รวมข่าวอวกาศน่าติดตามที่จะเกิดขึ้นในปี 2018

ในปี 2018 ที่กำลังมาถึงนี้ นับเป็นปีที่น่าติดตามสำหรับการสำรวจอวกาศเป็นอย่างยิ่ง ทั้งภารกิจที่ไปเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสำรวจ การกลับไปสู่อวกาศอีกครั้งจากมาตุภูมิของสหรัฐ โดยบริษัทสัญชาติสหรัฐ ยานสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่มีอายุเท่า ๆ กับระบบสุริยะ และอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ทีมงาน Spaceth.co จึงได้รวบรวมข่าวอวกาศที่น่าติดตามในปี 2018 ไว้ให้ที่นี่แล้ว

ภายในมกราคม – ปล่อยจรวด Falcon Heavy ครั้งแรก

หลังจากที่รอมา 4 ปีเต็ม ในที่สุดเราก็จะได้เห็น Falcon Heavy จรวดที่มีแรงยกมากกว่า Saturn V บินขึ้นเป็นครั้งแรกจากแหลมเคอเนอเวอรัล จรวด Falcon Heavy เป็นจรวดหนักที่พัฒนาโดย SpaceX มีพื้นฐานมาจากจรวด Falcon 9 ที่ผูกติดกัน 3 ลำ รวมเครื่องยนต์ 27 ตัว

ในการบินครั้งนี้จะเป็นเที่ยวบินทดสอบ (Demo Flight) ซึ่งจะไม่มีการปล่อยดาวเทียมหรือยานอวกาศจริงแต่อย่างใด แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ Elon Musk เจ้าของ SpaceX ได้ทำการส่งรถยนต์ไฟฟ้า Tesla Roadster รุ่นเก่าของเขาขึ้นไปกับ Falcon Heavy เที่ยวบินนี้ด้วย โดยเป้าหมายของ Musk ก็คือการส่งรถยนต์ของเขาเข้าไปยังอวกาศห้วงลึก และเดินทางสู่วงโคจรของดาวอังคาร รถยนต์ของเขาจะอยู่ในอวกาศห้วงลึกไปตลอดกาล

วัตถุที่แปลกที่สุดที่จะได้เดินทางสู่อวกาศ

แน่นอนว่าจรวด Falcon Heavy จรวดทั้ง 3 ท่อนจะเดินทางกลับมาลงจอดยังโลกเช่นเดียวกับ Falcon 9 ถ้าคุณรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้เห็นจรวด Falcon 9 บินกลับมาลงจอดที่ฐานล่ะก็ เตรียมใจไว้ได้เลย เพราะมกราคมนี้คุณจะได้เห็นจรวด 3 ลำบินกลับมาลงจอด โดยจรวด 2 ลำแรกที่เป็น Booster ให้กับ Core-Stage ของ Falcon Heavy จะบินกลับมาพร้อมกันและลงจอดที่ Cape Caneveral และจรวดท่อนกลาง Core-Stage จะลงจอดบน DroneShip กลางมหาสมุทรแปซิฟิก

 

มีนาคม – ปล่อยยาน TESS ล่า Exoplanet

Transiting Exoplanet Survey Satellite หรือ TESS ยานอวกาศนักล่า Exoplanet หรือดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของ NASA จะถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรสูงของโลก (High Earth Orbit) ด้วยจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ยานอวกาศขนาดกลางหนักเพียงแค่ 350 กิโลกรัมนี้จะช่วยให้มนุษย์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยดวง

ยาน TESS ที่มา – NASA

ภารกิจ 2 ปีที่ถูกออกแบบไว้ของมันเป็นการตรวจหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะด้วยเทคนิคเดิมที่ถูกใช้งานโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศอื่น ๆ เช่น Kepler Space Tesescope ที่ทำการล่าดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมาแล้วเป็นพันดวง เทคนิคนี้คือการรอให้ดาวเคราะห์เคลื่อนที่ตัดหน้าดาวแม่ของมัน เมื่อแสงของดาวแม่หรี่ลงเนื่องจากมันโคจรตัดหน้า อัตราการหรี่ลง เวลาที่หรี่ลง และจุดที่เกิดการหรี่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถทำนายลักษณะของวงโคจร ขนาด และข้อมูลอื่น ๆ ของดาวเคราะห์ดวงนั้นได้

ยาน TESS นั้นจะทำหน้าที่ค้นพบ Exoplanet ใหม่ ๆ และชี้เป้าการสำรวจให้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศในอนาคตโดยเฉพาะ James Webb Space Telescope ทำการสำรวจต่อไป

 

5 พฤษภาคม – ปล่อยยาน InSight เดินทางสู่ดาวอังคาร

การกลับสู่ดาวอังคารอีกครั้งของ NASA นับแต่การส่งยาน Curiousity ไปลงจอดในปี 2012 และการส่งยาน MAVEN ไปโคจรในปี 2014 ภารกิจ InSight นี้จะเป็นการไปลงจอดบนดาวอังคารของยานอวกาศหนัก 360 กิโลกรัม ณ บริเวณที่ชื่อว่า Elysium Planitia บนดาวอังคาร ทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Atlas V จรวดเจ้าประจำที่ NASA ใช้งานมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในภารกิจการเดินทางสู่ดาวอังคาร

ยาน InSight ขณะทดสอบในห้องปฏิบัติการของ JPL ที่มา – NASA/JPL

เดิมแล้วยาน InSight มีชื่อว่า Gems ย่อมาจาก Geophysical Monitoring Station แต่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น InSight ในปี 2012 มันเริ่มถูกสร้างขึ้นในปี 2014 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จาก JPL – Jet Propulsion Labaratory กลุ่นนักวิทยาศาสตร์เพียงหนึ่งเดียวในโลกที่สามารถส่งยานไปลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จ

ภาพจำลองการทำงานของระบบตรวจจับอุณหภูมิใต้พื้นผิวธรณี ที่มา – NASA/JPL

ยาน InSight จะทำการสำรวจทางธรณีวิทยาของดาวอังคารด้วยเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับเครื่องมือที่เป็นจุดเด่นของภารกิจนี้ก็คือเครื่องมือของมันจะเจาะลงไปใต้พื้นผิวของดาวอังคารลึกถึง 5 เมตร เพื่อศึกษาอุณหภูมิใต้พื้นผิวของดาวอังคาร นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการเจาะลงไปยังพื้นผิวของดาวอังคารลึกขนาดนี้

กลางเดือนมิถุนายน – Hayabusa 2 เดินทางถึง Ryugu

หลังจากรุ่นพี่ของมันอย่าง Hayabusa นำพาตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อย Itokawa กลับมายังโลกเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา ในเดือนมิถุนายนนี้ Hayabusa 2 จะเดินทางไปถึงดาวเคราะห์น้อย Ryugu พร้อมกับการเก็บตัวอย่างกลับมายังโลก แต่ในครั้งนี้ไม่ได้เก็บแค่บนพื้นผิวแค่นั้น เพราะ Hayabusa 2 ได้นำระเบิดไปด้วย และจะเอามันไปปล่อยที่พื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย เพื่อทำการขุดค้นหาตัวอย่างที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวชั้นนอกนั่นเอง

ยาน Hayabusa 2 ขณะเก็บตัวอย่างดาวเคราะห์น้อย ที่มา – JAXA

หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจของมันกับดาวเคราะห์น้อย Ryugu แล้ว Hayabusa 2 จะเดินทางกลับมาถึงโลกในเดือนธันวาคม ปี 2020 พร้อมกับตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการกำเนิดของจักรวาล และสิ่งมีชีวิตอีกด้วย

 

ภายใน 2018 – นักท่องเที่ยวดวงจันทร์สองคนแรก

Elon Musk ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นปี 2017 ว่ามีผู้มีฐานะและสนใจในการท่องเที่ยวสองคนได้ทำการมัดจำเงินก้อนใหญ่เพื่อทริปการเดินทางสู่วงโคจรของดวงจันทร์ ซึ่งนี่จะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1972 ที่มนุษย์จะก้าวออกจากวงโคจรต่ำของโลก รวมทั้งจะทำให้พวกเขาทั้งสองกลายเป็นมนุษย์คนที่ 25 และ 26 ในประวัติศาสตร์ที่ได้เดินทางไปยังดวงจันทร์

ภาพด้านในยาน Dragon 2 ที่นักท่องเที่ยว 2 คนจะเดินทางไปดวงจันทร์ ที่มา – SpaceX

จากกำหนดการที่ค่อนข้างกว้างของ SpaceX และจรวด Falcon Heavy ที่ยังไม่เคยได้ขึ้นบินจริงสักครั้ง ช่วงเวลาที่เราจะได้เห็นมนุษย์สองคนกลับไปยังดวงจันทร์อีกครั้งอาจจะต้องรอถึงไตรมาสที่ 4 ของปี บนยาน Dragon ที่ปัจจุบันถูกใช้เป็นยานขนส่งระหว่างโลกกับสถานีอวกาศนานาชาติ (รุ่นที่มีมนุษย์ควบคุมน่าจะถูกทดสอบในปี 2018 ด้วยเช่นกัน) สำหรับราคาของเที่ยวบินหนึ่งอาทิตย์ระหว่างโลก-ดวงจันทร์-โลกนั้นยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา แต่คาดว่าไม่ต่ำไปกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคาค่าตั๋ว 1 ที่นั่งในการเดินทางไปสู่สถานีอวกาศนานาชาตินั่นเอง

ยาน Dragon 2 ยานอวกาศที่ล้ำยุคที่สุดในโลก ที่มา – SpaceX

ถ้าการเดินทางครั้งนี้สำเร็จมันจะกลายเป็นการพามนุษย์กลับสู่วงโคจรของดวงจันทร์อีกครั้งนับตั้งแต่มนุษย์กลุ่มสุดท้ายเดินทางออกจากดวงจันทร์ในปี 1972 ทิ้งให้ดวงจันทร์อยู่อย่างไร้ผู้มาเยือนกว่า 46 ปี

อัพเดท มกราคม 2018 :  ภารกิจนี้อาจถูกเลื่อนไปเป็นปีหน้าเนื่องจาก SpaceX เลือกที่จะไปพัฒนาจรวดขนาดใหญ่หรือ BFR แทน ยังไม่เป็นที่แน่ใจว่า Falcon Heavy จะถูกนำมาใช้ในภารกิจนี้หรือไม่

27 กรกฏาคม – ดาวอังคารใกล้โลก

แม้โลกของเรากับดาวอังคารจะอยู่ห่างกัน โคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วที่ต่างกัน แต่เฉลี่ยแล้วในทุก ๆ สองปีจะมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ โลกและดาวอังคารจะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน นั่นคือช่วงเวลาที่ดาวอังคารโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด โดยในวันที่ 27 กรกฏาคม โลกจะห่างจากดาวอังคารเพียง 57,774,697 กิโลเมตรเท่านั้น และที่พิเศษในครั้งนี้คือดาวอังคารเข้ามาใกล้โลกที่สุดนับตั้งแต่ปี 2003 และไปจนถึงปี 2027 ก็ยังไม่เฉียดเข้าใกล้โลกมากขนาดนี้

ดาวอังคารขณะเข้าใกล้โลกเมื่อปี 20003 ภาพนี้ถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 8 นิ้ว ที่มา – Ron Wayman of Tampa, FL ผ่าน NASA

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าช่วงเวลาที่มันเข้าใกล้ที่สุดนั้นตรงกับเวลา 15.00 ตามเวลาประเทศไทย แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงหัวค่ำ ส่วนครั้งต่อไปที่ดาวอังคารจะใกล้โลกนั้นต้องรอถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2020

ภายในสิงหาคม – ปล่อยยาน Parker Solar Probe

ดวงอาทิตย์นั้นเป็นดาวที่เราแทบไม่มีโอกาสได้เข้าไปใกล้เลยสักครั้ง ด้วยทั้งความร้อนที่มันแผร่ออกมา ทั้งความยากลำบากในการเดินทางไป ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีภารกิจอยู่มากมายที่สำรวจดวงอาทิตย์ แต่ไม่มีลำไหนที่จะเข้าไปใกล้ยิ่งกว่า Parker Solar Probe อีกแล้ว ที่จุดใกล้ที่สุดคือ 6 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ส่งให้มันเป็นทั้งยานที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด เคลื่อนที่เร็วที่สุดที่ความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตร/วินาที ทั้งนี้การเดินทางของมันจะใช้เวลานานถึง 6 ปีในการไปสู่จุดที่ใกล้ที่สุดของดาวอาทิตย์ แต่แทนที่การเดินทางไปดวงอาทิตย์โดยใช้ดาวศุกร์เป็นตัวเร่งความเร็ว เหมือนกับที่วอยาเจอร์ 2 เคยใช้ดาวเคราะห์ชั้นนอกในการเดินทางออกนอกระบบสุริยะ Parker Solar Probe จะใช้ดาวศุกร์เป็นตัวลดความเร็วเพื่อที่จะลดระยะวงโคจรให้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น

ยาน Parker Solar Probe ที่มา – NASA/Goddard Spaceflight Center

ภารกิจหลักในการสำรวจของมันนั้นคือการสำรวจโครงสร้างของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ และสาเหตุของการเกิดลมสุริยะขึ้น รวมถึงการสำรวจชั้นโคโรน่าของดวงอาทิตย์และพลาสมาในบริเวณนั้นแบบใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่เราได้ข้อมูลเชิงลึกจากระยะใกล้ชิดแบบนี้

กลางเดือนสิงหาคม – OSIRIS-REx เดินทางถึง Bennu

พี่ตูนเคยร้องไว้ว่า “จะออกไปแตะขอบฟ้า” แต่ OSIRIS-REx จะทำเหนือกว่านั้นด้วยการ “ออกไปแตะขอบดาวเคราะห์น้อย” โดยมันจะเดินทางไปยังดาวเคราะห์น้อย Bennu ที่เป็นดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกและมีโอกาส (ที่เล็กน้อยมาก) ที่จะพุ่งเฉียดหรือชนเข้ากับโลก และนอกเหนือจากเก็บตัวอย่างแล้วมันก็จะนำตัวอย่างนั้นเดินทางกลับมายังโลกอีกด้วย

Osiris REX กับ Bennu ที่มา – NASA

ดาวเคราะห์น้อย Bennu นั้นเป็นเหมือนกับ Time Capsule ของการกำเนิดระบบสุริยะ ที่ทำให้เราทราบถึงการเกิดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลกของเราอีกด้วย แถมวงโคจรของมันนั้นยังไม่เป็นที่แน่นอน รวมกับขนาดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดใหญ่ถึง 550 เมตร (สูงกว่าทุกตึกที่เรามีอยู่ในประเทศไทย) ทำให้ OSIRIS-REx ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นภัยต่อโลกของเราในอวกาศอันใกล้นี้ และตัวอย่างของมันจะกลับมาถึงโลกในปี 2023 โดยเป็นการเก็บตัวอย่างจากต่างดาวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่โครงการอพอลโล่เลยทีเดียว

 

ตุลาคม – ปล่อยยาน BepiColumbo

ดาวพุธยังคงเป็นดาวเคราะห์ชั้นในที่เรารู้จักอยู่น้อยมาก (แทบจะน้อยกว่าดาวเสาร์อีกด้วยซ้ำ) ทำให้การออกเดินทางของ BepiColombo เป็นที่น่าติดตาม นอกจากมันจะเป็นภารกิจที่ 3 ที่จะเดินทางไปยังดาวพุธแล้วมันจะยังเป็นครั้งแรกที่เราส่งยานสำรวจไปพร้อมกันถึงสองลำ โดยมีทั้งยานที่โคจรสำรวจโดยรอบหรือ MPO สร้างโดยองค์การอวกาศยุโรป และยานสำรวจสนามแม่เหล็กหรือ MMO สร้างโดยองค์การอวกาศญี่ปุ่น

ยาน Bepi-Columbo ของ ESA ขณะแยกตัวกัน ที่มา – ESA ผ่าน Space.com

นอกเหนือจากการสำรวจดาวพุธแบบปกติจะยากเพราะตำแหน่งที่ตั้งที่ใกล้ชิดกับดวงอาทิตย์แล้ว การเดินทางไปก็ยังเป็นความท้าทายที่มากพอกัน  เพราะนอกจากมันต้องเร่งความเร็วให้ทันดาวพุธที่โคจรเร็วอยู่แล้ว มันยังต้องชะลอลงให้มากพอที่จะเข้าสู่วงโคจรของดาวพุธอีกด้วย ซึ่งนั่นทำให้มันต้องใช้เวลานานถึง 7 ปีเพื่อไปยังดาวพุธ โดยใช้เทคนิค gravity-assist ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย  Giuseppe “Bepi” Colombo ผู้ที่ถูกนำชื่อมาตั้งให้กับยานนั่นเอง และคาดการณ์กันว่ายานจะมีอายุใช้งานโดยรวมทั้งสิ้น 10 ปีนับตั้งแต่ปล่อยจากโลก และทำหน้าที่ไขความลับอันมากมายของดาวพุธ ทั้งข้อมูลด้านธรณีวิทยา การเปลี่ยนแปลงของดาว ต้นกำเหนิดของสนามแม่เหล็ก และชั้นบรรยากาศของดาวพุธ เป็นต้น

 

26 พฤศจิกายน – ยาน InSight ลงจอด บนดาวอังคาร

การลงจอดบนดาวอังคารนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเสมอ อย่าลืมว่าเราเพิ่งเสียยาน Schiaparelli ของ ESA ที่เดินทางไปลงจอดที่ดาวอังคารในปี 2016 ที่ผ่านมา การลงจอดบนดาวอังคารที่สำเสร็จครั้งล่าสุดคือการลงจอดของยาน Curiousity ในปี 2012 ในปี 2017 นี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก JPL จะสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการทำการลงจอด InSight ยานอวกาศที่จะไขความลับทางทรณีวิทยาของดาวอังคาร

การลงจอดจะเกิดขึ้นที่ Elysium Planitia ที่ราบบริเวณแถบภูเขาไฟ Elysium บนดาวอังคาร การลงจอดของยาน InSight นั้นจะใช้เทคนิกเดียวกันการลงจอดของยาน Pheonix ในปี 2008  (ดูวิดีโอด้านบน) หลังจากที่มันแยกตัวออกจากชุดเกราะกันความร้อนที่ค่อย ๆ ชะลอความเร็วหลังเข้าสู่ชั้นบรรยากาศด้วยร่มชูชีพ ยาน InSight จะใช้เครื่องยนต์บนยานชะลอคามเร็วการตกให้ช้าลง และลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคารอย่างนิ่มนวล แน่นอนว่าการถ่ายทอดสดจะเกิดขึ้น NASA จะทำการถ่ายทอดสดจากห้อง Mission Control ของ JPL ภาพบรรยากาศการดีใจอย่างสุดเหวี่ยงของนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จะกลับมาอีกครั้ง

 

ปี 2017 เป็นปีที่เราทำการบอกลายานอวกาศที่เราผูกพันมานานอย่างยาน Cassini เป็นปีที่เราค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะใหม่ ๆ อีกหลายดวง และเป็นปีที่เราประสบความสำเร็จในการทดสอบหลาย ๆ แต่ในปี 2018 นี้จะเป็นปีแห่งการก้าวเท้าเดินทาง จะมียานอวกาศเดินทางสู่ดาวพุธ จะมียานอวกาศเดินทางสู่ดาวอังคาร ดาวเคราะห์น้อย และการกลับคืนสู่ดวงจันทร์ของมนุษย์ ก้าวเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ในอีก 2 ปี 3 ปี 10 ปี หรืออีก 100 ปีข้างหน้า

 

สื่อออนไลน์ คอนเทนต์ด้านอวกาศ การสํารวจอวกาศ และการค้นพบใหม่ ๆ โดยเน้นสร้างสรรค์เนื้อหาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสนุกไปกับความรู้ที่ได้รับ