ในภารกิจ Artemis I ซึ่งเป็นภารกิจที่จะเบิกทางการนำมนุษยชาติไปลงจอดบนดวงจันทร์อย่างแท้จริงนั้น นอกจากจะเป็นภารกิจอวกาศที่มีการร่วมมือของนานาประเทศแล้ว ยังเป็นภารกิจที่อาศัยความช่วยเหลือจากทุกแขนงทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจและเอกชนต่าง ๆ แม้แต่อุตสาหกรรมด้านการศึกษาก็ด้วย
ภารกิจ Artemis I เป็นภารกิจเพื่อส่งยาน Orion และจรวด SLS แบบไม่มีมนุษย์ควบคุมไปโคจรรอบดวงจันทร์และกลับมาเพื่อทดสอบความสามารถของยานและตัวจรวดในการนำมนุษย์ไปลงจอดในโครงการ Artemis III ก่อนที่จะถึงภารกิจ Artemis III นั้น NASA ก็ได้เปิดให้ภาคการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจนี้ด้วยการเปิด Challenge ต่าง ๆ มากมาย เรียกว่า NASA’s Artemis Student Challenges สำหรับนักเรียนและครู ซึ่งผลงานหรือไอเดียเจ๋ง ๆ จากนักเรียนหรือครูอาจจะถูกนำไปใช้จริงในโครงการ Artemis ได้นั่นเอง
NASA’s Artemis Student Challenges นั้นประกอบไปด้วย Challenge ในหลาย ๆ Field of Study เช่น วิศวกรรม, การออกแบบเทคโนโลยี, การศึกษาผลกระทบของอวกาศต่อมนุษย์ และอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- First Nations Launch competition ซึ่งเปิดให้นักเรียนนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการออกแบบจรวดพลังงานสูง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิง ดีไซน์จรวด และอื่น ๆ
- Lunabotics ซึ่งเป็นการแข่งขันกันสร้างเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไว้ใช้บนดวงจันทร์ โดยธีมของโครงการในปี 2022 นั้นกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและจะปล่อย Handbook ในเดือนกันยายน 2021
- Minority University Research and Education Project (MUREP) Innovative New Designs for Space (MINDS) เปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีตั้งแต่แบบเดี่ยวถึงแบบทั้งคณะของมหาลัยสามารถช่วยออกแบบและสร้างเทคโนโลยีสำหรับใช้ในโครงการ Artemis ของ NASA ได้
- Human Exploration Rover Challenge (HERC) ซึ่งเปิดให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยออกแบบ, สร้าง และทดสอบ โรเวอร์สำหรับใช้บนดวงจันทร์ โดยมี Handbook สำหรับออกแบบให้อย่างละเอียด (ซึ่ง Handbook ดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็คือสเปคของโรเวอร์ที่ NASA อยากได้ไปใช้ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังประกาศหาบริษัทเอกชนมาพัฒนาอยู่) HERC 2022 Handbook
- Student Launch ซึ่งเปิดให้นักเรียนมัธยมศึกษาและนักศึกษาระดับมหาลัยสร้างจรวดแรงยกสูงเพื่อนขนอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมได้ โดยมี Handbook ให้อย่างละเอียดเช่นกัน 2021-2022 Student Launch Handbook and request for proposals
- Breakthrough, Innovative and Game-changing (BIG) Idea Challenge ซึ่งเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีและโทออกแบบโรเวอร์ที่ใช้อย่างอื่นขับเคลื่อนแทนล้อเพื่อช่วยลดปัญหาพื้นผิวที่ขรุขระและไม่เอื้ออำนวยต่อการสำรวจของดวงจันทร์และดาวอังคาร ซึ่งเต็มไปด้วยเศษหินและทราย
- Spacesuit User Interface technologies for Students (SUITS) ซึ่งเปิดให้นักเรียนระดับปริญญาตรีและนักเรียนระดับปริญญาโทออกแบบและสร้างชุด Spacesuit พร้อมกับหน้าจอแบบ Augmented Reality (AR) เพื่อนำไปใช้ในการทำ Spacewalk บนดวงจันทร์และดาวอังคารในอนาคต
- Micro-g Neutral Buoyancy Experiment Design Teams (Micro-g-NeXT) ซึ่งเปิดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีออกแบบและสร้างอุปกรณ์สำหรับทดสอบว่าสภาวะที่ตัวเองอยู่นั้นเป็น Microgravity โดยการทดสอบความสามารถของอุปกรณ์จะถูกดำเนินการที่ Neutral Buoyancy Lab ของ NASA จริง ๆ
จะเห็นว่าแต่ละโครงการนั้นมีตั้งแต่ Challenge แบบง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ไปจนถึง Challenge ระดับนักศึกษานักวิจัยทำ ซึ่งเหมาะกับนักเรียนแต่ลระดับชั้นแตกต่างกันไป Artemis จึงถือเป็นหนึ่งในโครงการที่มนุษย์จากทุก ๆ อุตสาหกรรม ทุก ๆ นานาชาติร่วมด้วยช่วยกันพัฒนา การกลับไปดวงจันทร์ครั้งนี้จึงถือเป็นการกลับไปดวงจันทร์ของมนุษยชาติอย่างแท้จริง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง