“ยากกว่าการส่งดาวเทียมขึ้นไป คือการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรในวันที่ดาวเทียมนั้นสิ้นอายุลง”
ประโยคนี้ดูจะสอดคล้องกับความจริงในโลกปัจจุบันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างมิอาจปฏิเสธได้ เพราะด้วยจำนวนของขยะอวกาศที่สะสมเพิ่มไปพร้อมกันกับปริมาณการส่งดาวเทียม (และวัตถุหรือยานอวกาศอื่น ๆ ) ที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นดาวเทียมขนาดสื่อสารขนาดใหญ่สำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ไปจนถึง CubeSat ขนาดเล็กที่นักเรียนสามารถประกอบและส่งขึ้นไปลอยรอบโลกได้
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่วงโคจรรอบโลกที่มีจำกัดนั้นลดน้อยลงไปอีก และที่แน่ๆคือปริมาณขยะอวกาศจะเพิ่มขึ้นหลังจากดาวเทียมเหล่านี้ได้ตายลง…
การตายของดาวเทียมและยานอวกาศ
ตอนเด็กๆ ตัวผมเองเคยคิดว่าดาวเทียมมันกับยานอวกาศที่โคจรรอบโลกก็น่าจะเป็นเหมือนดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง ที่พอส่งขึ้นไปก็สามารถโคจรไปได้เรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวันหมดอายุและใช้ได้เรื่อย ๆ แต่เมื่อโตมา ความจริงที่ว่าดาวเทียมนั้น “ตายได้” ก็เข้ามาอยู่ในหัวเราในที่สุด
เช่นเดียวกับเครื่องยนต์กลไกอื่นๆบนโลกและทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพ ดาวเทียมนั้นก็มีอายุการใช้งานของมันเช่นกัน เพราะในอวกาศนั้นมีทั้งรังสีและปัจจัยหลายอย่างที่จะค่อยๆคร่าชีวิตยานอวกาศเหล่านี้อย่างช้า ๆ ไปตามกาลเวลา และการที่มันจะ”ตาย”ได้นั้น แบ่งออกได้เป็นหลายสาเหตุ ซึ่งหลักๆแล้วมีดังนี้
ถูกปลดประจำการ
เป็นการตายของดาวเทียมและยานอวกาศที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้แล้ว มักเกิดกับดาวเทียมที่ผ่านการใช้งานมาจนครบหรือเกินอายุการใช้งานที่กำหนดไว้ แน่นอนว่าส่วนใหญ่ศูนย์บังคับการยังสามารถควบคุมดาวเทียมเหล่านี้ได้อยู่ในช่วงวาระสุดท้าย และสามารถที่จะตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
หายไปไหน ไลน์ไม่ตอบ (ขาดการติดต่อ)
มักเกิดจากการขาดความดูแลเอาใจใส่ หรือให้เวลากับดาวเทียมหรือยานอวกาศไม่มากพอ ทำให้เกิดอาการงอนและไม่ยอมรับสาย (ล้อเล่นครับ) ปัจจัยที่ทำให้ทางภาคพื้นดินไม่สามารถติดต่อกับดาวเทียมได้นั้นมีหลากหลายมาก ทั้งจากธรรมชาติเช่น พายุสุริยะ ไปจนถึงอายุของตัวดาวเทียมเอง
การตายของดาวเทียมรูปแบบนี้มักจะนับเป็นส่วนย่อยของอุบัติเหตุซะมากกว่า แต่ก็มีอีกหลายปัจจัยเช่นกันที่ทำให้ไม่สามารถติดต่อกลับไปยังดาวเทียมหรือยานอวกาศได้ และแน่นอนว่าไม่มีทางควบคุมดาวเทียมได้อีกอย่างแน่นอน หากไม่สามารถทำการติดต่อกลับใหม่ได้
ข้อดีของการตายรูปแบบนี้คือดาวเทียมมักจะยังคงอยู่ในวงโคจรเดิมในสภาพสมบูรณ์ ทำให้สามารถส่งปอเต๊กตึ๊งไปรับศพกลับมาได้ หากมีความจำเป็นจริงๆ
อุบัติเหตุหรือเรื่องไม่คาดฝัน
เป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมักจะเกิดในช่วงที่ไม่อยากให้เกิด อย่างไรก็ตามหากเกิดขึ้นมาแล้วก็เรียกได้ว่าเป็นหายนะในวงโคจรเลยทีเดียว ส่วนใหญ่ไม่สามารถเก็บกู้ได้ง่าย ๆ (หรืออาจจะไม่เหลืออะไรให้เก็บเลยด้วยซ้ำ) การตายของดาวเทียมหรือยานอวกาศในรูปแบบนี้นับว่าเป็นอะไรที่แก้ไขได้ยากมากที่สุด
เกิดข้อผิดพลาด
ในกรณีนี้จะหมายถึงข้อผิดพลาดในตัวดาวเทียมหรือยานอวกาศทั้งก่อนและหลังตัดสินใจจัดการกับตัวดาวเทียมดวงนั้นเมื่อสิ้นสุดอายุขัย เช่นระบบขับเคลื่อนผิดพลาดระหว่างเปลี่ยนวงโคจรไปจนถึงการคำนวณความเร็วผิดจนดาวเทียมดริฟเลยจุดที่กำหนด เป็นต้น
ซึ่งหากศูนย์บังคับการสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีก็มักจะจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่หลายครั้งอีกเช่นกันที่ข้อผิดพลาดเล็กน้อยแบบนี้นี่เอง ที่นำพาไปสู่หายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือทำให้ดาวเทียมต้องตายก่อนกำหนด
มีอีกหลายปัจจัยเสริมที่ทำให้ดาวเทียมสิ้นอายุขัยลงได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเงิน คำสั่งของรัฐบาลและปัจจัยภายนอกอื่นๆที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถควบคุมหรือใช้งานดาวเทียมหรือยานอวกาศนั้นได้อีก ย่อมหมายถึงดาวเทียมดวงนั้นต้องสิ้นสุดชีวิตและภารกิจของมันลงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้นั่นเอง
ฝังไม่ได้ เผาไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไร
การที่ดาวเทียมอยู่ห่างจากพื้นผิวโลกไปถึง 1000 กม. เป็นอย่างน้อย ย่อมหมายความว่าเราไม่สามารถไปเก็บดาวเทียมลงมาได้ง่ายๆเหมือนการเก็บกู้ซากรถยนต์ เครื่องบิน หรือแม้กระทั่งเรือ (ขอให้ท่านผู้อ่านลืมมุขปอเต๊กตึ๊งเมื่อซักครู่นี้ไปก่อน) และคงเป็นเวลาอีกหลายสิบปีกว่าที่เราจะสามารถรีไซเคิลดาวเทียมในอวกาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นแล้วเราจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร คำตอบคือเลือกใช้ทางเลือกที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เหมาะสมที่สุด ในการจำกัดดาวเทียมหมดอายุเหล่านี้ไม่ให้กลายไปเป็นเศษซากขยะอวกาศ ที่สามารถก่ออันตรายได้ในอนาคต
ทางเลือก?
ถึงแม้ทางเลือกในการเก็บดาวเทียมเหล่านี้ลงมารีไซเคิลจะยังคงดูเป็นเพียงฝันที่สวยหรู ซึ่งยากจะเป็นไปได้จริงในระยะเวลาอันใกล้ แต่วิธีการในการกำจัดซากศพดาวเทียมที่ใช้ได้ในปัจจุบันก็ไม่ได้แย่ (ที่สุด) ไปซะทั้งหมด
แถมส่วนใหญ่ก็ได้ผ่านการทดสอบและใช้งานจริงมาแล้วนานนับหลายทศวรรษ ซึ่งแต่ละวิธีและทางเลือกก็มีเอกลักษณ์ รวมไปถึงข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป ดังนี้
คืนสู่พื้นพสุธา – การควบคุมดาวเทียมกลับเข้าสู่โลก (Controlled Re-entry)
เป็นวิธีการหลักที่ใช้ในการนำเอาทั้งยานอวกาศ ดาวเทียมไปจนถึงจรวดกลับมาสู่โลก ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่การนำยานกลับมาแบบครบถ้วนสมบูรณ์เช่นกระสวยอวกาศ, การนำกลับมาบางส่วนเช่นยานโซยุส และจรวดฟัลคอนของ SpaceX, ไปจนถึงรูปแบบที่เราจะพูดถึงกัน นั่นก็คือการนำดาวเทียมกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศเพื่อให้เผาไหม้และถูกทำลายไปทั้งหมด หรือควบคุมให้ไปตกในบริเวณที่ไร้ผู้คน (เช่นตอนล่างของมหาสมุทรแปซิฟิก)
วิธีนี้เป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติสากลในการจัดการกับดาวเทียมที่ตายแล้วเพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะอวกาศในอนาคต ซึ่งดาวเทียมดวงแรกๆอย่างสปุตนิก 1 ก็จบชีวิตด้วยวิธีนี้เช่นกัน (หลังจากปลดประจำการไปแล้วประมาณ 2 เดือน) รวมไปถึงดาวเทียมอื่นๆในยุคเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศ (ซึ่งอยู่ในวงโคจรระดับต่ำและตกกลับลงมาตามหลักการ Orbital decay)
เทคนิคในการนำดาวเทียม (และยานอวกาศประเภทอื่น) กลับสู่โลกนั้น หลักๆแล้วก็มี 2 รูปแบบคือแบบควบคุม และไม่ควบคุม แบบแรกคือการใช้อุปกรณ์บังคับทิศทาง หรือเครื่องยนต์ของดาวเทียมดวงนั้นในการควบคุมดาวเทียมให้ลดระดับลง จนถูกแรงโน้มถ่วงโลกดึงให้หล่นกลับเข้าไป และถูกเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศในที่สุด หากมีชิ้นส่วนใดเหลืออยู่ก็จะไปตกในพื้นที่ที่ได้คำนวณไว้ ซึ่งทำให้วิธีนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับดาวเทียมสิ้นอายุทั้งหลาย
ในขณะที่วิธีหลังคือการปล่อยให้ดาวเทียมตกลงมาเลยโดยไม่ได้ทำการควบคุมอะไรทั้งสิ้น ถึงแม้จะลดขยะอวกาศได้เช่นเดียวกับวิธีแรก แต่หากดาวเทียมไปตกใส่หัวใครเค้า ก็นับได้ว่าเป็นหายนะแน่ๆ ดังนั้นวิธีหลังนี้จึงไม่ค่อยถูกใช้อีกต่อไปแล้ว นอกเสียจากจะเป็นดาวเทียมยุคก่อน (ที่ขาดการติดต่อไปหลังปลดประจำการทำให้ควบคุมไม่ได้ แต่สามารถปล่อยให้ตกกลับมาได้ตามหลัก Orbital Decay) หรือดาวเทียมสมัยใหม่ที่ไม่มีเครื่องยนต์ควบคุมทิศทางซึ่งมักจะเป็นดาวเทียมขนาดเล็กอย่างพวก CubeSat
อย่างไรก็ตาม ดาวเทียมส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีเครื่องยนต์หรืออุปกรณ์สำหรับควบคุมระดับวงโคจรเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และในอนาคตก็อาจจะเป็นข้อบังคับสากลในการสร้างดาวเทียมอีกด้วย
ข้อดี: แทบจะไม่เหลืออะไรทิ้งไว้ในอวกาศเลย / เป็นการเก็บกวาดขยะอวกาศที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ข้อเสีย: มีความเสี่ยงในการตกใส่ย่านชุมชนหรือที่อยู่อาศัย / หากวัสดุอันตรายเหลือรอดจากการเผาไหม้จนตกกลับถึงโลก อาจทำให้เกิดการปนเปื้อนได้
สู่ห้วงนภาและดวงดารา – วงโคจรสุสาน (Graveyard Orbit)
ถ้าเอาลงมาไม่ได้ ก็ส่งกลับขึ้นไปให้ไกลกว่าเดิมสิ ทางเลือกนี้อาจจะฟังดูไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ แต่อย่าลืมว่าดาวเทียมแต่ละดวงนั้นมีพื้นที่จำกัดในการขนเชื้อเพลิงหรือติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมทิศทาง ทำให้ดาวเทียมที่อยู่ห่างจากพื้นผิวโลกมากๆ อย่างพวกที่อยู่ในวงโคจรสถิตย์หรือวงโคจรค้างฟ้า (GEO – Geostaionary Orbit) ซึ่งห่างจากพื้นผิวโลกมากถึง 35,786 กม. ไม่สามารถถูกส่งกลับเข้ามาสู่โลกได้โดยง่าย การส่งดาวเทียมขึ้นไปในโคจรสุสานที่อยู่ห่างไปไม่ไกลนั้นดูจะเป็นสิ่งที่เข้าท่ากว่า เพราะสามารถการันตีได้ว่าดาวเทียมจะไปถึงที่หมาย (วงโคจรสุสาน) ได้แน่ๆ และไม่รบกวนกับดาวเทียมอื่นๆที่ใช้งานอยู่ในระดับวงโคตรที่ต่ำกว่าอย่างแน่นอน ถึงแม้จะกลายสภาพเป็นขยะอวกาศไปหลังจากนั้นก็ตาม
ข้อดี: ไม่ต้องห่วงเรื่องความผิดพลาดในการส่งกลับโลก / ความเสี่ยงในการตกใส่แหล่งชุมชน = 0 (เพราะไม่ได้ตกไปไหนตั้งแต่แรกนั่นเอง) / เหมาะกับดาวเทียมที่โคจรในวงโคจรสูงๆ
ข้อเสีย: ไม่นับว่าเป็นการกำจัดขยะอวกาศ เพราะตัวดาวเทียมยังคงอยู่ในวงโคจร / ถึงจะชื่อว่าวงโคจรสุสาน แต่ซักวันก็ต้องเต็มไปด้วยศพ (ดาวเทียม) อยู่ดี ดังนั้นดาวเทียมสิ้นอายุที่ถูกส่งไปยังวงโคจรสุสานจึงเป็นเสมือนแค่การซื้อเวลาเท่านั้น และอาจส่งผลกระทบร้ายแรงตามมาได้ในระยะยาว เช่นเดียวกับการสะสมของขยะอวกาศในวงโคจรอื่นๆ (ไม่กระทบกับดาวเทียมในวงโคจรอื่นๆ แต่มีผลกับยานอวกาศที่ต้องเดินทางผ่านวงโคจรนี้ในอนาคตอย่างแน่นอน)
ปล่อยไว้แบบนั้นแหละ
ในบางครั้งเราก็ไม่สามารถเลือกทางเลือกอื่นๆได้เลยจริงๆ นอกเสียจากการไม่ทำอะไรเลย ดาวเทียมขนาดเล็กส่วนใหญ่หรือดาวเทียมที่ไม่มีเครื่องยนต์ทั้งหลายซึ่งทำงานอยู่ในวงโคจรระดับต่ำนั้นจำเป็นที่จะต้องปล่อยทิ้งไว้ให้ตกลงมาเองโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย โดยจำเป็นต้องใช้หลักการ Orbital Decay ซึ่งใช้ทั้งแรงดึงดูดของโลก หรือแรงเสียดทานจากชั้นบรรยากาศมาช่วยดึงดาวเทียมเหล่านี้ให้ตกกลับลงมาเองตามธรรมชาติ ถ้าโชคดีดาวเทียมก็จะตกสู่โลกและเผาไหม้หายไป ถ้าโชคร้ายดาวเทียมก็จะคงอยู่แบบนั้น ไม่สามารถทำอะไรได้ และแน่นอนว่าจะกลายเป็นขยะอวกาศอย่างแน่นอน
ดาวเทียมที่ตายด้วยอุบัติเหตุหรือขาดการติดต่อ / เกิดข้อผิดพลาด จนไม่สามารถควบคุมได้อีกก็มักจะตกมาอยู่ในทางเลือกนี้เช่นกัน
ข้อดี: แล้วแต่ดวง / ไม่เปลืองงบประมาณและทรัพยากร
ข้อเสีย: แล้วแต่ดวง / ดาวเทียมกลายเป็นขยะอวกาศไ ถึงแม้จะคงอยู่ในวงโคจรเดิมก็ตาม
ส่งยานขึ้นไปเก็บกู้ (Recovery)
เป็นหนึ่งในความฝันที่เป็นจริงในสมัยที่โลกเรามีกระสวยอวกาศของสหรัฐอเมริกาใช้
(และยานอวกาศบูแรนของโซเวียต ถ้าโครงการได้ไปต่อ) วิธีนี้เป็นหนึ่งในวิธีที่ดูดีมากๆ เพราะสามารถที่จะเก็บดาวเทียมทั้งดวงกลับมาได้แบบครบ 100% ทำให้สามารถกำจัดขยะอวกาศและรีไซเคิลดาวเทียมดวงนั้นไปด้วยในตัว ภารกิจของการเก็บกู้ที่สำเร็จก็เช่นภารกิจ STS-51-A ที่กระสวยอวกาศสามารถเก็บกู้ดาวเทียม Westar 6 และ Palapa B2 กลับมายังโลกได้อย่างปลอดภัย น่าเสียดายที่ในปัจจุบันยังไม่มีโครงการใดๆที่จะมาทดแทนยานอวกาศเหล่านี้ในการทำหน้าที่เป็นซาเล้งแห่งอวกาศหลังจาการยุติการปฏิบัติการณ์ของโครงการกระสวยอวกาศในปี พ.ศ. 2554
ข้อเสีย: การไปเก็บกู้ดาวเทียมนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดาวเทียมแทบทุกดวงเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมากตามระดับวงโคจร หากพลาดขึ้นมา อาจจบแบบหนังเรื่อง Gravity ก็เป็นได้ / ค่าใช้จ่ายสูง / การเก็บกู้มักจะทำได้ในวงโคจรระดับต่ำเท่านั้น
คาดว่าพวกเราคงต้องรอกันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีซักโครงการที่ประสบความสำเร็จในเชิงปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดคล้าย ๆ กับกระสวยอวกาศไปจนถึงยานอวกาศระบบอัตโนมัติก็ตาม
ข้อดี: เป็นวิธีที่ดี่สุดเพราะเก็บขยะ(อวกาศ)กลับมาได้ แถมเอาไปขาย ซ่อม หรือรีไซเคิลได้อีกต่างหาก
สอยกลับลงมา (External Removal)
เป็นทางเลือกที่คล้ายกับการนำดาวเทียมให้ตกกลับลงมาสู่โลก เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ควบคุมดาวเทียมให้ตกลงมา แต่ใช้อุปกรณ์หรือยานอวกาศลำอื่นมาใช้ในการ”สอย”ดาวเทียมที่ตายแล้วดวงนั้นลงมาแทน ซึ่งแน่นอนว่าไม่เหมือนกับการส่งยานไปเก็บกู้เลยแม้แต่น้อย เพราะเราจะไม่ได้ดาวเทียมทั้งดวง (หรือส่วนใหญ่) กลับมา แต่เหมือนเป็นการช่วยกำจัดดาวเทียมที่ควบคุมไม่ได้ หรือไม่สามารถนำกลับมาสู่โลกด้วยกำลังของตัวเองได้ ให้ตกกลับลงมานั่นเอง ถ้าจะสรุปก็เหมือนกับเป็นการแก้ไขทางเลือกที่ต้องปล่อยดาวเทียมทิ้งโดยทำให้สามารถกำจัดดาวเทียมนั้นทิ้งได้นั่นเอง
ข้อดี: เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยกำจัดขยะอวกาศ / กำจัดดาวเทียมได้แทบทุกรูปแบบ (ในเชิงทฤษฎี)
ข้อเสีย: วิธีการส่วนใหญ่ยังเป็นแค่แนวคิดที่ยังไม่ได้ทดลองใช้งานจริง
สำหรับวิธีในทางเลือกนี้มีหลากหลายมาก แต่ยังไม่มีซักอันที่ได้ผลหรือถูกทดสอบจริง หนึ่งในวิธีต่าง ๆ เหล่านี้คือการใช้ดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อไปนำดาวเทียมขนาดใหญ่ลงมาด้วยการใช้ตาข่ายหรือฉมวก ไปจนถึงการใช้แสงเลเซอร์ในการปรับวงโคจรของดาวเทียมให้ตกกลับลงมายังโลก
นี่คือตัวอย่างของทางเลือกหลักๆที่เรามีอยู่ในการจัดการกับดาวเทียมที่สิ้นอายุขัยแล้ว มีหลายวิธีให้เลือกใช้ในการป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้กลายไปเป็นขยะอวกาศ แต่ใครล่ะจะเป็นคนตัดสินใจและลงมือกระทำ
เพราะมนุษย์คือผู้กำหนด
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ดาวเทียมคงไม่เลือกทางเลือกให้กับบั้นปลายชีวิตตัวเองอย่างแน่นอน การที่จะตัดสินใจว่าจะจบชีวิตของดาวเทียมอย่างไรและจัดการยังไงต่อจากนั้น ย่อมเป็นหน้าที่ของมนุษย์อย่างปฏิเสธไม่ได้
หากพูดกันในเชิงหลักการแล้ว ฝ่ายที่ควบคุมดาวเทียมจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจและดำเนินการ แต่ในความเป็นจริงนั้นมีตัวแปรหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของดาวเทียม บริษัทดาวเทียม หรือผู้สร้างดาวเทียมก็ตาม ในช่วงที่กฎหมายสากลด้านอวกาศยังไม่เจาะจงหรือควบคุมเกี่ยวกับเรื่องนี้เต็มตัว ทำให้พวกเขามีอิสระในการตัดสินใจ ว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือสิ่งที่เอื้อผลประโยชน์ให้พวกเขามากที่สุด
บทสรุป
ปัญหาขยะอวกาศอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเรา แต่ถ้าหากเราได้ย้อนกลับไปดูในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราย่อมเห็นได้ว่ามนุษยชาตินั้นเดินทางมาได้ไกลขนาดไหนแล้วในด้านนี้ การสำรวจอวกาศจะไม่ใช่แค่สิ่งที่ชาติหรือรัฐบาลทำ แต่ในปัจจุบันเอกชนก็สามารถทำได้ และในอนาคตอีกไม่นาน ประชาชนอย่างพวกเราเองก็อาจจะทำได้เช่นกัน
ต่อจากนี้อวกาศคงจะพลุกพล่านขึ้น และสิ่งที่น่าคิดคือการไปทิ้งขยะในอวกาศนั้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น มันไม่เหมือนกับการปาก้นบุหรี่ลงบนพื้นถนนให้สกปรก (และผิดกฎหมาย) แต่มันเปรียบเสมือนกับการขว้างลูกกระสุนหรือขีปนาวุธไปกลางทางด่วนที่เต็มไปด้วยดาวเทียมและยานอวกาศเลยทีเดียว หากอวกาศจะพลุกพล่านขึ้นไปพร้อมกับการที่พวกเรายังไม่ใส่ใจถึงอนาคตกันแบบนี้ การตายของดาวเทียมคงจะไม่จบที่ตัวมันเอง แต่อาจจะพรากเอาอีกหลายชีวิตไปพร้อมกับมันก็เป็นได้ เหมือนในหนังเรื่อง Gravity ที่นำเสนอปรากฏการณ์ Kessler Syndrome ให้เราได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม
มนุษย์เราขึ้นชื่อว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สกปรกมากที่สุด เพราะเราสร้างขยะ และทิ้งขยะใส่ธรรมชาติในปริมาณมหาศาลอยู่ตลอดเวลา และด้วยพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ที่มักจะเอาง่ายเข้าว่า อย่างการแยกขยะยังทำไม่ได้ แล้วจะนับประสาอะไรกับการรีไซเคิลดาวเทียมทั้งดวง ปัญหาทั้งหมดที่ว่ามานี้ แท้จริงแล้วดูคล้ายกับปัญหาภาวะโลกร้อนอยู่พอสมควร และที่สำคัญคือกระทบถึงชนรุ่นหลังเหมือนๆกันอีกต่างหาก
สิ่งหนึ่งที่แตกต่างคือเรามีเวลาที่จะสร้างรากฐานเพื่อป้องกันปัญหานี้ได้ การตายของดาวเทียมคงจะจบลงได้อย่างแฮปปี้เอนดิ้ง หากมนุษย์เราเลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องกันเสียตั้งแต่ตอนนี้…
สู่ห้วงนภาและดวงดาราหรือคืนสู่พื้นพสุธาอันคุ้นเคย…
ซี่รี่ย์สิ้นสุดภารกิจ
- ตอนที่ 1 – จุดจบของดาวเทียม ตายแล้วไปไหน
- ตอนที่ 2 – เมื่อดาวเทียมชนกันในอวกาศ ชะตากรรมของ Iridium-33 และ Kosmos-2251
อ้างอิง
Space Debris and Human Spacecraft
Space Debris
NASA’s Orbital Debris Program Office-Reentry
Controlled re-entry of satellites at the end of life
NASA’s Spacecraft Disposal
Atmospheric Entry
NASA’s Compton Gamma Ray Observatory
ESA’s Envisat Satellite
2009 Satellite Collision
ROSCOSMOS’s Fobos-Grunt Mission
NASA’s Phobos-Grunt Mission
Mir Space Station
Deorbit of Mir Space Station
NASA History Office Deorbit of Mir
NOAA / NASA’s GOES 8
GOES Satellites
USAF’s Vela 1B
NASA’s STS-51A
Asiasat-1
ESA’s Clean Space-e.Deorbit Program
ESA’s e.Deorbit