หลังจากที่มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น ยูซากุ มาเอซาวา (Yuzaku Maezawa) ได้ออกมาเปิดเผยว่าตนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเงินทุนสนับสนุนการพัฒนายานอวกาศ Starship ของบริษัท SpaceX เป็นจำนวนราว 500 ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อ 2018 เขาก็ได้ประกาศริเริ่มโครงการ DearMoon ขึ้นมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งโครงการ Dearmoon นี้เป็นโครงการที่คุณ มาเอซาวา จะเช่าเหมาลำยานอวกาศ Starship เพื่อที่จะนำพาตัวเขาและศิลปินในสาขาต่าง ๆ อีก 8 คนเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ ก่อนที่จะกลับมายังโลกอย่างปลอดภัยภายในช่วงปี 2023 ตามกำหนดการณ์ดั้งเดิม
จนกระทั่งเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงเช้าวันที่ 9 ธันวาคม 2022 ที่ผ่านนี้ คุณมาเอซาวา ก็ได้ออกมาประกาศรายชื่อผลการคัดเลือกศิลปินที่จะได้เข้าร่วมไปเป็นลูกเรือของโครงการ Dearmoon เป็นครั้งแรก ซึ่งลูกเรือแต่ละคนนั้นก็ได้รับการคัดเลือกมาอย่างพิถีพิถันจากผู้สมัครออนไลน์ทั่วโลกกว่า 1 ล้านคนด้วยกัน
อ่าน – SpaceX ประกาศชื่อของนักท่องเที่ยวดวงจันทร์คนแรก ที่จะเดินทางไปพร้อมกับศิลปินจากทั่วโลก
โดยรายชื่อของผู้ที่ได้รับเลือกไล่จากซ้ายไปขวาตามรูปด้านบน ได้แก่
- Kaitlyn Farrington (ลูกเรือสำรอง) นักกีฬาสโนว์บอร์ด จาก สหรัฐอเมริกา
- Brendan Hall ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี จาก สหรัฐอเมริกา
- Tim Dodd ยูทูปเปอร์สายอวกาศและวิศวกรรมจรวด จากช่อง “Everyday Astronaut” สหรัฐอเมริกา
- Yemi A.D. นักออกแบบท่าเต้น (Choreographer) จาก สาธารณรัฐเช็ก
- TOP (Choi Seung Hyun) แรปเปอร์สมาชิกวง BigBang จาก เกาหลีใต้
- Yuzaku Maezawa มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น เจ้าของโครงการ
- Steve Aoki ดีเจและโปรดิวซ์เซอร์ จาก สหรัฐอเมริกา
- Rhiannon Adam ช่างภาพ จาก ไอร์แลนด์
- Karim Iliya ช่างภาพ จาก สหราชอาณาจักร
- Dev D. Joshi นักแสดง จาก อินเดีย
- Miyu (ลูกเรือสำรอง) นักเต้น จาก ญี่ปุ่น
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น
ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราอาจเห็นว่าการเดินทางไปยังดวงจันทร์นั้นเป็นเรื่องของภาครัฐและการแข่งขันทางด้านการแสดงแสนยานุภาพทางเทคโนยีของชาติมหาอำนาจอยู่เสมอ โดยเฉพาะโครงการอะพอลโลของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960 ถึง 1970 ที่ได้ส่งมนุษย์ออกไปยังดวงจันทร์ทั้งบนวงโคจรและพื้นผิวรวมกันทั้งสิ้น 24 คน
แต่ถึงกระนั้นเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโครงการอะพอลโลก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนจำนวนมากเช่นกัน ถึงขนาดที่ว่าในช่วงนั้นมีวลีที่คนอเมริกันพูดกันอย่างติดปากว่า “ถ้าเราไปดวงจันทร์ได้ เราก็สามารถทำ…ได้” ตามแต่สิ่งที่ผู้พูต้องการจะสื่อ ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงทัศนวิสัยที่ทุกคนต่างตื่นเต้นต่อวันข้างหน้า ว่ามนุษย์ชาติกำลังจะมีอนาคตที่สดใสและรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งคุณ ยูซากุ มาเอซาวา ก็อยากให้แรงบันดาลใจนี้กลับมาในปัจจุบันอีกครั้ง ผ่านโครงการ DearMoon นั่นเอง
โดยส่วนตัวคุณ มาเอซาวา เชื่อว่าการส่งศิลปินเดินทางไปโคจรรอบดวงจันทร์ที่ห่างไกลจากโลกกว่า 400,000 กิโลเมตร เป็นเวลาราว 1 สัปดาห์ จะช่วยให้ศิลปินสามารถรังสรรค์ผลงานอันล้ำค่าที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนรุ่นใหม่ต่อการสำรวจอวกาศขึ้นมาได้ ซึ่งเที่ยวบิน DearMoon จะมอบประสบการณ์อันล้ำค่าที่มนุษย์ทั่วไปอย่างเราได้แต่ฝันถึง ไม่ว่าจะเป็นเดินทางบนยานอวกาศ Starship สุดล้ำยุค หรือไม่ก็การที่ได้เห็นโลกทั้งใบลอยขึ้นมาจากขอบฟ้าของดวงจันทร์ก็ตามที
อนาคตที่ไม่แน่นอนของ Starship
อย่างไรก็ดีแม้จะมีการประกาศรายชื่อลูกเรือในโครงการ DearMoon และกำหนดการณ์การฝึกฝนก่อนขึ้นสู่อวกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยานอวกาศ Starship รุ่นทดสอบลำล่าสุดของ SpaceX ของยังไม่ได้ผ่านการทดสอบเที่ยวบินในระดับวงโจรแต่อย่างใด เนื่องจากติดปัญหาการขอใบขออนุญาตขึ้นบินทดสอบจาก องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FAA มาเป็นเวลายาวนานกว่า 14 เดือนแล้ว จึงอาจมีความเป็นไปได้ว่าโครงการ Dearmoon จะต้องถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดการณ์เดิมภายในปี 2018
แต่ถ้าหากโครงการ DearMoon สามารถดำเนินไปด้วยดี ก็มีโอกาสสูงเช่นกันที่โครงการนี้จะทำให้บริษัท SpaceX เป็นบริษัทอวกาศเอกชนแรกที่ได้นำพามนุษย์ไปเที่ยวรอบดวงจันทร์
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
ที่มา