อพอลโล 1 ภารกิจที่จบลงในเปลวเพลิง และการเสียสละเพื่อก้าวแรกของมนุษย์บนดวงจันทร์

ยามเย็นของวันที่ 27 มกราคม 1967 การทดสอบที่แสนจะปกติของยานอพอลโล 1 กลับจบลงด้วยความสูญเสียอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ซึ่งได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโครงการอพอลโล รวมถึงการลงดวงจันทร์ไปตลอดกาล

เส้นทางสู่ดวงดาวนั้นไม่ง่ายดายนัก

คือคำแปลของประโยคในภาษาลาตินที่ว่า “Ad astra per aspera” แต่ด้วยความสำเร็จในทุกภารกิจที่มีมนุษย์ควบคุมของโครงการเมอร์คิวรี โครงการแรกที่ทดสอบว่ามนุษย์สามารถเดินทางไปอวกาศได้ ต่อด้วยโครงการเจมิไน ที่ได้สาธิตทุกอย่างที่จำเป็นต่อการส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ และพากลับโลกได้อย่างปลอดภัยแล้ว เส้นทางสู่ดวงดาวสำหรับภารกิจแรกพร้อมมนุษย์ในโครงการอพอลโลก็ดูเหมือนจะไม่ได้ยากเย็นนักเช่นกัน

ลูกเรือของอพอลโล 1 จากซ้ายไปขวา แชฟฟี, ไวท์, กริสซัม – ที่มา NASA

อพอลโล 1 มีแผนที่จะพาลูกเรือสามคน ได้แก่ กัส กริสซัม ผู้ขึ้นบินกับทั้งโครงการเมอร์คิวรีและเจมิไนมาแล้ว เอ็ด ไวท์ ชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ออกไปทำ EVA นอกยานอวกาศเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และอีกคนก็คือโรเจอร์ แชฟฟี นักบินน้องใหม่ที่กำลังจะได้ขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก โดยตามกำหนดนั้นลูกเรือจะเดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1967 เพื่อทำการทดสอบประสิทธิภาพของทีมควบคุมและอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถของจรวดแซทเทิน 1B กับยานบังคับการและยานบริการของอพอลโลในสภาพแวดล้อมจริง ๆ

ยานของพวกเขาถูกสร้างโดยผู้ประมูลราคาต่ำที่สุด

วาทะในตำนานของอลัน เชพพาร์ด ที่ถูกถามถึงความรู้สึกของเขาเมื่อนั่งอยู่ในยานเมอร์คิวรี ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเขาจะเดินทางขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งนั่นก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะ North American Aviation ผู้ผลิดยานควบคุมของอพอลโลนั้นเป็นผู้ประมูลราคาต่ำสุดจากทั้ง 5 เจ้าที่ยื่นข้อเสนอเข้ามา

ทีนี้บรรดาลูกเรือก็จะได้มาตรวจดูสภาพของยานก่อนปล่อยด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าพวกเขาก็กังวลกับสภาพของยาน ที่เต็มไปด้วยวัตถุไวไฟ แถมยังใช้แก๊สออกซิเจนแบบ 100% ซึ่งสามารถทำให้ประกายไฟลุกลามได้อย่างรวดเร็วและอันตราย ซึ่งเมื่อผู้จัดการที่ดูแลการก่อสร้างยานอนุมัติให้ยานผ่านเกณฑ์ได้นั้น ลูกเรืออพอลโล 1 ก็ได้ถ่ายภาพที่กำลังไหว้โมเดลจำลองของยาน และส่งมอบให้ถึงมือของเขา พร้อมกับคำบรรยายประกอบภาพว่า

ไม่ใช่พวกเราไม่ไว้ใจคุณนะ แต่รอบนี้เราอาจต้องพึ่งพาอะไรที่เหนือกว่าคุณบ้างละ

ภาพที่ลูกเรือส่งไปให้กับผู้จัดการที่ดูแลการก่อสร้างยานอพอลโล – ที่มา NASA

ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว และเมื่อทาง North American Aviation และนาซาต้องแข่งกับเวลา เพราะสุนทรพจน์ของเคนเนดีได้กำหนดเส้นตายไว้ไม่เกินปี 1970 ที่มนุษย์คนแรกจะไปลงเดินบนดวงจันทร์ และกลับมาโลกอย่างปลอดภัย และเชื่อกันว่าเส้นตายนี้คือสาเหตุที่พวกเขาต้องยอมเอาความปลอดภัยของลูกเรือเข้ามาเสี่ยง

การทดสอบเสมือนจริง ที่ไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เลย

27 มกราคม 1967 ลูกเรืออพอลโล 1 ได้เข้าสู่ยานควบคุมที่ติดตั้งอยู่บนฐานปล่อย ในการทดสอบที่ชื่อว่า Plug-out test ซึ่งเป็นการทดสอบระบบพลังงานภายในของยานโดยทั้งหมด ซึ่งนาซาประเมินว่าภารกิจนี้แทบจะไม่มีความเสี่ยงใด ๆ เลย เนื่องจากไม่มีการเติมเชื้อเพลิงให้กับจรวดที่ติดตั้งอยู่

ก้าวสุดท้ายก่อนเข้าสู่ยานของลูกเรืออพอลโล 1 – ที่มา NASA

แต่เพียงไม่นานหลังจากเริ่มทดสอบ ปัญหาแรกก็ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อลูกเรือได้กลิ่นอากาศในชุดของเขาเหมือนกับนมหมักเปรี้ยว และทำให้ทีมภาคพื้นต้องมาเก็บตัวอย่างอากาศจากในยานมาตรวจสอบ แต่ก็ไม่พบว่ามีที่มาจากไหน และการทดสอบก็ได้ดำเนินต่อไป

ซึ่งในระหว่างการทดสอบก็มีปัญหาในการสื่อสารระหว่างลูกเรือกับศูนย์ควบคุม จนทำให้กริสซัมหัวเสียและพูดออกมาว่า

เราจะไปดวงจันทร์ได้อย่างไร ถ้าแค่ 2-3 ช่วงตึกก็ยังคุยกันไม่รู้เรื่องเลย

ใครจะไปรู้ว่าอีกไม่ถึงหนึ่งนาทีให้หลัง สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดกำลังจะเกิดขึ้น

พวกเรากำลังถูกเผา…

คำเตือน: ด้านล่างนี้มีภาพที่แสดงให้เห็นภายในของยานหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ 

“ไฟไหม้”

“มีไฟไหม้อยู่ในยาน”

“มีไฟไหม้รุนแรงข้างในนี้ รีบออกไปเร็ว พวกเรากำลังถูกเผา”

ตามมาด้วยเสียงกรีดร้องด้วยความทรมาน และมีคนที่ดูภาพสดในตอนนั้นเห็นมือของเอ็ด ไวท์ พยายามเอื้อมไปเปิดประตู ขณะที่เปลวเพลิงกำลังลุกไหม้จากซ้ายไปขวาอย่างรวดเร็ว

แผนการกู้ภัยในกรณีฉุกเฉินนั้นต้องการเวลาอย่างน้อย 90 วินาทีที่จะช่วยลูกเรือ แต่เพียงแค่ 30 วินาทีเท่านั้นที่เปลวเพลิงได้ปกคลุมไปทั่วทั้งยาน ทีมที่ฐานปล่อยได้พยายามรีบนำอุปกรณ์ช่วยเหลือตรงดิ่งเข้าไปช่วยลูกเรืออย่างสุดความสามารถ ในขณะที่ทีมในศูนย์ควบคุมได้แต่เฝ้ารอ

พวกเขาใช้เวลาถึง 5 นาทีเต็ม ๆ ในการเปิดประตูทั้งสามชั้นของยานออกมา ซึ่งในขณะนั้นพวกเขาก็แทบหาร่างของลูกเรือไม่เจอท่ามกลางควันที่หนาแน่นนี้ และเมื่อควันสงบลง พวกเขาทั้งสามก็ได้เสียชีวิตอยู่ในชุดอวกาศที่ถูกหลอมออกไปบางส่วนแล้ว (และเพื่อเป็นเกียรติแก่ลูกเรือทั้งสาม ผู้เขียนขอไม่นำภาพร่างของพวกเขามาลงในนี้)

สภาพภายในของยาน หลังจากเหตุเพลิงไหม้ – ที่มา NASA

เราต้องพลาดข้างล่างนี้ เพื่อจะไม่ไปพลาดบนนั้น

ถึงแม้การสูญเสียในครั้งนี้จะทำให้โครงการอพอลโลต้องชะงักไปเกือบ 20 เดือน แต่นั่นก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแบบเกือบใหม่หมด โดยเฉพาะปัจจัยด้านความปลอดภัยที่ถูกปรับแบบแทบจะยกเครื่องเลยทีเดียว

คริสต์โตเฟอร์ คราฟต์ ผู้บริหารการปฏิบัติงานที่นาซาได้เคยกล่าวว่า เหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ทำให้การลงดวงจันทร์ของอพอลโล 11 เกิดขึ้นจริงได้ เพราะก่อนหน้านั้นมันมีปัญหาทั้งตัวบุคลากร อุปกรณ์ และอีกหลาย ๆ อย่างที่อาจผิดพลาดได้

ไมเคิล คอลลินส์ นักบินยานควบคุมอพอลโล 11 ได้กล่าวว่า การสูญเสียของพวกเขาเป็นเรื่องที่น่าโศกเศร้า แต่ฮีโร่ทั้งสามนี้ได้หล่อหลอมให้คนทั้งประเทศเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ในช่วงเวลาที่แบ่งแยกของประเทศ (สงครามเวียดนาม การเรียกร้องสิทธิมนุษยชน และการแข่งขันไปดวงจันทร์กับโซเวียต) อเมริกันชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า และประสบความสำเร็จกับเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้

หากไม่เกิดเหตุเพลิงไหม้ในวันนั้น ภาพนี้ก็อาจเป็นจริงเพียงแค่ในจินตนาการเท่านั้น – ที่มา NASA

เหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ยังได้เปลี่ยนวิธีการไปดวงจันทร์ของนาซาแบบใหม่หมด จากหน่วยงานที่ประมาทและเน้นในเรื่องการประหยัดงบ มาเป็นหน่วยงานที่เอาจริงเอาจังกับการไปดวงจันทร์ และยอมที่จะจ่ายแพงกว่า ซึ่งคุ้มเมื่อพูดถึงชีวิตที่อยู่บนเส้นด้ายของนักบินอวกาศ ซึ่งนั่นทำให้ประวัติศาสตร์ทุกวันนี้ได้บันทึกวันที่ 21 กรกฏาคม 1969 เป็นวันที่มนุษย์คนแรกได้ก้าวลงเดินบนดวงจันทร์

ถ้าพวกผมต้องตาย ผมขอให้ผู้คนยอมรับมัน พวกผมอยู่ในอาชีพที่เสี่ยง และหวังว่าหากมีอะไรเกิดขึ้นกับพวกผม มันจะไม่ทำให้โครงการนี้ล่าช้าไป ความสำเร็จในการสำรวจอวกาศนั้นมันคุ้มค่าพอที่ผมจะเอาชีวิตเข้าแลก

กัซ กริสซัม

 

อ้างอิง:

Apollo 1’s Fatal Fire Almost Ended the Spaceflight Program | Apollo

APOLLO 1 | NASA

REPORT OF APOLLO 204 REVIEW BOARD

Apollo 1: The Fatal Fire | SPACE.com

‘We have a fire in the cockpit!’ The Apollo 1 disaster 50 years later. | The Washington Post

The Apollo 1 Launchpad Fire: Remembering Grissom, White and Chaffee | TIME

The hell of Apollo 1: Pure oxygen, a single spark, and death in 17 seconds

Chariots For Apollo

Apollo 1 Fire Timeline | NASA

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138