Curiosity พบเมฆเรืองแสงในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร

กว่า 3,000 SOL (3,000 วันบนดาวอังคาร) หรือ 8 ปีมาแล้วที่โรเวอร์ Curiosity ศึกษาดาวอังคารเคียงค้างมนุษยชาติมา Curiosity ได้ไขความลับของดาวอังคารต่าง ๆ ให้กับเรามากมายเท่าที่โรเวอร์คันหนึ่งจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาสารอินทรีย์บนดาวอังคาร การตรวจสอบลักษณะทางธรณีวิทยาของดาวอังคาร หรือแม้แต่การสำรวจชั้นบรรยากาศของดาวอังคารก็ตาม เมื่อเดือน มีนาคม 2021 Curiosity สามารถถ่ายรูปเมฆบนดาวอังคารที่มาเร็วกว่าฤดูกาลได้

ทำไมถ่ายเมฆเรืองแสงได้จึงสำคัญ

ปกติแล้ว เราจะไม่ค่อยเห็นเมฆบนดาวอังคารบ่อยสักเท่าไหร่เนื่องจากดาวอังคารเป็นดาวทะเลทราย ทำให้ชั้นบรรยากาศมีความชื้นน้อย นอกจากนี้ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารยังเบาบางกว่าโลกถึง 100 เท่า ทำให้ไอน้ำในชั้นบรรยากาศยากที่จะควบแน่นแล้วก่อตัวเป็นเมฆได้นั่นเอง

แต่ก็ใช่ว่าบนดาวอังคารไม่มีเมฆ เนื่องจากดาวอังคารมีวงโคจรเป็นรูปไข่ ทำให้มันมีทั้งช่วงที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และอยู่ไกลดวงอาทิตย์ ในช่วงที่มันอยู่ไกลดวงอาทิตย์ซึ่งก็คือฤดูหนาวนี่เองที่ทำให้อุณหภูมิชั้นบรรยากาศของดาวอังคารเย็นพอที่จะทำให้ไอน้ำควบแน่นเป็นเมฆได้ โดยเกิดมากที่สุดบริเวณเส้นศูนย์สูตร ซึ่งตำแหน่งของ Curiosity นั้นอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรพอดีทำให้มันสามารถสำรวจเมฆเหล่านี้ไปด้วยได้

ในช่วงปี 2019 และ 2020 (1 ปีของดาวอังคาร) นักวิทยาศาสตร์พบว่าเมฆที่ส่วนใหญ่จะเกิดในฤดูหนาวนั้น เกิดเร็วกว่าฤดูกาลผิดปกติ (เมฆผู้มาก่อนกาล) เหนือ Curiosity แต่เนื่องจากว่านักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบว่ามันจะเกิดล่วงหน้าจึงไม่ได้เตรียมการสำรวจไว้ก่อนเลยต้องรอเป็นฤดูหนาวปีต่อไปของดาวอังคารซึ่งก็คือ 2 ปีของโลก หรือก็คือปี 2021 นั่นเอง

ภาพจาก Curiosity เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2021 (SOL 3,063) หลังดวงอาทิตย์ตกดินซึ่งประกอบมาจากภาพขนาดเล็กกว่า 21 ภาพแสดงให้เห็นถึงเมฆที่มีลักษณะสว่างกว่าปกติ – ที่มา NASA/JPL-Caltech/MSSS

ในรอบนี้นั้น Curiosity เตรียมการสำรวจไว้ตั้งแต่ต้น ๆ และพบว่าเมฆผู้มาก่อนกาลเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน มกราคม มีลักษณะเป็นเหมือนขนปุย ๆ ที่เต็มไปด้วยเกล็ดน้ำแข็งซึ่งทำให้แสงที่มาจากดวงอาทิตย์แล้วผ่านเมฆอันนี้เข้ามากระเจิงออกไป หรือบางส่วนก็หักเหกลายเป็นสีอื่นไปซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เองที่สำคัญซึ่งจะทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ได้ว่าเมฆอันนี้มันเป็นเมฆอะไรกันแน่

GIF แสดงการเคลื่อนที่ของเมฆเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2021 – ที่มา NASA/JPL-Caltech/MSSS

นอกจากนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของ Curiosity ยังพบว่าเมฆผู้มาก่อนกาลจะเกิดสูงกว่าเมฆตามปกติ โดยเมฆทั่ว ๆ ไปจะอยู่สูงไม่เกิน 60 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยไอน้ำและน้ำแข็ง แต่เมฆผู้มาก่อนกาลนั้นอยู่สูงกว่านั้นซึ่งแน่นอนว่ายิ่งสูงอุณหภูมิยิ่งต่ำ (ในกรณีของดาวอังคารเท่านั้น ยิ่งสูงยิ่งหนาวใช้กับโลกไม่ได้จ้า) อาจประกอบไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปของของแข็ง (Solid Carbon Dioxide) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อน้ำแข็งแห็ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังหาวิธีเพิ่มเติมที่จะทำให้เราสามารถแยกได้ว่าอันไหนคือเมฆไอน้ำ อันไหนคือเมฆน้ำแข็งแห็ง

GIF ภาพถ่ายเมฆจากกล้องขาวดำจาก Curiosity เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2021 (SOL 3,075) – ที่มา NASA/JPL-Caltech

เมื่อใช้กล้องขาวดำซึ่งเป็นกล้องนำทางของ Curiosity ซึ่งสามารถถ่ายลายละเอียดได้ชัดพอสมควรมาถ่ายรูปเมฆผู้มาก่อนกาล จึงพบว่าเมฆพวกนี้สว่างมากโดยเฉพาะตอนที่พระอาทิตย์ตกดิน นอกจากนี้มันยังเรืองแสงตอนฟ้ามืดซึ่งทำให้เกิดแสง Twilight และปรากฏการณ์ Noctilucent ซึ่งการที่จะเกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ เมฆจะต้องอยู่สูงมาก ๆ บริเวณชั้นบรรยากาศชั้นบนที่แสงดวงอาทิตย์ยังส่องถึงอยู่ แม้บนพื้นดินจะมืดไปแล้ว

ภาพถ่ายเมฆจากกล้องขาวดำจาก Curiosity เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2021 (SOL 3,072) – ที่มา NASA/JPL-Caltech

Curiosity ยังสามารถถ่ายรูปเมฆที่เรียกว่า “Iridescent Cloud” หรือที่รู้จักกันในชื่อเมฆสีรุ้ง ซึ่งเมื่อมองไปแล้วเมฆจะมีลักษณะเป็นสีต่าง ๆ นานาเป็นจำนวนมาก เช่น สีเขียว สีฟ้า สีแดง สีเหลือง และอื่น ๆ ซึ่งสามารถเห็นได้บ่อยครั้งบนโลก และการที่จะเกิดเมฆแบบนี้ได้นั้น โมเลกุลข้างในเมฆจะต้องมีขนาดใกล้เคียงกันเพื่อที่จะทำให้มันมีคุณสมบัติแบบนี้นั่นเอง

ภาพถ่าย Iridescent Cloud เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2021 (SOL 3,048) – ที่มา NASA/JPL-Caltech/MSSS

ทั้งหมดนี้เหมือนเป็นจิ๊กซอว์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องประติดประต่อกันจนกว่าจะเริ่มเห็นจิ๊กซอว์ที่ต่อเป็นรูปเป็นร่างและในที่สุดก็จะรู้ว่ามันคืออะไร เช่นเดียวกับตอนนี้ที่เราไม่รู้ว่าเมฆผุ้มาก่อนกาลเกิดขึ้นได้อย่างไรและเหตุใดมันจึงมีคุณสมบัติเช่นนั้นนั่นเอง

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA’s Curiosity Rover Captures Shining Clouds on Mars

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.