นักดาราศาสตร์พบว่าดาวหางอาจเป็นต้นกำเนิดของ Carbon บนดาวเคราะห์ชั้นในของระบบสุริยะ

ในปี 2016 ดาวหางน้ำแข็งจากขอบระบบสุริยะเดินทางพาดผ่านระบบสุริยะรวมถึงโลกไปโดยสามารถมองเห็นได้จากโลก เรียกว่าดาวหาง Catalina ก่อนที่มันจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และถูกแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์เหวี่ยงออกจากระบบสุริยะไปตลอดกาลอย่างไม่มีวันกลับมา

หอดูดาวต่าง ๆ บนโลกต่างถ่ายภาพดาวหาง Catalina ขณะที่มันเข้าใกล้โลก รวมถึงกล้อง Stratospheric Observatory for Infrared Astronomy หรือ SOFIA ก็ร่วมกันถ่ายภาพของ Catalina ด้วย แต่อุปกรณ์ถ่ายภาพช่วงคลื่น Infrared ของ SOFIA กลับพบหลักฐานว่าหางของดาวหาง Catalina ที่เป็นฝุ่นเรืองแสงนั้นคือ Carbon – องค์ประกอบของชีวิต

อ่านบทความเกี่ยวกับกล้อง SOFIA – SOFIA หอดูดาวบินได้บนเครื่อง 747 ที่ออกแบบให้ไปอยู่ตรงไหน เมื่อไหร่ ก็ได้บนโลก

อ้างอิงจากงานวิจัย The Coma Dust of Comet C/2013 US10 (Catalina): A Window into Carbon in the Solar System ดาวหางอย่าง Catalina อาจเป็นต้นกำเนิดของสารจำพวก Carbon บนโลกซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการก่อให้เกิดชีวิตบนโลก และเป็นสาเหตุที่ดาวเคราะห์หินอย่างโลกและดาวอังคารมีส่วนประกอบเป็น Carbon

ภาพจำลองของดาวหาง Catalina ขณะกำลังผ่านโลก – ที่มา NASA/SOFIA/Lynette Cook

ดาวหาง Catalina มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณขอบเมฆออร์ตของระบบสุริยะซึ่งใกล้มาก ๆ และมีวงโคจรที่ยาวพอสมควรทำให้เมื่อมันเดินทางเข้ามาภายในระบบสุริยะชั้นในเหนือท้องฟ้าของเรา มันจึงเหมือนเป็น Time Machine ย้อนเวลาไปในอดีต เพราะอนุภาคทุกอย่างที่อยู่บน Catalina นั้นน่าจะมีอายุมากพอสมควร เสมือนเวลาบนดาวหางถูกแช่แข็ง มันจึงอาจจะเก็บประวัติศาสตร์ของระบบสุริยะในอดีตไว้ และนี่ยังไม่รวมถึงดาวหางอื่น ๆ ที่คล้าย Catalina อีกด้วย

จากการสำรวจของ SOFIA ซึ่งพบว่า Catalina มี Carbon สูง มันจึงเป็นหลักฐานว่า Catalina น่าจะมาไกลมาก ๆ มีต้นกำเนิดมาจากภายนอกระบบสุริยะซึ่งเป็นบริเวณที่มี Carbon สูง ที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต

แต่ถึง Carbon จะเป็นองค์ประกอบของชีวิตที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่โลกรวมถึงดาวเคราะห์หินในระบบสุริยะอื่น ๆ ตอนมันก่อตัวขึ้นนั้น พวกมันมีอุณหภูมิสูงมาก ๆ จนอนุภาคของคาร์บอนพวกนี้สลายและถูกทำลายไป ในขณะที่ดาวเคราะห์แก๊สอย่างดาวพฤหัสและดาวเนปจูนนั้นมีคุณสมบัติที่จะดึงอนุภาค Carbon ไว้กับตัวได้ ถึงขั้นที่ว่าแรงโน้มถ่วงของพวกมันอาจจะเป็นตัวการที่คอยดึง Carbon ไม่ให้เข้าไปในระบบสุริยะชั้นในได้

แล้ว Carbon บนโลกเรามาจากไหน?

ภาพจำลองการก่อตัวของระบบสุริยะ – ที่มา NASA

นักวิจัยพบหลักฐานว่าวงโคจรของดาวพฤหัสนั้นมีจุดที่เป็นเหมือน หน้าต่าง ที่ทำให้ดาวหางจากนอกระบบสุริยะที่มาพร้อมกับ Carbon เป็นจำนวนมาก ทะลุเข้ามาภายในระบบสุริยะชั้นในได้ และอาจเป็นที่มาของ Carbon บนโลกและดาวอังคารนั้นเอง สนับสนุนทฤษฎีชีวิตที่เกิดจากดาวหาง อย่างไรก็ตาม ดาวหางจากนอกระบบสุริยะก็คงจะต้องถูกสำรวจกันต่อไปเพื่อยืนยันทฤษฎีชิ้นนี้

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Comet Catalina Suggests Comets Delivered Carbon to Rocky Planets

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.