40 ปีการค้นพบดวงจันทร์ Charon ที่ถูกตั้งตามชื่อภรรยาผู้ค้นพบ

22 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันครบรอบ 40 ปีการค้นพบดวงจันทร์ Charon ของพลูโต ซึ่งการค้นพบนั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่ James Christy และ Robert Harrington กำลังตรวจสอบดูการโคจรของดาวพลูโตรอบดวงอาทิตย์อยู่

ในวันนั้นระหว่างที่ Christy กำลังตรวจสอบภาพของดาวพลูโตอยู่ที่หอดูดาวกองทัพเรือสหรัฐที่ Arizona ห่างไปจากหอดูดาวโลเวลล์ สถานที่ค้นพบดาวพลูโตเพียง 9 กิโลเมตรเท่านั้น เขาก็ได้พบกับรอยที่นูนออกจากดาวพลูโต (ซึ่งตรงนี้ต้องใช้จินตนาการสูงมาก ในการมองดูภาพนี้)

Image result for charon discovery

ภาพการค้นพบดวงจันทร์ Charon – ที่มา NASA

และหลังจากนั้นเขาก็นำไปเทียบกับภาพอื่น ที่แสดงให้เห็นรอยนูนนี้เคลื่อนที่จากด้านนึงไปอีกด้านนึง จนได้ข้อสรุปว่ามันคือดวงจันทร์ของดาวพลูโต หรือไม่ก็เป็นภูเขาที่สูงมาก ๆ แต่เขาก็ยังรอเช็คให้ชัวร์กับกล้องดูดาวขนาดใหญ่ก่อน จนวันที่ 2 กรกฏาคมในปีเดียวกันเขาก็ได้ภาพที่ยืนยันกลับมา แล้วประกาศผลการค้นพบให้โลกรู้ 5 วันให้หลัง

กรกฏาคม 2015 ยานนิว ฮอไรซอนส์ได้เดินทางไปสำรวจดาวพลูโตและดวงจันทร์บริวาร Charon เคยถูกคาดไว้ว่าจะเป็นดวงจันทร์ที่ปกคลุมไปด้วยหลุมอุกกาบาตจำนวนมาก แต่ผลที่ยานถ่ายกลับมานั้นทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเปลี่ยนความคิดทั้งหมดไป เพราะมันปกคลุมไปด้วยภูเขา หุบเขา ขั้วโลก และความหลากหลายทางธรณีวิทยาจนทีมงานในภารกิจคนนึงได้กล่าวไว้ว่า

“ต่อให้พลูโตไม่อยู่ตรงนั้น การศึกษาดวงจันทร์ Charon ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าแล้ว และมันเป็นวัตถุที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าที่เราคาดคิดไว้เสียอีก”

40 years after his important discovery, Jim Christy holds two of the telescope images he used to spot Pluto’s large moon Charon

คุณ James Christy กับภาพตอนที่เขาค้นพบ และภาพจากยาน New Horizons ในจอคอม – ที่มา NASA/JHUAPL/SRI/Art Howard/GHSPi

ส่วนการตั้งชื่อน่ะหรอ แม้คุณจะเคยได้ยินว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวละครในตำนานของกรีก แต่ความจริงแล้วผู้ค้นพบอย่างคุณ Christy กลับตั้งชื่อตามภรรยาของเขา Charlene ที่เขาและครอบครัวเรียกว่า Char และเติม on ไปเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากศัพท์ฟิสิกส์อย่าง Protons และ Electons

พี่แกก็นั่งเช็คอีกทีว่ามันพอจะเชื่อมโยงกับอะไรได้มั้ย แล้วก็ไปเจอกับ Charon ที่หมายถึงคนแจวของเฮดีสผู้นำวิญญาณของผู้เพิ่งตายข้ามแม่น้ำแอเคอรอนจากมนุษยโลกไปยังยมโลก สุดท้ายก็เลยผ่านเกณฑ์การตั้งไปอย่างสบาย ๆ และภรรยาของแกก็เลยออกมาพูดว่า

“สามีหลายคนให้คำมั่นสัญญาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เขาเป็นคนที่ทำได้จริง” โดยเล่นสำนวนอังกฤษที่ว่า Promise the moon ที่แปลว่าสัญญาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สามีของเธอตั้งชื่อดวงจันทร์ให้เธอเสียเลย

วิธีการอ่านนั้นมีอยู่สองแบบ คือ แชรอน และ แครอน ซึ่งถ้าอิงตามผู้ค้นพบนั้นก็คืออ่านแบบ แชรอน ตามชื่อภรรยาของเขา และนาซ่าเองก็อ่านแบบวิธีนี้ด้วย ส่วนในบทความนี้จะละไว้เป็นภาษาอังกฤษเพื่อป้องกันการสับสน

อ้างอิง :

NASA

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138