สรุปข่าวอวกาศและ Trend ที่น่าจับตามองในปี 2019 ภารกิจ อัพเดท วันครบรอบ

ในปีที่ผ่านมา ดาราศาสตร์และวงการอวกาศก็ได้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น เราสามารถส่งยานไปสัมผัสดวงอาทิตย์ได้เป็นครั้งแรก และขณะเดียวกันนั้นก็มียานอวกาศอายุร่วมครึ่งศตวรรษเดินทางออกนอกระบบสุริยะ แต่ในปีนี้ก็ยังมีอีกหลายเหตุการณ์น่าสนใจที่กำลังจะเกิดขึ้น มาดู 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปีนี้กันได้ในบทความนี้

ภายในเดือนกุมภาพันธ์ – สหรัฐอเมริกาเปิดตัวจรวดและยานขนส่งลูกเรือไปยังสถานีอวกาศแห่งชาติ

เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่มีการเปิดตัวยานอวกาศของสหรัฐอเมริกาที่มีนักบินอวกาศขององค์กรนาซาเดินทางไปกับยานอวกาศ Dragon ของบริษัท SpaceX ไปยังสถานีอวกาศแห่งชาติ

องค์กรนาซ่าร่วมมือกับบริษัทเอกชน Boeing และ SpaceX ในการสร้างประวัติศาสตร์ เมื่อพวกเขาเตรียมที่จะส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศแห่งชาติ ในเที่ยวบินที่กำลังจะมาถึงของ CST-100 Starliner และ Crew Dragon นี้จะเป็นครั้งแรกที่องค์กรนาซ่าได้ส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศโดยใช้จรวด ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน

ในการทดสอบระบบการขนส่งของยานอวกาศของบริษัท SpaceX จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ องค์กรนาซาจะตรวจสอบข้อมูลและทำการประเมินประสิทธิภาพที่ได้จากการทดสอบการบินแบบไร้มนุษย์ในครั้งนี้ ปัญหาต่าง ๆ และแก้ไขปัญหา เพื่อรองรับภารกิจการปฏิบัติงานต่อไป ก่อนที่จะกำหนดวันส่งมนุษย์เดินทางขึ้นไปในภายหลัง

ในตอนนี้นาซ่าก็ยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างป็นทางการว่าจะเริ่มปฏิบัติงานกับยานอวกาศลำไหนก่อนเป็นอันดับแรก แต่มีแผนกำหนดงานว่าจะเปิดตัวการเดินทางเที่ยวแรกในเดือนสิงหาคม และอีกภารกิจจะเปิดตัวในเดือนธันวาคมในปี 2019

18-23 กุมภาพันธ์ – ยานอวกาศ Hayabusa เก็บตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อย

ยานสำรวจดาวเคราะห์น้อย Hayabusa 2 เป็นภารกิจจากสำนักงานสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะศึกษาดาวเคราะห์น้อย 1999 JU3 หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 162173 Ryugu ซึ่งมันจะลงไปสำรวจและทำการเก็บตัวอย่างดินบนดาวเคราะห์น้อย เพื่อจะส่งกลับมายังโลกภายในปี 2020 นี้

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2018 Hayabusa ได้เดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อย Ryugu และในวันที่ 21 กันยายนต่อมา ก็ได้ปล่อยยานสำรวจขนาดเล็กลงสู่พื้นของดาวเคราะห์น้อยเพื่อทำการสำรวจและขุดเก็บตัวอย่างเพื่อนำกลับมายังโลกในปี 2020 ตามกำหนดการที่วางไว้

ยานสำรวจดาวเคราะห์น้อย 162173 Ryugu ที่มา – Akihiro Ikeshita

ระหว่างวันที่ 18-23 กุมภาพันธ์ ยาน Hayabusa จะเริ่มการเก็บตัวอย่างหินและดินจากพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย Ryugu เพื่อรอการส่งตัวอย่างกลับมายังโลก เพื่อทำการศึกษาที่มาของระบบสุริยะ การก่อกำเนิดตัวของมันเอง องค์ประกอบต่าง ๆ และอาจจะรวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับโลกของเรา การกำเนิดโลกของเรามากขึ้นก็เป็นได้

และในปลายปี 2019 นี้ยาน Hayabsua 2 ก็จะบอกลา Ryugu ด้วยการทำ Departure Burn และนำตัวอย่างของหินเดินทางกลับสู่โลก ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาน Hayabusa ที่ Hayabusa 2 ยานอวกาศสำรวจดาวเคราะห์น้อย สรุปทุกข้อมูลที่ควรรู้

29 พฤษภาคม – ครบรอบ 100 ปี สุริยุปราคาเต็มดวงพิสูจน์ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป

เรามีทฤฎีควอนตัมที่ได้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติของสิ่งเล็ก ๆ ในระดับอะตอมได้เป็นอย่างดี และอีกทฤษฎีหนึ่งคือทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ที่ได้อธิบายเรื่องแรงโน้มถ่วงในเอกภพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่มีความโน้มถ่วงสูงมาก ๆ

ในปี 1915 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังได้เสนอทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป เขาได้ใช้เวลามากกว่า 10 ปีในการคิดและศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของแรงโน้มถ่วง ซึ่งทฤษฎีนี้ก็ได้เปลี่ยนมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อแรงโน้มถ่วงและเอกภพไปตลอดกาล เขาได้บอกว่า มวลของวัตถุทำให้กาลอวกาศในอวกาศเกิดการโค้งงอ ยิ่งวัตถุมีมวลมากยิ่งทำให้กาลอวกาศบริเวณนั้นโค้งงอมากยิ่งขึ้นไปด้วย ซึ่งแสงที่เดินทางผ่านบริเวณนี้ก็จะเกิดความโค้งงอเช่นเดียวกัน

ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปได้แก้ไขปัญหาที่ก่อกวนใจของนักดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก เช่นปัญหาเรื่องของการส่ายของดาวพุธที่มีมาตั้งแต่สมัยของนิวตันก็ได้รับการคลี่คลายลง อีกทั้งยังช่วยให้นักดาราศาสตร์ได้รู้ว่าดาวเคราะห์ดวงอื่นก็มีการส่ายเช่นเดียวกัน แต่มันน้อยมาก เพราะดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าดาวพุธมีคาบการโคจรมากกว่า ทำให้สังเกตการส่ายได้ยากเช่นกัน แต่ในปัจจุบันหลังจากทำการวัดโดยละเอียด พบว่าโลกมีการส่าย 3.82 อาร์กเซคทุกร้อยปี ส่วนดาวศุกร์ส่าย 8.62 อาร์กเซคทุกร้อยปี

สุริยุปราคาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1919 ที่มา Arthur Stanley Eddington

เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว Arthur Stanley Eddington นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ จึงได้ออกแบบการทดลองจากการสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1919 เมื่อดวงจันทร์เลื่อนเข้ามาบังดวงอาทิตย์จนมิด แสงจากดาวฤกษ์ที่อยู่ด้านหลังดวงอาทิตย์จะเดินทางโค้งผ่านกาลอวกาศรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ ทำให้ตำแหน่งของดาวที่ปรากฎเปลี่ยนตำแหน่งไปตามที่ไอน์สไตน์ได้ทำนายไว้

แต่ที่จริงแล้วก่อนหน้านี้ก็ได้มีการทำการพิสูจน์ทฤษฎีนี้โดยใช้วิธีการเดียวกันกับสุริยุปราคาในวันที่ 8 มิถุนายน 1918 โดย U.S. Naval Observatory แต่ก็ล้มเหลวเพราะว่าในระหว่างที่ทำการสังเกตการณ์อยู่นั้นก็มีเมฆเข้ามาปกคลุมบริเวณดวงอาทิตย์พอดิบพอดี จึงเป้นเหตุที่ทำให้ต้องยกเลิกไป

และในปีนี้ก็จะครบรอบ 100 ปีในการพิสูจน์และยืนยันทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง อัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ ที่ได้ฝากเอาไว้ให้ลูกหลานได้นำมาคิดและปรับใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและความก้าวหน้าของวงการดาราศาสตร์ การศึกษาอวกาศต่อไปในอนาคต

21 กรกฏาคม – ครบรอบ 50 ปี ยานอพอลโล 11 นำมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1969 มนุษย์สามารถเดินทางไปถึงดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่งแต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติเลยทีเดียว ความสำเร็จครั้งนี้ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโลโนยีใหม่อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแผนที่บนดวงจันทร์แบบละเอียด องค์ความรู้ใหม่ ๆ จากตัวอย่างหินและดินที่เก็บมาจากดวงจันทร์ ระบบเทคโลโนยีการบิน รวมไปถึงระบบขนส่งต่าง ๆ

Buzz Aldrin กับธงชาติสหรัฐอเมริกาในภารกิจ Apollo 11 ที่มา – NASA/Apollo Archive

ภารกิจนี้ทางองค์กรนาซาได้ทำการศึกษาพื้นผิวของดวงจันทร์เป็นเวลานานกว่า 2 ปี โดยใช้ภาพถ่ายคุณภาพสูงจากดาวเทียม Lunar Orbiter กับรูปถ่ายจากยาน Surveyor เพื่อแสวงหาพื้นที่ที่ดีที่สุดที่จะทำการสร้างประวัติศาสตร์ในการลงจอดยานอพอลโล 11 และประทับรอยเท้าของมนุษย์โลกลงบนพื้นผิวอื่นนอกเหนือจากโลกเป็นครั้งแรก

และในปีนี้จะครบรอบ 50 ปีของภารกิจอพอลโล 11 ที่นีล อาร์มสตรองและบัซ อัลดริน ได้ลงเดินบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก และแน่นอนว่าเนื่องในโอกาสอันแสนพิเศษครั้งนี้ หน่วยงานอวกาศจากทั่วทุกมุมโลกก็ย่อมจะมีการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้อย่างแน่นอน

25 กรกฎาคม – เปิดหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดสงขลา

ในประเทศไทยมีการสร้างหอดูดาวขึ้นมาเพื่อใช้ในการศึกษา เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ และให้การบริการทางวิชาการทางด้านดาราศาสตร์ ของครู อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษา เช่น หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษาที่บนดอยอินทนนท์ และอีกที่คือหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา

และล่าสุดได้มีการสร้างหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเพิ่มอีกที่นั่นก็คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ไว้ที่ เขารูปช้าง ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ด้วยกันทั้งหมด 25 ไร่ นับว่าเป็นหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 3 ของไทยเราเลยก็เป็นได้

ที่ตั้งของหอดูดาวแห่งนี้อยู่บริเวณละติจูดที่ 7 องศาเหนือ ทำให้สามารถสังเกตวัตถุท้องฟ้าในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ อีกทั้งสภาพท้องฟ้ายังเอื้อต่อการสังเกตปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ได้ดีในช่วงฤดูฝนของไทย มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นทะเลสาบสงขลาและอ่าวไทย จังถือว่าเป็นหอดูดาวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย

หอดูดาวแห่งนี้ถือเป็นศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญในภาคใต้ มีภารกิจหลักคือ สนับสนุนงานบริการวิชาการดาราศาสตร์แก่ชุมชน งานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา สถาบันการศึกษา และยังคงเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลาก็จะได้เปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิจัย ให้ความรู้แก่เยาวชนที่สนใจ และเป็นศูนย์รวมการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ของไทยอีกแห่งด้วย

ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน – CHEOPS Probe ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบ

โครงการ CHEOPS วางแผนที่จะปล่อยตัวในระหว่างวันที่ 15 ตุลาคมจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ มันเป็นโครงการแรกที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทำการหาดาวเคราะห์นอกระบบโดยวิธี Transit Photometry และมันจะสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก

เป้าหมายหลักทางวิทยาศาสตร์ของภารกิจนี้คือการวัดความหนาแน่นของ Super-Earth ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่สว่างและจัดหาเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับการศึกษาลักษณะเชิงลึกในอนาคตของดาวเคราะห์นอกระบบในช่วงมวลและขนาดที่ใกล้เคียงกับโลกของเรา

ภาพจำลองยาน CHEOPS ที่มา – ESA/Roskosmos

การปล่อยตัว CHEOPS นั้นจะปล่อยตัวไปกับจรวด Soyuz และร่วมเดินทางสู่อวกาศกับดาวเทียม Cosmo-SkyMed ของประเทศอิตาลี โดยดาวเทียมทั้งสองจะแยกเป็นวงโคจรของตัวเองในไม่ช้าหลังจากการ CHEOPS ไปถึงที่ปฏิบัติการใน low-Earth orbit ที่ระดับความสูง 700 กม.

หนึ่งในทีม CHEOPS ได้พูดว่าการวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบนั้น สามารถกระตุ้นความสนใจในการล่าอาณานิคมของมนุษย์ได้ หนึ่งในสิ่งที่ทำให้การสำรวจอวกาศเป็นไปอย่างราบรื่นก็คือ เมื่อผู้คนรู้ว่าว่าดาวศุกร์เป็นเหมือนกับนรกและดาวอังคารคล้ายกับทะเลทราย และมันก็เห็นได้ชัดว่ามีดาวเคราะห์จำนวนมากที่ยังมีอยู่และมีลักษณะคล้ายโลกมาก แค่รอวันเราค้นพบ

ดาวเคราะห์ใกล้โลก

นอกจากปรากฏการณ์อุปราคาและฝนดาวตกแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจและเหมาะแก่การตั้งกล้องถ่ายรูปไว้อวดเพื่อน ๆ อีกอย่างนั้นก็คือปรากฏการณ์ดาวเคราะห์เคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด (Opposition) โดยดาวเคราะห์จะปรากฏให้เห็นใหญ่กว่าปกติ และสว่างมากกว่าปกติบนท้องฟ้าในยามกลางคืน

  • 10 มิถุนายน ดาวพฤหัสใกล้โลกมากที่สุด
  • 9 กรกฎาคม ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุด
  • 9 กันยายน ดาวเนปจูนใกล้โลกมากที่สุด (จะสามารถสังเกตได้ดีในกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดกำลังขยายเยอะ ๆ เท่านั้น)
  • 27 ตุลาคม ดาวยูเรนัสใกล้โลกมากที่สุด (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้)

สามารถตรวจสอบปรากฎการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ที่ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ปี 2019 จันทรุปราคา สุริยุปราคา ฝนดาวตก สรุปทุกข้อมูล

ฝนดาวตกเหนือท้องฟ้าไทย

เมื่อโลกเดินทางเข้าสู่เส้นทางของดาวหางที่เคยผ่านเข้ามาบนโลก เศษหินของดาวหางที่เมื่อโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์แล้วปล่อยเศษหินและฝุ่นทิ้งไว้ตามทางที่มันโคจร กำลังพุ่งใส่บรรยากาศของโลกตามแรงโน้มถ่วง เกิดเป็นไฟสว่างวูบวาบ สีสันสวยงามบนท้องฟ้า

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจับตามองเป็นพิเศษคือฝนดาวตกที่ปรากฎในทุกช่วงเดือนของปี 2019 ซึ่งมีตั้งแต่เดือนมกราคมจนไปถึงเดือนธันวาคมปิดท้ายปีเลยก็ว่าได้ มีอะไรบ้างนั้นดูกันได้ที่ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ปี 2019 จันทรุปราคา สุริยุปราคา ฝนดาวตก สรุปทุกข้อมูล

อุปราคาเหนือฟ้าเมืองไทย

อุปราคาในปีที่แล้วเรามีโอกาสได้เห็นปรากฎการณ์ Super Blue Blood Moon ที่หาชมได้ยากมาก และในปีนั้นยังมีปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้งอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นปีของปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์จริง ๆ แต่ในปีนี้ก็ไม่น้อยหน้าไปกว่าปีที่แล้ว ทั้งสุริยุปราคาและจันทรุปราคาที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ในบริเวณประเทศไทยของเรา

  • 17 กรกฎาคม จันทรุปราคาบางส่วน เวลาประมาณ ตี 3 จนถึง 6 โมงเช้าตามเวลาประเทศไทย
  • 26 ธันวาคม สุริยุปราคาบางส่วน เวลาประมาณ 10.18 น. จนถึง 13.57 น. ตามเวลาประเทศไทย
  • 20-21 มกราคม จันทรุปราคาเต็มดวง เวลาประมาณ 09.00 จนถึง 14.00 ตามเวลาประเทศไทย (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้)
  • 2 กรกฎาคม สุริยุปราคาเต็มดวง เวลาประมาณ เที่ยงคืนของวันที่ 2 จนถึงเช้าวันที่ 3 (ไม่สามารถสังเกตเห็นได้)

และในวันที่ 26 ธันวาคม จะเกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคาวงแหวน แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยเราไม่สามารถสังเกตเห็นปรากฎการณ์นี้ได้ ซึ่งเราได้จะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนแทน สามารถสังเกตได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย โดยที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

สุริยุปราคาในปี 2017 ถ่ายโดยทีมของ NASA ที่มา – NASA/Bill Ingalls

สามารถตรวจสอบอุปราคาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้ที่ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ปี 2019 จันทรุปราคา สุริยุปราคา ฝนดาวตก สรุปทุกข้อมูล

ข่าวที่น่าทึ่งจากอวกาศ ในวันที่ 1 มกราคมยาน New Horizons ได้เดินทางออกนอกระบบสุริยะและได้จับภาพวัตถุขนาดเล็ก ในระยะ 4 พันล้านไมล์ห่างจากโลก ในวันต่อมาประเทศจีนมีรถแลนด์โรเวอร์ Chang’e 4 ชื่อ Jade Rabbit 2 เดินเล่นอยู่อีกฟากหนึ่งของดวงจันทร์ ด้วยเหตุการณ์พวกนี้ชี้ให้เห็นว่าในปี 2019 จะเป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ

Trend อวกาศที่น่าสนใจในปีนี้ยังคงพูดถึงกันในเรื่องของการเดินทางไปในอวกาศของมนุษย์โลกกับการท่องอวกาศของบริษัท SpaceX และ Blue Origin การเริ่มใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่นอกเหนือจากโลก การค้นหาสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นรวมไปถึงเรื่องเชื้อโรคและสารเคมีที่อาจจะปนเปื้อนมาได้ ติดตามเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอวกาศนานาชาติ และสุดท้ายคือเรื่องของขยะอวกาศและดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ

การศึกษาเรื่องราวอวกาศ การเดินทางในอวกาศ ข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมไปถึงการดำเนินชีวิตบนโลกของมนุษย์ที่ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีต่าง ๆ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ระบบขนส่งที่ก้าวไกลขึ้นกว่าเดิมได้

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Commercial Crew Program 2019

Mark Your Calendars for These Space Events in 2019

Space subjects that will get the world’s attention in 2019 and beyond

มายด์ - บรรณาธิการและนักเขียน นิสิตปี 1 ภาคฟิสิกส์ จุฬาฯ สนใจเรื่องอวกาศ วิทยาศาสตร์ BLACKPINK อดีตไอดอลที่ออกวงการมาแล้ว และในปัจจุบันนี้เป็น Atomic Queen Ambassador of Physics 2019