SpaceX ใช้จรวดและยานอวกาศซ้ำ ส่ง 5 การทดลองสำคัญไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ

เวลา 22.35 วันที่ 15 ธันวาคม ตามเวลาบ้านเรา จรวด Falcon 9 ได้ถูกปล่อยขึ้นจากฐานปล่อย SLC-40 (Space Launch Complex 40) บริเวณแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริด้า ในภารกิจ CRS-13 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งสิ่งของและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในการปล่อยครั้งนี้เป็นการนำจรวด Falcon 9 จากภารกิจ CRS-11 ที่ถูกปล่อยไปเมื่อเดือนมิถุนายนกลับมาใช้ซ้ำ ส่วนยาน Dragon ถูกใช้ซ้ำจากภารกิจ CRS-6 ในเดือนเมษายน ปี 2015 ที่ผ่านมา

หลังจากทำการแยกตัว First stage ได้กลับมาลงจอดยัง Landing Zone – 1 เป็นที่เรียบร้อย นับเป็นการลงจอดสำเร็จครั้งที่ 20 ของจรวด Falcon 9 และปัจจุบันมี Falcon 9 ที่ผ่านการใช้งานแล้วทั้งหมด 17 ลำ

 

 

จรวด Falcon 9 ลำนี้เป็นลำที่ผ่านการใช้งานมาแล้วในภารกิจ CRS-11 เมื่อเดือนมิถุนายน ในขณะที่ยาน Dragon นั้นก็เป็นยานที่ถูกนำมาใช้งานซ้ำเช่นกัน ทำให้ไฟลต์นี้เป็นเที่ยวบินประวัติศาสตร์ที่ทั้งจรวดและยานอวกาศผ่านการใช้งานมาแล้ว

สำหรับภารกิจ CRS-13 นี้ นอกจากเสบียงและของใช้ต่าง ๆ ที่ถูกส่งไปแล้วยังมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อใช้ทำการทดลองที่น่าสนใจ 5 ลำดับ ได้แก่

Plant Gravity Perception (PGP)
การทดลองเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืชที่มีความสัมพันธ์กับแรงดึงดูดของโลก จากข้อมูลที่เรามีอยู่เดิมนั้น พืชโดยส่วนใหญ่จะมีความสามารถในการรับรู้ถึงทิศทางจากแรกดึงดูดของโลกที่เป็นตัวกำหนดว่าพวกมันควรเจริญเติบโตไปในทิศทางไหน สำหรับการทดลองที่ถูกนำขึ้นไปบนสถานีอวกาศที่อยู่ในสภาพไร้น้ำหนักนี้ก็เพื่อศึกษาว่า ระดับของแรงดึงดูดที่น้อยที่สุดที่พืชจะสามารถรับรู้และตอบสนองได้คือเท่าใด

Optical Fiber Production in Microgravity
ในปัจจุบันใยแก้วนำแสงคุณภาพสูงกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก เนื่องจากความต้องการในการส่งข้อมูลที่มีขนาดใหญ่และระยะทางที่เพิ่มมากขึ้น โดยปกติใยแก้วน้ำแสงที่ใช้กันนั้นมีส่วนประกอบของซิลิกา ในขณะเดียวกันได้มีการประดิษฐ์ใยแก้วนำแสงที่ใช้วัสดุคือ ZBLAN หรือใยแก้วฟลูออไรด์โลหะหนัก แต่กลับพบปัญหาที่ว่า ZBLAN จะจับตัวแข็งเป็นผลึกภายใต้แรงดึงดูดของโลกทำให้ใช้การไม่ได้ ดังนั้นหากนำไปผลิตในอวกาศก็จะสามารถหยุดกระบวนการตกผลึกได้นั่นเอง

Tiny Space-Debris Detector
อุปกรณ์ตรวจจับชิ้นส่วนขยะอวกาศขนาดเล็กที่จะถูกนำไปติดตั้งด้านนอกของสถานีอวกาศนานาชาติ สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มีเซ็นเซอร์ที่สามารถตรวจจับได้ทั้งความหนาแน่นและความเร็วของขยะอวกาศที่มีแนวโน้มจะสร้างความเสียหายแก่สถานีอวกาศ จากการทดลองนี้จะทำให้เราได้รู้ว่ามีขยะอวกาศประเภทไหนบ้างที่มนุษย์เอาไปโยนทิ้งไว้ในอวกาศ และขยะอวกาศแต่ละประเภทสร้างความเสียหายแก่สถานีอวกาศอย่างไร

Rodent Research-6
ในความจริงแล้วภารกิจนี้มีการส่งลูกเรือขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติด้วย แต่ลูกเรือตัวนี้เป็นหนูทดลองที่ถูกใส่ไว้ในกล่อง ในตัวมันถูกฝังระบบสำหรับให้ยารายวันเอาไว้ ยาที่ฝังไว้จะถูกฉีดออกมาเพื่อรักษาการยุบตัวของกล้ามเนื้อซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่ร่างกายอยู่ในอวกาศเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยการทดลองนี้จะศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับตัวหนู และหากยาฝังนี้ใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตอาจมีการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีนี้เพื่อใช้สำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยในอวกาศ

Total Spectral Solar Irradiance Sensor (TSIS)
การทดลองอย่างที่สองที่อุปกรณ์จะถูกนำไปติดตั้งด้านนอกสถานี สำหรับสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้คือเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดปริมาณแสงอาทิตย์ที่ส่องกระทบชั้นบรรยากาศโลกรวมถึงตรวจจับรังสีประเภทต่าง ๆ ที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์และเดินทางมาถึงโลก ผลลัพธ์จากการทดลองนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับคำนวณปริมาณพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่โลกได้รับไปจนถึงผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงอย่างเช่นภาวะโลกร้อนอีกด้วย

ยาน Dragon จะเดินทางถึงสถานีอวกาศนานชาติภายใน 3 วัน หลังจากนั้นมันจะถูกแขนกล Canadarm ของสถานีจับเพื่อดึงเข้ามาเทียบกับท่า แล้วทำการเปิดฝาออกให้นักบินอวกาศเข้าไปจัดเก็บสิ่งของที่จะเป็นต่อไป

 

อ้างอิง – SpaceX

สื่อออนไลน์ คอนเทนต์ด้านอวกาศ การสํารวจอวกาศ และการค้นพบใหม่ ๆ โดยเน้นสร้างสรรค์เนื้อหาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสนุกไปกับความรู้ที่ได้รับ