ดาราศาสตร์ชาติพันธุ์ จะกลางเมืองหรือชายชอบก็คนใต้ฟ้าเดียวกัน

“The nitrogen in our DNA, the calcium in our teeth, the iron in our blood, the carbon in our apple pies were made in the interiors of collapsing stars. We are made of starstuff.” 

– Carl Sagan

“พี่ครับ ถ้าเราไปอยู่ดาวอังคาร แล้วเราจะหายใจยังไงหรอครับ?”

“อืม นั่นน่ะสิ พี่ก็ไม่รู้แฮะ แต่บนดาวอังคารมันเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เราคิดว่าไงล่ะ?

“อ๋อพี่ งั้นเราก็เอาต้นไม้ไปปลูกสิ ต้นไม้จะได้เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นออกซิเจนไง”

บทสนทนานี้ของเรากับเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่คุ้นชินกับป่าไม้ บทสนทนานี้คือส่วนหนึ่งของของการผจญภัยที่มีค่าที่สุดในช่วงเวลาก่อนที่เราจะเดินทางมาศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เดือนตุลาคมปี 2020 ระว่างที่เรากำลังเรียนออนไลน์จากอีกฝั่งของโลก เรารู้สึกเบื่อกับชีวิตที่วนกับการทำการบ้าน เรียน นั่งหน้าคอมทั้งวัน รวมถึงข่าวการเมืองต่าง ๆ โพสท์เกี่ยวกับปัญหาสังคมเต็มหน้าฟีด เราตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ และทำไปทำไม เราจะเป็นส่วนนึงที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันในสังคมได้ยังไงบ้าง

เราเลื่อนฟีดเฟสบุคไปเรื่อยๆ แล้วเจอกิจกรรมอาสา เป็นพี่เลี้ยงเด็กพาเดินป่า ที่เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มันก็กระตุกให้จำได้ว่า เรามีความสุขกับการได้พูดคุยกับเด็กๆ และคิดว่าเราน่าจะมีอะไรไปแชร์ให้น้อง ๆ ได้เยอะ ตอนนั้นเลยตัดสินใจสมัครไป น้อง ๆ มีกัน 24 คน อายุระหว่าง 7-15 ปี เป็นน้องจากบ้านเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง แม้เวลาจริง ๆ ของค่ายจะเป็นแค่ 2 วัน 1 คืน แต่เราตัดสินใจย้ายไปอยู่เชียงใหม่คนเดียวเพื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ที่นั่น

เสียงเพรียกจากดาวอังคาร

คืนนั้นในค่าย  หลังจากเดินป่าด้วยกันก็เริ่มเข้าสู่ช่วงกลางคืน ตอนนั้นเป็นปลายเดือนตุลาคม หน้าฝนต้นหนาว ทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เมฆเยอะจนเราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ดูดาวกับน้อง ๆ แต่โชคดี ในค่ายเยาวชนเชียงดาว ท่ามกลางบรรยากาศของดอยหลวงเชียงดาว ในคืนนั้นฟ้าใสมาก เราวิ่งกลับห้องไปเอาของเล่นสุดที่รักซึ่งก็คือเลเซอร์ชี้ดาว จริง ๆ เราก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมเราถึงพกมันตลอดเวลา แต่มันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ๆ

กิจกรรมรอบกองไฟในคืนนั้น เราฟังความประทับใจในวันนั้นของพี่ ๆ น้อง ๆ จนไมค์ถูกยื่นมาถึงเรา ซ้ายมือของเรา (ทิศตะวันออก) คือดาวเคราะห์สีแดงดวงหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง Conjunction (ใกล้โลกที่สุดในรอบปี) พอดี เราเล็งเลเซอร์ไปที่ดาวสีแดงสว่างจ้าดวงนั้นแล้วพูดว่า

“น้อง ๆ นี่คือดาวเคราะห์ที่เราอยากไปกัน”

สายตาของเด็กๆ 24 คน ที่จ้องไปดาวอังคารและว้าวให้กับเลเซอร์ของเรา ก็ทำให้เราว้าวไม่ต่างกันเลย ในคืนนั้นมีดาวเคราะห์อยู่ 3 ดวง และดวงจันทร์อีกหนึ่ง เราให้น้องลองสังเกตตำแหน่งของดาวเคราะห์และลักษณะของมันว่าต่างจากดาวฤกษ์ยังไง สอนหาดาวเหนือด้วยกลุ่มดาวค้างคาว หลังจากนั้นก็เริ่มพูดถึงนิทานเกี่ยวกับดวงดาว เรื่องรัก ๆ ของสามเหลี่ยมฤดูร้อน ตำนานหนุ่มทอผ้าและสาวเลี้ยงวัว ที่ดาวเดเนบคือหงส์ที่เชื่อมเป็นสะพานให้นางฟ้าโอริฮิเมะ (ดาวเวกา) และฮิโกโบชิ (ดาวอัลแทร์) ข้ามแม่น้ำ (ทางช้างเผือก) มาเจอกัน ทุกวันที่ 7 เดือน 7 หลังจากนั้น นิทานดวงดาวก็มาจากจินตนาการของน้อง ๆ เอง

ในคืนนั้นเลเซอร์ของเรากลายเป็นดินสอสี และท้องฟ้าเป็นก็กลายเป็นผืนกระดาษขนาดใหญ่ที่อนุญาตให้เด็ก ๆ มองขึ้นไปและได้ปลดปล่อยจินตนาการให้เป็นอิสระกว่ากระดาษแผ่นใดบนโลกจะให้ได้ เรานอนลงบนสนามหญ้ากับน้องๆ และฟังเรื่องราวจากรูปวาดของน้องๆ ที่เชื่อมดาวแต่ละดวงเข้าด้วยกัน

“พี่ครับ หมากำลังตะครุบแมว” น้องคนหนึ่งกล่าว “พี่ครับ ดาวดวงนั้นเคลื่อนที่เร็วมากเลย กระพริบได้ด้วย” เรารีบหันไป “นั่นมันเครื่องบิน!” น้อง ๆ หยอกเย้ากันไปกันมาใต้แสงดาว

ระหว่างรับฟังจินตนาการของเด็ก ๆ ก็มีคำถามมากมาย “ทำไมดาวบางดวงถึงสว่างกว่าดวงอื่น” “จริง ๆ แล้วดาวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร” หรือ “ถ้าเราไปอยู่บนดาวดวงอื่น เราจะเห็นโลกสว่างแบบนั้นมั้ย” แต่ก่อนจะตอบคำถามของเด็ก ๆ เราจะถามก่อนว่า “แล้วเราคิดว่ายังไงล่ะ” เพื่อหลีกเลี่ยงการลัดกระบวนการเรียนรู้ของน้อง ๆ

เราไม่ได้เป็นคนสอนคนเก่งนัก และเราคงสอนน้อง ๆ ไม่ได้ทุกเรื่อง เราใช้ดาราศาสตร์เป็นตัวกลางในการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อให้น้อง ๆ ชอบดาราศาสตร์ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขา กล้าที่จะถาม กล้าที่จะจินตนาการ และกล้าที่จะพยายามหาคำตอบ อย่างอิสระ และระหว่างที่เราเองมองไปที่จักรวาลอันกว้างใหญ่ร่วมกับน้อง ๆ เราก็คิดขึ้นได้ว่า การได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ดูจะไกล และยิ่งใหญ่ อย่างจักรวาล คงจะช่วยกระตุ้นให้ เรากล้าที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับทุก ๆ อย่างโดยไม่ต้องกลัวว่ามันจะใหญ่เกินตัวเราหรือเปล่า ซึ่งรวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับความอยุติธรรม

วันต่อมา ก่อนน้อง ๆ ขึ้นรถกลับสันทราย มีน้องคนหนึ่งเข้ามาคุยกับเราว่า เขาชอบฟิสิกส์ ชอบเวลาได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ เรื่องราวก็เกิดขึ้นจากที่เราได้อธิบายระหว่างเดินป่าด้วยกัน เช่นการเกิดรุ้ง วัฏจักรของน้ำ ที่เราถามน้องว่าเชื่อป่าว ว่าเดี๋ยวน้ำจากน้ำตกที่เราเดินผ่านเนี่ย จะเป็นเมฆบนนั้น แล้วเดี๋ยวมันก็จะกลับมาเป็นน้ำตกใหม่ ในตอนนั้นน้องถามเราว่าทำไมโรงเรียนสอนฟิสิกส์เป็นการคำนวณไปหมดเลย และน้องชอบดาราศาสตร์ แต่โรงเรียนไม่สอนเลย ตอนนั้นเราเลยบอกไปว่าเดี๋ยวเราจะส่งหนังสือไปให้นะ

นักบินอวกาศ

เราแอบส่อง Facebook ของพี่ ๆ ที่ดูแลบ้านกำพร้า แล้วเจอคลิปน้องคนนั้น นำหมวกกันน็อคมาจินตนาการเป็นชุดอวกาศ และอธิบายว่าตัวเองกำลังไปดาวอังคาร ตอนนั้นเลยได้รู้ว่าน้องมีความสนใจทางด้านนี้มากจริง ๆ และในจุดที่น้องอยู่คงมีโอกาสเข้าถึงน้อย เราไม่อยากปล่อยให้ความฝันของน้องจางไป เราได้รู้ว่าน้องกำลังจบ ม.3 พอดี จึงตัดสินใจช่วยสอนหนังสือให้ “นักบินอวกาศ” และแนะนำทุน พสวท. ให้ เราดีใจที่น้องสนใจ จึงเริ่มลุยไปด้วยกัน

หลังจากค่ายที่เชียงดาว เราเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปแม่แฝกสันทรายแทบทุกอาทิตย์ เพื่อสอนดาราศาสตร์พื้นฐานให้กับน้อง ๆ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างโลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ที่กำหนดวันเดือนปี การเกิดปรากฎการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง อุปราคา ระบบสุริยะ ต่าง ๆ และติววิทยาศาสตร์ทั่วไปให้เด็กชายนักบินอวกาศ เพื่อเตรียมสอบ บ้างก็ไปคนเดียว บ้างก็ชวนเพื่อน ๆ ไป และมีเพื่อนหลาย ๆ คนฝากสื่อการเรียนรู้มาให้น้อง เช่นฝากใจจากมหาสารคาม ด้วยหัวใจที่สร้างจาก 3D Printer

จนช่วงที่เกิดปรากฎการณ์ดาวพฤหัส และดาวเสาร์กำลังขยับเข้ามาใกล้กันที่สุดในรอบ 400 ปี (The Great Conjunction) เราตัดสินใจซื้อกล้องโทรทรรศน์ เพื่อให้น้อง ๆ ได้ส่อง Galilion Moons ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัส และวงแหวนดาวเสาร์ รวมถึงได้ส่องวัตถุท้องฟ้าที่เราเคยมองด้วยกันอย่างใกล้ขึ้น  ทุกครั้งที่ได้เจอกัน น้อง ๆ จะมาพร้อมกับคำถามที่เหมือนตั้งใจจดไว้เพื่อรอเราตอบ

“พี่น้ำหวาน วันก่อนดวงจันทร์ยิ้ม แต่มีแสงตรงที่ไม่ยิ้ม มันคือจันทรุปราคาที่พี่เคยบอกไหมคะ”

“พี่น้ำหวานคะ ดาว 2 ดวงที่เราส่อง มันค่อย ๆ เข้าใกล้กันทุกคืนเลย มันจะจูบกัน!” 

“พี่น้ำหวานครับ วันก่อนพวกเราเห็นดาวตกด้วย มันมาจากไหนหรอครับ”

และเหมือนเดิม เราจะถามน้องก่อนเสมอว่า “เราคิดว่ายังไงล่ะ”

เสียดายที่คืนที่ดาวเสาร์และดาวพฤหัสใกล้กันที่สุด ฟ้าปิด จึงอดพาน้อง ๆ ดูดาวเสาร์ กับดาวพฤหัสในเฟรมเดียวกัน แต่เอาจริง ๆ แทบทุกครั้งที่เราไป มักจะเมฆหนา ทั้งที่คืนก่อนหน้าฟ้าเปิด จนน้อง ๆ แซวเราว่าเป็นตัวเรียกเมฆ คืนที่เกิด The Great Conjunction นั้นเลยเปลี่ยนจากท่องอวกาศ มาเป็นท่องโลกแทน

เราเปิดรูปที่เราเคยไปต่างประเทศให้น้อง ๆ ดูรูปสัตว์ที่ไม่มีที่ไทย รูปบ้านเมือง สภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากไทย และภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่มีอยู่ประมาณหนึ่ง เช่นสุริยุปราคาวงแหวนที่เราไปถ่ายที่สิงคโปร์ ภาพท้องฟ้ากลางคืนของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นซีกโลกใต้จึงได้เห็นกลุ่มดาวกางเขนใต้ (กลุ่มดาวประจำตัวเรา) อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าไทย ดวงจันทร์ที่เป็นกระต่ายกลับหัว การได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของเรา ได้ทำให้เราย้อนคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้มาจากการเดินทาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของเราเอง และคงได้ทำให้น้อง ๆ ได้รู้ว่า บนโลกนี้ยังมีอะไรอีกมากมายที่รอให้น้อง ๆ ได้ไปพบเจอ

25 ธันวาคม 2020 เราติว “นักบินอวกาศ” วันสุดท้ายก่อนสอบ ทบทวนเรื่องการออกแบบการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ สอนฟิสิกส์เล็ก ๆ น้อย ๆ จริง ๆ เรากลัวน้องนอนดึก แต่น้องก็ยังยืนยันจะเรียนต่อ มันคงเพราะใจที่สู้ของน้องที่ทำให้เราเองไม่เคยเหนื่อยเลยที่จะแบ่งเวลาจากการเรียน เขียน Essay ยื่นมหาลัยที่สหรัฐฯ มาติวให้น้อง

ในวันสอบของ “นักบินอวกาศ” เราไปเชียร์น้องสอบที่โรงเรียนยุพราชฯ และนั่งเฝ้าน้องทั้งวันกับลูกของเจ้าของบ้านเด็กกำพร้าชื่อแบงค์ แบงค์อายุเท่ากับเรา เลยคุยกันได้ง่าย ระหว่างนั่งรอน้องสอบ แบงค์เล่าเกี่ยวกับครอบครัวของ “นักบินอวกาศ” ให้ฟัง ว่าที่ ๆ น้องมา ในวัยของน้อง คนที่นั่นมักไม่เรียนต่อ ทำงาน มีครอบครัวกันแล้ว และจริง ๆ ช่วงที่เราติวสอบให้น้อง เป็นช่วงหยุดยาว และน้องก็เกือบกลับบ้าน ซึ่งคำว่ากลับบ้านในที่นี่ ไม่ใช่แค่กลับไปหาแม่ แต่อาจคือกลับไปดำเนินชีวิตตามวิถีของที่นั่น ซึ่งคือการทำสวน และแต่ละวันก็คงต้องกังวลเรื่องที่ดินทำกิน จนน้องคงหลุดจากการศึกษาไปเลย

ระหว่างรอสอบก็คิดว่าถ้าน้องรู้สึกว่าข้อสอบยากไป จะคุยกับน้องยังไงดี น้องจะท้อจนไม่อยากเรียนต่อไปเลยรึเปล่า ด้วยความที่เราเองอยู่ในวงการแข่งขัน และบ่อยครั้งที่คนรอบตัวจะเสียใจจากผลที่เทียบความสามารถของตัวเองกับคนอื่น

ช่วงพักเที่ยงน้องมาหาเรา และสิ่งที่น้องพูดคือ “พี่ผมเห็นเด็กชื่อโรงเรียนเท่ ๆ เยอะเลย” บ้างก็ว่า “ข้อสอบมีถามว่า สามารถเอาจักรยานที่พังไปทำเป็นอะไรได้บ้าง ผมอยากเอาไปทำเป็นเครื่องออกกำลังกายอ่ะพี่” หรือ “เอ้อ ที่พี่สอนเมื่อคืนช่วยได้เยอะเลย” นักบินอวกาศเริ่มสำรวจสิ่งรอบตัว “โรงอาหารโรงเรียนยุพราชใหญ่จัง” น้องไม่แม้แต่จะแสดงท่าทีท้อแท้  หรือรู้สึกเสียใจแต่อย่างใด น้องเล่าเกี่ยวกับข้อสอบ ผู้คน และสถานที่ที่น้องได้เจอในวันนั้นอย่างสนุกสนาน “นักบินอวกาศ” ได้ทำให้เราเข้าใจว่า บางทีการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องเอาชนะใคร ก็ทำให้เราเปิดใจกว้าง และเห็นคุณค่าในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้มากขึ้น

สุดท้ายแล้วถึง “นักบินอวกาศ” จะสอบไม่ติดทุน แต่น้องได้เห็นโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น ได้รู้จักชื่อโรงเรียนเท่ ๆ ได้รู้ว่ามันยังมีโอกาสให้น้องอีกมากมาย เราไม่ได้บังคับว่าน้องจะต้องเรียนต่อ ม.ปลาย เราไม่ได้บอกว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับน้อง แต่เราแค่ทำให้น้องได้รู้ว่าน้องมีทางเลือก และถึงแม้น้องตัดสินใจที่จะกลับไปยังที่ ๆ น้องจากมา เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวตามวิถีเดิม เราก็ไม่ได้เสียใจกับการที่เราทุ่มเท เราเชื่อว่าจากความพยายามของเด็กคนนึงที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรนอกจากความเชื่อที่จะไปดาวอังคาร  ได้ทำให้น้องได้เห็นพลังในตัวเอง และไม่ว่าจากนี้น้องจะอยู่ที่จุดไหน ชุดอวกาศของน้องจะค่อย ๆ ขยับจากหมวกกันน็อคเก่า ๆ ใบหนึ่ง เป็นอะไรที่มากกว่านั้นได้แน่นอน

คืนวันสิ้นปี เราไปเค้าท์ดาวน์ที่บ้านน้อง ๆ ก่อนไปที่บ้าน ก็เดินเล่นตลาดวโรรสแล้วเจอคนขายหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์นานแล้ว เลยซื้อมา และติดไปที่บ้านน้อง ๆ ด้วย เราไปถึงก็วางไว้บนโต๊ะ 

“พี่น้ำหวานคะ อันนี้คือหอไอเฟลหรอคะ หนูขอตัดเก็บไว้ได้มั้ยคะ” น้องเปิดดูหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น แล้วมีข่าวเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงโควิดระบาด จึงขอเราเก็บภาพสถานที่เหล่านั้นไว้ การเล่าเรื่องการท่องเที่ยวของเรา ช่วยให้น้องฝันที่อยากจะไปให้ไกลขึ้นได้หน่อยแล้วสินะ

มกราคม เมื่อปี 2021 เดินทางเข้ามา หลังจากการสอนดาราศาสตร์น้อง ๆ มาซักพัก เราเริ่มจัดการเรื่องยื่นมหาวิทยาลัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็อยากเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานทางด้านดาราศาสตร์ โดยเฉพาะการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยอุปกรณ์ Optical ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

NARIT เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคน เราจึงได้รับโอกาสเข้าไปเรียนรู้ จากกล้องโทรทรรศน์เล็ก ๆ ที่เราซื้อให้น้อง เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากศึกษาด้านนี้ให้ลึกขึ้น และได้ไปดูการติดตั้งอุปกรณ์ Spectrograph กับกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร บนดอยอินทนนท์

ชายขอบ

เชียงใหม่ช่วงนั้นมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย พรบ. สภาชนเผ่า เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภค การศึกษา ฯลฯ ด้วยความที่น้อง ๆ ต่างก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์  ลาหู่ ม้ง ไทยใหญ่ และจากการสัมผัสกับน้อง ๆ ก็ได้เข้าใจถึงความขาดแคลนตรงนี้ ด้วยความผูกพัน และอย่างที่บอกว่าถึงความฝันของน้อง ๆ จะคือการช่วยที่บ้านทำไร่ ทำสวน ซึ่งก็ไม่ผิด แต่น้องต้องมีสิทธิ์เลือก ที่ไม่ใช่เพราะเกิดที่นั่น จึงเลือกได้แค่นั้น และเราคิดว่า หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน คงเป็นการช่วยที่ยั่งยืนอีกทาง 

เสาร์-อาทิตย์ ว่างจากการฝึกงาน เราเดินทางจากตัวเมืองไปสมาคมชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อพูดคุยถึงปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ และความสำคัญของสมาคมชนเผ่าพื้นเมือง หลัก ๆ คงเป็นการที่ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เคยถูกรับฟังอย่างจริงจัง รัฐฯ แก้ปัญหาไม่ตรงตามวิถีชีวิต หรือแม้แต่การที่คนเมืองพยายามยัดเยียดความเจริญในนิยามของตนเองให้ ฯลฯ

เดือนกุมภาพันธ์ผ่านไป เราไปช่วยน้อง ๆ ย้ายบ้านกัน เนื่องจากเจ้าของที่ที่เคยบริจาคต้องการที่คืน หลังขนของกันอย่างเหน็ดเหนื่อย เราก็ยังสนุกด้วยกิจกรรมเดิม คืนนั้นบังเอิญเห็นดาวตกกัน แน่นอน กิจกรรมคลาสสิค ปิดตาขอพรจากดาวตก 

“เราขออะไรกันบ้างเนี่ย”  เราถามน้อง ๆ “ขอให้ลุงตู่ออกไปครับ” เอ้อ ชื่นใจ

“ขอให้พี่น้ำหวานไม่ไปอเมริกาได้มั้ย”

“นี่ ถึงตัวพี่จะไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่พี่ได้ให้น้องไว้ คำพูด ความคิด มันจะยังอยู่นะ และนั่นแหละคือตัวตนของพี่ ไม่ใช่ร่างกาย ดวงดาวที่เรามองด้วยกันก็ยังอยู่ เราไม่ได้ไกลกันเลย”

“พี่น้ำหวานอย่าลืมถ่ายดวงจันทร์ที่เมกาฝากนะคะ”

“นี่ตา ตา แล้วก็ยิ้ม แค่รอยยิ้มก็เต็มฟ้าแล้ว” จินตนาการอันบริสุทธิ์ ได้ทำให้เราไม่เคยเบื่อเวลาที่มองดาว มันเหมือนมีหน้ายิ้มให้เราตลอดเลย

หลังจากนั้นไม่กี่วันเราได้รับข้อความจากทางทุนว่าเราจะต้องเดินทางไปอเมริกาในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าแล้ว กะทันหันอยู่นะเนี่ย โถ่ อดพาน้องๆดูดวงจันทร์บังดาวอังคาร กลางเดือนเมษาฯ เลย เราใช้เวลาที่เหลือในเชียงใหม่ เรียนรู้เกี่ยวกับงานทางด้าน Optics และหาลู่ทางศึกษาต่อด้านนี้ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ พรบ. สภาชนเผ่า เพื่อรวบรวมชื่อให้ได้มากที่สุด และเราต้องไปลาน้อง ๆ แล้ว

3 มีนาคม ครั้งสุดท้ายที่เราไปหาน้องๆ พี่ ๆ Optic Lab ของ NARIT ซึ่งมีชาวฝรั่งเศสที่มาทำ Post Doc ได้เดินทางไปหาน้อง ๆ ด้วยกัน วันนั้น NARIT ใจดีให้ยืมกล้องโทรทรรศน์ด็อบโซเนียน และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์มากมาย หลังจากกินมื้อเย็นด้วยกันเสร็จแล้ว เรากับพี่ ๆ จาก NARIT ได้สอนน้อง ๆ ใช้แผนที่ดาว หลังจากที่เราสอนจากการลากบนฟ้ามานานพอควร

“เดี๋ยวพี่น้ำหวานไม่อยู่แล้ว เราจะได้ดูดาวกันเองได้ทุกคืน”  พี่คนหนึ่งพูด แอบใจหายเหมือนกันนะเนี่ย

คืนนั้นเป็นอีกคืนที่ฟ้าใสแบบที่เราไม่คาดคิด เพราะช่วงกลางวันฝุ่นควันหนามาก จนคิดว่าไม่น่าจะเห็นดาว มันเลยย้อนนึกไปถึงคืนแรกที่เราได้ดูดาวกับน้อง ๆ ที่จากเมฆหนาทั้งอาทิตย์ แต่ฟ้าเปิดให้เราได้วาดเขียนกันที่เชียงดาว และคืนนี้เป็นอีกครั้งที่ฟ้าเป็นใจให้ เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่าถึงเวลาต้องลาแล้ว จากการหาดาวเหนือด้วยกลุ่มดาวค้างคาวเมื่อเดือนตุลาคม คืนสุดท้ายนั้น เราใช้ดาวหมีใหญ่ในการหาดาวเหนือ นั่นก็คือเกือบครึ่งปีเลยล่ะที่เราใช้เวลาด้วยกัน พี่โบ๊ท ลูกแท้ ๆ อีกคนของเจ้าของบ้านเด็กกำพร้าบอกกับเรา ว่าตั้งแต่ที่เรามาช่วยดูแล น้อง ๆ มีความมั่นใจในตัวเองกันมากขึ้นเยอะ กล้าคิด กล้าถาม ซึ่งเราคิดว่าเกือบ 5 เดือน ที่เราได้ทุ่มเททุกอย่าง ให้กับน้อง ๆ มันประสบผลมาก ๆ ทั้งกับตัวน้อง ๆ และกับตัวเราที่ได้เห็นภาพปัญหาได้มากขึ้น ได้แรงบันดาลใจในการต่อยอดความรู้ทางด้านที่เราสนใจต่อไป

อาจพูดได้ว่า เราทำนั่นนี่เต็มไปหมด ยังไม่ได้โฟกัสกับทางใดทางหนึ่ง จนอาจยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันนัก แต่สำหรับเรา เรายังอยากใช้ชีวิตด้วยความกระหายที่จะรู้ว่ามีอะไรให้เราได้รู้อีกบ้าง วันนึงเราคงจะแกร่งพอที่จะรวบรวมสิ่งที่เราสะสมมา แล้วทำบางอย่างให้สุดทาง

น้อง ๆ ได้รู้จักดวงดาวเพิ่มขึ้นเยอะเลยจากแผนที่ดาว จากพี่ ๆ ที่ทำงานเฉพาะทางเกี่ยวกับดาราศาสตร์ และที่พิเศษคือ น้องๆ ได้เจอกับพี่นักวิจัยชาวฝรั่งเศส (ประเทศที่ตั้งของหอไอเฟลที่น้อง ๆ เคยขอเราตัดเก็บไว้) การได้เจอต่างชาติที่มาจากประเทศที่น้อง ๆ อยากไป คงทำให้น้อง ๆ มีความมั่นใจในการที่จะฝันถึงการเดินทางไปต่างประเทศได้มากขึ้น คิด ๆ ดูแล้ว เรานี่ก็สรรหาทุกอย่างมาให้ ตามความสนใจของน้อง ๆ จริง ๆ เลยนะเนี่ย

กิจกรรมดำเนินไปเรื่อย ๆ จนเริ่มดึก ก็เข้าสู่ช่วงอำลาแล้ว น้อง ๆ กล่าวขอบคุณพี่ ๆ ที่มา เหมือนทุก ๆ ครั้ง และเป็นเราที่พูดจบ เราขอบคุณน้อง ๆ สำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้เล่นเป็นเด็กอีกครั้ง ได้รับความรัก มิตรภาพ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากตัวน้อง ๆ ได้แรงบันดาลใจมากมาย และข้อความสุดท้ายที่เราบอกน้องคือ

“แม้ว่าสังคมจะบอกว่าความฝันของน้องเป็นไปไม่ได้ ยังไงก็ตามแต่ พี่ขอให้น้องยังยืนหยัดจะที่จะสู้ต่อไป เชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ ถ้าน้องรู้สึกว่าไม่มีใครไปกับน้อง อย่างน้อยจะมีพี่คนนึงที่ไปด้วย ไปให้ถึงดาวอังคาร แบบที่น้องๆ อยากไป ไปด้วยกันนะ”

คืนสุดท้ายแล้ว ยากหน่อยกว่าเราจะเดินทางกลับจริง ๆ ได้ เป็นการกอดลาที่รู้สึกว่ากอดเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ มันคือความรักที่บริสุทธิ์ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เราเคยได้สัมผัสมา การจากลาครั้งนั้น มันก็แค่การจากลาเพื่อแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี แล้วรอวันกลับมาพบกันใหม่

กางเขนใต้ (Crux)

กลุ่มดาวที่เรายึดถือเป็นกลุ่มดาวประจำตัว คือ Crux โดยปกติทางซีกโลกเหนือจะใช้ดาวเหนือในการหาทิศเหนือ แต่ซีกโลกใต้ ไม่เห็นดาวเหนือ จึงใช้กลุ่มดาว Crux (กางเขนใต้) ในการหาทิศใต้แทน ซึ่งซีกโลกใต้นั้นมีประชากรแค่ประมาณ 10% ของโลก 

Crux อาจดูไม่ได้มีความสำคัญมากนักสำหรับคนหมู่มาก แต่มีความสำคัญมาก ๆ กับคนกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่เราทำอาจไม่ได้เปลี่ยนโลก แต่เราเชื่อว่ามุมมองในการมองโลก (และจักรวาล) ของน้อง ๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมากแน่นอน และการได้สัมผัสถึงพลังของตัวเอง การกล้าที่จะตั้งคำถามต่ออะไรก็ตาม จะทำให้น้อง ๆ กล้าที่จะไม่ยอมถูกกดขี่ กดขี่ทางอิสรภาพด้านความคิด พวกเขาฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น 

จบจากเชียงใหม่ เราต้องเดินทางไปยังอีกฝั่งของโลก เพื่อสั่งสมของในตัวให้มากขึ้น และหวังว่าเราเองจะเป็น Crux ให้กับใครได้อีกหลาย ๆ คน หวังว่าจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้จะช่วยให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคมได้สักวัน และเมื่อคุณอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว เราอยากบอกว่า คุณเองก็สามารถเป็น Crux ให้กับผู้คนต่อไปได้เช่นกันนะ

เรียบเรียงโดย ภิรมณ “น้ำหวาน” กําเนิดมณี ดาวกางเขนใต้

A dreamable stardust which lives life as an experience chaser. Cogito ergo sum. Human = Human.