10 เรื่องเศร้าที่บอกว่าอวกาศบางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยชีวิต

อวกาศอาจจะเป็นความฝันของใครหลาย ๆ คน การได้เดินทางท่ามกลางดวงดาว อยู่เหนือคนนับพันล้านที่กำลังทำหน้าที่ของตนบนดาวดวงใหญ่ที่ชื่อว่าโลก ที่เดียวในจักรวาล ณ​ ตอนนี้ที่เรารู้ว่าเอื้ออำนวยต่อชีวิต ความฝันในการเดินทางสู่ดวงดาวนั้นแน่นอนว่าแลกมาด้วยความทุ่มเท หยาดเหงื่อ ความรู้ และบุคลากรเบื้องหน้าเบื้องหลังนับพันนับหมื่นชีวิตที่คอยผลักดันให้เกิดโครงการอวกาศต่าง ๆ ตั้งแต่ Vostok , Apollo จนถึงโครงการสถานีอวกาศนานาชาติปัจจุบัน

แต่เส้นทางสู่ดวงดาวก็ไม่ได้ง่ายเสมอไป บางครั้งพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นนักบินอวกาศหรือทีมวิศวกรก็ต้องแลกมาด้วยชีวิต ทีมงาน SPACETH.CO ได้รวบรวม 10 เรื่องราวความสูญเสีย จากการสำรวจอวกาศ มาให้ผู้อ่านทุกคนได้รู้จักกับพวกเขาเหล่านี้ และรู้ว่ากว่าจะเป็นเทคโนโลยีอวกาศทุกวันนี้ต้องแลกมาด้วยชีวิตคนมากแค่ไหน

Nedelin disaster (1960)

ตุลาคม ปี 1960 สหภาพโซเวียต เพียง 3 ปีหลังจากที่มนุษย์เริ่มต้นที่จะนำจรวดมาใช้งานในการส่งดาวเทียมดวงแรก Sputnik 1 ขึ้นสู่อวกาศ สหภาพโซเวียตก็ทำการทดสอบ R-16 จรวดรุ่นใหม่ที่สหภาพโซเวียตพัฒนาขึ้น

การทดสอบครั้งนั้นมีขึ้นที่ Baikonur ฐานปล่อยจรวดหลักของสหภาพโซเวียตในตอนนั้น ระหว่างที่จรวด R-16 ถูกติดตั้งอยู่บนฐานปล่อยในค่ำคืนที่มืดมิดก่อนถึงฤดูหนาว ไม่มีใครรู้ว่าในอีกไม่กี่นาทีจะเกิดความผิดพลาดที่จะกลายเป็นอุบัติเหตุจากการสำรวจอวกาศครั้งแรก

เจ้าหน้าที่ภาคพื้นวิ่งหนีเอาชีวิตรอดจากกองเพลิง ที่มา – Roskosmos

ไฟฟ้าลัดวงจรในจรวดท่อนบน (second stage) ส่งผลให้เครื่องยนต์จรวดถูกจุดขึ้นโดยที่จรวดท่อนล่าง (first stage) เต็มไปด้วยเชื้อเพลิงแบบไฮเปอร์กอลิกที่มีความเป็นพิษสูง จรวดสูงกว่า 30 เมตร ระเบิดออกอย่างรุนแรง เกิดเป็นลูกเพลิงขนาดใหญ่ทำลายฐานจนไม่เหลือ

บรรดาเหล่าวิศวกรและทีมภาคพื้นดินที่กำลังทำการเติมเชื้อเพลิงจรวดอยู่ ถูกไฟครอก บางส่วนวิ่งหนีออกมาจากฐานปล่อยในขณะที่ตัวของพวกเขายังลุกเป็นเปลวเพลิง เหตุการณ์ในครั้งนี้คร่าชีวิตของเจ้าหน้าที่ฐานปล่อยไปกว่า 78 คน ซึ่งเป็นเลขที่รายงานโดยสหภาพโซเวียต แหล่งข่าวบางแห่งรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 92-126 คนเลยทีเดียว

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังคร่าชีวิตของ มิโตรฟาน เนเดลิน หัวหน้าทีมวิศวกรโครงการ R-16 หนึ่งในวิศวกรจรวดคนสำคัญของสหภาพโซเวียต ซึ่งชื่อเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ตั้งชื่อตามเขานั่นเอง

แน่นอนว่าตามสไตล์สหภาพโซเวียต เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกปิดเงียบเป็นเวลาเกือบ 30 ปี และถูกเปิดเผยในช่วงการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

Valentin Bondarenko (1961)

ในปี 1960 วาเลนติน บอนดาเรนโก วัย 24 ปี นักบินรบสหภาพโซเวียตได้ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศ เขาได้ผ่านการทดสอบมากมายและในที่สุด ก็ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในนักบินที่จะบินในโครงการ Vostok

เขาคือนักบินอวกาศรุ่นเดียวกับ ยูริ กาการิน, อเล็กซี ลีโอนอฟ, ปาเวล เบลยาเยฟ, วลาดิเมีย คามารอฟ ซึ่งล้วนแต่เป็นนักบินอวกาศรุ่นแรกของสหภาพโซเวียต

ภาพถ่ายของ เซอร์เกย์ คาราลอฟ กับกลุ่มนักบินอวกาศรุ่นแรก ที่มา – I. Snegirev

สุดท้ายแล้ววาเลนตินก็ไม่ได้ขึ้นสู่อวกาศตลอดกาล ในปี 1961 ในระหว่างการทดสอบ Hypobaric Altitude Chamber ซึ่งเป็นห้องจำลองสภาพความดันบรรยากาศต่ำ วาเลนตินได้ทำผ้าเปียกแอลกอฮอล ตกใส่อุปกรณ์สร้างความร้อน ทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตและลุกลามอย่างรวดเร็วด้วยแอลกอฮอล

วาเลนตินถูกไฟครอกอย่างรุนแรง ในห้องที่เต็มไปด้วยออกซิเจน 50% ไฟทำลายร่างของเขา ผิวและใบหน้าของเขาถูกไฟเผาอย่างไม่เหลือสภาพ

วาเลนติน และสุสานของเขา ที่มา – Roskosmos ผ่าน Opinions

สุดท้ายเขาเสียชีวิตในโรงพยาบาลเพียงแค่ 16 ชั่วโมงหลังจากอุบัติเหตุในครั้งนั้น สร้างความเสียขวัญให้แก่เพื่อน ๆ นักบินอวกาศที่จะทำการขึ้นบินสู่อวกาศในไม่กี่เดือนหลังจากนั้นอย่างมาก

ปัจจุบันชื่อของเขาได้ถูกนำไปตั้งเป็นหลุมอุกกาบาตหลุมหนึ่งในด้านมืดของดวงจันทร์ เขาคือนักบินอวกาศคนแรกที่เสียชีวิต

Soyuz 1 (1967)

วลาดิเมีย คามารอฟ หนึ่งในนักบินอวกาศที่เก่งที่สุด หลังจากที่ผ่านการคัดเลือกในปี 1960 ในที่สุด เวลากว่า 7 ปีก็ทำให้เขาได้ขึ้นสู่อวกาศครั้ง่แรก แต่นั่นก็เป็นการขึ้นสู่อวกาศครั้งสุดท้ายของเขาเช่นกัน

เมษายน 1967 ในภารกิจ Soyuz 1 ยานอวกาศรุ่นใหม่ของสหภาพโซเวียต ภารกิจนี้กลายเป็นตราบาปที่สำคัญของโครงการอวกาศโซเวียต หลังจากที่ เซอร์เกย์ คาราลอฟ เสียชีวิตโครงการอวกาศโซเวียตก็ถูกทำอย่างไม่รอบคอบ มีการปรับเปลี่ยนต่าง ๆ และกลายเป็นการแสดงอำนาจทางการเมืองซะส่วนมาก

สภาพยานโซยุสหลังตกกระแทกพื้น ที่มา – Roskosmos

Soyuz 1 ถูกบังคับให้บินขึ้นเพื่อฉลองวันเกิดของวลาดิเมียร์ เลนิน ทีมวิศวกรไม่มีเวลาตรวจสอบยานให้พร้อมก่อน ทำให้ระหว่างบินเกิดปัญหาขึ้นมากมาย มาคารอฟรู้ชะตากรรมของตัวเองว่า เขานั้นมีโอกาสที่จะไม่ได้กลับบ้านอีกแล้ว

ภาพที่เศร้าโศกและตราตรึงในประว้ติศาสตร์การสำรวจอวกาศโซเวียตคือตอนที่ภรรยาของคามารอฟถูกเรียกมาที่ห้องควบคุมภารกิจ เพื่อให้พูดคุยและบอกลากับสามีของเธอเป็นครั้งสุดท้าย

ร่างที่เหลืออยู่ของคามารอฟ ที่มา – Roskosmos ผ่าน Pravda

ยาน Soyuz 1 กลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกได้สำเร็จ แต่จนวินาทีสุดท้าย ร่มชูชีพของยานไม่ยอมกาง คามารอฟตกลงกระแทกพื้นในม่านเหล็กสีแดงที่ห่อหุ้มเขาเอาไว้จากอิสระ จากร่างกายนักบินอวกาศชายชาติทหารที่แข็งแรงกำยำ ร่างของเขากลายเป็นเพียงแค่ก้อนเนื้อเล็ก ๆ ที่ถูกเผาไหม้จนดำ วางอยู่บนผ้าห่อศพสีขาวที่ทีมกู้ภัยห่อหุ้มร่างของเขาเมื่อเดินทางไปถึงจุดตกของยาน

วาเลนตินา คามารอฟ ร้องไห้กับรูปของสามีของเธอในงานศพที่กรุงมอสโคว ที่มา – Pravda

งานศพของเขาถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ และร่างของเขาถูกฝังไว้ในกำแพงของพระราชวังเครมลิน เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้กับโครงการอวกาศโซเวียตและเตือนใจพวกเขาอยู่เสมอว่า ความยิ่งใหญ่ของชาติในยามที่มนุษย์อวกาศถูกส่งขึ้นไปจะไม่มีความหมายเลยถ้าหากพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้กลับลงมา

Apollo 1 (1967)

ในปี 1962 ประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าของการสำรวจอวกาศ นั่นคือการตัดสินใจเริ่มโครงการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์

หลังจากนั้นโครงการ Apollo ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเริ่มต้นการเดินทางสู่ดวงจันทร์และหวังเป็นผู้ชนะสหภาพโซเวียตในสงครามอวกาศ หรือ Space Race

นักบินทั้ง 3 คนกำลังไว้ยานอะพอลโล่ ที่มา – NASA

27 มกราคม 1967 การทดสอบครั้งแรกของยาน Apollo ได้มีขึ้น ณ แหลมเคอเนอเวอรัล นักบินอวกาศ Virgil Grissom, Ed White และ Roger Chaffee เข้าไปนั่งในยาน Apollo ท่ามกลางยานที่ถูกเติมด้วยออกซิเจน 100% แผงวงจรเล็ก ๆ ในยานก็ได้เกิดลัดวงจร ก่อเกิดเป็นประกายไฟขึ้น

ไฟลามไปทั่วในยานอย่างรวดเร็ว พวกเขาเรียกร้องขอความช่วยเหลือ และพยายามเปิดประตูยานออก แต่ประตูยานนั้นถูกออกแบบมาให้เปิดได้จากด้านนอกเท่านั้น กว่าทีมกู้ภัยจะเปิดประตูยานได้พวกเขาทั้ง 3 คนก็อยู่ในสภาพที่ไม่มีชีวิตแล้ว

สภาพในห้องนักบินที่พวกเขาเสียชีวิต ที่มา – NASA

อุบัติเหตุในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการเริ่มต้นโครงการ Apollo อย่างน่าเศร้า ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการออกแบบสภาพแวดล้อมภายในยานอวกาศของ NASA ที่เลิกใช้ออกซิเจน 100% ในยาน และออกแบบประตูให้เปิดได้จากด้านใน ซึ่งเหตุการณ์นี้ยังหลอกหลอน NASA มาจนถึงปัจจุบัน

Soyuz 11 (1971)

มิถุนายน 1971 นักบินอวกาศทั้ง 3 คนได้แก่ กีโอร์กี โดโบรโวลสกี วิกเตอร์ ปาทซาเยฟ และ วลาดิสเลฟ วาลคอฟ เดินทางกลับจากสถานีอวกาศซัลลูท หลังจากภารกิจยาน 3 อาทิตย์บนสถานี

ระหว่างที่ยานกำลังเดินทางกลับสู่ชั้นบรรยากาศของโลก วาล์วของตัวปรับความดันในยานกลับถูกเปิดออก นักบินอวกาศทั้ง 3 คนไม่รู้ตัวว่าความดันในยานกำลังลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่พวกเขาเดินทางเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ

เสียงเรียกจากวิทยุภาคพื้นดิน ไม่ถูกขานรับโดยนักบินทั้ง 3 คนในยานสร้างความประหลาดใจให้กับภาคพื้นดินมาก หลังจากที่ยานโซยุสลงจอดบนพื้นดินสำเร็จ ทีมเก็บกู้เดินทางไปยังจุดลงจอด พวกเขาเปิดฝายานออกก็พบกับนักบินอวกาศ 3 คนในสภาพร่างกายบวมเขียว และหมดสติ

นักบินอวกาศทั้ง 3 ถูกพาออกมาจากยานในสภาพที่ไร้สติ ทีมพยาบาลพยายามทำ CPR ให้กับพวกเขาทั้ง 3 คน แต่ก็สายเกินไป พวกเขาเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ

งานศพของนักบินอวกาศทั้ง 3 คน ที่มา – ไม่ปรากฏที่มา แต่ License เป็น Public ผ่าน Pravda

เหตุการณ์นี้ทำให้มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานในการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยนักบินอวกาศจะะต้องใส่ชุดอวกาศพร้อมหมวกนักบินทุกครั้งระหว่างเดินทางกลับโลกเพื่อป้องกันเหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

Vostok-2M (1980)

มีนาคม 1980 ในฐานปล่อยเพลเซ็ตสก์ ของสหภาพโซเวียต จรวด Vostok-2M ได้ถูกตั้งขึ้นที่ฐานปล่อยเพื่อรอการปล่อยดาวเทียม Tselina-D ดาวเทียมทางการทหารของสหภาพโซเวียต

สถานที่ปล่อยจรวดในเหตุการณ์นั้น ที่มา – ХВИЛЯ

ในระหว่างที่ทีมภาคพื้นดินกำลังทำการเติมเชื้อเพลิงให้กับตัวจรวด ได้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นในถังเชื้อเพลิง และเกิดปฏิกริยาเคมีขึ้นในถังไฮรโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ถังเชื้อเพลิงระเบิดออกพร้อมกับเปลวไฟขนาดใหญ่ลุกไหม้ไปทั่วฐานปล่อย

ทีมภาคพื้นดินกว่า 48 เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนั้น นับเป็นอุบัติเหตุจรวดระเบิดครั้งใหญ่และครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 1960

STS-51 “Challenger“ (1986)

หนึ่งในอุบัติเหตุด้านอวกาศที่โด่งดังและเป็นที่จดจำมากที่สุด 28 มกราคม 1986 กระสวยอวกาศชาแลนเจอร์ได้ถูกปล่อยขึ้นจากฐานปล่อยที่แหลมเคอเนเวอรัล พร้อมกับนักบินอวกาศ 7 ชีวิตได้แก่  Gregory Jarvis, Christa McAuliffe,  Ronald McNair, Ellison Onizuka, Judith Resnik, Michael J. Smith และ Dick Scobee

กระสวยอวกาศระเบิดกลางอากาศ 73 วินาทีหลังการปล่อย นักบินทั้ง 7 คนนั้นเสียชีวิตทั้งหมด เหตุการณ์นี้ถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วสหรัฐอเมริกา สร้างเป็นภาพที่ไม่น่าจดจำให้กับคนทั้งประเทศ

ยานชาแลนเจอร์ระเบิด ที่มา – NASA

หนึ่งในนักบินอวกาศที่เสียชีวิตคือคุณครู Christa ที่ผ่านการคัดเลือกให้มาเป็นนักบินอวกาศในโครงการ Teacher in Space ที่หวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ หลังจากที่ได้เห็นคุณครูของเขาเดินทางขึ้นสู่อวกาศจริง ๆ

ภายหลังการสอบสวนพบว่าอุบัติเหตุในครั้งนี้เกิดจาก O-Ring วัสดุที่เชื่อมโครงสร้างของตัว Solid Rocket Booster หรือจรวดบูสเตอร์ด้านข้างของยาน เกิดการรั่วทำให้แก๊สความร้อนสูงในตัวจรวดออกมาทำลายโครงสร้างยึดต่อของยาน และทำลายตัวยานในเวลาต่อมา

ในตอนที่เกิดการระเบิด นักบินอวกาศในยานอาจไม่ได้เสียชีวิตทันที พวกเขาอาจเสียชีวิตจาการขาดออกซิเจนหรือตกกระแทกน้ำทะเลด้วยความเร็วสูง ซึ่งทำให้เหตุการณ์ในครั้งนี้ดูน่ากลัวขึ้นไปอีก

เหตุการณ์นี้ทำให้ไม่มีการปล่อยกระสวยอวกาศหลังจากนั้นไปถึง 32 เดือน และ NASA ต้องทำการทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัยของกระสวยอวกาศใหม่ทั้งหมด

จรวดตกที่เมืองซีชาง (1996)

14 กุมภาพันธ์ 1996 ณ ฐานปล่อยจรวดซีชางของประเทศจีน จรวด Long March 3B ได้ถูกเลือกจากบริษัท Intelsat ให้ทำการปล่อยดาวเทียม Intelsat 708 ดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเทียมสื่อสารเอกชนรายแรก

สภาพของหมู่บ้านที่ถูกทำลาย ที่มา – Bruce Campbell ผ่าน Anatoly Zak

จรวด Long March 3B เกิดสูญเสียการควบคุมทันทีหลังจากที่ปล่อยขึ้น มันเปลี่ยนทิศทางจากการพุ่งขึ้นสู่อวกาศเป็นพุ่งเข้าสู่หมู่บ้านในบริเวณนั้น เกิดการระเบิดอย่างรุนแรงและคร่าชีวิตของคนในหมู่บ้านที่ไม่รู้เรื่องไปกว่า 200 – 500 คน (จากคำรายงาน) นับเป็นอุบัติเหตุด้านอวกาศที่รุนแรงที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน แม้ทางการจีนจะปิดเรื่องนี้ แต่ก็มีภาพและวิดีโอบางส่วนที่แสดงให้เห็นซากของหมู่บ้านที่เหมือนถูกทำลายจนไม่เหลือซาก

ล่าสุดจีนยังคงรักษามาตรฐานของการปล่อยจรวด และยังคงมีเหตุการณ์ชิ้นส่วนจรวดตกใส่บ้านเรือนปรากฏให้เราเห็นกันอยู่จนถึงทุกวันนี้

STS-107 “Columbia” (2003)

อุบัติเหตุครั้งที่ 2 ของโครงการกระสวยอวกาศ 1 กุมภาพันธ์ 2003 กระสวยอวกาศโคลัมเบียในภารกิจ STS-107 เดินทางกลับสู่โลกหลังจากการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ระหว่างที่ยานกำลังเข้าสู่ชั้นบรรยากาศนั้นยานก็แตกออกเป็นชิ้น ๆ ปรากฏเป็นภาพที่ไม่น่าจดจำให้กับคนที่เห็นอยู่เบื้องล่าง

เหตุการณ์นี้ทำให้นักบินอวกาศทั้ง 7 ได้แก่ Rick Husband, William McCool, Michael P Anderson, Kalpana Chawla, David Brown, Laurel Clark และ Ilan Ramon เสียชีวิต

ยานโคลัมเบียขณะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ที่มา – AP/Scott Lieberman

ย้อนกลับไป 15 วันก่อนหน้านั้น ในขณะที่ยานโคลัมเบียถูกปล่อยขึ้นจากฐานปล่อยที่แหลมเคอเนอเวอรัล ได้เกิดความเสียการกับแผ่นกระเบื้องกันความร้อนของท้องยานที่ใช้ในการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศขณะกลับสู่โลก เหตุนี้ทำให้ยานเกิดความเสียหายและระเบิดออกในที่สุด

ซากของยานโคลัมเบียที่เก็บกู้ได้ ถูกจัดเรียงตามตำแหน่งที่มันอยู่ ที่มา – Reuters/NASA

เหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสู่การตั้งคำถามครั้งสำคัญถึงความปลอดภัยของกระสวยอวกาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ ภายหลังจากที่กระสวยอวกาศนานาชาติถูกสร้างเสร็จในปี 2011 กระสวยอวกาศก็ถูกยกเลิกการใช้งานไป ทำให้ปัจจุบัน NASA ยังคงไม่มียานอวกาศสำหรับการส่งนักบินขึ้นสู่อวกาศเป็นของตัวเอง

SpaceShipTwo (2014)

ในปี 2004 โลกได้รู้จักกับ SpaceShipOne ยานอวกาศในหน้าตาเครื่องบินที่พานักบินอวกาศขึ้นไปแตะขอบอวกาศเป็นการเริ่มต้นการเดินทางอวกาศสู่เอกชน ทำให้มันกลายเป็นยานอวกาศเอกชนลำแรกที่พาคนขึ้นสู่อวกาศ และชนะรางวัล Ansari X Prize

10 ปีต่อมา ยานอวกาศรุ่นใหม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นในชื่อ SpaceShipTwo โดย Virgin Galactic ในเที่ยวบินทดสอบ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมปี 2014 นั้น ก็ได้เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ Michael Alsbury นักบินของยานเสียชีวิต ส่วน Peter Siebold นักบินอีกคนนึงได้รับบาดเจ็บสาหัส

ยาน SpaceShipTwo ถูกยกขึ้นบนเครื่องบินก่อนปล่อย ที่มา – Virgin Galactic

อุบัติเหตุเกิดขึ้นเมื่อยานเกิดระเบิดกลางอากาศนักบินพยายามประคองเครื่องลงจอดแต่การลงจอดก็เป็นไปอย่างรุนแรงส่งผลให้ Siebond ได้รับบาดเจ็บสาหัสและ Alsbury เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ

สภาพของยานหลังจากตก ที่มา – CNBC

เหตุการณ์นี้นับเป็นการเสียชีวิตที่เกิดจากภารกิจด้านอวกาศของนักบินครั้งแรกนับจากเหตุการณ์การระเบิดของยานโคลัมเบียในปี 2003 และเกิดเป็นคำพูดที่ถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์ในหมู่คนชื่นชอบด้านอวกาศ จากคำพูดของ CEO ของ Virgin Galactic ที่ออกมากล่าวหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “Space is hard”

แน่นอนว่า Space is hard การสำรวจอวกาศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และนอกเหนือจากเหตุการณ์ที่ทีมงานนำมาบอกเล่านี้ก็ยังมีอุบัติเหตุอีกหลายครั้งที่เกิดขึ้น นี่เป็นเพียงแค่เรื่องราวเด่น ๆ ที่ทำให้เราเห็นว่า การสำรวจอวกาศนั้นแลกมาด้วยชีวิตหลายต่อหลายชีวิตแล้ว

Fallen Astronaut สัญลักษณ์แสดงความไว้อาลัยที่นักบินในภารกิจ Apollo 15 วางไว้บนดวงจันทร์ ที่มา – NASA

ปัจจุบันเราได้มีการเพิ่มมาตรฐานของการทำงานและการเดินทางในอวกาศให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น และทุกการสูญเสียจะเป็นบทเรียนสำคัญให้เรา ในฐานะเผ่าพันธุ์นักท่องอวกาศจะได้สร้างบันไดสู่ดวงดาวที่ปลอดภัยมากขึ้น พวกเขาเหล่านี้จะไม่ตายเปล่า แต่เราจะจดจำพวกเขาในฐานะผู้กล้า ผู้เสียสละ และเราจะร่วมกันสานต่อความประสงค์ของพวกเขาในการที่จะให้ซักวัน มนุษย์จะสามารถเดินทางท่องอวกาศได้อย่างอิสระ

อ้างอิง

R16 Disaster | Russian Space Web

Xichang Disaster | Air Space Magazine

Uncovering Soiviet Disaster | James Oberg

Soyuz 1 | Russian Space Web

Apollo 1 Mission | NASA

Rocket People | NASA

STS 51L | NASA

Columbia Mission Report List | NASA

SpaceShipTwo crash | Space.com

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.