ท้องฟ้าจำลองแห่ง Astro Park การเข้ามาของเทคโนโลยี ที่จะเปลี่ยนประสบการณ์รับชมฟากฟ้าของทุกคน

ผมเองเป็นเด็กชาวกรุงเทพฯ ที่หลงไหลในวิทยาศาสตร์ และเติบโตขึ้นมากับศูนย์การเรียนรู้ที่มีชื่อว่า “ท้องฟ้าจำลอง” หรือศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้แห่งกรุงเทพฯ – สถานที่แห่งนี้เป็นความทรงจำอันน่าตื่นตาตื่นใจในวัยเยาว์ของพวกเราหลาย ๆ คนมานับตั้งแต่จำความได้ (อีกสถานที่หนึ่งคือตึกลูกเต๋า หรือองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์) ในชั่วเวลาที่ได้เดินเข้าไปในห้องที่มีแสงไฟสลัว ๆ และแอร์อันเย็นฉ่ำไปจนถึงกระดูก ก็พลันได้เห็นอุปกรณ์สีดำขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางห้องนั้น เครื่องฉายดาวที่มีหน้าตาเหมือนแท่นยกน้ำหนักสีดำตั้งตระหง่านท้าทายสายตาของพวกเราทุกคน และในวัยเด็กนั้น พวกเราไม่รู้หรอกว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้ทำงานอย่างไร รู้เพียงแต่ว่ามันสามารถฉายสิ่งที่เรียกว่า “ดาว” ออกมาได้เพียงเท่านั้น (ตัวเราตอนนั้นก็คิดว่ามันคงจะทำงานเหมือนตะเกียงแสงไฟละกระมัง) เมื่อละสายตาจากเครื่องฉายดาวแล้วก็ถึงเวลาจับจองที่นั่ง เก้าอี้ผ้าที่ให้อารมณ์เหมือนโรงหนังเป็นอะไรที่นั่งได้สบายมาก เบาะที่เอนเยอะผิดปกติก็เพื่อให้สายตาของพวกเราสามารถมองไปยังเพดานได้อย่างชัดเจน แต่เช่นเคย ผมเองในเวลานั้นก็ไม่ได้เข้าใจถึงเหตุผลชัดเจนของการออกแบบนี้อย่างถ่องแท้ซักเท่าไหร่

เมื่อยัดตัวลงไปยังเบาะนุ่ม ๆ นั้นแล้ว เวลาผ่านไปอีกชั่วอึดใจ เสียงประกาศของพิธีกรก็เริ่มขึ้นพร้อมกับเครื่องฉายที่แสดงภาพท้องฟ้ายามสนธยา… หมู่ดาวมากมายพร้อมคำอธิบายอย่างเป็นกันเองและน้ำเสียงอันนุ่มลึกของพิธีกรยังคงก้องอยู่ในหัวมานับแต่นั้น…

ประสบการณ์ครั้งแรกจะยังคงตราตรึงใจเราเสมอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าในช่วงชีวิตสั้น ๆ ของผมนั้น ท้องฟ้าจำลองเปลี่ยนไปมากทีเดียว จากแรงบันดาลใจและสถานที่ในฝันสมัยเด็ก บัดนี้เป็นเหมือนพื้นที่แห่งความทรงจำที่สะท้อนความเก่าคร่ำคร่าของมันออกมาอยู่ตลอด (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเป็นท้องฟ้าจำลองแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอาเข้าจริงก็ก่อตั้งมาเกือบ 60 ปีแล้ว) ทุกครั้งที่จ้องมองลงมาผ่านหน้าต่างรถไฟฟ้า ผมเคยถามตัวเองอยู่เหมือนกันว่าคนไทยยึดติดกับ “ท้องฟ้าจำลอง” แห่งนี้มากไปหรือไม่ เพราะตัวสถานที่ดูจะผูกติดกับความหมายของคำไปแล้ว แทบไม่ต่างอะไรกับคำศัพท์ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

อาคาร 1 ท้องฟ้าจำลองในปี พ.ศ. 2552 ก่อนการปรับปรุงใหญ่ ส่วนโดมเป็นแบบมาตรฐานทรงคว่ำ – Paul_012

อย่างไรก็ตาม ในไทยเองมี “ท้องฟ้าจำลอง” อยู่หลายแห่ง นอกจากที่อุทยานที่กรุงเทพฯ แล้ว หนึ่งในสถานที่ล่าสุดที่เพิ่มเข้ามาในรายการ ก็คือ “AstroPark“ หรืออุทยานดาราศาสตร์สิรินธรที่เพิ่งจะก่อสร้างเสร็จไปหมาด ๆ ณ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ในวงการท้องฟ้าจำลองไทย

ท้องฟ้า-จำลอง

ท้องฟ้าจำลอง (Planetarium – ชื่ออังกฤษใช้คำว่าดาวเคราะห์เป็นส่วนหนึ่งในคำศัพท์) คือห้องหรือพื้นที่ที่สามารถแสดงภาพท้องฟ้าเสมือนได้ หลายคนมักจะติดตากับภาพของเครื่องฉายดาวใหญ่ยักษ์ที่ตั้งอยู่กลางห้องแลดูซับซ้อนในการทำงาน แต่จริง ๆ แล้วท้องฟ้าจำลองไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป เชื่อหรือไม่ว่าห้องนอนของเราเองก็สามารถเป็นท้องฟ้าจำลองได้ เพราะหลักการทำงานทั้งหมดคือการ “ฉายภาพ” ดาวไปยังเพดานเท่านั้นเอง ด้วยหลักการนี้ แค่เรามีโปรเจ็คเตอร์ซักเครื่องกับภาพหมู่ดาว เราก็สามารถเนรมิต “ท้องฟ้าจำลอง” ขึ้นมาได้แล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งที่เราได้นั้นจะเป็นการฉายสไลด์ธรรมดา ๆ เสียมากกว่า “เครื่องฉายดาว” และ “เพดาน” รูปโดมจึงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญท้องฟ้าจำลอง ไม่ต่างอะไรกับเครื่องฉายภาพยนตร์และจอรับภาพ หากเรามีสองสิ่งนี้แล้ว เราก็จะได้ท้องฟ้าจำลองที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอีกระดับ ประสบการณ์ส่วนตัวของผมนอกจากการไปเที่ยวท้องฟ้าจำลองจริง ๆ แล้ว ก็มีการใช้ท้องฟ้าจำลองแบบเต็นท์ (เวอร์ชั่นต้นทุนต่ำ) ที่จัดโดยภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปจนถึงชุดคิตวิทยาศาสตร์สำหรับประดิษฐ์เครื่องฉายขนาดเล็กซึ่งวางขายตามห้างสรรพสินค้า ราคาเกือบ 600 บาท ดังนั้นแล้ว Skydome ที่ AstroPark จะต่างอะไรไปจากสิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้กันล่ะ ในเมื่อก็มีเครื่องฉายและที่รับภาพเหมือนกัน

คำตอบคือหลักการทำงานของเครื่องฉายดาวและระบบการทำงานนั่นเอง เพราะถึงจะอยู่บนหลักการเดียวกัน แต่ประสบการณ์ที่เราได้นั้นย่อมแตกต่างกันอย่างมาก เหมือนการนั่งดูหนังที่บ้านกับไปดูที่โรงนั่นเอง

เครื่องฉายดาวแห่งท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ

เครื่องฉายที่เราคุ้นเคยที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพนั้นมีชื่อเรียกทางเทคนิคว่า Zeiss Projector ชื่อนี้มีที่มาจากผู้ผลิต – บริษัท Carl Zeiss Company บริษัทอุปกรณ์ด้านแสงสัญชาติเยอรมันอายุอานามกว่า 174 ปี (ปัจจุบันยังคงดำเนินกิจการอยู่) เครื่อง Zeiss Projector มีหลักการทำงานหลักผ่านเครื่องฉายหลาย ๆ ตัวที่บรรจุอยู่ในโดมเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งจะฉายภาพความละเอียดสูงออกมาในมุมต่าง ๆ จนคลอบคลุมโดมหรือเพดานในท้องฟ้าจำลอง การควบคุมเครื่องฉายนั้นสามารถทำได้ผ่านแกนกลาง (โครงเหล็ก) หรือใช้การหมุนตัวโดมเหล็กและขยับเลนส์ที่ครอบเครื่องฉายอีกที ในเครื่อง Zeiss Projector รุ่นแรก ๆ นั้น แหล่งกำเนิดแสงมีที่มาจากหลอดไฟความสว่างสูงกลางโดมเหล็ก ในขณะที่รุ่นหลัง ๆ นั้นเริ่มเปลี่ยนมาใช้เส้นใยแก้วนำแสงแทน รวมถึงเครื่องฉายก็ถูกเปลี่ยนเป็นระบบความละเอียดสูงที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์

ภาพของเครื่องฉายดาวไฟฟ้าเชิงกลระบบ Zeiss Projector ของท้องฟ้าจำลอง Montral ซึ่งท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ก็ใช้เครื่องฉายดาวในซี่รี่ย์เดียวกันนี้เช่นกัน – ในภาพแสดงแกนเสากับขาตั้งและโดมขั้วฟ้าเหนือ แท่นฉายกลาง และโดมขั้วฟ้าใต้อย่างชัดเจน – Captmondo

แต่สำหรับเครื่องฉายที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ นั้นเป็นเครื่องฉายเก่าตั้งแต่รุ่นที่ 4 ซึ่งยังใช้ระบบเลนส์และโดมคู่แบบเดิมอยู่ ตัวเครื่องถูกติดตั้งในปี พ.ศ. 2507 และใช้งานมาอย่างยาวนานมาก ๆ กว่า 56 ปี แต่ด้วยความซับซ้อนในการทำงานของระบบและความเก่าแก่ของตัวอุปกรณ์ จึงทำให้เครื่องฉายนี้ถูกเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลในปี พ.ศ. 2559 (ระบบใหม่มีชื่อว่า Evan & Sutherland – Digistar 5) โดยตัวเครื่องยังคงอยู่ในท้องฟ้าจำลอง แต่ไม่ได้เปิดทำการใช้งานอีกแล้วนับจากนั้น กลายเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำของหลาย ๆ คนไปในที่สุด

อะไรเปลี่ยนไปบ้างในระบบฉายดาวแห่ง AstroPark

แน่นอนว่าเครื่องฉายแบบ Zeiss Projector เป็นเครื่องฉายระบบเชิงกล ซึ่งเก่าแก่ไปตามกาลเวลาและควบคุมได้ยากพอสมควร ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) จึงตัดสินใจใช้ระบบดิจิตอลทั้งหมดสำหรับระบบฉายภาพใน Astro Dome – ท้องฟ้าจำลองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 17 เมตร แห่ง AstroPark โดยใช้หลักการ Projection Mapping ที่กำลังมาแรงเป็นแก่นหลัก เทคโนโลยีฉายภาพดาวด้วยระบบดิจิตอลนั้นได้เข้ามาในวงการพิพิธภัณฑ์และศูนย์การเรียนรู้ซักพักหนึ่งแล้ว แต่ที่ Astro Park นั้นทีมงานได้พัฒาโปรแกรมสำหรับฉายดาวขึ้นมาใช้เองกับเครื่องฉาย ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่าสีหรือควบคุมระบบแสงนั้นก็ผ่านการพัฒนาโดยทีมงานทั้งสิ้น

ตัวโดมด้านหน้าระหว่างทำการนำเสนอในงานเปิดตัวอุทยานดาราศาสตร์สิรินธรรอบสื่อมวลชน

ระบบฉายของที่นี่จึงมีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นสูงมาก สามารถใช้นำเสนองานต่าง ๆ รวมถึงฉายภาพยนตร์ระบบ Full Dome ได้อีกด้วย (เป็นมาตรฐานสากลอย่างหนึ่ง) โดยหนัง Full Dome นั้นมีตั้งแต่แอนิเมชั่นสามมิติไปจนถึงภาพยนตร์สารคดีและสื่อความรู้ต่าง ๆ ที่สร้างไว้สำหรับฉายกับฉากรับภาพประเภทโดมโดยเฉพาะ ซึ่งเอาเข้าจริง สื่อประเภทนี้มีหลากหลายมาก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

นอกจากนั้นระบบฉายภาพยังใช้โปรเจคเตอร์ร่วมกันหลายตัว โดยโปรเจคเตอร์หนึ่งตัวก็จะรับผิดชอบส่วนหนึ่งหรือ Section ของโดมหรือฉากรับภาพไป (เหมือนตัดเค้กแบ่งกัน) ระบบนี้ทำให้ภาพที่ฉายนั้นมีความละเอียดสูงมากถึง 8K (ท้องฟ้าจำลองที่นี่เป็นรองแค่ที่สิงคโปร์เท่านั้น ที่ใช้ระบบเดียวกันแต่มีโดมที่ใหญ่กว่า) และทำให้ไม่ต้องเสียพื้นที่กลางห้องไปสำหรับวางเครื่องฉายขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะบดบังวิวบางส่วนของผู้ชมจากบางมุมมอง แต่ระบบนี้ก็จำเป็นที่จะต้องตั้งค่าเครื่องฉายแต่ละตัวให้ทำงานร่วมกันดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ค่าความสว่างที่ต่ำหรือสูงเกินไปอาจจะทำให้ Section ของโปรเจคเตอร์นั้นดูแปลกไปอย่างชัดเจน ส่งผลให้ระบบภาพนั้นดูไม่น่าชมได้เลยทีเดียว

ภาพของโดมระหว่างแสดงการทดสอบระบบภาพ – จะเห็นเครื่องโปรเจคเตอร์อยู่ทางด้านล่างของภาพ

นอกจากระบบฉายที่ทันสมัยและคลอบคลุมแบบ 360 องศา ไร้ซึ่งสิ่งกีดขวางสายตาแล้ว ตัวโดมยังมีการปรับเอียงลงด้านหน้าเล็กน้อยอีกด้วย ทำให้จุที่นั่งเข้าไปได้ในรูปแบบโรงละคร (หันไปในทิศเดียว) ได้ถึง 160 ที่นั่ง พื้นที่ของท้องฟ้าจำลองแห่งนี้จึงเป็นได้ทั้งห้องประชุมและเวทีนำเสนอไปด้วยในตัว

การจัดเรียงที่นั่งเป็นแบบโรงละคร หันไปในทิศเดียวกันหมด โดยตัวโดมจะลาดเอียงลงมาทางด้านหน้า

เก้าอี้ที่เห็นภายในห้องนั้น นอกจากจะปรับเอนไปมาได้ ยังมีแท่นรองเขียนเก็บอยู่ด้านข้างด้วย เวลาที่ที่ใช้ในการบรรยาย ผู้ชมสามารถที่จะดึงขึ้นมาใช้วางสมุดจดหรือเครื่องมือในการบันทึกได้ในรูปแบบเดียวกับห้องเรียนเลคเชอร์ เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เหมาะมากสำหรับท้องฟ้าจำลองที่เป็นมากกว่าท้องฟ้าจำลองแห่งนี้

สรุป

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ และ AstroPark นั้นเปลี่ยนมาใช้ระบบดิจิตอลแล้วทั้งคู่ในปัจจุบัน (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ผ่านการปรับปรุงสถานที่ใหม่และติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์ Christie Boxer 4K30 ไว้ 2 ตัว) โดยระบบของ AstroPark นั้นมีความใหม่กว่า รวมถึงสร้างมาเฉพาะทางกว่าอีกด้วย ทำให้จำนวนโปรเจคเตอร์นั้นมีมากกว่า (รับชมได้แบบ 360 องศาจริง ๆ) ในส่วนของขนาดโดมนั้น ท้องฟ้ากรุงเทพฯ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ใหญ่กว่า เช่นเดียวกับจำนวนที่นั่ง ซึ่งสาเหตุมาจากการจัดเรียงและรูปแบบของการติดตั้งโดมนั่นเอง และถ้าถามว่าที่ไหนนั่งสบายกว่ากัน อันนี้ก็อาจจะตอบยากหน่อย เพราะแอร์เย็น ชวนหลับเหมือนกันทั้งคู่จริง ๆ (ถ้าปิดไฟแล้วไม่ฉายอะไรเลยนะ)

บริเวณส่วนห้องควบคุมและพื้นที่ในการบรรยาย

ทั้งสองสถานที่นี้จะยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้และแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ต่อไปอีกในอนาคตอย่างแน่นอน ถึงแม้จะก่อสร้างห่างกันกว่าเกือบ 6 ทศวรรษ…

บทส่งท้าย

เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้สถานที่สำหรับเรียนรู้ในด้านดาราศาสตร์ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่ง ในฐานะเด็กเมืองกรุงแล้ว ท้องฟ้าจำลองเป็นเหมือนตัวแทนของฟากฟ้ายามค่ำคืนที่พวกเราแทบไม่เคยมีโอกาสได้มองเห็นท่ามกลางแสงสีและมลภาวะในเมืองใหญ่ หลาย ๆ คน รู้จักการมองท้องฟ้าและกลุ่มดาวใหม่ ๆ ก็จากท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ นี่เอง ในวัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการทัศนศึกษาตอนประถมหรือทริปเรียนรู้ตอนมัธยม สถานที่ที่มีชื่อว่า “ท้องฟ้าจำลอง” นั้นสรรค์สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมาอย่างยาวนานหลายรุ่น ให้พวกเขาได้รู้จักกับความสวยงามของวัตถุที่ห่างออกไปหลายล้านปีแสง ให้รู้จักกับความกว้างใหญ่ของจักรวาลและเอกภพอันดูจะไร้ที่สิ้นสุด

ทั้งหมดทั้งมวลนี้หลอมรวมอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาอย่างยาวนาน และ AstroPark หรืออุทยานดาราศาสตร์กำลังจะสานต่อเป้าหมายและประสบการณ์ทั้งหมดนี้ให้คนรุ่นอนาคตต่อไป

ทีมงานขณะกำลังรับชมภาพดาวความคมชัดระดับ 8K – สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น…

เรียบเรียงโดยทีมงาน Spaceth.co

นานุ | ชายผู้หลอมรวมความชอบในด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน | นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ปัจจุบันเป็นศิลปินอิสระ (ไส้แห้ง) ที่ชื่นชอบในการวาดรูป, แอนิเมชั่น, 3D Modeling และกราฟฟิกดีไซน์ ไปจนถึงการถ่ายทำภาพยนตร์สั้น