รวมภาพและวิดีโอชุดแรกจากการลงจอดของยาน Perseverance

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021 เวลา 3:55 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศไทย ยาน Perseverance ในภารกิจ Mars 2020 จบการเดินทางข้ามดาวของมันกว่า 203 วันตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2020 ด้วยความสำเร็จในการลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคารบริเวณ Jezero Crater ยาน Perseverance ในตอนนี้ถือได้ว่าเป็นนักชีววิทยาที่เก่งที่สุดบนดาวอังคาร เพราะว่าไม่เคยมียานลำไหนถูกออกแบบมาให้ทำแบบที่ Perseverance จะทำมาก่อน

อ่านบทความเกี่ยวกับ Mars 2020 ได้ที่นี่ – Perseverance Rover สรุปรายละเอียด อุปกรณ์ทุกตัว บนยาน ภารกิจสำรวจดาวอังคาร

ภาพแรกที่ยาน Perseverance ส่งกลับมายังโลก ที่มา – NASA/JPL
ภาพพื้นผิวของดาวอังคารภาพแรกหลังจากการลงจอดบนดาวอังคารของยาน Perseverance – ที่มา NASA/Bill Ingalis
ยาน Perseverance ขณะถูกหย่อนลงจาก Skycrain ซึ่ง NASA สามารถบันทึกผ่านกล้องความละเอียดสูงบนตัวระบบ Descent Stage

กล้อง Mastcam-Z ทำการถ่ายภาพอุปกรณ์สำหรับทำ Clibration หลังจากยานลงจอด ที่มา – NASA/JPL
ภาพแบบ Panorama ภาพแรกที่ยานถ่ายส่งกลับมา ที่มา – NASA/JPL

ภาพจากยาน Mars Reconnaissance Orbiter

ระหว่างช่วง Entry, Descent, and Landing หรือ EDL ดาวเทียม Mars Reconnaissance Orbiter หรือ MRO โคจรอยู่เหนือ Landing Site ของ Perseverance พอดีซึ่งก็คือบริเวณ Jezero Crater ได้ใช้กล้อง High Resolution Imaging Experiment หรือ HiRISE ถ่ายภาพการ EDL ของ Perseverance ซึ่งเดิมที HiRISE ถูกออกแบบมาให้ใช้ในการสำรวจทางด้านธรณีภาพของดาวอังคารในบริเวณกว้าง โดย HiRISE มีความละเอียดระดับที่สามารถถ่ายภาพหินที่มีขนาดพอ ๆ กับโต๊ะกว้างยาว 1 เมตรบนพื้นผิวของดาวอังคารได้ ครอบคลุมพื้นผิวกว้างกว่า 3.7 กิโลเมตร

กล้อง HiRISE ของยาน MRO – ที่มา NASA

HiRISE MRO อยู่ห่างออกไปจาก Perseverance ประมาณ 700 กิโลเมตร และกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่า 3 กิโลเมตรต่อวินาที จึงต้องรอให้ Perseverance กางร่มชะลอความเร็วก่อนที่จะถ่ายรูปได้ เนื่องจากระหว่างการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ความเร็วสัมพัทธ์ของ MRO กับ Perseverance จะมากเกินไป ซึ่งรูปถ่ายที่ออกมาสามารถจับภาพของ Perseverance ขณะกางร่มร่อนลงพื้นผิวดาวอังคารได้ในกรอบพิกเซลเล็ก ๆ กรอบหนึ่ง

ภาพของยาน Perseverance จากกล้อง HiRISE MRO ขณะยานกำลังร่อนลงพื้นผิวของดาวอังคาร – ที่มา NASA/JPL-Caltech/University of Arizona

หลังจากการ Touchdown ของ Perseverance สำเร็จ ยาน MRO ซึ่งมี Orbit อยู่เหนือ Jezero Crater อยู่แล้วก็ได้ใช้กล้อง HiRISE ในการสำรวจหาชิ้นส่วนต่าง ๆ ของยาน Perseverance บนพื้นผิวของดาวอังคารด้วยการวิเคราะห์ฝุ่นและดินบนดาวอังคารที่กระจายตัวออกเป็นรูปร่างต่าง ๆ เมื่อมีวัตถุตกกระแทกพื้นเปรียบเทียบกับ Image Catalog ที่ถ่ายไว้ก่อนการลงจอดเพื่อให้การวิเคราะห์ง่ายขึ้น

HiRISE สามารถถ่ายภาพชิ้นส่วนทั้ง 4 ชิ้น ของ Perseverance ได้อย่างชัดเจน คือ ส่วนของตัวยาน Perseverance เอง ส่วนของ Descent Stage ซึ่งเป็น Sky Crane ที่ใช้ในการหย่อนยาน Perseverance ลงพื้นผิว ส่วนของ Back Shell และร่มชะลอความเร็ว และส่วนของ Heat Shield ที่ติดอยู่ใต้ยานก่อนที่จะสลัดออก

ภาพของชิ้นส่วน Descent Stage ต่าง ๆ ของยาน Perseverance จากกล้อง HiRISE – ที่มา HiRISE

โดยตัว Perseverance เองสามารถเห็นเป็นรูปร่างโรเวอร์ได้อย่างชัดเจนพร้อมกับฝุ่นควันสีขาวรอบ ๆ ข้างซึ่งเกิดจากแรงขับดันจาก Thruster ของ Sky Crane (Descent Stage) ที่เป่าฝุ่นและดินพวกนี้ให้กระจายออกไปรอบ ๆ ข้าง

ภาพของยาน Perseverance บนพื้นผิวดาวอังคาร จากกล้อง HiRISE – ที่มา HiRISE

ในส่วนของ Descent Stage หรือ Sky Crane นั้น หลังปลด Perseverance หลงพื้นผิวเรียบร้อยแล้วจะปรับมุมบินของตัวเองไปที่ 45 องศาอ้างอิงมุมตั้งฉากกับพื้นผิวจากนั้นจึงใช้เชื้อเพลิง Thruster ที่เหลืออยู่บินออกห่างจากตัว Perseverance ให้มากที่สุดจนกว่าเชื้อเพลิงจะหมดและตกกระแทกผิวดิน จึงทำให้ซากจุดที่ Descent Stage ตกมีลักษณะเป็นรูปตัว V ซึ่งคาดว่า Descent Stage น่าจะกระแทกพื้นและแตกออกเป็นเศษ ๆ ไถลไปกับดินใน 2 ทิศทาง จึงเกิดเป็นรูปตัว V ขึ้น

จุดตกกระแทกพื้นผิวของ Descent Stage (Sky Crane) – ที่มา HiRISE

ส่วนของ Back Shell และร่มชูชีพที่ถูกปลดเหนือพื้นผิวก่อนที่ Sky Crane จะจุดจรวดเพื่อร่อนยาน Perseverance ลงนั้น สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนเนื่องจากขนาดของร่มชะลอความเร็วที่ใหญ่มากกับผิวของ Back Shell เองที่สะท้อนแสงอาทิตย์ได้

ภาพของ Back Shell และร่มชะลอความเร็วบนพื้นผิวของดาวอังคาร – ที่มา HiRISE

ส่วนของ Heat Shield นั้นมีน้ำหนักมากและจะถูกปลดออกทันทีเมื่อ Perseverance ไม่ได้รับผลกระทบต่อความร้อนจากการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศแล้ว ทำให้ Heat Shield เป็นชิ้นส่วนแรกที่ถูกปลดออกจากตัวยาน Perseverance ขณะที่ยานยังอยู่เหนือพื้นผิวกว่า 10 กิโลเมตรอยู่ จึงทำให้ Heat Shield จะตกกระแทกผิวของดาวอังคารด้วยความเร็วสูง บวกกับน้ำหนักที่มากของมันจึงทำให้เกิดเป็นหลุมอุกกาบาตเทียมขนาดเล็ก ๆ ขึ้นนั่นเอง

ภาพของ Heat Shield จากยาน Perseverance บนดาวอังคาร – ที่มา HiRISE

อย่างไรก็ตามในที่สุดแล้ววัตถุพวกนี้ก็คะค่อย ๆ ถูกฝุ่นและดินบนดาวอังคารกลบไป จนไม่สามารถมองเห็นได้จากยานอีกต่อไป

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

HiRISE Captured Perseverance During Descent to Mars

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.