เป็นเวลากว่า 11 ปีแล้ว หลังจากที่ในปี 2012 บริษัทอวกาศ SpaceX ได้นำเอายานอวกาศ Dragon รุ่นแรก เข้ามาเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 25 พฤษภาคม 2012 เป็นยานอวกาศเอกชนลำแรกที่สามารถเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้ หลังจากที่ได้รับสัญญาการผลิตยานอวกาศเพื่อส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) จาก NASA ที่ต้องการหาบริษัทคู่สัญญามาทำภารกิจหลังจากที่ NASA ได้ปลดประจำการกระสวยอวกาศ โดยเที่ยวบิน STS-135 ได้เป็นกระสวยอวกาศภารกิจสุดท้ายในเดือน กรกฎาคม 2011
สัญญาดังกล่าวมีชื่อว่า Commercial Resupply Service (CRS) ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานี้ SpaceX ได้ถูกต่อสัญญาการทำ CRS มาจากเดิม 20 ภารกิจ (สิ้นสุดในปี 2020) ไปอีก 15 ภารกิจ สิ้นสุดปี 2024-2026 โดยในภารกิจตั้งแต่ CRS-20 เป็นต้นมา SpaceX ได้มีการนำยานอวกาศ Dragon Cargo มาใช้แทนยานอวกาศ Dragon รุ่นแรก ซึ่งเพิ่มความสามารถในการเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาแขนกลของตัวสถานี และมีพื้นที่บรรจุเสบียงมากขึ้น
คงจะพูดได้อย่างเต็มปากกว่า SpaceX นั้นได้สร้างมาตรฐานใหม่หลาย ๆ อย่างในการนำส่งยานอวกาศขึ้นไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ
- การเป็นยานเอกชนลำแรก ซึ่งภายหลัง บริษัท Orbital Science (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ Northrop Grumman) ได้นำส่งยานอวกาศ Cygnus เป็นบริษัทที่สองในปี 2013 ภายใต้สัญญารูปแบบเดียวกัน
- เป็นยานอวกาศประเภท Cargo ลำแรก ที่สามารถนำ Payload หรือสัมภาระกลับลงสู่โลกได้ เนื่องจากยานอวกาศลำเลียงรุ่นอื่น จะถูกเผาไหม้ในบรรยากาศขณะกลับโลกและไม่ได้ออกแบบมาเพื่อนำสัมภาระใด ๆ กลับ
- เป็นบริษัทแรกที่นำเอาเทคโนโลยี จรวดที่สามารถใช้งานใหม่ได้ มาใช้งานโดยในภารกิจ CRS-8 ในเดือนเมษายน 2016 SpaceX ประสบความสำเร็จในการลงจอดจรวดบนเรือ Drone Ship กลางมหาสมุทรเป็นครั้งแรก และในเที่ยวบิน CRS-14 เมษายน 2018 ได้มีการนำเอาจรวดที่เคยถูกใช้ส่งภารกิจ CRS-12 กลับมาใช้เป็นครั้งแรก
- ยานอวกาศ Dragon เอง ก็มีการใช้ซ้ำเช่นกัน โดยในภารกิจ CRS-11 มิถุนายน 2017 ได้มีการนำเอา Dragon ในภารกิจ CRS-4 กลับมาใช้ใหม่
ภายหลังมีการปรับปรุงยาน Dragon จากรุ่น 1 เป็นรุ่นที่ 2 ที่มีหน้าตาคล้ายกับยาน Crew Dragon ที่ใช้ส่งนักบินอวกาศ ต่างเพียงแค่ไม่มีหน้าต่าง (อ่าน – รู้จักกับยาน Dragon 2 รุ่น Cargo และกลยุทธ์ลดค่าใช้จ่ายฉบับ SpaceX) ก็ทำให้ SpaceX ยังคงเป็นเจ้าตลาดและทำภารกิจมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีความผิดพลาดเพียงแค่ภารกิจเดียวคือภารกิจ CRS-7 ในวันที่ 28 มิถุนายน 2015 เมื่อจรวด Falcon 9 ระเบิดหลังจากขึ้นบิน
และด้วยความสำเร็จเหล่านี้เองทำให้ SpaceX เองก็ได้เป็นบริษัทคู่ค้าของ NASA ในภารรับจ้างทำภารกิจอื่น ๆ เช่น Commercial Crew การนำส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ, Human Landing System (HLS) การนำส่งนักบินอวกาศลงสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ในโครงการ Artemis และในอนาคตที่วางเป้าไว้ก็คือ Gateway Logistic Service (GLS) การนำส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศ Lunar Gateway แห่งใหม่ ณ วงโคจรรอบดวงจันทร์
แล้วภารกิจของ SpaceX สำคัญอย่างไรกับเรา
หนึ่งในผลสำคัญที่ SpaceX ทำให้ภาพของการนำส่งสัมภาระ Payload ต่าง ๆ ขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาตินั้นเปลี่ยนไป ก็คือ SpaceX ได้ทำให้ราคาของการนำสิ่งของขึ้นสู่อวกาศถูกลงอย่างมาก จะสังเกตว่า NASA เองจ้าง SpaceX ในสัญญา CRS เพียงแค่ 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับ 12 ภารกิจแรก เปรียบเทียบ Orbital Science ที่ NASA ว่าจ้างด้วยเงิน 1,900 ล้านเหรียญ สำหรับ 8 ภารกิจ
พอตีราคาออกมา ณ ปัจจุบัน เท่ากับว่าในภารกิจ CRS 1 เที่ยวบิน SpaceX มีมูลค่า 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำส่ง Payload ได้ 6,000 กิโลกรัม พอหารออกมาแล้วจะเท่ากับว่าเป็น 23,300 เหรียญ (ประมาณแปดแสนบาท) ต่อ 1 กิโลกรัม เท่านั้น จากในยุคของกระสวยอวกาศที่มีต้นทุนสูงถึง 93,400 เหรียญสหรัฐฯ (สามล้านสองแสนบาท)
เมื่อต้นทุนถูกลงก็เปิดโอกาสให้เกิดกิจกรรมในลักษณะใหม่ ๆ โดยเฉพาะการทำให้สถานีอวกาศนานชาตินั้นเอื้อมถึงสำหรับเหล่าบรรดา สถาบันวิจัย บริษัทเอกชนและสตาร์ทอัพต่าง ๆ ที่ต้องการใช้พื้นที่บนอวกาศในการวิจัยทั้งเพื่องานเชิงวิทยาศาสตร์ และงานวิจัยเชิงการค้า เช่น งานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์, งานวิจัยทางการแพทย์ เช่นการรักษาโรคมะเร็ง, ความมั่นคงทางอาหาร การปลูกพืช หรือแม้กระทั่งการทดลองสังเคราะห์เนื้อสัตว์ (Lab Grown Meat) นำโดยบริษัท Aleph Farms ประเทศอิสราเอล โดยสหรัฐฯ เองได้มีการจัดตั้ง ISS National Lab ขึ้นมาเพื่อดูแลและสนับสนุนการทำวิจัยบนสถานีอวกาศนานาชาติ
และที่สำคัญคือในการจัดการกับ Logistic อย่างชาญฉลาด ทำให้ SpaceX สามารถนำส่งงานวิจัยกลับลงมาถึงมือนักวิจัยได้ภายในเวลาเพียงแค่ 4 ชั่วโมง (อ่าน – SpaceX นำ Payload จากอวกาศกลับถึงมือนักวิจัยใน 4 ชั่วโมงได้อย่างไร สรุปความพิเศษของ CRS-21)
พื้นที่บนสถานีอวกาศได้ถูกนำมาขายต่อในราคาที่ถูกลงมหาศาลเมื่อเทียบกับยุคกระสวยอวกาศ ผ่านบริษัทต่าง ๆ เช่น Nanoracks, Airbus แม้กระทั่งนักวิจัยชาวไทย หรือศิลปินชาวไทยเอง ก็ได้มีโอกาสส่งการทดลองหรืองานศิลปะขึ้นไปอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติอยู่หลายครั้งหลายโอกาส ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดไม่ได้เลยหากราคาการขนส่งสิ่งของไปอวกาศยังสูงลิบ
เรียกได้ว่า SpaceX นั้นมีส่วนสำคัญในการเปิดพื้นที่เชิงการค้าบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีมูลค่าทางตลาดมหาศาล และนำมาซึ่งประโยชน์แก่มนุษยชาติในการได้ทำงานวิจัยบนอวกาศที่ถูกลง และทั้งหมดนี้ก็มาจากภาพรวมของตลาดที่มองไปยังแนวโน้มที่เรียกว่า Space Democratization ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงพื้นที่บนอวกาศ โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่อยู่ในกลุ่มผู้เล่นใหม่ด้านอวกาศ (Space Emerging Country)
จะสังเกตได้ว่าในเวลาเพียงแค่ 10 ปี ภาพของการสำรวจอวกาศนั้นเปลี่ยนไปมาก และสามารถเข้าถึงได้ง่าย สิ่งต่อไปที่น่าจับตามองก็คือโครงการ Artemis และสถานนีอวกาศ Lunar Gateway ในขณะที่ในวงโคจร Low-Earth Orbit ของโลกนั้นจะกลายเป็นตลาดใหม่ของการทำวิจัยบนอวกาศ และเริ่มมีบริษัทอวกาศหน้าใหม่ ๆ จับจองพื้นที่ เช่นบริษัท Axiom ที่ประกาศสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง ในขณะที่หน่วยงานรัฐฯ อย่าง NASA, ESA ก็มุ่งเน้นการเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างรากฐานการสำรวจอวกาศที่มั่นคงในอนาคต
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co