ในเดือน พฤศจิกายน 2019 Wang Li (หวังลี่) นักวิจัยประจำสถาบันเทคโนโลยีอวกาศแห่งชาติจีน (China Academy of Space Technology) หรือ CAST ได้กล่าวในงานประชุมด้านวิศวกรรมระหว่างรัสเซียและจีนครั้งที่ 6 (6th China-Russia Engineering Forum) ที่จัดขึ้นในเมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ว่าสถานีพลังงานในอวกาศจะสามารถรับแสงจากดวงอาทิตย์ที่มาไม่ถึงพื้นผิวโลกได้
Wang Li ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าพลังงานจากสถานีในอวกาศจะถูกแปลงเป็นคลื่นไมโครเวฟหรือเลเซอร์ ก่อนที่จะยิงลงมายังผิวโลกเพื่อนำพลังงานไปใช้ โดยทางจีนวางแผนไว้ว่าจะสร้างสถานีพลังงานแสงอาทิตย์ระดับ Megawatt ในอวกาศหนักกว่า 200 ตันให้ได้ก่อนปี 2035
“เราหวังที่จะกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ให้กับมนุษยชาติ เพื่อให้มนุษยชาติบรรลุหนึ่งในความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ที่จะได้ใช้พลังงานสะอาดอย่างไม่มีขีดจำกัดในอีกไม่นาน”
กล่าวโดย Wang Li – CAST Research Fellow
Wang Li ยังกล่าวอีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานส่วนใหญ่ที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิมยังก่อให้เกิดมลภาวะอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลต่อปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ พลังงานแสงอาทิตย์จากสถานีพลังงานบนอวกาศถือว่ามีประสิทธิภาพและยั่งยืนกว่าในการทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตพลังงานให้แก่ดาวเทียมต่าง ๆ รวมถึงพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งและพื้นที่ทุรกันดารอีกด้วย
คอนเซปของการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศเริ่มเป็นที่นิยมจากนวนิยายวิทยาศาสตร์ของ Isaac Asimov เมื่อปี 1941 และต่อมาในปี 1968 Peter Glacer วิศวกรอวกาศชาวสหรัฐอเมริกาก็ได้เขียนข้อเสนอโครงการวิจัยด้านสถานีพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศขึ้นมาเป็นคนแรก นับตั้งแต่จีนบรรจุประเด็นด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากอวกาศให้เป็นโครงการวิจัยที่สำคัญของประเทศเมื่อปี 2008 จีนได้เสนอแนวทางการเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และสร้างคว้ามก้าวหน้าในด้านการส่งพลังงานแบบไร้สายหลายประการ
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับมนุษยชาติในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดทั้งเรื่องของการปล่อยแผงพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่วงโคจรของโลก รวมถึงการติดตั้งจำนวนมากที่ต้องใช้เวลาในการทำเพื่อสร้างระบบส่งพลังงานไร้สายที่สามารถส่งพลังงานจำนวนมหาศาลได้ และยังไม่รวมการออกแบบวงโคจรเพื่อให้สถานีมีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานมากที่สุดอีกด้วย
จีนจึงได้ทุ่มเงินลงทุนราว 200 ล้านหยวน หรือประมาณ 860 ล้านบาท ในการดำเนินการก่อสร้างฐานทดสอบในเขตปี้ซาน เทศบาลนครฉิ่ง เพื่อศึกษาและวิจัยการส่งพลังงานแบบไร้สาย ตลอดจนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากระบบนี้
ความพยายามในการวิจัยเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของมนุษยชาติยังคงดำเนินต่อไปและเราไม่ได้ทำเพราะมันง่ายแต่เราทำเพราะมันยาก ไม่เคยมีเส้นทางไหนที่ง่ายสู่ดวงดาว “Ad astra per aspera” ที่ Wang Li ไม่ได้กล่าว (ฮา)
เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
China to Build a Solar Power Station In Space by 2035
China to build space-based solar power station by 2035
จีนเล็งสานฝัน ‘ฟาร์มโซลาร์เซลล์กลางอวกาศ’ ส่งไฟฟ้าสู่พื้นโลกแบบไร้สาย ภายในปี 2035