หลายคนอาจจะเคยสงสัยทำไมศาสตร์บนโลกนี้ต้องถูกแบ่งออกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ชีววิทยา เศรษฐศาสตร์ หรือว่าความจริงแล้วเราเพิ่งแบ่งมันออก ในงาน Design the Universe ที่จัดขึ้นใน Bangkok Design Week 2020 เฉลยว่าแท้จริงแล้ว ศาสตร์เหล่านี้คือศาสตร์เดียวกันที่ถูกแยกออกมาด้วยวิธีคิดแบบปฎิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)
ทีมงานสเปซทีเอช ร่วมกับบริษัทเสปซแซบ พาทุกคนไปเข้าถึงการหลอมรวมระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ ผ่านทางความเข้าใจการหลอมรวมของศาสตร์ต่าง ๆ และกิจกรรมพิเศษ ทำอาหารอวกาศ ซึ่งเป็นจุดตัดระหว่างเทคโนโลยีกับศิลปะ โดยทีมวิจัยที่มีผลงานร่วมตั้งแต่มหาวิทยาลัยชื่อดัง ไปจนถึงหน่วยงานอวกาศระดับโลก
Exclusive ทีมงานเปิดให้โหลดเนื้อหาในงานแบบดิจิทัลได้ฟรี
สรุปเนื้อหาจากงาน
9 กุมภาพันธ์ 2020 ณ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ศูนย์ความรู้ด้านการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ (TCDC) ผู้จัดงาน Bangkok Design Week 2020
ทีมงานสเปซทีเอชเปิดลงทะเบียนเข้าร่วมงานเวลา 6:00 ณ ห้อง Workshop ชั้น M ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มีมากกว่า 80 ท่าน โดยมาจากการซื้อบัตรในราคาปกติ และในราคานักเรียน รวมถึงสื่อต่าง ที่ล้วนทำงานใกล้ชิดกับทีมงานสเปซทีเอช
เวลา 19:00 เริ่มต้น Session แรก “เราออกแบบไปทำไม” โดยสองบรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งสเปซทีเอช เติ้ล – ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน และ กร – กรทอง วิริยะเศวตกุล
เติ้ลและกรพาตั้งคำถามย้อนกลับไปถึงว่า ทำไมอวกาศซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนชอบเมื่อตอนเด็กพอโตมากลายเป็นสิ่งที่ดูไกลตัว
หรือสิ่งนี้อาจจะมาจากการปลูกฝังของสังคมและระบบการศึกษา ที่แยกศาสตร์เหล่านี้ออกจากกัน แบ่งเป็นวิชา การท่องจำ แต่ทำไมอยู่ ๆ พวกเขาต้องทำแบบนี้
จริง ๆ แล้วในอดีต ศาสตร์พวกนี้เคยรวมกันมาก่อน เรียกว่า ปรัชญาธรรมชาติ หรือ Natural Philosophy แต่สุดท้ายมันถูกแยกออกมาในภายหลังเพื่อปูทางสู่การนำคนเข้าสู่สายการผลิตในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ด้วยการนิยามอาชีพ (Profression) และทักษะ (Skill) ที่เฉพาะเจาะจงเพื่อทำงานในสายงานนั้น ๆ
แต่ปัจจุบัน แนวคิดนั้นได้ถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Industry ทำให้การนำศาสตร์พวกนี้มาหลอมรวมกันได้อีกครั้งจะพาเราไปยังดินแดนที่มนุษยชาติห่างเหินไปเนิ่นนาน
เติ้ลยกตัวอย่างแผนภาพ Krebs cycle of Creativity ที่ทีมจาก MIT Media Lab ใช้ในการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นของศาสตร์ต่าง ๆ ว่านำไปสู่กันและกันอย่างไร เช่น ศิลปะ คือ วัฒนธรรมและการรับรู้ ในฝั่งของข้อมูลและพฤติกรรม ส่วนวิศวกรรมคือความรู้ที่สามารถนำไปใช้ และสร้างผลผลิต เป็นทางธรรมชาติ
หรือพฤติกรรม ที่รวมกับการใช้งาน เป็นการออกแบบ และวิศวกรรม ก็คือการใช้งานในฝั่งธรรมชาติ
ซึ่งแผนภาพนี้ สามารถช่วยให้เรามองศาสตร์ต่าง ๆ ในแต่ละ Domain และเข้าใจการเชื่อมโยงมันได้อย่างเห็นภาพ
เติ้ลและกร ได้ชวน พร้อม – พร้อม เสือทิม จากทีม Space Zab – บริษัทอวกาศ และงานวิจัยเชิงลึก ของเมืองไทย ได้ขึ้นมาคุยกันเรื่องอุตสาหกรรม และการออกแบบ ในฝั่งอวกาศ
คำถามก็ตือ แล้วทำไมอวกาศถึงเป็นหัวข้อที่เราต้องมาสนใจ คำตอบก็คือเพราะว่า อวกาศมองยังไงก็คืออนาคตของมนุษยชาติ และทุกวันนี้องค์ความรู้ด้านอวกาศของเรายังไม่มากพอ การจะเปิดพรมแดนใหม่ ๆ จึงต้องอาศัยการหลอมรวมกันระหว่างวิทยาศาสตร์ กับศิลปะ และความเป็นมนุษย์ เป็นคีย์สำคัญเพื่อมาปลดล็อก
เติ้ล เล่าต่อว่าทุกวันนี้เราอาจจะสำรวจอวกาศได้ เราอาจจะเดินทางไปดวงจันทร์ หรือใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศนานาชาติ แต่มนุษย์ก็ยังไม่ได้ใช้ชีวิตบนอวกาศได้จริง ๆ อยู่ดี
อวกาศตอนนี้เปรียบเสมือนการผจญภัย เหมือนการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ทุกวันนี้เราบินข้ามมหาสมุทรกันบนเครื่องบินที่เต็มไปด้วยความเพรียบพร้อม สะดวกสบาย ปลอดภัย และเป็นเรื่องปกติ
ในอนาคตการเดินทางในอวกาศก็เป็นเช่นนั้น เราอาจจะต้องบินไปคุยธุรกิจบนดวงจันทร์ หรือเดินทางไปเยี่ยมญาติบนดาวอังคารกันเป็นเรื่องปกติซักวัน
ทุกคนต้องรู้จักปัจจัย 4 ซึ่งเป็นแนวคิดว่า เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่ได้ ซึ่งได้แก่ อาหาร เครื่องห่อหุ้มร่างกาย ที่อยู่อาศัย และการรักษาโรค
สิ่งเหล่านี้ไม่มีสิ่งใดที่เป็นวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม หรือศิลปะอย่างเดียว อาหารก็เป็นวิทยาศาสตร์ได้ เป็นวัฒนธรรมได้ เป็นศิลปะได้ ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และการแพทย์ ก็เช่นกัน
ออกแบบอาหารอวกาศกับทีม Space Zab
เติ้ล และกร ส่งต่อเวทีให้ ทีมงาน Space Zab ซึ่งเป็นบริษัทด้านอวกาศของไทย ที่มีผลงานในฝั่งของ Food in Space ซึ่งมีผลงานร่วมกับทั้งทางหน่วยงานรัฐ เอกชน ในไทย และในต่างประเทศ รวมถึงงานศิลปะล่าสุดที่จะได้รับการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก กับทีมจาก MIT Media Lab มาเล่าแนวคิดการออกแบบอาหารบนอวกาศ
ทีม Space Zab นำโดย เกียร์ และ โฮป (วิศวกรหุ่นยนต์ และ นักประสาทวิทยา ซึ่งไม่เกี่ยวกับอวกาศเลย) อธิบายถึง พฤติกรรมของน้ำในสภาวะไร้น้ำหนัก
น้ำที่อยู่บนโลกจะไหล่ลงสู่ที่ต่ำเสมอและเปลี่ยนรูปร่างต่างภาชนะ แต่บนอวกาศนั้นน้ำจะมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนกลม ๆ ที่ดูเป็นเมือกลอยไปมา ซึ่งทำให้เราสามารถดูดน้ำเพื่อดื่มในอากาศได้เลย
เกียร์ นักวิจัยจาก Space Zab บอกต่อว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องได้ลงมือทำและได้ประการณ์อวกาศที่ใกล้ตัว เราเริ่มต้นจากประเด็นนี้โดยใช้แนวคิดของศิลปะกับความเชื่อมโยงมาช่วยในการแก้ปัญหาของโจทย์นี้ ทำให้เราแตกไอเดียออกไปมากมาย จนสุดท้ายมาถึงจึงที่ทำเม็ดมุกป๊อปที่เป็นเม็ดกลม ๆ พอกัดแล้วน้ำค่าในแตกออกมา เราก็ไปต่อกับไอเดียนี้ที่พยายามหาวิธีทำให้ง่ายกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เลยออกมาที่นำวุ้นมาห่อน้ำแข็ง แล้วให้ผู้เข้าร่วมได้ลองรับประทาน
การได้ทานเม็ดมุกป๊อปก็เหมือนได้ดื่มน้ำในอวกาศแล้ว และที่สำคัญอีกเรื่องของกิจกรรมนี้เลยคือการนำแสดงที่ใช้กระบวนแบบศิลปะผสมกับเทคนิคของวิทยาศาสตร์
เมื่อน้ำอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก หน้าตาของน้ำก็จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง นั่นหมายถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ทำให้อาหารที่จะเกิดขึ้นในสภาวะไร้น้ำหนักนั้น จะแตกต่างออกไปจากที่เราเห็นบนโลก
หมายความว่าในอนาคตอาหารที่ถูกประกอบขึ้นบนอวกาศจะไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับที่เราเคยกินกันมาเป็นหมื่นเป็นแสนปี
นี่คือสิ่งที่ทีม Space Zab ทิ้งเป็นโจทย์ไว้ให้กับผู้ร่วมงาน ว่าเรามีกรอบคิดอะไรที่จะช่วยให้สามารถสร้างสรรค์งานออกแบบ ที่ไม่ใช่แค่ด้านอาหาร แต่เป็นด้านอื่น ๆ ในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ต้องการ
อัพเดทอนาคตอวกาศใกล้เรากว่าที่คิด
ทีมงานสเปซทีเอช กลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้ง รอบนี้ประกอบไปด้วยทีมบรรณาธิการฝั่งออนไลน์ ทั้งหมดได้แก่ เติ้ล กร เพิ่มมาก็คือ กิ๊ก – นิศาชล คำลือ บรรณาธิการ Blockdit มาย – กัลยรัตน์ ปวนกาศ บรรณาธิการบริหาร อิ้งค์ – จิรสิน อัศวกุล บรรณาธิการ Podcast อวกาศข้างบ้าน
ทั้ง 5 คน มาอัพเดทสิ่งที่เกิดขึ้นในวงการอวกาศโลกตอนนี้ รวมถึงช่วยกันทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นในฝั่งของอวกาศ
สรุปว่า การเดินทางไปสำรวจดาวอังคารของมนุษย์ น่าจะเกิดขึ้นก่อนทศวรรษนี้จะจบลง (2030)
อนาคตในการพัฒนาด้านอวกาศที่ทีมสเปซทีเอชช่วยกันทำนายไว้
2020 เอกชนตื่นตัวกับเรื่องอวกาศ มีการรวมกลุ่มกันระหว่าง Space และ Non-Space เพื่อสร้างความร่วมมือ รัฐบาลทั่วโลกร่างกฎหมายเตรียมพร้อม
2023 ราคาของการส่งดาวเทียมและของขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติลดลง 50% จากปี 2020 บริษัทอย่าง Apple, Google, Amazon ล้วนมีดาวเทียมเป็นของตัวเอง SpaceX ประสบความสำเร็จในการทดสอบยาน Starship ทำให้การเดินทางสู่ดาวอังคารง่ายเพียงแค่เอื้อม
2025 บริษัท Non-space มีเทคโนโลยีอวกาศของตัวเอง มีดาวเทียมและงานวิจัยของตัวเองบนอวกาศ ราคาการส่งดาวเทียมอยู่ที่แค่หนึ่งล้านบาท มีสถานีอวกาศเอกชน โครงการ Artemis พามนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์สำเร็จ มนุษย์คนแรกเหยียบดาวอังคาร
2027 บริษัทที่มูลค่าสูงที่สุดในโลก ไม่ใช่บริษัท IT อีกแล้ว แต่เป็นบริษัทอวกาศ เกิดการ Intregration ระหว่างธุรกิจบนโลกกับอวกาศโดยสมบูรณ์ มนุษย์เข้าถึงการทำ Bio-design ในระดับพันธุกรรม สามารถทำให้ร่างกายมนุษย์เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางสู่อวกาศในระยะเวลานาน
2030 เกิดการ Commercialize บนอวกาศเต็มรูปแบบ ดวงจันทร์ถูกใช้เพื่อทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ การท่องเที่ยวอวกาศเต็มรูปแบบ มีเที่ยวบินออกจากโลกสู่ดาวอังคารทุก 3-6 เดือน บริษัททุกบริษัท นำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้เหมือน Internet of Things, Machine Learning ทุกวันนี้
2100 เกิด Civilization บนดาวอังคารรูปแบบ มีเด็กที่เกิดบนดาวอังคารและไม่เคยเหยียบพื้นโลกมาก่อนใช้ชีวิตเป็นมนุษย์ดาวอังคารเต็มรูปแบบ
และสุดท้าย ก็คงจะไม่ใช่สเปซทีเอช หากไม่ได้ปิดท้ายการเสวนาด้วยภาพ Pale Blue Dot ที่เตือนใจว่าโลกของเราเป็นแค่จุดเล็ก ๆ ในจักรวาล และเป็นบ้านเพียงหลังเดียวของเรา … แต่ Elon Musk ไม่เชื่อ บอกว่าวันนึง เราจะต้องไปอยู่บนดาวอังคารได้แน่นอน
เราจัดงานนี้ขึ้นมาทำไม การส่งต่อความคิดสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจ
บรรยากาศช่วงสุดท้ายก่อนที่ทุกคนจะเดินทางกลับ นานุ – ฌาณัฐย์ สิทธิปรีดานันท์ นักเขียนและนักวาดภาพประกอบ ประจำสเปซทีเอช ซึ่งในงาน Design the Universe นานุรับหน้าที่เป็น Project Manager และผู้ที่พาอวกาศที่จับต้องได้ เข้ามาสู่ Bangkok Design Week 2020
นานุบอกว่า สาเหตุที่อยากจัดงานนี้ขึ้นมาก็เพราะต้องการส่งต่อแรงบันดาลใจ และอยากชวนให้ทุกคน ในสาขา อาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับอวกาศก็ตาม ได้เข้ามามีประสบการณ์ร่วม และมองว่าตัวเองสามารถมีส่วนร่วมกับการพัฒนาด้านอวกาศได้ไม่ยากอย่างที่คิด
นานุ ก็ได้เปิดตัว Special Gift หรือของขวัญสุดพิเศษที่ทีมงานสเปซทีเอชช่วยกันจัดทำขึ้นมาก็คือ “คู่มือการชมดาวหางฮัลเลย์” ซึ่งจะเดินทางกลับมาให้เราได้เห็นกันในปี 2061 หรือ ในอีก 41 ปีนับจากวันที่จัดงานนี้
สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำความเป็นสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ แต่กลับมีวิธีการคิดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์ พวกเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีชั่วอายุเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของจักรวาล แต่กลับมีความทะเยอทะยาน และความอ่อนน้อมถ่อมตนในเวลาเดียวกัน
และศาสตร์อันได้แก่ ธรรมชาติ ศิลปะ ปรัชญา วิทยาศาสตร์ การออกแบบ และวิศวกรรม ก็ได้หลอมรวมกลายมาเป็นตัวเราดังเช่นวันนี้นั่นเอง
ผู้ร่วมจัดและสนับสนุนกิจกรรม