ค้นพบดาวหางใหม่ จากสุริยุปราคาเต็มดวง โดยคนไทย จากข้อมูลยาน SOHO

วันที่ 14 ธันวาคม 2020 ขณะกำลังเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่สามารถมองเห็นได้จากประเทศชิลีและอาร์เจนตินา กล้อง LASCO C2 ของยาน Solar Heliospheric Observatory หรือ SOHO ของ ESA และ NASA ตรวจพบว่าดาวหาง C/2020 X3 ที่ถูกค้นพบโดย Minor Planet Center เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2020 กำลังเคลื่อนที่ผ่านบริเวณใกล้ ๆ กับดวงอาทิตย์ ซึ่งการเกิดสุริยุปราคาทำให้สามารถเห็นดาวหาง C/2020 X3 ได้ง่ายมากขึ้น

ภาพถ่ายของ C/2020 X3 จาก SOHO ขณะกำลังเคลื่อนที่ผ่านระหว่างเกิดสุริยุปราคา (ภาพซ้าย) ภาพถ่ายที่ถูกประมวลผลผ่านรูปถ่ายสุริยุปราคากว่า 65 รูป โดย Andreas Moller – ที่มา ESA/NASA/SOHO/Andreas Möller (Arbeitskreis Meteore e.V.)/processed by Jay Pasachoff and Roman Vanur/Joy Ng.

สิ่งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้นักดาราศาสตร์มีความสนใจทุกครั้งเวลาที่เกิดสุริยุปราคา เพราะปรากฎการณ์ที่หาชมได้ไม่บ่อยครั้งและแต่ละครั้งเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์อาจจะพลาดการสังเกตอะไรใหม่ ๆ ได้ และก็ไม่น่าแปลกใจที่ทุกครั้งที่เกิดสุริยุปราคา จะมีการค้นพบอะไรใหม่ ๆ เหมือนเช่นครั้งนี้

นอกจากนี้ การค้นพบนี้ยังเกิดขึ้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวไทย คืออาจารย์วรเชษฐ์ บุญปลอด หรือในวงการจะรู้จักกันผ่านทวิตเตอร์ @worachate ซึ่งเป็นนักล่าดาวหางที่ใช้ข้อมูลจากยานสำรวจดวงอาทิตย์ของ NASA ในการค้นพบดาวหางใหม่ ๆ ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนโดย NASA ที่ Publish ข้อมูลจากยานอวกาศต่าง ๆ มาให้นักดาราศาสตร์ได้นำไปวิเคราะห์และสร้างการค้นพบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ

ภาพเคลื่อนไหวจาก SOHO ขณะดาวหาง C/2020 X3 กำลังเคลื่อนผ่าน (ลูกศรสีขาว) – ที่มา ESA/NASA/SOHO/Karl Battams

นักดาราศาสตร์คาดคะเนไว้ว่าระหว่างที่มันกำลังเคลื่อนผ่าน C/2020 X3 อาจมีความเร็วกว่า 720,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ห่างจากพื้นผิวดวงอาทิตย์ประมาณ 4,300,000 กิโลเมตร ซึ่งที่มันหายไประหว่างทางเพราะว่ามันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงแค่ 15 เมตร และน่าจะสลายตัวไปเพราะความร้อนที่รุนแรงจากดวงอาทิตย์เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่มันจะถึงจุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของมัน

หมายเหตุ: Cover เป็นภาพที่ถูก Reprocess ใหม่

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Recently Discovered Comet Seen During 2020 Total Solar Eclipse

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.