12 กรกฎาคม จรวด Falcon 9 ทำภารกิจการส่งดาวเทียม Starlink ตามปกติ โดยตัวจรวดได้บินขึ้นจากฐานปล่อย SLC‑4E ณ Vandenberg Space Force Station ในแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับดาวเทียม Starlink จำนวน 20 ดวง หลังจากการปล่อย จรวดท่อนแรกได้แยกตัวออกและกลับมาลงจอดยังเรือโดรน Of Coure I Still Love You ภารกิจทุกอย่างดูราบรื่นจากตัวเลขสถิติการปล่อยมากกว่า 354 เที่ยวบิน
ความผิดพลาดครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับจรวด Falcon 9 นั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2016 เมื่อตัวจรวด Falcon 9 ที่เตรียมการปล่อยดาวเทียม AMOS-6 อยู่ดี ๆ ก็เกิดระเบิดคาฐานปล่อย LC-40 ณ Cape Canaveral Air Force Station ขณะเติมเชื้อเพลิงเพื่อทดสอบ ภายหลังพบว่าเกิดจากระบบความดันในจรวดท่อนที่สอง ทำให้ SpaceX ต้องใช้เวลากว่า 4 เดือนในการแก้ไขปัญหาและกลับมาขึ้นบินได้อีกครั้งในเดือนธันวาคม 2016 หรืออุบัติเหตุครั้งใหญ่อีกครั้งเกี่ยวกับ Falcon 9 ที่เป็นการระเบิดในเที่ยวบิน ก็เกิดขึ้นย้อนกลับไปในปี 2015 ในเที่ยวบิน CRS-7 วันที่ 28 มิถุนายน 2015 เมื่อจรวด Falcon 9 ระเบิดออกขณะนำส่งสัมภาระขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ นำไปสู่การปรับปรุงตัวจรวดครั้งใหญ่
แต่ในภารกิจ Starlink กรกฎาคม 2024 นี้ ความผิดปกติก็ได้เกิดขึ้นเมื่อเราจะสังเกตเห็นน้ำแข็งเกาะอยู่บริเวณทางเดินเชื้อเพลิงในส่วนของ Second Stage หลังจากที่มันได้แยกตัวออกจาก First Stage เรียบร้อยอย่างน่าผิดสังเกต น้ำแข็งเหล่านี้บางส่วนได้หลุดลอกออกมาและถูกทำให้ระเหิดโดยไอร้อนจากเครื่องยนต์ Merlin Vacuum ของจรวดท่อนที่ที่สองจนปรากฎเป็นประกายให้เห็นได้ชัดเจนในกล้องที่กำลังถ่ายทอดสดกลับมายังโลก
ในการปล่อยดาวเทียม Starlink นี้ Second Stage จำเป็นต้องทำการ Burn ทั้งหมดสองรอบด้วยกัน รอบแรกเป็นการ Burn ต่อจากจรวด First Stage และการ Burn ครั้งที่สองก็เพื่อปรับวงโคจรให้เป็นวงกลมตามที่ออกแบบ และปล่อยดาวเทียม Starlink ทั้ง 20 ดวงออก อย่างไรก็ตาม ในการ Burn ครั้งที่สอง เครื่องยนต์ Merlin Vacumm ดันเกิดปัญหาจุดไม่ติดและได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง แม้ SpaceX จะตัดสินใจปล่อยดาวเทียม Starlink ออกจากตัวจรวดได้ แต่ดาวเทียมทั้งหมด ก็ตกกลับสู่บรรยากาศที่สุดในภายหลัง
SpaceX พยายามส่งคำสั่งให้ตัวดาวเทียม Starlink ปรับวงโคจรด้วยระบบ Electrict Propulsion บนดาวเทียม แต่เนื่องจากระดับความสูงของ Starlink ที่ปล่อยออกไปโดยไม่มีการ Burn ช่วยจาก Second Stage นั้น ทำให้ Starlink มีจุดโคจรใกล้โลก (Apogee) ที่ 135 กิโลเมตรเท่านั้น และไม่สามารถสู้กับแรงเสียดทานจากบรรยากาศของโลกได้ ทำให้ดาวเทียมทุกดวง ตกกลับและเผาไหม้ในบรรยากาศในที่สุด
หลังจากเกิดปัญหานี้แน่นอนว่าภารกิจ Starlink รอบนี้ถือว่า “ภารกิจล้มเหลว” โดยสมบูรณ์ เนื่องจากดาวเทียมทั้งหมดไม่ได้ถูกส่งไปยังวงโคจรที่กำหนดไว้ ทำให้ตัวเลขสถิติเที่ยวบินสำเร็จต่อเนื่องของ SpaceX ต้องเริ่มนับใหม่จาก 0 โดยทันที แถมองค์การบริหารการบินแห่งชาติ (FAA) ยังต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและสั่ง “ห้ามบิน” (Ground) จรวด Falcon 9 ครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับ SpaceX มาก ๆ เนื่องจาก SpaceX มีตารางการปล่อย Falcon 9 ที่ค่อนข้างถี่ แทบจะสับดาห์ละครั้งหรือสองครั้ง โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา Falcon 9 ได้ขึ้นบินทั้งหมด 96 เที่ยวบินและเป็นเที่ยวบินที่ประสบความสำเร็จแบบ 100% ทุกเที่ยวบิน
SpaceX ไม่ได้มีแถลงการอะไรออกมาหลังจากนั้น แต่ Elon Musk เองได้ออกมากล่าวผ่านทาง X บอกว่า จรวด Falcon 9 ในท่อนที่สองนั้นเกิดการระเบิด หรือที่ SpaecX จะเรียกว่า RUD ย่อมาจาก Rapid Unscheduled Disassembly (ระเบิดนั่นแหละ) โดยไม่ได้พูดถึงสาเหตุเพิ่มเติม
และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ช่วงเวลาหลังจากนั้น ภารกิจ Falcon 9 ต้องถูกยกเลิกหมด และเราก็ไม่ได้เห็นจรวดลำใดในโลกบินขึ้นเลย เว้นแต่จรวด Long March 4B ที่นำส่งดาวเทียม Gaofen-11 จากฐานปล่อยในไท่หยวนของจีน ในวันที่ 19 กรกฎาคม
วันที่ 26 กรกฎาคม 2024 เป็นเวลา 13 วัน หรือประมาณสองสัปดาห์หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว SpaceX ได้ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ว่า FAA ได้อนุมัติให้ Falcon 9 กลับมาขึ้นบิน (Return to Flight) อีกรอบ และทาง SpaceX พร้อมทำภารกิจต่อเลยในทันที คือการปล่อยดาวเทียม Starlink โดยในการประกาศนั้น ยังมีการแถลงข้อเท็จจริงแบบละเอียดจาก SpaceX เองครั้งแรกด้วยเช่นกัน โดยได้ถูกประกาศไว้ใน Falcon 9 Returns to Flight
SpaceX บอกว่าปัญหานั้นจากการตรวจสอบพบว่าเกิดจากรอยร้าวในทางเดินออกซิเจนเหลว ที่เข้าไปสู่ Sensor วัดความดัน (SpaceX เรียกว่า Sense Line) ซึ่งเกิดจากแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ จนทำให้ออกซิเจนเหลวรั่วไหลออกมา SpaceX ได้แก้ปัญหาเบื้องต้นด้วยการนำเอาเส้น Sense Line ที่เชื่อมต่อกับทางเดินออกซิเจนหลักออกจากดีไซน์ของ Second Stage และทดสอบที่ฐานการทดสอบของ SpaceX ใน McGregor รัฐเท็กซัส และพบว่าจรวด Second Stage ใช้งานได้ปกติ และย้ำว่าระบบ Sensor ดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นและสามารถทดแทนได้ด้วย Sensor ตัวอื่น ๆ อยู่แล้ว ส่วนการแก้ปัญหาแบบระยะยาว SpaceX จะไล่เช็คการทำงานของ Sense Line ทั้งหมด และอาจยกเลิก Sensor ในลักษณะดังกล่าวเพื่อแทนที่ด้วยระบบอื่น
และหลังจากนั้นในวันที่ 27 กรกฎาคม 2024 SpaceX ก็ได้กลับมาทำการบิน Falcon 9 อีกครั้งในเที่ยวบินส่งดาวเทียม Starlink จากฐานปล่อย LC-39A ใน NASA Kennedy Space Center เป็นการทำ Return to Flight ที่ใช้เวลาเพียงแค่ 14 วันเท่านั้น หลังจากนั้นในอีก 30 ชั่วโมงถัดมาระหว่างวันที่ 27-28 กรกฎาคม จรวด Falcon 9 อีกสองลำก็ได้บินขึ้นจากฐานปล่อยใน Space Launch Complex 40 ณ Cape Canaveral Space Force Station และ Vandanberg Space Force Station ตามลำดับ เรียกได้ว่ากลับมาอย่างฉุดไม่อยู่จริง ๆ เป็นการบ่งบอกว่า Falcon 9 กลับมาให้บริการตามปกติเรียบร้อย
สำหรับเหตุการณ์นี้ ก็นับว่าเป็นการแสดงความแข็งแกร่งของ SpaceX ในการจัดการกับปัญหาได้เป็นอย่างดี และถือว่าเป็นหนึ่งในการทำ Return to Flight ที่รวดเร็วมาก ๆ พูดตรง ๆ ก็คือเร็วกว่า Turnaround (การให้บริการในเที่ยวบินถัดไป) ของการบินจรวดของบริษัทอื่น ๆ ด้วยซ้ำ และสุดท้ายก็ดูจะไม่ได้กระทบต่อตารางบินโดยรวมของบริษัทขนาดนั้น แม้ก่อนหน้านี้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า การถูกสั่ง Ground อาจกระทบต่อภารกิจเที่ยว Crew-9 ที่จะเป็นการส่งนักบินอวกาศเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติ แต่ NASA และ SpaceX ก็ตัดสินใจร่อนจนหมายเชิญสื่อให้มาชมการปล่อยในช่วงกลางเดือนสิงหาคมอยู่ดี หมายความว่าทั้ง NASA และ SpaceX ทราบดีว่า Falcon 9 ยังไงก็จะได้กลับมาขึ้นบินในเร็ววันแน่ ๆ
ที่ก็นับว่าเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งด้านอวกาศที่สำคัญในปี 2024 เพราะอย่างไรก็ตาม เราก็คงห้ามไม่ให้ปัญหามันเกิดไม่ได้แต่การแก้ปัญหาในแบบ SpaceX ก็ถือว่าน่าชื่นชมและเอาเป็นตัวอย่างมากเลยทีเดียว
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co