอีก 3 นักบินอวกาศที่เกือบจะต้องขึ้นบินกับยานโซยูส 2 ซึ่งเป็นยานที่มีข้อผิดพลาดคล้ายคลึงกับยานโซยูส 1 หากคามารอฟไม่พบปัญหาในวงโคจรตั้งแต่วันแรกและภารกิจโซยูส 2 ถูกอนุมัติ หน้าประวัติศาสตร์ความสูญเสียของเราอาจเพิ่มขึ้นจาก 1 เป็น 4 ก็เป็นได้

คามารอฟได้รับเกียรติให้จัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ และเถ้ากระดูกของเขาถูกฝังไว้ในที่ฝังศพของกำแพงเครมลินของกรุงมอสโคว ชื่อของเขายังได้ถูกนำไปไว้บนดวงจันทร์ถึงสองหนด้วยกัน ครั้งแรกกับยานอพอลโล่ 11 ยานลำแรกที่ลงจอดดวงจันทร์ และอีกครั้งกับแผ่นป้าย “Fallen Astronaut” หรือนักบินอวกาศผู้ล่วงลับ ที่ขึ้นบินไปกับยานอพอลโล่ 15 และความผิดพลาดในระหว่างภารกิจของเขาก็ทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาครั้งใหญ่แบบแทบรื้อไส้กับยานโซยูส ซึ่งในปัจจุบันมันเป็นยานที่เชื่อถือได้มากที่สุด และประจำการมายาวนานที่สุดจนถึงปัจจุบัน

ที่มา:

Russian Space Web

NASA Human Space Flight

Sven’s Space Place

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138