SpaceX ย้ายฐานปฏิบัติการเก็บกู้ยาน Dragon ไปฝั่งแปซิฟิก หลับพบว่า Trunk เผาไหม้ไม่หมด

SpaceX ได้ออกมาประกาศว่า จะมีการย้ายกองเรือและทีมเก็บกู้ (Recovery) ยานอวกาศ Dragon ทั้งแบบ Crew Dragion ในภารกิจที่มีนักบินอวกาศและ Cargo Dragon สำหรับภารกิจส่งของไปยังสถานีอวกาศฯ กลับมาที่แคลิฟอร์เนีย หลังจากที่ตั้งแต่ภารกิจ Crew Demo ที่ SpaceX เริ่มต้นส่งนักบินอวกาศเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ การเก็บกู้ทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากฝั่งแอตแลนติก หรือในอ่าวเม็กซิโก โดยเหตุผลที่มีการเปลี่ยนจุดลงจอด ก็เนื่องจาก SpaceX ต้องการออกแบบวงโคจรสำหรับกลับโลกให้ชิ้นส่วน Trunk ของยาน Dragon เผาไหม้หมดไปในบรรยากาศ

การประกาศดังกล่าวถูกเขียนไว้ใน Dragon recovery operations set to return to the West Coast และระบุว่าการย้ายฐานการเก็บกู้นี้จะเกิดขึ้นในปี 2025 เริ่มต้นกับภารกิจ Crew-9 ที่กำลังจะเดินทางขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในเดือนสิงหาคม และจะกลับลงมาช่วงต้นปี 2025

ยานอวกาศ Dragon ในภารกิจ Crew-4 ถูกเก็บกู้โดยเรือ Megan ของ SpaceX นอกชายฝั่งแอตแลนติก ในปี 2022 ที่มา – NASA/Bill Ingalls

เดิมทีนั้น ตอนนี้ SpaceX พัฒนายานอวกาศ Dragon สำหรับนำส่ง Payload ไปยังสถานีอวกาศนานชาติ ภายใต้โครงการ Commercial Resupply Services (CRS) SpaceX ได้เลือกจุดการลงจอดเป็นนอกชายฝั่งแปซิฟิก และมีฐานการปฏิบัติการอยู่ที่เมือง San Diego ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ห่างจากสำนักงานใหญ่ของ SpaceX ที่ตั้งอยู่ในเมือง Hawthorne ซึ่งอยู่บริเวณชานเมือง Los Angeles ในแคลิฟอร์เนียเช่นกัน และมีกองเรือเก็บกู้ที่เรามักได้ยินชื่อบ่อย ๆ ก็คือ GO Searcher และ GO Navigator ซึ่ง SpaceX ได้ใช้ลักษณะการเก็บกู้แบบนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2011-2020

เรือ Megan ของ SpaceX จอดอยู่ ณ ท่าเรือในแหลมคะเนอเวอรัล ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

แต่หลังจากที่ SpaceX ได้เข้ามาเริ่มต้นการทำภารกิจตระกูล Commercial Crew หรือการส่งนักบินอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ SpaceX ตั้งแต่ปี 2020 ได้ย้ายฐานการเก็บกู้มาอยู่ที่ท่าเรือคะเนอเวอรัล (Port Canaveral) และเปลี่ยนจุดลงจอดของยาน Dragon มาเป็นบริเวณนอกชายฝั่งแอตแลนติก หรือในอ่าวเม็กซิโกแทน เหตุผลก็เพื่อให้ทั้งนักบินอวกาศและ Cargo สามารถกลับมายัง NASA Kennedy Space Center ในฟลอริดาได้อย่างรวดเร็ว (SpaceX เคยเปิดตัวบริการ นำ Payload จากอวกาศกลับถึงมือนักวิจัยใน 4 ชั่วโมง)

และในปี 2022 SpaceX ยังได้เปลี่ยนชื่อเรือจาก GO Navigator เป็น Shannon, Go Searcher เป็น Megan ซึ่งหากเราเดินทางไปยังท่าเรือคะเนเวอรัล เราจะสามารถเห็นกองเรือสำหรับเก็บกู้ของ SpaceX จอดอยู่ได้เช่นกัน

เรือ Shannon ของ SpaceX ในภาพนี้อยู่ระหว่างเตรียมออกไปรับภารกิจ Crew-7 กลับบ้าน ในเดือนพฤษภาคม 2024 ที่มา – Nattanon Dungsunenarn/Spaceth

อย่างไรก็ดี อย่าสับสนระหว่างกองเรือที่ใช้เก็บกู้ยาน Dragon กับภารกิจ Support การเก็บกู้จรวด Falcon 9 และการเก็บกู้ Payload Fairing เนื่องจาก SpaceX ยังคงต้องการกองเรือสำหรับภารกิจเก็บกู้ Falcon 9 ไว้ทั้งสองฝั่ง ได้แก่แปซิฟิกและแอตแลนติก เนื่องจาก Falcon 9 นั้น สามารถปล่อยได้ทั้งจากฝั่งแหลมคะเนอเวอรัล (Cape Canavaral Space Force Station และ NASA Kennedy Space Center) และฝั่งแคลิฟอร์เนีย (Vandenberg Space Force Base) นั่นเอง

สำหรับการเปลี่ยนย้ายเอาการปฏิบัติการของ Shannon และ Megan กลับไปยัง San Diego ก็เนื่องจากการปรับเปลี่ยนจุดลงจอดของยาน Dragon จากเหตุผลด้านความปลอดภัย

SpaceX ได้ออกมาเปิดเผยว่า เดิมที SpaceX เชื่อว่าตัวชิ้นส่วนของยาน Dragon ที่เรียกว่า Trunk ซึ่งเป็นที่ตั้งของแผง Solar Array และโครงสร้างสนับสนุนอื่น ๆ ของยาน Dragon ที่ปกติจะถูกสลัดออก (Jettision) ก่อน Dragon กลับเข้าสู่บรรยากาศนั้นจะถูกเผาไหม้จนหมด จากการคำนวณโดย Computer Simulation และ SpaceX ก็ได้ตัดสินใจให้ชิ้นส่วน Trunk แยกตัวออกจากยาน Dragon ก่อนที่ Dragon จะทำ Deorbit Burn หรือการลดความเร็วเพื่อกลับสู่บรรยากาศโลก ซึ่งนั่นหมายความว่า Trunk นั้นจะยังคงอยู่ในวงโคจร และค่อย ๆ ลดความเร็วลงตกกลับสู่บรรยากาศผ่านแรงเสียดทานกับบรรยากาศ (เรียกว่า Decay) ซึ่งเป็นการตกกลับแบบควบคุมไม่ได้ (Uncontrolled Reentry) แต่ก็ไม่น่ากังวลไป เนื่องจาก Trunk นั้นควรจะเผาไหม้หมดในบรรยากาศอยู่แล้ว

ภาพแสดงส่วนประกอบต่าง ๆ ของยาน Dragon ที่มา – SpaceX

แต่อย่างไรก็ตาม SpaceX ดันค้นพบว่าในความเป็นจริง ชิ้นส่วน Trunk นั้นบางส่วนยังคงหลงเหลือและตกกลับสู่โลก ในปี 2022 ได้มีการค้นพบชิ้นส่วนที่คาดว่าน่าจะมาจาก Trunk ของยาน Crew Dragon ในภารกิจ Crew-1 ในประเทศออสเตรเลีย และมีการค้นพบชิ้นส่วน Trunk อีกเรื่อย ๆ ทั้งในแผ่นดินและในทะเล หมายความว่าโมเดล Simulation ของ SpaceX นั้น ยังไม่ตรงกับความเป็นจริง พอส่วนของ Trunk นั้นเผาไหม้ไม่หมด ก็อาจสร้างอันตรายจากขยะอวกาศได้หากไปตกในบริเวณที่มีคนอยู่อาศัย

ซากของชิ้นส่วนของ Trunk จากภารกิจ Crew-1 ในออสเตรเลีย ที่มา – Brad Tucker

สำหรับวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว ก็เลยนำมาซึ่งข้อปฏิบัติว่า ในปี 2025 SpaceX ย้ายจุดการลงจอดของยาน Dragon มาเป็นในมหาสมุทรแปซิฟิก และสลัดเอาตัว Trunk ออกหลังจากที่ยาน Dragon ได้ทำ Deorbit Burn ซึ่งจะทำให้ตัว Trunk นั้นมีจุดตกกลับสู่บรรยากาศใกล้กว่าจุดตกของยาน Dragon ไปในทางทิศตะวันตก (ยานอวกาศโคจรจากทิศตะวันตกไปยังตะวันออก) ซึ่งก็คือบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกนั่นเอง

ชิ้นส่วนจาก Trunk ของ Dragon ในภารกิจ Crew-7 ตกลงในรัฐนอร์ทแคโรไลนา ในปี 2024 ที่มา – Future/Brett Tingley

วิธีนี้จะนำมาใช้กับการลงจอดเหนือชายฝั่งแอตแลนติกไม่ได้ เนื่องจากชิ้นส่วน Trunk จะมีโอกาสที่จะตกใส่แผ่นดินประเทศสหรัฐอเมริกานั่นเอง ดังนั้นปัจจัยหลักของการปรับเปลี่ยนนี้ก็เพื่อเปลี่ยนจากการตกกลับของ Trunk แบบ Uncontrolled Reentry ให้กลายเป็น Controlled Reentry นั่นเอง

แต่ถึงอย่างไร SpaceX ก็ยังระบุว่า จะมีการศึกษาและปรับเปลี่ยนดีไซน์ของ Trunk เพื่อให้ Trunk นั้นเผาไหม้หมดในบรรยากาศอย่างที่มันควรจะเป็น หรืออาจออกแบบให้ Trunk สามารถ Deorbit ตัวเองได้เป็น Controlled Reentry

แต่ที่แน่ ๆ เราอาจจะต้องบอกลากองเรือเก็บกู้ Dragon จากท่าเรือคะเนอเวอรัลในปี 2025 ในที่สุด และ SpaceX อาจต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการเคลื่อนย้ายทั้ง Payload และนักบินอวกาศจากแคลิฟอร์เนีย กลับมายังฟลอริดา หรือเท็กซัสแน่ ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยและแสดงความรับผิดชอบต่อการสำรวจอวกาศ (ที่จีนไม่เห็นจะทำแบบนี้บ้าง)

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.