ลองเล่น Exoplanet Travel Bureau ออกเดินทางท่องจักรวาลได้จากหน้าจอของคุณ

ดาวเคราะห์นอกระบบดวงที่ใกล้โลกที่สุดนั้นอยู่ห่างออกไปไกลกว่า 4 ปีแสง และแม้จะเดินทางด้วยความเร็วของยานวอยาเจอร์ ยานอวกาศสองลำที่เดินทางออกไปไกลจากโลกมากที่สุด ด้วยความเร็วสูงถึง 260,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง ก็ยังใช้เวลานานกว่า 17,000 ปีกว่าจะเดินทางไปถึง แต่ในวันนี้คุณสามารถเดินทางออกไปท่องดาวเคราะห์นอกระบบบางดวงจากหน้าจอได้แล้ว ด้วยเว็บ Exoplanet Travel Bureau ของนาซา ที่วันนี้ผู้เขียนจะมาแนะนำให้รู้จักกัน

เข้าไปลองเล่น Exoplanet Travel Bureau ได้ที่ลิงก์นี้

เมื่อเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ ก็จะมีให้เลือกจุดหมายปลายทางที่เราต้องการจะไป โดยนับตอนที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้นนั้น จะมีทั้งสิ้น 4 ดวงที่สามารถลงไปสำรวจบนพื้นผิวได้ และอีก 3 ดวง ที่มีเป็นโปสเตอร์ให้ดาวน์โหลด ซึ่งถูกออกแบบมาให้เหมือนกับโปสเตอร์แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแบบย้อนยุคนั่นเอง

ดาวดวงแรกที่เราสามารถเดินทางไปได้นั้นก็คือ 55 Cancri e ดาวเคราะห์นอกระบบที่สุดแสนเร่าร้อน จนผิวดาวนั้นถูกปกคลุมไปด้วยลาวาทั้งดวงเลยทีเดียว

ภาพจำลองจากพื้นผิวของดาว 55 Cancri e – ที่มา NASA

หรือจะเดินทางไปลงดาว Trappist -1d ในระบบดาวที่มีดาวเคราะห์มากถึง 7 ดวงด้วยกัน ซึ่งดาวเคราะห์ 1d นี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีน้ำในรูปของของเหลวปรากฏอยู่บนดาวอีกด้วย แต่ก็ยังต้องรอการสำรวจจากกล้องโทรทรรศน์อื่น ๆ เพิ่มเติมอีกครั้ง

อ่านเรื่องราวของ Trappist-1 เพิ่มเติมได้ที่นี่

ภาพจำลองจากพื้นผิวของ Trappist-1d – ที่มา NASA

และหากคุณเป็นแฟนภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ก็อาจจะคุ้นกับดาว Tatooine บ้านเกิดของ Luke Skywalker ที่โคจรรอบระบบดาวคู่ ซึ่ง Kepler-16b ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ทว่านักดาราศาสตร์ยังไม่มั่นใจว่ามันเป็นดาวเคราะห์หิน หรือดาวเคราะห์ก๊าซเหมือนกับดาวเสาร์กันแน่ และด้วยความเป็นไปได้ที่มันอาจจะมีดวงจันทร์บริวารอยู่ ทำให้นาซายกจำลองภาพจากดวงจันทร์บริวารขึ้นมาเสียเลย

ภาพจำลองจากดวงจันทร์ของ Kepler-16b – ที่มา NASA

ปิดท้ายกันด้วยดาว Kepler-186f ดาวเคราะห์นอกระบบขนาดใกล้เคียงกับโลกดวงแรก ที่ถูกค้นพบในเขตที่มีสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งหากมีพืชเติบโตอยู่บนดาวดวงนี้ มันจะมีสีแดงแทนที่จะเป็นสีเขียวเหมือนกับบนโลก เนื่องจากดาวฤกษ์ของมันนั้นเย็นกว่าและมีสีแดงกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ทำให้กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงนั้นแตกต่างไปจากบนโลกเล็กน้อยนั่นเอง

เทียบภาพจำลองของ Kepler-186f แบบไม่มีชั้นบรรยากาศ – ที่มา NASA

และแบบมีชั้นบรรยากาศ – ที่มา NASA

สุดท้ายนี้ก็ต้องย้ำอีกครั้งว่าทุกภาพที่คุณเห็นนี้ถูกจำลองขึ้นมา จากข้อมูลอันแสนจำกัดที่นักดาราศาสตร์มีอยู่ แต่นี่ก็ช่วยให้เราเห็นภาพของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ นอกระบบสุริยะของเราได้ชัดยิ่งขึ้น และไม่แน่ว่าในอนาคต ลูกหลานของเราอาจได้ลงไปประทับรอยเท้าบนดาวเคราะห์เหล่านี้ได้ (แต่คงไม่ไปลงดาวเคราะห์ดวงแรกนะ เพราะโดนลาวาหลอมแน่ ๆ)

เข้าไปลองเล่น Exoplanet Travel Bureau ได้ที่ลิงก์นี้

 

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง:

NASA Exoplanet Travel Bureau

Proxima Centauri b Distance | NASA

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138