ค้นพบรูปแบบการแผ่ของ Fast Radio Bursts จากห้วงอวกาศอันลึกลับที่แผ่ซ้ำ ๆ ทุก 16 วัน

จากการค้นพบ Fast Radio Burst ใหม่ 13 แห่ง และค้นพบที่แผ่ซ้ำ ๆ ได้เป็นครั้งที่ 2 เมื่อประมาณเดือนมกราคมในปีที่ผ่านมา นี้ก็นับว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบรูปแบบการแผ่ของ Fast Radio Bursts ที่สามารถแผ่ซ้ำ ๆ กันได้ในทุก ๆ 16 วัน

คลื่น Fast Radio Burst เป็นปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่เป็นแหล่งกำเนิดคลื่นความถี่ที่กะพริบบนท้องฟ้า ซึ่งเราจะมองเห็นได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์วิทยุ (Radio Telescope) ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลายพันล้านครั้งแล้ว แต่นักดาราศาสตร์เพิ่งได้ตรวจพบเป็นครั้งแรกในปี 2007 และล่าสุดในปี 2019 ที่ผ่านมานี้เอง

ตำแหน่งที่ตั้งของ FRB ที่นักวิจัยได้ประกาศรูปแบบการแผ่คลื่นครั้งใหม่ออกมา มันเกิดใกล้ ๆ กับกาแล็กซีกังหันแห่งหนึ่ง ที่มา – Nature

หนึ่งในการค้นพบที่สำคัญและเพิ่งจะประกาศออกมาในไม่กี่วันที่ผ่านมาคือการค้นพบรูปแบบการแผ่ของ Fast Radio Bursts จากในห้วงลึกของอวกาศที่แผ่ซ้ำ ๆ ทุก 16 วัน หรือเรียกอีกอย่างว่าปรากฏการณ์ Repeating FRB ที่นักดาราศาสตร์ได้ศึกษาข้อมูลจาก Canadian Hydrogen Intensity Mapping Experiment Fast Radio Burst Project (CHIME/FRB) ที่กำลังศึกษา FRB ที่อยู่ข้าง ๆ กับกาแล็กซีกังหันอันหนึ่ง มันมีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า FRB 180916.J0158+65 ที่เคยประกาศการค้นพบออกมาเมื่อตอนต้นปีที่แล้ว

อ่านการค้นพบครั้งก่อนได้ที่นี้ นักดาราศาสตร์พบ Fast Radio Burst ใหม่ 13 แห่ง และแห่งที่แผ่ซ้ำ ๆ ได้เป็นครั้งที่ 2

โดยนักดาราศาสตร์และนักวิจัยได้ทำการสืบค้นและหาข้อมูลจากข้อมูลเก่า ๆ ของตัว FRB ย้อนกลับไป และค้นพบว่าในช่วง 4 วันแรกของวัฎจักรนี้มันจะแผ่คลื่นและปล่อยคลื่นออกมาในทุก ๆ ชั่วโมง หลังจากนั้นอีก 12 วันมันจะเข้าสู่ภาวะเงียบสงบ บางครั้งมันจะก้าวข้ามการแผ่แบบนี้ออกไปเลยหรือเรียกง่าย ๆ ก็คือปล่อยคลื่นออกมาครั้งเดียวแล้วก็เงียบหายไป ซึ่งนักวิจัยได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในตอนนี้ว่าตัว CHIME ที่ใช้จับตาดูมันไม่สามารถที่จะตรวจจับมันได้ตลอดทุกช่วงการเกิดการแผ่ ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าการตรวจจับโดยใช้เครื่องมือนี้เกิดความผิดพลาดขึ้นในช่วงเวลาที่มันเกิดการแผ่ซ้ำ ๆ (ช่วง 4 วันแรก)

CHIME ณ Okanagan Valley ใน British Columbia ที่มา – Andre Renard

ในตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถบอกได้แน่ชัดว่ารูปแบบการแผ่แบบนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นแบบนี้ และอีกอย่างคือการแผ่ในรูปแบบนี้มันแทบจะไม่ได้ใกล้เคียงกับรูปแบบที่ผ่าน ๆ มาของ FRB ที่ตรวจสอบและวัดได้เลย

แต่โดยทั่วไปแล้ว รูปแบบการแผ่แบบนี้คล้าย ๆ กับการแผ่ของวัตถุที่หมุนหรือโคจรรอบวัตถุท้องฟ้าในทางดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ตัวอย่างเช่นดาวนิวตรอนที่มักจะกระพริบเป็นประจำเมื่อมองจากเครื่องตรวจจับคลื่น X-ray ที่อยู่บนโลก เนื่องจากจุดที่ร้อนบนพื้นผิวของมันหมุนเข้า ๆ ออก ๆ คล้ายกลับหอประภาคารที่มีไฟหมุนไปมาตลอดเป็นต้น

ดังนั้นแล้วการค้นพบครั้งนี้ได้บอกความสำคัญของปรากฎการณ์ Repeating FRB ที่เกิดซ้ำ ๆ กันในแหล่งเดิมนั้นเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น และรูปแบบในการเกิดของมันก็มีความคล้ายคลึงกับการโคจรรอบวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเอกภพ เป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะมีการค้นพบและศึกษาถึงรูปแบบใหม่ ๆ และตอบคำถามว่าการเกิด FRB แบบนี้เกิดขึ้นกับทุก ๆ วัตถุในเป็นวัตถุท้องฟ้าเลยหรือไม่ อย่างไร หรือครอบคลุมไปถึงวัตถุทางดาราศาสตร์แบบไหนบ้าง

อ้างอิง

Mysterious ‘fast radio bursts’ from deep space repeat themselves every 16 days

A repeating fast radio burst source localized to a nearby spiral galaxy

มายด์ - บรรณาธิการและนักเขียน นิสิตปี 1 ภาคฟิสิกส์ จุฬาฯ สนใจเรื่องอวกาศ วิทยาศาสตร์ BLACKPINK อดีตไอดอลที่ออกวงการมาแล้ว และในปัจจุบันนี้เป็น Atomic Queen Ambassador of Physics 2019