ภารกิจที่ 2 ของนาซ่าที่จะส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์นั้นเกือบจบลงด้วยการยกเลิกภารกิจก่อนที่ยานจะถึงอวกาศเสียอีก
เพราะเพียงแค่ประมาณ 36 วินาทีหลังจากปล่อยยานขึ้นจากฐานปล่อย 39A ที่ Kennedy Space Center เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 1969 เมื่อจรวด Saturn V SA-507 ที่ถูกปล่อยขึ้นท่ามกลางพายุฝนที่โหมกระหน่ำก็ถูกฟ้าผ่าเข้าอย่างจัง ต่อหน้าต่อตาประธานาธิบดี Richard Nixon ที่อาจจะได้เห็นการยกเลิกภารกิจนี้ในอีกไม่ถึงนาทีครึ่งให้หลัง ตัดภาพไปที่ยาน Yankee Clipper (ชื่อยานควบคุมของ Apollo 12) ที่วงจรป้องกันของถังน้ำมันบนยานตรวจจับได้ว่ามีไฟไหลผ่านวงจรมากเกินไป และตัดการทำงานของถังน้ำมันทั้งสามถังในทันที รวมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ บนยานอีกด้วย คำพูดที่ว่าฟ้าจะไม่ผ่าลงที่เดิมซ้ำสองรอบกำลังจะถูกหักล้างลงในอีก 16 วินาทีให้หลัง
52 วินาทีหลังจากปล่อยยาน ฟ้าผ่าระลอก 2 ก็ซัดลงมาที่ Saturn V อีกครั้ง ทำให้เจ้าตัว “8-ball” attitude indicator เจ๊งในทันที แถมข้อมูลที่ส่งลงมายังห้องควบคุมภารกิจก็เสียหายด้วยเช่นกัน ห้องควบคุมเหมือนถูกปิดตาในทันทีเมื่อพวกเขาไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่อย่างน้อย Saturn V ก็ยังสามารถบินต่อไปได้อย่างปกติเพราะไม่ได้รับผลกระทบจากฟ้าผ่าทั้งสองครั้ง
และเมื่อไม่สามารถใช้พลังงานจากถังน้ำมันแบบปกติได้ Apollo 12 ต้องใช้ไฟจากแบตเตอรี่เท่านั้น ซึ่งไฟจากแบตเตอรี่นั้นให้กำลังที่ต่ำกว่ามากถึงขั้นทำให้ AC Inverter ไม่สามารถทำงานได้ และไฟแจ้งเตือนก็พร้อมใจก็ติดขึ้นมาโดยมิได้นัดหมาย ตอนนี้ไฟแจ้งเตือนแปลก ๆ ที่ตลอดการซ้อมไม่เคยเห็นก็ติดขึ้นมาเป็นบุญตานักบินอวกาศเป็นครั้งแรก (ลูกเรือ Apollo 12 คงไม่ภูมิใจกับสถานการณ์แบบนี้เท่าไหร่) ในเวลานี้ทุกคนคาดหวังว่า EECOM John Aaron จะสั่งการให้ยกเลิกภารกิจนี้ทิ้งซะ ซึ่งในหัวของ Flight Director อย่าง Gerald Griffin ก็คิดแบบนี้อยู่ในตอนนั้น ซึ่งขั้นตอนการยกเลิกก็แค่แยกห้องนักบินออกมาจากส่วนอื่นของยาน และก็ระเบิด Saturn V ทิ้งบนอากาศ และก็ระเบิดฝันของนักบิน Apollo 12 ที่จะไปเหยียบดวงจันทร์เช่นกัน
แต่ Aaron ไม่ได้ทำแบบนั้น เขาเคยเห็นรูปแบบประหลาด ๆ นี้แล้วครั้งนึงโดยบังเอิญเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเกิดปัญหาขึ้นจากสวิตช์ที่มีชื่อว่า SCE (Signal Conditioning Equipment) ซึ่งควบคุมกล่องที่ทำหน้าที่แปลข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ บนยานมาสู่สัญญาณที่จะส่งไปแสดงผลยังหน้าจอของนักบินและห้องควบคุมภาคพื้นดิน ซึ่งปกติจะถูกตั้งให้ใช้ไฟสูงเพื่อความแม่นยำ แต่ในโหมด auxillary นั้นเจ้า SCE นี่จะสามารถทำงานได้แม้จะรับไฟจากแบตเตอรี่ก็ตาม Aaron จึงสั่งการให้ลูกเรือ Apollo 12 ทำการ “SCE To Aux” หรือก็คือปรับสวิตช์ให้ไปอยู่ในโหมด auxillary นั่นเอง
ความงงงวยปกคลุมห้องควบคุมในทันที ทั้ง Flight Director และ CAPCOM ต่างไม่ทราบคำสั่งนี้ทั้งคู่ แต่ก็ยังส่งต่อคำสั่งไปยังบนยาน ที่แม้แต่ Pete Conrad Commander ของภารกิจนี้ก็ยังไม่ทราบ และยังอุทานมาว่า “ปุ่ม_่าอะไรวะ” แต่โชคดีที่นักบินยานลงจอดดวงจันทร์อย่าง Alan Bean ทราบตำแหน่งของสวิตช์นั้น และปรับให้ไปอยู่ในตำแหน่ง aux ซึ่งทำให้ข้อมูลทั้งหมดกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ซึ่งต้องขอบคุณความจำของเขาจากห้อง simulator ที่เขาเคยฝึกซ้อมในสถานการณ์คล้าย ๆ กันนี้มาแล้ว รวมไปถึงความรวดเร็วในการคิดและแก้ไขเหตุการณ์ของ John Aaron ที่ทำให้ภารกิจนี้ไม่ถูกยกเลิกลง
ลูกเรือของ Apollo 12 สามารถทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ตามปกติ แต่ก็ยังมีความลับนึงที่ศูนย์ควบคุมที่ภาคพื้นยังไม่ได้บอกบรรดาลูกเรือ เพราะพวกเขาไม่มั่นใจว่าร่มชูชีพจะกางได้ปกติดีหรือไม่หลังจากโดนฟ้าผ่า เพราะหากไม่กางปุ๊ปลูกเรือ Apollo 12 จะพุ่งสู่มหาสมุทรด้วยความเร็วสูงมาก ศูนย์ควบคุมจึงอุบปากเงียบไว้ และทุกอย่างก็ทำงานได้อย่างปกติ
Apollo 12 อาจดูเป็นพระรองของ Apollo 11 แต่เป็นภารกิจที่เต็มไปด้วยความท้าทายต่าง ๆ และยังเป็นสถานการณ์ที่สร้างฮีโร่อย่าง John Aaron ให้เป็นที่โด่งดัง รวมไปถึงช็อตสุดฮาของ Pete Conrad และ Alan Bean ที่ทำกล้อง TV พังบนดวงจันทร์ รวมไปถึงการควานหาปุ่มเพื่อที่จะถ่ายเซลฟี่ของพวกเขาทั้งสอง (ซึ่งกว่าจะเจอก็ตอนกลับมาโลกแล้ว) หากไม่ได้การแก้ปัญหาที่ถูกต้องได้ทันท่วงทีแล้วนั้นทุกอย่างที่กล่าวมานี้ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และประวัติศาสตร์การสำรวจดวงจันทร์คงเปลี่ยนไปจากที่เรารู้กันในทุกวันนี้อย่างแน่นอน