ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปี 2021 สรุปทุกข้อมูล จันทรุปราคา ฝนดาวตก ดาวเคราะห์

โลกของเรานั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์ในทุก ๆ วัน จนใกล้จะเข้าสู่รอบใหม่ นับเป็นสัญญาณว่าใกล้จะขึ้นปีใหม่อีกครั้ง ซึ่งในแต่ละปีนั้นเจอปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และแน่นอนว่าในปี 2021 ก็ยังมีอะไรที่น่าสนใจให้ทุกคนติดตามเฝ้ามองกันเช่นเคย

ทีมงานได้รวบรวมข้อมูลจาก Time and Date และ 2021 Calendar of astronomical events นำเอาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในปี 2021 ที่จะเห็นได้จากท้องฟ้าเมืองไทย มารวบรวมไว้สำหรับผู้ที่สนใจ

อุปราคาที่สังเกตได้ในไทยในปี 2021

อุปราคาคือปรากฏการณ์ที่มีการบดบังกันระหว่างวัตถุขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นได้ชัดบนท้องฟ้าซึ่งอุปราคาที่เราจะคุ้นชินกันนั้นก็ได้แก่สุริยุปราคา คือปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ และปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่ดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบดบัง เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าและสังเกตได้ง่ายที่สุด

ภาพจันทรุปราคาบางส่วนที่ทำให้เห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐจากเงามัวของโลก ที่มา – Jingwen Yang

ย้อนกลับไปในปี 2020 ที่ผ่านมานั้น เราได้รับชมสุริยุปราคาและจันทรุปราคากันอย่างเต็มอิ่มแล้ว แต่เดี๋ยวก่อน ในปี 2021 อาจทำให้ใครหลาย ๆ ผิดหวัง เนื่องจากในปีที่จะถึงนี้อุปราคาที่สังเกตได้นั้นน้อยมาก ๆ แต่เราก็ยังสามารถมองเห็นได้เช่นกัน ซึ่งมีปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนเท่านั้น (ไม่เต็มดวงและสังเกตเห็นได้ไม่เด่นชัดนัก) และไม่มีปรากฏการณ์สุริยุปราคา

จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) 26 พฤษภาคม 2021 ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 โดยจะเกิดขึ้นตามเวลาของไทย ดังนี้

  • 18:41 น. – ดวงจันทร์เพิ่งขึ้นจากขอบฟ้า และกำลังเริ่มเคลื่อนที่ออกจากเงามืด (สามารถเห็นเงามืดเยอะที่สุด เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วน)
  • 19:52 น. – ดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดทั้งหมด (ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดลง)
  • 20:49 น. – ดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามัวทั้งหมด (สิ้นสุดปรากฏการณ์)
  • รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ชั่วโมง 8 นาที

จากตารางเวลาดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราไม่สามารถเห็นจันทรุปราคานี้ตั้งแต่เริ่มจนจบได้ เนื่องจากดวงจันทร์ขึ้นสู่ขอบฟ้าช้า แต่หากใครอยู่แถวทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนียก็จะสามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ตั้งแต่เริ่มจนจบเลย

ปรากฏการณ์ฝนดาวตก

ฝนดาวตกหรือ Meteor Shower เป็นปรากฏการณ์ที่โรแมนติก แม้จะสังเกตเห็นได้ยากในเขตเมือง (เนื่องจากแสงไฟ) แต่ถ้าอยู่ในบริเวณฟ้ามืด หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ

ภาพถ่ายปรากฏการณ์ดาวตก หรือ Meteor ซึ่งในการเกิดฝนดาวตกเราจะได้เห็นการตกในปริมาณมาก ที่มา – Aleksandar Pasaric

การที่เราได้นั่งมองเศษหินจากดาวหางที่ทิ้งเอาไว้ในขณะที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งเศษหินเหล่านี้จะถูกแรงโน้มถ่วงจากโลกดึงดูดเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศเกิดเป็นลำแสงที่มีสีสันต่าง ๆ วาบขึ้นให้เห็นตอนกลางคืน คงจะเป็นอะไรที่วิเศษสำหรับใครหลาย ๆ คน

  • 2-3 มกราคม – ฝนดาวตกควอดแดรนต์ (Quadrantids) อัตราการตก 40 ดวงต่อชั่วโมง
  • 22-23 เมษายน – ฝนดาวตกไลริดส์ (Lyrids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 6-7 พฤษภาคม – ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ (Eta Aquarids) อัตราการตก 60 ดวงต่อชั่วโมง
  • 28-29 กรกฎาคม – ฝนดาวตกเดลต้า-อควอริดส์ (Delta Aquarids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 12-13 สิงหาคม – ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids) อัตราการตก 60 ดวงต่อชั่วโมง

หลังจากนั้นในช่วงท้ายปีฤดูหนาว เราก็จะได้เห็นฝนดาวตกที่สำคัญ ๆ ได้แก่

  • 7 ตุลาคม – ฝนดาวตกดราโคนิดส์ (Draconids) อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง
  • 21-22 ตุลาคม – ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 4-5 พฤศจิกายน – ฝนดาวตกทอริดส์ (Tuarids) อัตราการตก 5-10 ดวงต่อชั่วโมง
  • 17-18 พฤศจิกายน – ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง
  • 13-14 ธันวาคม – ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) อัตราการตก 120 ดวงต่อชั่วโมง
  • 21-22 ธันวาคม – ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ (Ursuds) อัตราการตก 5-10 ดวงต่อชั่วโมง

เราจะเห็นได้ว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์นั้น มีอัตราตกสูงที่สุดในบรรดาฝนดาวตกทั้งหมด นั่นหมายความว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ เป็นฝนดาวตกที่สังเกตได้ง่ายที่สุด เพราะฉนั้นไม่ควรพลาดแก่การชมฝนดาวตกเจมินิดส์นั่นเอง

ปรากฎการณ์เกี่ยวกับดาวเคราะห์

นอกจากอุปราคาและฝนดาวตกแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจเหมาะแก่การสังเกตและการถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย หรือเก็บไว้เป็นที่ระลึก ไม่ว่าปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก (Opposition) จะเกิดขึ้นกับดาวเคราะห์วงนอก ตั้งแต่ดาวอังคาร จนถึงดาวเนปจูน หรือปรากฏการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์โดยจะมีวันที่น่าสนใจ ดังนี้

17 เมษายน – ดวงจันทร์บังดาวอังคาร โดยจะเริ่มปรากฏการณ์เวลาประมาณ 20:12 น. โดยเราจะเห็นดาวอังคารค่อย ๆ เคลื่อนที่ไปด้านหลังดวงจันทร์ และจะเห็นดาวอังคารทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น.

2 สิงหาคม – ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุด ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนเด่นที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ นับว่าจะเป็นอะไรที่ดีมาก หากเราได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ส่องเพื่อดูวงแหวนของดาวเสาร์

20 สิงหาคม – ดาวพฤหัสใกล้โลกมากที่สุด ดาวพฤหัสนับว่าเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล และมีจุดเด่นคือจุดยักษ์แดง นอกจากนี้ยังมีดาวบริวารทั้งสี่ดวงหรือที่เรียกว่าดวงจันทร์กาลิเลียน หากเรานำกล้องโทรทรรศน์ส่องดาวพฤหัสเราจะเห็นจุดยักษ์แดง และเหล่าดวงจันทร์กาลิเลียนได้ชัดยิ่งขึ้น

ภาพถ่ายดาวพฤหัสและดวงจันทร์กาลิเลียน ที่มา – NASA/JPL

14 กันยายน – ดาวเนปจูนใกล้โลกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามดาวเนปจูนอยู่ห่างจากโลกมาก ซึ่งเป็นเรื่องยากมากหากเราจะส่องดาวเนปจูน นอกจากว่าจะใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังขยายสูง ๆ จะเห็นเป็นจุดสีฟ้า

5 พฤศจิกายน – ดาวยูเรนัสใกล้โลกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไกลสำหรับเราอยู่ดี ซึ่งนับว่าสังเกตได้ยากเช่นกัน ยกเว้นว่าใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังขยายสูง ๆ จะเห็นเป็นจุดสีเขียวฟ้า

7 ธันวาคม – ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งสว่างที่สุด

ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่น ๆ

นอกจากอุปราคา ฝนดาวตก และปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์แล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกเช่นกัน ซึ่งปรากฏการณ์นี้สามารถมองเห็นได้ง่ายและน่าสนใจไม่แพ้ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา

27 เมษายน – Super Full Moon เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เต็มดวงและเข้าใกล้โลกมากที่สุด (357,379 กิโลเมตร) ทำให้มีแสงสว่างและมีขนาดใหญ่กว่าปกติ

19 ธันวาคม – Micro Full Moon เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เต็มดวงและห่างจากโลกมากที่สุด (406,322 กิโลเมตร)

เทคนิคในการรับชม และติดตามข่าวสารปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์

สำหรับใครที่รอชมปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ เราแนะนำให้โหลดแอพในกลุ่มดูดาวติดโทรศัพท์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น Sky View, Classic Sky Map 2 หรือแอพในกลุ่มเดียวกันนี้ เพื่อให้เราสามารถคำนวณวันและเวลา ทิศทาง องศา ในการสังเกตดาวบนท้องฟ้าได้อย่างง่ายดายด้วยตัวเอง (แอพสมัยนี้จะมี AR เพื่อให้เราจำลองมุมกล้อง ทิศต่าง ๆ ก่อนลงมือถ่ายภาพหรือสังเกตได้)

หรือถ้าใครที่ต้องการประสบการณ์ในการชมพร้อมกับได้รับความรู้ ทีมงานแนะนำให้ติดตามจากทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ที่ปกติแล้วจะมีการนำเรื่องราวมาบอกเล่า และจัดกิจกรรมอยู่เรื่อย ๆ ผ่านทางหอดูดาวใหญ่ และหอดูดาวภูมิภาค ที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าชมได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

สุดท้ายนี้อยากจะบอกว่า แม้ท้องฟ้าในแต่ละวันมีการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ วัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือความรู้สึกเวลาที่เรามองดวงดาวบนฟากฟ้า ไม่ว่าจะดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ หรือฝนดาวตกก็ตาม นั้นช่างมีความสุขเหลือเกิน โดยเฉพาะเวลาที่รอดูฝนดาวตกเพื่อขอพรจากฝนดาวตก แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ควรลืมคนที่เคียงข้างเราเสมอไม่ว่าจะเพื่อน ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน ไว้เราข้ามปีใหม่ด้วยกันนะ =)

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

โฟร์ท รัตติยากร รัตนใส นักศึกษาเมเจอร์ฟิสิกส์ ไมเนอร์การตลาด แห่งมหาวิทยาลัยภาคเหนือที่ชื่นชอบดวงดาว ชาเชียว และแมวชโรดิงเจอร์ นอกจากนี้ยังอยากเป็นประธานบริษัทอีกด้วย