JAXA และ UN จัดโครงการ KiboCUBE ช่วยนำ CubeSat ไปปล่อยจาก ISS สำหรับประเทศกำลังพัฒนา

Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) และ United Nations Office for Outer Space Affairs (UNOOSA) ได้ร่วมกันเปิดโครงการ KiboCUBE เป็นครั้งที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นทุก ๆ ปีตั้งแต่ปี 2016

เปิดให้หน่วยงานและผู้สมัครจากนานาประเทศยื่น Proposal เพื่อพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็ก (CubeSat) และส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติสำหรับการ Deploy ตัวดาวเทียมผ่านโมดูล Kibo ของประเทศญี่ปุ่นบน ISS โดยสามารถสมัครได้จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2021 นี้ ผลการคัดเลือกจะถูกประกาศในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2021

สำหรับขั้นตอนการสมัครโปรดดูรายละเอียดที่ KiboCUBE Sixth Round of Applications

โมดูล Kibo บน ISS

Kibo หรือ Japanese Experiment Module (JEM) เป็นโมดูลทดลองวิทยาศาสตร์ของ ISS พัฒนาขึ้นโดย JAXA ซึ่ง Kibo ถือได้ว่าเป็นโมดูลเดี่ยวที่ใหญ่ที่สุดบน ISS เลยทีเดียว ทำให้ต้องมีการส่งชิ้นส่วนขึ้นไปประกอบถึง 3 ครั้ง จึงเสร็จสมบูรณ์ผ่านเที่ยวบินกระสวยอวกาศ STS-123, STS-124 และ STS-127 จึงจะประกอบเสร็จสมบูรณ์

โมดูล Japanese Experiment Module (JEM: KIBO) – ที่มา NASA

Kibo ประกอบไปด้วยส่วนย่อยภายในโมดูลและภายนอกโมดูล 6 ส่วน คือ

  • Pressurized Module (PM)
  • Exposed facility (EF)
  • Experiment logistics module (ELM)
  • Japanese Experiment Module Manipulator System (JEMRMS)
  • Nanoracks CubeSat Deployer (NRCSD)
  • Inter-orbit communication system (ICS)

Pressurized Module หรือ PM คือส่วนห้องทดลองหลักภายในโมดูลซึ่งเชื่อมต่อกับโมดูล Harmony ของ ISS อยู่ เป็นโมดูลที่มี Airlock และส่วนเชื่อมต่อกับชิ้นส่วนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้างใน PM นั้นมี ISPR (International Standard Payload Racks) ถึง 23 ชั้น 10 ชั้นถูกนำไปใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ส่วนอีก 13 ชั้นถูกนำไปใช้ในการ Host ระบบต่าง ๆ ของ Kibo และใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์ ข้างใน PM นั้นเป็นส่วนที่นักบินอวกาศสามารถเข้ามาใช้งานได้เพราะถูก Pressurize ไว้นั่นเอง

นอกจากนี้ Kibo ยังถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับถ่ายทำวิดีโอหลาย ๆ อย่างบน ISS อีกด้วย เช่น การแถลงข่าว การถ่ายทอดสด เพราะว่าภายใน PM นั้นมีพื้นที่กว้างมากนั่นเอง ทำให้การถ่ายทำสะดวกขึ้น

ภาพภายในของโมดูล Kibo – ที่มา NASA

Exposed facility (EF) หรือ Terrace คือ ส่วนที่เชื่อมต่อกับ Airlock ของส่วน PM โดย EF เป็นส่วนที่สัมผัสกับอวกาศ มี Exposed Facility Unit (EFU) จำนวน 12 ports ไว้สำหรับเชื่อมต่อกับ Payload Interface Unit (PIU) เพื่อนำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ มาติดตั้งไว้ ซึ่งทุก ๆ Payload ที่ถูกติดตั้งบน EF จะอยู่ในสภาพแวดล้อมอวกาศอย่างสมบูรณ์สำหรับการทดลองที่มีจุดประสงค์เพื่อทดลองในสภาพอวกาศโดยสมบูรณ์ (ไร้น้ำหนัก ไร้อากาศ ไร้การป้องกัน) ซึ่ง Payload ที่จะถูกนำมาติดตั้งไว้บน EF ได้นั้นจะต้องเชื่อมต่อกับระบบสนับสนุนที่เรียกว่า ORU (Orbital Replacement Unit) บน EF สำหรับการจัดการพลังงานไฟฟ้า (Electrical Power System: EPS) การสื่อสารและการติดตาม (Communications and Tracking: CT) และการควบคุมอุณหภูมิ (Thermal Control System: TCS)

ORU บน EF มีทั้งหมด 12 ตัว โดย 8 ตัวสามารถเปลี่ยนได้โดยแขนกล JERMRMS อีก 4 ตัว จะต้องให้นักบินอวกาศ EVA ออกมาเปลี่ยนเท่านั้น

Exposed Facility ของโมดูล Kibo – ที่มา NASA

Experiment logistics module (ELM) แบ่งย่อยได้อีกเป็นสองส่วน คือ Pressurized Section (ELM-PS) ซึ่งเป็นส่วนขยายของ PM สำหรับใช้ในการเก็บ Payload อุปกรณ์และชิ้นส่วนสำรองต่าง ๆ อีกส่วนก็คือ External Section (ELM-ES) ซึ่งเป็นส่วนขยายของ Exposed Facility สำหรับใช้ในการเก็บอุปกรณ์ของ EF และอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนย้ายต่าง ๆ

ภาพของ Experiment logistics module ส่วน Pressurized Section – ที่มา NASA

ส่วน Remote Manipulator System หรือ JEM Remote Manipulator System (JEMRMS) เป็นแขนกลยาว 10 เมตร ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนขอบของ PM สำหรับใช้ในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์บนส่วนของ EF และ สำหรับการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนต่าง ๆ จาก ELM โดย JEMRMS ยังมีแขนกลสั้นสำหรับการ Precise Movement ยาว 2 เมตร ติดอยู่กับแขนกลหลักอีกด้วยสำหรับการเคลื่อนย้ายอะไรที่ต้องใช้ความแม่นยำ ซึ่งแขนกลละเอียดอันนี้ความสามารถเทียบเท่าแขนกลของ Canadarm2 เลยทีเดียว

ภาพ Diagram แสดงให้เห็นถึงส่วนประกอบของโมดูล Kibo – ที่มา NASA

Nanoracks CubeSat Deployer (NRCSD) เป็นส่วนที่เอาไว้ใช้ปล่อยดาวเทียม CubeSat จาก ISS โดยตัว CubeSat อาศัยการเดินทางขึ้นมา ISS พร้อมกับยานเติมเสบียงอย่าง CRS ก่อนเพื่อนำ CubeSat มาไว้บน ISS จากนั้นจึงติดตั้ง CubeSat ไว้กับ NRCSD ซึ่งจะทำหน้าที่ปล่อยดาวเทียมด้วยการปลดและส่งมันออกไปในวงโคจร LEO ความสูงใกล้เคียง ISS นั่นเอง

ดาวเทียมจากโครงการ KiboCUBE ก็จะถูกปล่อยจาก NRCSD เช่นกัน อาศัยการเดินทางไปกับยานเติมเสบียงก่อนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายแทนที่จะซื้อ Rideshare จากบริษัทปล่อยดาวเทียมเจ้าใหญ่ ๆ ซึ่งอาจมีราคาสูงจนหน่วยงานเดี่ยว ๆ ไม่สามารถส่งได้ จากนั้นจึงนำไปติดตั้งบน NRCSD เพื่อทำการยิงดาวเทียมจาก ISS เข้าสู่วงโคจร LEO นั่นเอง

Nanoracks CubeSat Deployer กับดาวเทียมที่ติดตั้งไว้อยู่บน NRCSD – ที่มา NASA

โครงการ KiboCUBE

โครงการ KiboCUBE ได้เลือกดาวเทียม CubeSat สำหรับการปล่อยบน ISS ไปแล้วถึง 6 ดวง โดย 2 ใน 6 ดวงนี้ถูกปล่อยเข้าสู่วงโคจรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีก 5 กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา และ KiboCUBE รอบที่ 6 นี้จะคัดเลือก CubeSAT เพิ่มอีกหนึ่งดวงสำหรับการส่งขึ้นไปปล่อยบน ISS ซึ่งโครงการ KiboCUBE นั้นเปิดให้ใครประเทศไหนก็ได้แม้จะไม่มีหน่วยงานอวกาศเป็นของตัวเองก็สามารถส่งได้ และไม่ได้จำกัดที่ระดับประเทศเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็สามารถส่งได้เช่นกัน

การคัดเลือกรอบที่ 1 เมื่อปี 2016 นั้น ดาวเทียม 1KUNS-PF ของ University of Nairobi ประเทศ Kenya ได้รับเลือกให้พัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรทางการเกษตรและชายฝั่ง โดย 1KUNS-PF นั้นถูกปล่อยจาก ISS เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2018 และ De-orbit ตกกลับโลกเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2020

การคัดเลือกรอบที่ 2 ในปี 2017 มหาวิทยาลัยใน Guatemala พร้อมกับดาวเทียม Quetzal-1 สำหรับการทำ Remote Sensing เก็บข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ ถูกปล่อยจาก ISS เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2020 และยังอยู่ในวงโคจรอยู่

ส่วนในรอบที่ 3 ซึ่งคัดเลือกถึงสองดวงนั้น คือ MIR-SAT 1 จาก Mauritius ดาวเทียมถ่ายรูปและดาวเทียมสื่อสาร ดาวเทียม SS-1 จากอินโดนีเซีย สำหรับทดลองเทคโนโลยีการสื่อสารนั้น กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ในรอบที่ 4 และ 5 ดาวเทียม TUMnanoSAT ของ Moldova สำหรับสาธิตเทคโนโลยี และดาวเทียม MORAZAN-SAT จาก SICA สำหรับการสำรวจสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ห่างไกลและระบบเตือนภัยพิบัติก็ถูกคัดเลือกตามลำดับ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอยู่

จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศที่ถูกคัดเลือกนั้น ชื่อไม่คุ้นเลยแม้แต่น้อยและบางประเทศไม่มีหน่วยงานด้านอวกาศเป็นของตัวเองด้วย โครงการ KiboCUBE ของ JAXA และ UNOOSA จึงเป็นโครงการที่เปิดให้ประเทศเหล่านี้ได้มีโอกาสก้าวเข้ามาทดลองทำงานด้านอวกาศได้นั่นเอง แน่นอนว่าประเทศไทยก็สามารถสมัครได้เช่นกัน

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ KiboCUBE Sixth Round of Applications ปิดรับสมัครวันที่ 31 พฤษภาคม 2021

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

KiboCUBE Sixth Round of Applications

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.