For All Mankind ซีรี่ส์ประวัติศาสตร์พลิกกลับ เมื่อโซเวียตไปดวงจันทร์ได้ก่อน รีวิว วิเคราะห์ เนื้อเรื่อง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสหภาพโซเวียตกลายเป็นผู้ที่สามารนำธงของตัวเองไปปักบนดวงจันทร์ได้ก่อนสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ชนะสงครามเย็นในภาคอวกาศหรือ Space Race

ชมรีวิวซีรีส์ For All Mankind

รีวิวจัดเต็ม EP.1 ของ For All Mankind ซีรีส์จาก Apple TV+ ประวัติศาสตร์ มุมกลับหากโซเวียตลงดวงจันทร์ได้ก่อน (สรุปเนื้อหา ทุกเรื่องราวที่ซ่อนไว้)

Apple เปิดตัว For All Mankind มาได้ซักพักแล้ว วันนี้มาลองพูดถึงเนื้อหาใน EP. แรกของซีรีส์เรื่องนี้จากมุมมองของ “แฟนพันธุ์แท้” ระบบสุริยะ และ Blogger สายอวกาศ @Kornkt และ @Nutn0n กัน 

  • ซีรีส์นี้ทำขึ้นมาเพื่อ Geek อวกาศที่แท้จริง ชื่อ, ภารกิจ, รายละเอียดทำได้ดีมาก ๆ 
  • มีการเอาเกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์มาใช้ดำเนินเนื้อเรื่องจริง ๆ 
  • ดูแล้วจะได้ความรู้ และมองประวัติศาสตร์แบบวิพากษ์ได้ 
  • มีการนำเสนอเรื่องราวที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในเชิง Fictional และทำให้เราเห็นภาพใหม่ ๆ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้น (เพราะไม่ใช่ทั้งสารคดีและภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ แต่เป็นการมองประวัติศาสตร์มุมกลับ)

รีวิวจัดเต็ม EP.2 ของ For All Mankind ซีรีส์จาก Apple TV+ ตอนนี้เนื้อหาเข้มข้นขึ้นอย่างมาก มีการผูกปมหลาย ๆ อย่าง เช่น อดีตอันไม่น่าจดจำของ Wernher von Braun และตราบาปจากความตายของคนนับล้าน 

  • ตอนนี้เริ่มต้นด้วยสาระเรื่องการกลับโลก ทำไมนักบินอวกาศต้องผ่าน ตม. ด้วย ? 
  • Apollo 10 ไม่สามารถลงดวงจันทร์ได้จริงเหรอ แล้วเป็นความผิดของใคร
  • Wernher von Braun นักวิทยาศาสตร์จรวดฮีโร่ของชาวอเมริกัน กลายเป็นปีศาจจากตราบาปในสงครามโลกครั้งที่ 2 
  • เรื่องราวของเด็กหญิงผู้อพยพที่ “อยากอยู่ในกองไฟ” และเป็นโรคชอบจุดไฟ ทำไมผู้กำกับถึงเอาเรื่องไฟและความตาย มาผูกกันบ่อยนัก หรือจะเกี่ยวข้องอะไรกับ Apollo 1 หรือเปล่า 
  • สุดท้ายจบลงด้วยสหภาพโซเวียตและนักบินอวกาศหญิงที่ในความเป็นจริง มีนักบินอวกาศหญิงก่อนหน้าอเมริกานับสิบปี 

รายละเอียดของ For All Mankind

เมื่อพูดถึง Series หนึ่งใน Series ที่น่าติดตามตัวหนึ่งที่ผู้เขียนเคยได้ดูก็คือ The Man in the High Castle ซึ่งมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่พลิกกลับ เมื่อฝั่ง Nizi กลายเป็นผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถ้าไปตามดูเราจะพบว่ามีการแทรกแนวคิดมุมมองทางการเมืองหลาย ๆ อย่างไว้และปวดหัวพอสมควรเพราะต้องคิดตามเยอะมาก ซึ่ง Series ดังกล่าวนั้นฉายทาง Amazon Prime

ทุกวันนี้การแข่งขันในด้าน Platform การดูคอนเทนต์ต่าง ๆ ดุเดือดมาก ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Amazon Prime, HBO ซึ่งต่างมาทุ่มทุนสร้าง Series ของตัวเองกันเต็มไปหมดและก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก Game of Thrones ที่ HBO เอาเนื้อเรื่องจากหนังสือมาสร้างเป็น Series ของตัวเอง ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็ได้มียักษ์ใหญ่จากวงการไอทีประกาศมาทำ Platfrom คอนเทนต์อีกเจ้าก็คือ Apple ที่ประกาศมาทำ Apple TV+ ให้คนมา Subscription เพื่อดูคอนเทนต์เหมือน Netflix, HBO

ในขณะที่ทาง Apple เองก็ได้ไปดึงเอาตัวผู้กำกับเก่ง ๆ เช่น J.J. Abrams, Steven Spielberg หรือ Oprah Winfrey มาร่วมสร้างคอนเทนต์และทำ Original Content เป็นของตัวเองเหมือนกับที่ HBO ทำ Game of Thrones หรือ Netflix ทำ Stranger Things

หนึ่งในผลงานจาก Apple TV+ ที่แอบมาเปิดให้ทุกคนได้ดูก่อนในงาน WWDC 2019 ซึ่งเป็นงานเปิดสินค้าจากทาง Apple ประจำปีนั้น Tim Cook ก็ได้นำตัวอย่างของ Series ชื่อว่า For All Mankind ซึ่งกำกับโดย Ronald D. Moore ซึ่งเป็นผู้เขียนบท Star Trek มาดูแลด้วยตัวเอง และโฟกัสไปที่ความกดดัน เคร่งเครียด ของสมัย Space Race หรือสงครามเย็นที่มีการแข่งขันด้านอวกาศ

ซึ่งความบังเอิญ (หรือจงใจก็ไม่รู้) ของ Series ชุด For All Mankind ที่ออกมานี้ก็ดันออกมาตรงกับปีที่เราจะฉลองครบรอบการลงจอดบนดวงจันทร์ 50 ปีของมนุษย์ในปี 1969 พอดี ถ้าจะทำเรื่องอวกาศในช่วงนี้คงจะไม่มีประเด็นไหนน่าหยิบมาเล่นเท่ากับการไปดวงจันทร์อีกแล้ว

เมื่อโซเวียตลงจอดบนดวงจันทร์ได้ก่อนอเมริกา

สำหรับ Series ตัวนี้อาจจะไม่เหมือนกับสารคดีชุด BBC Space Race ที่โด่งดังและเราเคยเอามาแนะนำจนเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นบทความ ประวัติศาสตร์จรวด เพราะตัวที่ BBC ทำนั้นเป็นสารคดีไล่จาก Timeline และเหตุการณ์จริง ๆ ในประวัติศาสตร์ แต่ที่ Apple ทำออกมานั้นจะเป็นแนว ๆ Fiction อิงเกร็ดประวัติศาสตร์

เกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจที่ควรรู้ก่อนติดตาม

ถ้าดูจากตัวอย่างเราจะพบว่ายานอวกาศต่าง ๆ รวมถึงประเด็นที่หยิบยกมามีความเหมือนกับของจริงเยอะมากเช่นการใช้ยาน Lunar Module และ Command Module จรวด Saturn V และโครงการที่ก็ใช้ชื่อว่า Apollo เรียกได้ว่าทุกอย่างเหมือนของจริงหมดทำให้ Series นี้จะต้องสอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจในมุมกลับให้เราได้ติดตามกันอย่างแน่นอน

แต่สิ่งที่เราอยากบอกทุกคนไว้ก่อนก็คือโครงการอวกาศของสหภาพโซเวียตนั้นอ่อนแอลงหลังจากที่สหภาพโซเวียตต้องสูญเสีย Chief Engineer ของโครงการคือเซอร์เกย์ คาราลอฟ ไปเนื่องจากป่วยจนเสียชีวิตในตอนนั้นแม้ว่าโซเวียตจะประสบความสำเร็จทั้งการส่งดาวเทียมดวงแรก ส่งสิ่งมีชีวิตตัวแรก และส่งยูริ กาการินขึ้นสู่อวกาศ ตามมาติด ๆ ด้วยการทำ EVA (ออกไปนอกยานอวกาศ) ครั้งแรกของอเล็กเซย์ เลโอนอฟ แต่โครงการไปดวงจันทร์ของโซเวียตนั้นเริ่มต้นด้วยความผิดพลาดของจรวด N1 จรวดขนาดยักษ์ของฝั่งโซเวียตที่ระเบิดคาฐาน และชุดอวกาศที่ไม่พร้อม ยานอวกาศที่ไม่พร้อม ทำให้โซเวียตไม่สามารถไปดวงจันทร์แข่งกับอเมริกาได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว้าวมากที่ทางทีมผู้กำกับหยิบยกมาเล่าก็คือนักบินอวกาศหญิง ซึ่ง NASA นั้นไม่ได้มีการรับนักบินอวกาศหญิงในโครงการ Apollo แต่จะมีประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในโครงการ Mercury 13 ที่มีการคัดเลือกนักบินอวกาศหญิงด้วย (และ Netflix ก็เอามาทำเป็นหนังสารคดีเหมือนกัน) ดังนั้นตรงนี้อาจจะเชื่อมต่อกันก็ได้

ใครที่ดู First Man กับสารคดีชุด BBC Space Race มาแล้วก็คงจะพอเห็นภาพบ้าง แต่บอกเลยว่าเรื่องราวของโครงการอวกาศในฝั่งโซเวียตนั้นในตอนนั้นมีความน่าสนใจไม่แพ้กันไปกับฝั่งสหรัฐอเมริกาและมีความสูญเสียหลายอย่างที่ไม่ได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือเรียน (หรือต่อให้ฝั่งอเมริกาก็เถอะ ยังบันทึกง่าย ๆ แค่เหตุการณ์สำคัญไม่กี่อย่าง)

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.