Apollo 13

หลังจากความสำเร็จของภารกิจอพอลโล 11 กับการไปเยือนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ โครงการอพอลโลก็ได้ดำเนินต่อไป จนในที่สุดก็มาถึงภารกิจอพอลโล 13

ในช่วงเวลา 4 เดือนที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาสามารถส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้แล้วถึง 2 ครั้ง การเดินทางไปเยือนดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของเรากลายเป็นเรื่องที่หลายคนคุ้นชินกันไปแล้ว และภารกิจอพอลโล 13 ก็ถูกคาดหวังไว้ว่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

ทว่าเรื่องราวกลับพลิกผันแทบจะทันที เมื่อถังออกซิเจนระเบิดขึ้นกลางอวกาศ ทำให้ภารกิจการสำรวจดวงจันทร์กลายเป็นปฏิบัติการกู้ชีพครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ด้วยเป้าหมายสูงสุดคือการพานักบินอวกาศทั้งสามกลับบ้านให้ได้อย่างปลอดภัย

อพอลโล 13 เป็นภารกิจแบบ H Mission ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ในพื้นที่ที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อทำการสำรวจพื้นที่โดยละเอียด รวมไปถึงทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์อีกหลายรายการ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยา

สำหรับภารกิจอพอลโล 13 พวกเขาถูกวางแผนให้ไปสำรวจบริเวณใกล้เคียงกับหลุมอุกกาบาต Fra Mauro เนื่องด้วยบริเวณนี้มีเศษซากหินจากการชนของอุกกาบาตที่สามารถใช้วิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของดวงจันทร์ หรือของโลกได้อีกด้วย

นักบินอวกาศ

อพอลโล 13 ประกอบด้วย จิม โลเวลล์ เป็นผู้บัญชาการภารกิจ เขาคือผู้อาวุโสและมีชั่วโมงบินมากที่สุดในบรรดานักบินอวกาศ ณ ตอนนั้น และเคยเดินทางมาดวงจันทร์แล้วรอบนึงกับอพอโล 8 นักบินยานบังคับการคือ แจ็ค ชไวเกิร์ต ผู้ได้ขึ้นบินเพียง 48 ชั่วโมงก่อนเดินทาง หลังจากต้องมาแทนนักบินตัวหลักที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรค กับนักบินยานลงดวงจันทร์ เฟรด เฮดส์

Aquarius และ Odyssey

ยานบังคับการของอพอลโล 13 คือยาน CSM-109 (Apollo command and service module) มีชื่อว่า Odyssey และยานลงดวงจันทร์ LM-7 (Lunar module) มีชื่อว่า Aquarius โดย จิม โลเวลล์ เป็นผู้ตั้งชื่อยานทั้งสองด้วยตนเอง

12 เมษายน 1970

ยานเดินทางขึ้นจากฐานปล่อย 39-A การเดินทางออกจากวงโคจรรอบโลก และมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ แยกตัวออกจากจรวด Saturn V

14 เมษายน 1970

เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ถังออกซิเจน ทีมที่ศูนย์ควบคุมตัดสินใจจะไม่วนกลับโลกในทันที เนื่องด้วยระยะห่างของยานและความเสียหายที่เกิดขึ้น

FAILURE IS NOT AN OPTION

ต้นเหตุของอุบัติเหตในภารกิจอพอลโล 13 นั้นมีที่มาจากถังออกซิเจนหมายเลขสอง โดยฉนวนกันความร้อนเทฟลอนที่เชื่อมกับพัดลมปั่นภายในถังนั้นเกิดความเสียหายขึ้น เมื่อ แจ็ค ชไวเกิร์ต ทำการสับสวิตซ์เพื่อปั่นแก๊สภายในถังตามคำสั่งของศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน

การลัดวงจรที่บริเวณฉนวนจึงทำให้เกิดเปลวไฟขึ้นภายในถังออกซิเจน ใช้เวลาเพียงไม่นาน แก๊สออกซิเจนในถังก็ติดไฟและขยายตัวออกอย่างรวดเร็ว ความดันมหาศาลนี้ดันโดมของถังออกซิเจนจนระเบิดออก

แก๊สและเปลวไฟไหลท่วมไปทั่วบริเวณช่องเซลล์เชื้อเพลิง ก่อนจะดันแผงโครงกันความร้อนของสร้างยานที่ทำจากอะลูมิเนียมพุ่งออกไปในห้วงอวกาศด้วยความเร็วสูง เศษวัสดุบางส่วนกระแทกกับเสาอากาศบริเวณท้ายยานจนทำให้ยานขาดติดต่อไปชั่วครู่กับทางภาคพื้นดิน

การระเบิดนี้ส่งผลให้ไฟที่ลุกไหม้อยู่ดับลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากแก๊สส่วนใหญ่กระจายออกไปในอวกาศแทบจะทันที แต่ก็ส่งผลให้ถังออกซิเจนหมายเลขหนึ่งรั่วตามไปด้วย รวมถึงแรงกระแทกที่ไปปิดวาล์วของเซลล์เชื้อเพลิงหมายเลขหนี่งและสาม ทำให้ทั้งสองเซลล์พลังงานหยุดทำงานตามไปอีก 

จากจุดผิดพลาดเล็ก ๆ ภายในส่วนหนึ่งของยาน SM ส่งผลให้ทั้งภารกิจอพอลโล 13 ต้องถูกยกเลิก และชีวิตของนักบินอวกาศทั้งสามต้องตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนเคยประสบพบเจอกันมาก่อน

ปิดยานบังคับการ

เพื่อประหยัดพลังงานที่มีอย่างจำกัด เปลี่ยนยาน LM เป็นเรือชูชีพ

ใช้การจุดจรวดจากเครื่องยนต์ของยาน LM

ที่ด้านไกลของดวงจันทร์ เพื่อเร่งการเดินทางกลับโลก Preserve energy for CM use later –  ปิดระบบที่ไม่จำเป็นในยานลงดวงจันทร์ เพื่อช่วยในการประหยัดพลังงานระหว่างเดินทางกลับ

สร้างเครื่องฟอก CO2 ด้วยอุปกรณ์ที่มีบนยาน

เปิดระบบบนยานบังคับการ เพื่อเตรียมตัวกลับโลก


17 เมษายน 1970 Odyssey แยกตัวจากยานบริการที่เสียหาย แยกตัวจากยานลงดวงจันทร์ เดินทางกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก และลงจอดบนมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างปลอดภัย

ทาง NASA ได้ทั้งกรรมการสอบสวนขึ้นมาเพื่อทำการสืบหาต้นเหตุของอุบัติเหตุหลังจากภารกิจอพอลโล 13 ได้สิ้นสุดลง แต่นอกจากปัญหาที่ฉนวนกันความร้อนในถังออกซิเจนแล้ว ก็ไม่มีสาเหตุอื่นอีกที่น่าจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น ลูกเรือทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ 

อย่างไรก็ตาม NASA ได้ทำการสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องด้านการออกแบบของถังออกซิเจนทันที ตัวควบคุมอุณหภูมิถูกเปลี่ยนใหม่ให้รับกระแสไฟได้มากขึ้น ฉนวนกันความร้อนที่ไวไฟถูกเปลี่ยนใหม่ไปเป็นวัสดุชนิดอื่น

ระบบพัดลมปั่นแก๊สภายในถังออกซิเจนก็ถูกนำออกไปด้วยถึงแม้จะต้องแลกมากับค่าความดันที่อาจจะคลาดเคลื่อนก็ตาม

ภารกิจอพอลโลที่ตามมา เริ่มต้นที่อพอลโล 14 ได้มีการเพิ่มถังออกซิเจนสำรองแยกต่างหากไปด้วยพร้อมกับน้ำและแบตเตอรรี่สำรอง ระบบสายไฟและอุปกรณ์ที่ไวไฟถูกป้องกันไม่ให้สัมผัสกับแก๊สออกซิเจนด้วยชั้นของเหล็กกล้า ระบบการถ่ายโอนพลังงานระหว่างยาน LM และ CSM ถูกปรับเปลี่ยนให้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

สุดท้ายแล้วระบบมอนิเตอร์ข้อมูลภาคพื้นดินก็ถูกแก้ไขด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทีมงานสามารถทราบถึงสิ่งผิดปกติระหว่างภารกิจได้ทันเวลามากยิ่งขึ้น

การช่วยเหลือนักบินอวกาศจากภารกิจอพอลโล 13 กลับมายังโลกได้นั้นได้ทำให้ภารกิจนี้ขึ้นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก ถึงแม้ภารกิจจริง ๆ ในการลงสำรวจดวงจันทร์จะไม่สำเร็จ แต่การที่พวกเขาทั้งสามรอดชีวิตกลับมายังพื้นผิวโลกนั้นก็ทำให้ผู้คนแทบทั้งโลกร่วมแสดงความยินดีและโล่งอกไปตาม ๆ กัน 

น่าเสียดายที่นักบินอวกาศทั้งสามไม่ได้เดินทางกลับสู่ห้วงอวกาศอีกเลย

อพอลโล 13 เป็นเพียงภารกิจเดียวเท่านั้นในโครงการอพอลโล ที่ไม่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ตามแผนการณ์ที่วางเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ภารกิจนี้ก็ขึ้นชื่อว่าล้มเหลวลงด้วยความสำเร็จ NASA ได้บทเรียนครั้งสำคัญอีกครั้ง เช่นเดียวกับการปลุกกระแสด้านการสำรวจอวกาศขึ้นมาในสังคมอีกครั้งหนึ่ง จีน ครานซ์และวิธีการทำงานของเขากลายเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์วิกฤติที่ได้รับการยกย่องอย่างมากมาย

การสำรวจอวกาศมีความเสี่ยงเป็นของคู่กันมาโดยตลอด และแน่นอนว่าหลังจากอพอลโล 13 NASA เองก็ต้องพบกับบทเรียนอันสุดแสนสาหัสจากโศกนาฏกรรมทั้งสองครั้งของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์และโคลัมเบีย แต่มนุษยชาติก็ยังคงก้าวต่อไป การสำรวจอวกาศจะยังคงพัฒนาไปเรื่อย ๆ แม้ความเสี่ยงที่เราต้องแลกมาจะมากมายขนาดไหนก็ตาม

หากมีปัญหาเกิดขึ้นอีก จงแก้ไขมันอย่างถูกต้อง ความล้มเหลวไม่ใช่ตัวเลือกที่พวกเราต้องยอมรับ