จากผลการวิจัยล่าสุดของนักดาราศาสตร์ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ที่ตรงนั้นไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากโลกของเราในวงโคจรของดาวพฤหัส มีดาวเคราะห์น้อยดวงนึงที่หลบซ่อนตัวอยู่มาเป็นเวลานาน จนกระทั่งวันนี้ที่เรารู้ว่า 2015 BZ509 นั้นคือผู้ลี้ภัยจากระบบดาวอื่น และหลบหนีมาพักพิงในระบบสุริยะเป็นเวลานานกว่า 4.5 พันล้านปีแล้ว
แตกต่างจาก Oummuamua วัตถุผู้มาเยือนจากช่องว่างระหว่างดาวที่ไกลแสนไกลออกไป (อ่านเรื่อง Oummuamua ได้ที่นี่) 2015 BZ509 นี้เป็นดาวเคราะห์น้อยจากระบบดาวอื่นดวงแรกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ของเรา แต่คำถามที่ยังคาใจนักดาราศาสตร์หลาย ๆ คนก็คือ
มันมาจากไหน (วะ)
เช่นในกรณีของ Oummuamua นั้นมันผ่านมาเป็นเวลาสั้น ๆ อย่างมาก ทำให้เราไม่สามารถระบุได้ว่ามันมาจากไหน ในขณะที่ 2015 BZ509 นั้นย้ายเข้ามาในยุคต้น ๆ ของระบบสุริยะ การย้อนเวลาไปดูแหล่งที่มานั้นสามารถทำได้ แต่ทว่าดาวดวงที่มันจากมาไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมแล้ว การที่จะระบุบ้านเกิดที่แท้จริงของมันนั้นก็จะยากขึ้นมาหน่อย
2015 BZ509 นั้นถูกค้นพบในปี 2015 โดยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS (ย่อมาจาก Panoramic Survey Telescope and Rapid Response System) กล้องตัวเดียวกันกับที่ค้นพบ Oumuamua เมื่อปีที่แล้ว และมันก็ทำให้นักดาราศาตร์ก็ต้องฉงนกับพฤติกรรมสุดประหลาดของมัน เมื่อวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะนั้นล้วนแต่โคจรในทิศทางเดียวกัน (Prograde Orbit) แต่เจ้า 2015 BZ509 นั้นกลับเป็นหนึ่งใน 0.01% ที่โคจรตรงกันข้าม (Retrograde Orbit) และนั่นดึงความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างมาก
เมื่อนักวิทยาศาสตร์นำข้อมูลของมันไปจำลองเพื่อย้อนรอยไปดูแหล่งกำเนิดของมัน ความเป็นไปได้ก็คือ 2015 BZ509 นั้นมีที่มาจากนอกระบบสุริยะของเรา และถึงแม้จะมีอีกมากมายที่เราจะได้เรียนรู้จากต้นกำเนิดและองค์ประกอบของมัน แต่เพียงแค่เริ่มต้นรู้จักมันก็ทำให้เราเข้าใจระบบสุริยะของตัวเองได้มากขึ้นแล้ว เช่นเราสามารถตรวจสอบดูการเคลื่อนที่ของบรรดาดาวเคราะห์แก๊สในช่วงที่ระบบสุริยะกำลังเริ่มต้น ซึ่งสามารถอธิบายการเกิดของระบบสุริยะของเราได้
แม้จะโคจรกันคนละฝั่ง แต่เวลา 1 ปีบน 2015 BZ509 นั้นกลับเท่ากันกับ 1 ปีบนดาวพฤหัส (ประมาณ 11 ปีครึ่ง ดูได้จากวีดีโอด้านล่าง) และการค้นพบในครั้งนี้อาจจะทำให้เราต้องรื้อหนังสือเรียนใหม่หมดอีกครั้ง ความเชื่อที่ว่าดาวเคราะห์น้อยจะอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัส รวมทั้งแถบไคเปอร์อาจจะไม่เป็นจริงแล้ว และระบบสุริยะของเราอาจจะรกกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามในตอนนี้ยังไม่มีแผนที่จะส่งยานอะไรไปสำรวจหรือทักทายวัตถุจากนอกระบบสุริยะแต่อย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญที่อยากให้นักดาราศาตร์ทำมากที่สุดก็คือ
ตั้งชื่อให้มันเรียกง่าย ๆ หน่อยสิ (ไหว้ละ)
อ้างอิง :