SPACE*LAB lunar architecture

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเวิร์คชอปและวิชาการออกแบบบนดวงจันทร์ Lunar Architecture นำเอาความรู้เรื่องการสำรวจอวกาศ การออกแบบ ปรัชญาอวกาศ เข้ามาสอนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นที่แรก ๆ ในไทย

การสอนทำในลักษณะวิชา ใช้เวลา 1 เดือนในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2020 โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 30 คน ได้ร่วมเวิร์คชอป อบรมความรู้เกี่ยวกับการสำรวจดวงจันทร์ ประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ ปรัชญาในการสำรวจอวกาศ และการทำงานอวกาศเชิงวิศวกรรม จากผู้เชี่ยวชาญในการทำงานด้านอวกาศ

Content

Lecture I: Space Exploration Philosophy

17 พฤศจิกายน 2020 – เริ่มต้นการเรียนด้วยการอธิบายปรัชญาการสำรวจอวกาศ เราศึกษาอวกาศไปทำไม ความสำคัญของโครงการสำรวจดวงจันทร์ตั้งแต่ภารกิจ Apollo จนถึงโครงการ Artemis ในปี 2024 เศรษฐกิจภาคดวงจันทร์คืออะไร การศึกษาอวกาศเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมอย่างไร

อธิบายให้นักศึกษาเห็นความสำคัญของการออกแบบบนอวกาศว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยใดบ้าง เพราะอวกาศจะกลายเป็นพรมแดนใหม่ของมนุษย์และจะกลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่อีกแห่งนอกเหนือจากพื้นโลก วิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงระหว่าง วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ความเป็นมนุษย์

Lecturer: ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารสเปซทีเอช

Lecture II: Development Process Thinking

17 พฤศจิกายน 2020 – ในการทำงานอวกาศและการออกแบบทางวิศวกรรม ต่างจาก Design Thinking แบบ Agile อย่างไร สอนการใช้ Development Process แบบ V-Model ซึ่งเป็นการออกแบบกระบวนคิดเดียวกับที่ใช้ในการทำภารกิจอวกาศ และสถาปัตยกรรมการพัฒนาซอฟแวร์แบบป้องกันข้อผิดพลาด

รู้จักการคิดแบบ Waterfall Model และความสำคัญ เพราะการออกแบบภารกิจอวกาศนั้นจะพลาดไม่ได้ จึงไม่สามารถใช้วิธีแบบ Agile ได้ การคิด การทำ Product Design ต้องผ่านการทดสอบในระดับภาพกว้างไปหาภาพแคบ และภาพแคบไปหาภาพกว้าง จนสามารถนำมาใช้จริงได้

Lecturer: ประพันธ์พงศ์ ดำส่งแสง วิศวกรบริษัท Space Zab

Lecture III: Moon and Science

17 พฤศจิกายน 2020 – รื้อความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ ด้วยการเรียนวิทยาศาสตร์แบบใช้เหตุผลและมองภาพ Concept ให้เข้าใจ ดวงจันทร์โคจรรอบตัวเองอย่างไร โคจรรอบโลกอย่างไร อธิบายการเกิดกลางวันและกลางคืนบนดวงจันทร์ ทำไมบนดวงจันทร์ถึงไม่มีอากาศ ความโน้มถ่วงคืออะไร ฟิสิกส์บนดวงจันทร์พื้นฐาน

Lecture นี้จะช่วยให้เข้าใจวิทยาศาสตร์แบบเชิง​ Concept ที่ทำให้งานออกแบบด้านสถาปัตยกรรมตั้งอยู่บนฐานของกระบวนคิดและหลักฐานเชิงประจักษ์ Evidence-based practice รวมถึงการตั้งคำถามและค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

Lecturer: ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารสเปซทีเอช

Workshop: Architecture on Moon

17 พฤศจิกายน 2020 – 8 ธันวาคม 2020 – แจกโจทย์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจบนดวงจันทร์ โดยให้ออกแบบได้ตามจินตนาการแต่ต้องนำเสนอหลักฐานเชิงประจักษ์ แนวคิดในการออกแบบ กระบวนการในการคิด แก้ไขโจทย์ปัญหาที่ตัวเองต้องการ

สำหรับการออกแบบ จะให้นำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม ที่ได้เรียนมานำมาหลอมรวมกับ ปรัชญาในการสำรวจอวกาศ เหตุผลเชิงวัฒนธรรม สังคม การเมือง และนำออกมาเป็นผลงานพร้อมแนวคิดนำเสนอ

Symposium

8 ธันวาคม 2020 – นักศึกษานำเสนองานออกแบบของตัวเอง ซึ่งประกอบไปด้วยตั้งแต่ การออกแบบตัวสถานีและโครงสร้างสำหรับ Hyperloop บนดวงจันทร์ โดยอาศัยหลักสนามไฟฟ้าในการเร่งความเร็ว, การออกแบบโครงสร้างในเชิง Modular สำหรับการประกอบในอวกาศ, แนวคิดในการออกแบบโดมแบบ Spherical Structure โดยใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ ไปจนถึงหลักการการใช้แม่เหล็กในการช่วยจำลองแรงโน้มถ่วงเสมือนสำหรับกิจกรรมความบันเทิงบนดวงจันทร์

จะเห็นว่าแนวคิดต่าง ๆ ครอบคลุมในมิติการใช้ชีวิต สังคม วัฒนธรรม มากไปกว่าการออกแบบจรวดหรือยานอวกาศ เพราะวัตถุประสงค์ของวิชา ต้องการให้ผู้เรียนสามารถมองอวกาศเป็นมากกว่าแค่การสำรวจในแบบเดิม ๆ แต่รองรับการเข้ามาของเศรษฐกิจภาคอวกาศ และการนำเอาความรู้ด้าน Human Interface Design มารวมกับการคิดเชิงวิศวกรรม

วัตถุประสงค์ของวิชานี้ก็เพื่อเป็นการนำเอาความรู้เรื่องสถาปัตยกรรม วิศวกรรมอวกาศ และปรัชญาการสำรวจอวกาศ เข้ามาหลอมรวมกัน มีการชวนคิด การตั้งคำถาม การหลุดจากกรอบคิดเดิม ๆ แนวคิดแบบ Epistemology เพื่อเป็นตัวอย่างการเรียนการสอนในยุคใหม่ เป็นอนาคตของมหาวิทยาลัย เมื่อความรู้ทางวิชาการนั้นผู้เรียนสามารถศึกษาหาได้เอง การนำเอาบุคคล ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ที่หลงใหลในศาสตร์ต่าง ๆ ที่กว้างขวางหลากหลาย มารวมกัน และจัดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันจึงเป็น Trend ที่น่าสนใจและน่าจับตามองโดยเฉพาะในยุคที่การเรียนรู้ไม่ได้แยกเป็นศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งอีกต่อไป