แม้ว่ามนุษยชาติจะยังไม่เผชิญหน้ากับดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ ที่มีพลังทำลายล้างมากพอจะลบไดโนเสาร์ออกจากโลกไปได้นั้น แต่ความเสี่ยงที่เราจะต้องพบเจอก็ไม่ได้เป็น 0 แต่อย่างใด ซึ่งนั่นทำให้ทั้ง NASA, ESA, FEMA และอีกหลาย ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำเป็นที่จะต้องซ้อมรับมือกับดาวเคราะห์น้อยจำลอง โดยในปีนี้ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นก็คือ 2019 PDC นั่นเอง
การฝึกซ้อมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน 2019 Planetary Defense Conference ที่ Washington DC ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งชื่อของดาวเคราะห์น้อยจำลองดวงนี้ก็นำมาจากชื่อย่อของงานนั้นเอง โดยตัวแทนจากนานาประเทศจะมาร่วมกันตัดสินใจ และเสนอแนวทางรับมือกับดาวเคราะห์น้อย 2019 PDC ซึ่งงานจะเริ่มต้นในวันที่ 29 เมษายนนี้
อ้างอิงจากข้อมูลในเว็บไซต์ของงาน 2019 PDC ได้ถูกค้นพบในวันที่ 26 มีนาคม ระหว่างอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 57 ล้านกิโลเมตร และเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 14 กิโลเมตร/วินาที นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ามันมีขนาดระหว่าง 100-300 เมตร และในช่วงที่ถูกค้นพบนั้น โอกาสที่มันจะกลับมาเฉียดใกล้โลกอีกหนคือวันที่ 29 เมษายน 2027 พร้อมโอกาสพุ่งชนโลกอยู่ที่ 1 ใน 50,000
อย่างไรก็ตาม ขณะที่นักดาราศาสตร์เฝ้าติดตามสังเกตมาร่วมเดือน ก็ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับ 2019 PDC เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะสามารถร่างลักษณะวงโคจรของมันอย่างคร่าว ๆ ได้แล้วนั้น โอกาสที่มันจะพุ่งชนโลกก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 1 ใน 100 เลยทีเดียว และมีโอกาสพุ่งชนได้ในเขตบริเวณเส้นสีแดงของภาพด้านล่างนี้
สำหรับการฝึกซ้อมในครั้งนี้จะเป็นโอกาสอันดีสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะได้ใช้ความสามารถมาลองแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต ซึ่งงาน PDC นี้ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี และในทุก ๆ ครั้งก็จะมีการจำลองเหตุดาวเคราะห์น้อยที่มีความเสี่ยงพุ่งชนโลกมาเป็นประจำอยู่แล้ว โดยในปีนี้งานจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29 เมษายน ยาวไปจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม และจะมีการอัพเดทความคืบหน้าล่าสุดที่นี่
และที่สำคัญ งานนี้เป็นแค่การฝึกซ้อมเท่านั้น ดังนั้นผู้อ่านควรระมัดระวังข้อมูลที่อาจถูกนำไปบิดเบือนได้
เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง:
NASA | NASA, FEMA, International Partners Plan Asteroid Impact Exercise
ESA | The Day The Asteroid Might Hit
CNEOS | 2019 PDC Hypothetical Asteroid Impact Scenario Orbit