ดาวเนปจูนคือดาวเคราะห์ดวงล่าสุดที่ถูกค้นพบ และที่น่าอัศจรรย์ก็คือการค้นพบของมันนั้นเกิดขึ้นมาจากปลายปากกาของดาราศาตร์สองคน คือเออร์เบียน เลอ แวเรีย (Urbain Le Verrier) และจอห์น คูช อดัมส์ (John Couch Adams) ก่อนที่โจฮัน กาลล์ (Johann Gottfried Galle) จะค้นพบมันในค่ำคืนของวันที่ 23 กันยายน 1846 ณ หอดูดาวเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี แต่พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่มองเห็นดาวเนปจูน แถมมันเคยถูกบันทึกไว้ก่อนที่เราจะพบดาวยูเรนัสเสียอีกด้วย
กาลิเลโอ กับดาวเนปจูนในฉากหลังดาวพฤหัส
กาลิเลโอ นอกจากจะเป็นผู้ค้นพบดวงจันทร์กาลิเลียนทั้งสี่ในวงโคจรรอบดาวพฤหัสแล้ว เขาก็ยังเป็นผู้ค้นพบดาวเนปจูนโดยไม่ทันได้รู้ตัว และไม่ใช่แค่ครั้งเดียวด้วยที่เขาสังเกตุเห็นมัน
ในขณะที่กำลังร่างภาพดวงจันทร์ของดาวพฤหัส กาลิเลโอได้วาดดาวเนปจูนลงไปในภาพของเขาถึงสองครั้งในช่วงต้นปี 1613 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่ดาวเนปจูนเคลื่อนมาอยู่ใกล้กับดาวพฤหัสพอดี แต่กาลิเลโอกลับคิดว่าสิ่งที่เขาเห็นนั้นคือดาวฤกษ์ในพื้นหลัง เนื่องจากมันเคลื่อนที่ช้ามาก
เมื่อนำภาพจากการโปรแกรมมาจำลองท้องฟ้าที่กาลิเลโอมองเห็นในช่วงนั้น ภาพวาดของเขาที่ถูกวาดขึ้นในวันที่ 27-28 ธันวาคม 1612 จากการส่องกล้องดูดาวมองนั้นจะเห็นดาวพฤหัสกับดวงจันทร์กาลิเลียน 3 ดวง แกนีมีดอยู่ทางซ้ายและยูโรปากับคัลลิสโตอยู่ด้านขวา ในขณะที่เนปจูนอยู่ด้านซ้ายเยื้องไปตอนบนเล็กน้อย แน่นอนว่ากาลิเลโอเห็นมามันเป็นดาวฤกษ์ดาวหนึ่งเท่านั้น
วันที่ 28-29 มกราคม 1613 เขาได้วาดภาพของดาวจันทร์กาลิเลียนกับดาวพฤหัสอีกครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าครั้งนี้ก็ยังติด “ดาวฤกษ์” ดวงนั้นอีกเช่นเคย และแน่นอนว่ามันก็คือดาวเนปจูน แต่ที่น่าเสียดายยิ่งกว่าคือในระหว่างที่กาลิเลโอทำการส่องกล้องทั้งสองครั้งนั้นคือการเคลื่อนที่ของดาวเนปจูนจากด้านซ้ายไปด้านขวาของดาวพฤหัส และหากเขาส่องกล้องไปมองดาวพฤหัสในรุ่งเช้าของวันที่ 4 มกราคม กาลิเลโอจะมองเห็น “ดาวฤกษ์” ของเขาเคลื่อนออกจากด้านหลังของดาวพฤหัสอีกด้วย
ทั้งนี้เหตุที่กาลิเลโอเห็นดาวเนปจูนอยู่ทางด้านซ้ายของดาวพฤหัสทั้งสองครั้ง ก็เพราะว่าเมื่อสังเกตุจากโลกจะเห็นมันเคลื่อนที่ไปด้านขวาเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันที่ 13 มกราคม ที่มันจะค่อย ๆ เคลื่อนที่จากขวามาซ้าย และจนถึงวันที่เขาทำการสำรวจกาลิเลโอจึงได้เห็นมันที่ด้านซ้ายนั่นเอง ซึ่งเหตุการณ์ที่คล้าย ๆ กันก็คือการเคลื่อนที่ย้อนหลังของดาวอังคารนั่นเอง
ผู้ร่วมเห็นดาวเนปจูน (แต่เข้าใจว่าเป็นดาวฤกษ์)
วิลเลี่ยม เฮอร์เชลค้นพบดาวยูเรนัสในปี 1781 และลูกชายของเขา จอห์น เฮอร์เชลก็เกือบจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบดาวเนปจูนด้วยเช่นกัน เพราะตามจดหมายที่เขียนขึ้นในปี 1846 ระบุว่าเขาเห็นดาวเนปจูนในระหว่างส่องกล้องขึ้นไปบนท้องฟ้าวันที่ 14 กรกฏาคม 1830 แม้ว่ากำลังกล้องของเขาจะสูงพอที่จะมองเห็นดาวเนปจูน แต่ก็ด้วยเหตุที่คล้ายกับกาลิเลโอ เขามองว่ามันเป็นเพียงแค่ดาวฤกษ์เท่านั้น
และบันทึกการสำรวจจากหอดูดาวปารีสในปี 1795 ก็แสดงให้เห็นว่า เจอโรม ลาเลนเด (Jérôme Lalande) ก็ได้สำรวจท้องฟ้าในวันที่ 8 พฤษภาคมและ 10 พฤษภาคม 1795 แล้วเห็นดาวดวงหนึ่งที่ขยับขเยื้อนไป ซึ่งเขาก็ทำเครื่องหมายกำกับไว้ว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นที่น่าจะเกิดมาจากการเคลื่อนที่ของวัตถุในท้องฟ้า ถึงแม้จะไม่มีรายงานบอกต่อว่าเขาคิดว่ามันเป็นดาวเนปจูนหรือไม่ แต่การสำรวจในครั้งนี้ก็ช่วยให้เราเข้าใจวงโคจรของดาวเนปจูนได้ดียิ่งขึ้น
การค้นพบจากปลายปากกา
หลังจากที่เฮอร์เชลคนพ่อค้นพบดาวยูเรนัสสำเร็จแล้ว นักวิทยาศาสตร์ที่สำรวจดาวยูเรนัสก็ได้พบเห็นความผิดปกติของวงโคจรของมัน ทำให้พวกเขาตั้งข้อสังเกตุว่าต้องมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่มากพอที่จะมีอิทธิพลกับวงโอยู่ถัดออกไปจากดาวยูเรนัส นั่นทำให้นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ต่างพากันคำนวณหาตำแหน่งที่เป็นไปได้ของดาวเนปจูน
จอห์น อดัมส์นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ และเออร์เบียน เลอ แวเรีย นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเป็นสองคนที่คำนวณหาตำแหน่งของมัน โดยอดัมส์ได้ส่งผลการคำนวณของเขาไปยังจอร์จ เอรี่ (George Airy) แห่งหอดูดาวหลวงที่กรีนิช ซึ่งในขณะเดียวกันเลอ เวอเรียร์ก็ได้ให้โจฮัน กาลล์ช่วยค้นหาจากผลการคำนวณของเขา และในวันที่ 23 กันยายน 1846 ที่หอดูดาวเบอร์ลิน โจฮัน กาลล์และ ไฮน์ริช เดอ อาร์เรสท์ (Heinrich Louis d’Arrest) ได้ส่องกล้องดูดาวขึ้นไปยังท้องฟ้าในตำแหน่งที่เลอ แวเรียคำนวณไว้ และได้ค้นพบดาวเนปจูนในตำแหน่งที่ใกล้เคียงมาก ๆ
การค้นพบของดาวเนปจูนได้ถูกให้เป็นเครดิตของทั้งอดัมส์และเลอ แวเรีย ที่ทั้งคู่ต่างคำนวณตำแหน่งออกมาได้อย่างแม่นยำ และกาลล์ก็เป็นคนแรกที่มองเห็นดาวเนปจูน แต่ถ้าคนแรกจริง ๆ ตามที่มีการบันทึกไว้ก็ตกเป็นของกาลิเลโอ ที่ส่องกล้องไปเห็นมันตั้งแต่ก่อนเราจะค้นพบดาวยูเรนัสเสียอีก