ตั้งแต่ปี 1880 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โลกของเราค่อย ๆ ประสบกับวิกฤติการณ์โลกร้อน (Global Warming) เรื่อยมา และพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1980 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า Temperature Anomaly (การแปรปรวนของอุณหภูมิ) เป็นผลมาจากการก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ มากมายทั่วทุกภูมิภาค
ส่งผลข้างเคียงต่อภาวะโลกร้อนแบบอ้อม ๆ เช่นกัน ตัวอย่างเช่นการปล่อยแก๊สเรือนกระจก “ที่มากเกินไป” Byproduct จากการสันดาปต่าง ๆ เช่น จากรถบนท้องถนนที่ในไม่กี่ปีมานี้ ผู้คนหันมาใช้รถส่วนตัวกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ Greenhouse emission per capita สูงขึ้นตามไปด้วย และไม่ได้มีแค่แก๊สเรือนกระจกเท่านั้น Carbon Dioxide emission per capita ก็ได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กันอีกด้วย
Temperature Anomaly ในศตวรรษที่ 21
ในช่วงปี 1951 – 1980 ของมนุษยชาติ ซึ่งอยู่ในช่วงของ 1880 – 2019 Temperature Anomaly ครั้งแรกของโลกนั้น ค่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกถึงจะแปรปรวนขึ้นลงอยู่บ้างแต่ก็ยังอยู่ที่ Baseline เดิมไม่ไปไหน หากแต่ในช่วงปี 1980 เป็นต้นมาค่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกกลับพุ่งทะลุ Baseline และจากข้อมูลที่เก็บเรื่อยมายังบ่งบอกว่ามันไม่ได้แค่ทะลุไปเฉย ๆ แต่ทะยานไปไกลมากและยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับลงมาสู่ Baseline อีก
จากการวัดอุณหภูมิโลกด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมายทั้งทางอากาศ ทางบก ทางทะเลหรือแม้แต่ในอวกาศ สถานีตรวจอากาศกว่า 26,000 แห่ง เรือและทุนตรวจอากาศอีกนับพัน ดาวเทียมสำรวจโลก เช่น Earth Observing System ต่างช่วยกันวัดค่าตัวแปรต่าง ๆ บนโลกให้มีความแม่นยำมากที่สุด และใช้ Baseline ช่วงปี 1951-1980 เป็นบรรทัดทานในการเทียบการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ
และเป็นที่น่าตกใจว่าจากการวัดอุณหภูมิพื้นผิวของโลกด้วยอุปกรณ์ AIRS (Atmospheric Infrared Sounder) บนดาวเทียม Aura ร่วมกับข้อมูล GISTEMP ที่วัดด้วยอุปกรณ์บนโลกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิพื้นผิวทะเล อุณหภูมิอากาศ อุณหภูมิพื้นผิวโลก ก็ต้องพบกับความจริงที่ว่าปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่อุณหภูมิบนโลกสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา เสมอกับสถิติครั้งก่อนเมื่อปี 2016
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในปี 2020 นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับไฟป่าที่ออสเตรเลียในช่วงต้นปี 2020 ซึ่งแผดเผาพื้นที่ดินไปกว่า 46 ล้านเอเคอร์ หรือประมาณ 186,000 ตารางกิโลเมตรทำให้เกิดควันไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศกว่า 28 กิโลเมตร ซึ่งควันไฟเหล่านั้นมีส่วนทำให้ Greenhouse effect รุนแรงขึ้นที่ทำให้ชั้นบรรยากาศสามารถเก็บความร้อนได้มากกว่าเดิมเนื่องจากความร้อนไม่สามารถสะท้อนออกจากชั้นบรรยากาศของโลกได้
และที่ทำให้ครั้งนี้น่ากลัวกว่าสถิติเมื่อปี 2016 คือ ในปี 2020 นั้นเรามีการระบาดของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 หรือ COVID-19 ซึ่งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปีที่ผ่านมานั้นไม่ว่าจะเป็นการ Lockdown การ Work From Home การหยุดงาน เป็นผลให้กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ลดลงไปด้วย ยานพาหนะบนผิวจราจรลดลง กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมลดลง การคมนาคมต่าง ๆ ลดลง หากแต่อุณหภูมิของโลกยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าการปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่าง ๆ เช่น Nitrogen Dioxide และ Carbon Dioxide ถึงจะลดลง แต่ปริมาณความเข้มข้นของมันก็ยังสูงอยู่ดี เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเข้มข้นสะสมในอดีตมาจนถึงตอนนี้
นอกจากนี้ค่าอุณหภูมิในปี 2016 นั้นหลัก ๆ แล้วเกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) โดยเฉพาะ El Nino-Southern Oscillation (ENSO) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิของอากาศและมหาสมุทรได้รับผลกระทบจากกันและกันซึ่งในปี 2016 นั้น El Nino รุนแรงเป็นพิเศษทำให้อุณหภูมิในปี 2016 นั้นทะลุสถิติและพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปี 2020 นี้นั้น El Nino ไม่รุนแรง และกำลังจะกลับเป็น negative phase (cool) ในปี 2021 นี้ แสดงว่าที่อุณหภูมิสูงขึ้นนั้นเป็นฝีมือของมนุษย์ล้วน ๆ นั่นเอง
การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยในปัจจุบันซึ่งก็คือเพิ่มขึ้นมา 1.2 องศาเซลเซียสเทียบกับ Baseline แต่ตัวเลขเพียงแค่นี้สามารถทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย คลื่นความร้อน ระดับน้ำทะเล ไฟป่า หรืออาจรุนแรงถึงขั้นทำให้ Permafrost ละลาย
Permafrost คือ ชั้นของดินใต้ผิวโลกที่ถูกแช่แข็งมามากกว่า 2 ปีแล้วและอาจจะนานหลาย 10 ปีโดยที่ไม่ละลายเลยแม้แต่น้อย ซึ่งประชากรที่อยู่ในบริเวณขั้วโลกเนื้อนั้นอาศัยอยู่บนน้ำแข็ง Permafrost ซึ่งมีความแข็งมาก ๆ เทียบเท่าคอนกรีต ถ้ามันละลายเมื่อไหร่คนที่จะซวยเป็นคนแรก ๆ ก็คือชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับ Permafrost นอกจากนี้ใน Permafrost ยังมีสารอินทรีย์คาร์บอนผสมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เมื่อมันแข็งตัวอยู่สารพวกนี้ก็ไม่สามารถย่อยสลายได้ แต่ถ้ามันละลายเมื่อไหร่ สารพวกนี้ก็จะย่อยสลายเป็นมีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งยิ่งจะทำให้มันแย่กันไปใหญ่
และที่น่าจะซวยทั้งมนุษยชาติก็คือ ใน Permafrost นั้นมันอาจจะแช่แข็งแบคทีเรียและไวรัสโบราณในอดีตไว้เป็นจำนวนมาก (นักวิทยาศาสตร์เคยตรวจพบสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กโบราณเมื่อ 400,000 ปีก่อนถูกแช่อยู่ใน Permafrost) ถ้ามันละลายลงน้ำเมื่อไหร่ มันอาจจะปนเปื้อนแหล่งน้ำของมนุษย์และอาจก่อให้เกิดการระบาดของไวรัสหรือแบคทีเรียโบราณซึ่งเรา มนุษย์ในยุคใหม่นี้ไม่เคยพบเจอมาก่อนนั่นเอง ภาวะโลกร้อนจึงไม่ได้เป็นเรื่องของน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลเพิ่ม เมืองจมน้ำเท่านั้น
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง