ISS เริ่มใช้แว่น Augmented Reality เพื่อช่วยให้นักบินอวกาศซ่อมอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งฝั่งภาคพื้นโลก

ปกติแล้วการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่าง ๆ บน ISS จะกระทำโดยนักบินอวกาศโดยมีทีมภาคพื้นดินคอยให้คำแนะนำในการซ่อมแซม ซึ่งขั้นตอนในการซ่อมแต่ละอุปกรณ์จะถูกเก็บไว้เป็นเอกสารไฟล์ PDF ที่สามารถเปิดได้ในคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต และหากติดปัญหาใด ๆ วิศวกรภาคพื้นก็จะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ทันที เนื่องจากการสื่อสารระหว่างภาคพื้นโลกกับ ISS นั้นเกิดการ Delay เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตที่มนุษย์กำลังจะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 360,000 กิโลเมตร และ ดาวอังคารที่อยู่ห่างออกไปกว่า 54.6 ล้านกิโลเมตรนั้น การสื่อสารแบบ Real-time จะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป และทุก ๆ การสื่อสาร จากทั้งฝั่งผู้รับและฝั่งผู้ส่งเองนั้นจะเกิดการดีเลย์ที่มากอย่างมีนัยสำคัญ และในภารกิจการซ่อแซมที่เป็น “Mission Critical” หรือสำคัญต่อภารกิจนั้น เวลาที่เกิดจากการดีเลย์ระหว่างการสื่อสารก็อาจจะเสียไปเฉย ๆ ได้นั่นเอง เราจึงต้องหาวิธีที่จะช่วยให้นักบินอวกาศทำภารกิจได้โดยไม่ต้องพึ่งทีมภาคพื้น โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ระบบการสื่อสารระหว่างดวงดาวของเราในปัจจุบัน – ที่มา NASA

หนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหานี้ก็คือการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR เข้ามาช่วยในภารกิจการซ่อมแซมของนักบินอวกาศ โดยประยุกต์เทคโนโลยี AR มาใส่ในแว่นตาเพื่อช่วยแสดงข้อมูลการซ่อมแซมต่าง ๆ อย่างละเอียดโดยที่นักบินอวกาศไม่ต้องคอยหยิบแท็บเล็ตขึ้นมาดูขั้นตอนการซ่อมแซม ซึ่งนอกจากจะทำให้การซ่อมแซมง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้นักบินอวกาศสามารถทำงานคนเดียวได้อีกด้วย โดยมีผลการทดลองออกมาแล้วว่าการใช้ AR ช่วยให้นักบินอวกาศสามารถซ่อมแซมอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องพึ่งทีมภาคพื้นจริง อ้างอิงจากการทดลอง T2 Augmented Reality (T2AR)

GMT105_18_05_Soichi Noguchi_1024_hololens AR

T2AR นั้นเป็นการทดลองใช้แว่น Microsoft HoloLens AR ในการซ่อมแซมอุปกรณ์บน ISS ซึ่งทดลองโดย Soichi Noguchi นักบินอวกาศ JAXA ซึ่งใช้แว่นตา VR ในการซ่อมลู่วิ่ง T2 Treadmill (Combined Operational Load Bearing External Resistance Treadmill: COLBERT) ซึ่งผลการทดลองพบว่า Noguchi สามารถซ่อมลู่วิ่งเองได้โดยไม่ต้องใช้ขั้นตอนการซ่อมที่อยู่ในจอแยก แต่อ้างอิงข้อมูลในแว่นได้เลย

T2AR ถือเป็นการใช้ HoloLens พร้อมกับเทคโนโลยี AR ในอวกาศเป็นครั้งแรกซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการทดสอบคล้าย ๆ กันกับ HoloLens ในปี 2016 โดยนักบินอวกาศ Scott Kelly

การใช้ AR ในแว่นนั้นเป็นการใช้สิ่งที่เรียกว่า “3D Directional Cues” หรือการบอกนักบินอวกาศว่าขั้นตอนต่อไปจะทำยังไงทั้งผ่านภาพและผ่านเสียงพูด เพื่อช่วยให้นักบินอวกาศทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งทีมภาคพื้นหรือไฟล์ Instruction ในแท็บเล็ตนั่นเอง นอกจากนี้การทำงานผ่าน Directional Cues ที่มาจากการแสดงผลเป็นภาพหรือเสียงนั้น ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านจากไฟล์อีกด้วย

เปรียบเทียบกับชีวิตประจำวันเราก็จะอารมณ์เหมือนคนชอบดูวิดีโอวิธีการทำอะไรซักอย่างมากกว่าที่จะไปอ่านวิธีการทำสิ่งนั้น ๆ

ภาพแสดง 3D Directional Cues ที่นักบินอวกาศจะเห็นขณะกำลังใส่แว่น AR เพื่อซ่อมอุปกรณ์ – ที่มา NASA

หลังจากการทดสอบครั้งแรกโดย Noguchi แล้วก็ยังมี Thomas Pesquet นักบินอวกาศของ ESA และ Megan McArthur นักบินอวกาศของ NASA ที่ได้ทดลองใช้แว่น AR อันนี้บนสถานีอวกาศนานาชาติเพื่อช่วยให้ Feedback กับนักวิจัยผู้พัฒนาแว่น เพื่อปรับปรุงแว่นต่อไป

ในตอนนี้ ตัวเทคโนโลยี AR และแว่นยังอยู่ในขั้นตอนการสาธิตเทคโนโลยีและยังต้องทดสอบอีกอย่างน้อย 9 ครั้ง เพื่อปรับปรุงแว่นให้พร้อมใช้ในภารกิจ Interplanetary เนื่องจากการทดสอบใน T2AR นั้นยังเป็นเพียงแค่การทดสอบซ่อมแซมอะไรที่มันง่าย ๆ เท่านั้น ยังไม่ได้ทดสอบกับอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนมากกว่านั้น ซึ่งอาจต้องผ่านการพัฒนาและทดสอบอีกหลายขั้นตอนก่อนที่จะนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

New Augmented Reality Applications Assist Astronaut Repairs to Space Station

Autonomous Systems and Operations

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.