เข้าสู่ช่วงเวลาสิ้นปีอีกครั้งหนึ่งและเป็นการสิ้นสุดทศวรรษที่ 2010 ทีมงาน SPACETH.CO จะพามาย้อนมองความฉิบหายที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาที่มนุษย์ได้ก่อกระทำทิ้งไว้บนโลกใบนี้ ซึ่งมิได้มีแค่ Climate change เพียงอย่างเดียวแต่ยังทิ้งความฉิบหายมากมายกายกองนับไม่ถ้วนไว้บนดาวเคราะห์ดวงนี้ให้แก่ลูกแก่หลาน
ซึ่งเราจะมาพาทุกท่านย้อนมองความฉิบหายที่มนุษย์ได้ก่อทิ้งไว้บนดาวเคราะห์ดวงนี้กันเพื่อเป็นอีกเสียงหนึ่งเพื่อสร้างความตระหนัก และหวังว่าเสียงเล็ก ๆ นี้จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของการกระทำของมนุษย์ที่ยังคงอยู่บนโลกใบนี้เพื่อรักษาดาวเคราะห์ที่เราเรียกว่า “บ้าน” ให้ยังคงเป็น “บ้าน” ที่น่าอยู่มิใช่บ้านที่มีแต่ความฉิบหายจากการกระทำของผู้คนที่อาศัยอยู่ใน “บ้าน” หลังนี้
ภาวะโลกร้อน
ภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องที่เราพูดกันมาอย่างยาวนาน มีการรณรงค์ แต่ดูเหมือนความพยายามที่เกิดขึ้นมันจะไม่มีความหายเลยแม้แต่น้อย ในทศวรรษที่ผ่านมาเราถึงจุดที่สามารถกล้าเรียกได้ว่า จุดที่อุณหภูมิของโลกอยู่ในจุดที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ 800,000 ปีที่ผ่านมา ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของโลกนั้นพุ่งทะยานไปถึง 415 PPM ซึ่งเป็นระดับที่เรียกได้ว่าสูงเกินกว่าที่ธรรมชาติจะสามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกได้จนหมด มิหน่ำซ้ำอัตราความต้องการพลังงานของมนุษย์โลกเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นเนื่องจากภาวะโลกร้อนและการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ เมื่อความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น เราก็ต้องเผาเชื้อเพลิงมากขึ้นก็โลกก็ยิ่งร้อน ตัวอย่างง่าย ๆ ของวงจร “อุบาทว์” นี้ก็เห็นกันได้ทั่วไป ยกตัวอย่างง่าย ๆ ทุกวันนี้อากาศร้อนมากยิ่งขึ้น คนก็เลยซื้อแอร์มาติดตั้งกันที่บ้านกันมากขึ้น ทำให้การบริโภคพลังงานมากขึ้น ทำให้หน่วยงานที่ผลิตไฟฟ้าต้องเพิ่มกำลังผลิตมากขึ้น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจึงต้องถูกเผาเพื่อไปผลิตไฟฟ้า ซึ่งการเผาไหม้ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ โลกก็จึงยิ่งร้อนมากขึ้น
อย่างที่เราทราบกันดีว่าภาวะโลกร้อนส่งผลให้น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น หมีขั้วโลกไม่มีข้าวกิน นั้นคือส่วนหนึ่งที่เราพอทราบกันดีจากสื่อต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งหลายคนมักมองว่าภาวะโลกร้อนนั้นเป็นเรื่องที่ไกลตัว
แล้วถามว่าสำหรับปัญหาโลกร้อนนี้ เรามีเวลาเหลือสำหรับการพยายามแก้ไขมันอีกนานเท่าไหร่ บางแหล่งก็บอกภายใน 2100 บางแหล่งก็บอก 2050 แต่ว่าสำหรับเรา เราจะบอกว่ามันกำลังจะสายเกินไปแล้วจากหลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นและเรามองเห็นอยู่ในเวลา ณ ขณะนี้
Positive Feedback
สิ่งที่คุณควรจะเข้าใจเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน มันไม่ใช่ว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นบ้างเพียงอย่างเดียว แต่เราควรจะเข้าใจว่าหากภาวะโลกร้อนมันยังคงดำเนินต่อไป ในอัตราที่คงที่ก็ตามหรือฉิบหายมากยิ่งขึ้น มันจะเกิดอะไรต่ออีกบ้างนอกจากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย น้ำทะเลสูงขึ้น และน้องหมีขาวหิวโซมากขึ้น นั้นคือสภาวะที่ตามมาจากภาวะโลกร้อนถึงจุดอิ่มตัวที่เรียกว่า Positive Feedback หรือแปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจง่ายที่สุดสำหรับประเด็นนี้คือ “กู่ไม่กลับ”
การกู่ไม่กลับของโลกนั้นคือสภาพที่โลกสร้างสภาวะให้ตัวเองร้อนต่อไป ต่อไป เรื่อย ๆ ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าคือจุดที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงกว่าสมัยยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 2.0 องศาเซลเซียส แล้วถามว่าโลกตอนนี้ร้อนกว่าเท่าไหร่ หลายแหล่งมักให้คำตอบว่า 0.8 องศาเซลเซียส ซึ่งถามว่ามันไกลไหมกว่าจะถึงจุดนั้น ในจุด ๆ นี้บอกได้เลยว่าไม่ไกลอีกต่อไปแล้ว
น้ำแข็งยิ่งละลาย โลกยิ่งร้อน
น้ำแข็งที่มีสีขาวช่วยสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์กลับไปสู่อวกาศ การที่โลกมีน้ำแข็งอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะไม่มากไม่น้อยจนเกินไปช่วยทำให้โลกมีอุณหภูมิที่พอเหมาะและคงที่ เมื่อน้ำแข็งสีขาวละลายกลายเป็นน้ำในมหาสมุทรที่มีสีน้ำเงิน สีที่เข้มของน้ำทำให้ดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้พื้นที่บริเวณนั้นร้อนขึ้น น้ำแข็งบริเวณนั้นก็ยิ่งละลายมากยิ่งขึ้น เป็นวัฏจักรแบบนี้วนเวียนไปเรื่อย ๆ นี่ยังไม่นับรวมถึงพื้นที่บนบกที่น้ำแข็งละลายแล้วถูกปกคลุมด้วยตะไคร้น้ำสีที่เข้มกว่ายิ่งเร่งการละลายของน้ำแข็งมากขึ้น ซึ่งการละลายของน้ำแข็งบนโลกในตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ขั้วโลกเพียงตำแหน่งเดียวแต่กำลังลามไปยังทั่วทุกพื้นที่บนโลก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่เป็น Permafrost ซึ่งเป็นบริเวณพื้นดินที่จับตัวรวมกับน้ำแข็งเป็นสภาพชั้นน้ำแข็งถาวร หรือบนธารน้ำแข็งถาวรบนเทือกเขาสูงทั่วทุกมุมโลก ทั้งเทือกเขาหิมาลัย ยอดเขาคิลิมันจาโร เทือกเขาแอลป์ เทือกเขาร็อกกี้ เทือกเขาแอนดีส ซึ่งแต่ละพื้นที่นั้นเป็นแหล่งพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำหลายสายที่สำคัญของโลก ซึ่งหากการละลายของน้ำแข็งของเทือกเขาต่าง ๆ กำลังดำเนินไปในทิศทางนี้อีกไม่นานประชากรโลกมากกว่า 1 ใน 3 ของโลกจะพบกับปัญหาอุทกภัยตามมาด้วยภาวะอดยากครั้งยิ่งใหญ่ของโลกเนื่องจากการขาดแคลนแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค ซึ่งเพียงแค่หากขาดแคลนน้ำจากเทือกเขาหิมาลัยเพียงแค่แหล่งเดียวก็กระทบกับประชากรเกินกว่าสองพันล้านคนที่อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา แม่น้ำเหลือง แม่น้ำสินธุ และแม่น้ำโขง นี่จะเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง
ทะเลกรด (Ocean Acidification)
มหาสมุทรคือพื้นที่รับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยกระบวนการทางเคมีที่เรียบง่าย นี่คือปัจจัยหลักที่ยังคงทำให้ทุกวันนี้ดาวเคราะห์โลกมีอุณหภูมิที่เย็นเพียงพอที่จะให้กำเนิดชีวิตได้ ไม่เหมือนกับดาวศุกร์ทั้งที่ปริมาณคาร์บอนของดาวทั้งสองแทบจะใกล้เคียงกันในช่วงยุคต้นกำเนิด
เราอาจจะคิดว่ามหาสมุทรจะรับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยออกมาฟรี ๆ โดยไม่ต้องมีสิ่งใดมาแลกเปลี่ยน ดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ผิดอย่างร้ายแรง เพราะการรับคาร์บอนไดออกไซด์ทุก ๆ โมเลกุลแลกเปลี่ยนมาด้วยค่าความเป็นกรดของน้ำทะเลมีความเพิ่มสูงขึ้น สามารถพูดได้ว่ายิ่งคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศยิ่งเยอะ ทะเลยิ่งเป็นกรด
ซึ่งปัจจุบันค่า pH ของมหาสมุทรทั่วโลกมีการลดลง 0.1 (จาก 8.2 เหลือ 8.1) ซึ่งอาจจะมองเหมือนไม่ได้เยอะแต่อย่าลืมว่านี่คือค่า pH จากน้ำในมหาสมุทรทั่วทั้งโลกถูกนำมาเฉลี่ย ดังนั้นความเป็นกรดของมหาสมุทรในปัจจุบันสูงกว่ายุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 30% ซึ่งการเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 200 ปีนี้มันสร้างความเสียหายกับระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างมากมายมหาศาล สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้เกิดขึ้นกับสัตว์จำพวกหอย ปะการังและแพลงก์ตอนในทะเล เนื่องจากสิ่งมีชีวิตพวกนี้ดำรงชีวิตโดยการดูดคาร์บอเนตไอออนที่ละลายอยู่ภายในน้ำในมหาสมุทรมาสร้างเปลือกในการห่อหุ้มพวกมันเพื่อให้พวกมันสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่พอทะเลเป็นกรดมากยิ่งขึ้นคาร์บอเนตไอออนที่ละลายอยู่ในมหาสมุทรก็ลดลง (ตามภาพ) ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตที่จำเป็นต้องพึ่งพาสารประกอบคาร์บอเนตได้รับสารที่จำเป็นเหล่านี้น้อยลงซึ่งส่งผลกับชีวิตของพวกมัน โดยจากการสำรวจพบว่าเหล่าหอยที่มีเปลือกที่อาศัยอยู่ในทะเลเปลือกของพวกมันบางลงจากเดิมมากถึง 25% อีกทั้งยังส่งผลต่อการเติบโตของปะการังเนื่องจากคาร์บอเนตไอออนในมหาสมุทรลดลง ซึ่งปะการังนั้นนอกจากจะเป็นแหล่งของความหลากหลายของระบบนิเวศน์ในทะเลที่สำคัญที่สุดแล้ว มันยังเป็นแหล่งดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่มากอีกแหล่งหนึ่งด้วย ยังไม่รวมพวกแพลงก์ตอนที่อาศัยคาร์บอเนตไอออนที่ในทะเลในการดำรงชีวิตอีกนับล้านล้านตัวที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทร
หากอัตราการรับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขอองมหาสมุทรยังคงอยู่ในอัตรานี้ต่อไป ภายในปี 2100 มหาสมุทรจะมีค่า pH ลดลงเหลือเพียง 7.8 เมื่อถึงระดับนั้นแล้วความเป็นกรดของทะเลจะรุนแรงจะเหล่าสัตว์น้อยใหญ่ไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยงแปลงที่รุนแรงนี้ได้ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองพบว่าหากความเป็นกรดของทะเลสูงระดับนั้นแล้ว เหล่าน้องหอยที่อาศัยอยู่ในทะเลเปลือกของพวกมันจะแตกสลายภายในระยะเวลา 45 วัน! นี่คือทดลองจากหอยที่มีเปลือกสมบูรณ์และโตเต็มวัยแล้ว
ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงระบบนิเวศน์เพียงอย่างเดียวแต่กำลังส่งผลกระทบกับมนุษย์จากปัญหาความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากทุกวันนี้มีประชากรมากกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก อาศัยอาหารจากมหาสมุทรในการดำรงชีวิต ซึ่งหากเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์จากภาวะมหาสมุทรเป็นกรดที่มากกว่านี้ อนาคตปัญหาการขาดแคลนอาหารของประชากรโลกดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
โลกกำลังไหม้
ในทศวรรษที่ 2010 นี้โลกของเราเข้าสู่จุดที่โลกมีประชากรครบ 7 พันล้านคนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลก เราจึงกลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกไปโดยปริยาย เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น จำนวนทรัพยากรที่บริโภคก็เพิ่มขึ้น อีกทั้งอัตราการเกิดเพิ่มขึ้น อัตราการตายลดลง จำนวนทรัพยากรที่บริโภคก็เพิ่มขึ้นไปอีก แถมในช่วงเวลาที่ผ่านมามนุษย์มีความต้องการบริโภคเฉลี่ยต่อคนเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่าจากยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อผืนดินที่มีอยู่สำหรับการเพาะปลูกและปศุสัตว์ไม่เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภค สิ่งที่ทำได้คือรุกรานพื้นที่ส่วนอื่นเพื่อความอยู่รอด
โดยในปัจจุบันพื้นที่ที่เราใช้ในการเกษตรและปศุสัตว์นั้นเราใช้ผืนที่ดินไปมากถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดบนโลก โดยพื้นที่นั้นแบ่งออกเป็นพื้นที่ในการเกษตร 25% และสำหรับการปศุสัตว์ 75%
และอย่างที่เราได้กล่าวไปตั้งแต่แรกว่า มนุษย์ในปัจจุบันมีประชากรทะลุ 7 พันล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว พื้นที่สำหรับการเกษตรตามที่ธรรมชาติให้มามันไม่เพียงพอสำหรับทุกวันนี้อีกต่อไปแล้ว การรุกรานป่าไม้อาจจะเป็นตัวเลือกที่ยากที่จะไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเสียอีก แต่เมื่อเรานำพื้นที่ป่าดั้งเดิมมาคำนวนกับต่อนี้เราจะพบว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าเกินครึ่งหนึ่งถูกมนุษย์ทำลายไปเรียบร้อยแล้ว หรือพื้นที่ป่าที่หายไปต่อปีปีหนึ่งคือประมาณ 8 หมื่นตารางกิโลเมตร
ซึ่งปัจจุบันการรุกรานป่ากำลังดำเนินในอัตราที่น่ากลัว โดยคาดการณ์ว่าหากอัตรายังคงตัวแบบนี้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 100 ปี ป่าฝนดิบชื้นจะหายไปจากโลกใบนี้ ซึ่งจะหายไปพร้อมกับระบบนิเวศน์ที่ซับซ้อนที่สุดในโลก
อีกทั้งการปศุสัตว์นั้นเรียกได้ว่าคือหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้โลกร้อนเป็นอย่างมากเนื่องจากการเลี้ยงสัตว์นั้นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Carbon foot print เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก และสัตว์เหล่านี้ก็ปล่อยแก๊สมีเทนออกมาจากการผายลม ซึ่งมันเป็ล้านตัว ปริมาณแก๊สมีเทนในชั้นบรรยากาศจึงเพิ่มสูงขึ้นและเจ้ามีเทนนั้นมีคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนได้ดียิ่งกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก จึงสามารถพูดได้ว่ายิ่งเรากินมากเท่าไหร่โลกยิ่งร้อน ก็ไม่ผิดนัก
ทะเลพลาสติก
พลาสติกเกิดมาเพื่อลดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติที่หายากขึ้นทุกวัน แล้วทำไมพลาสติกที่เราสร้างทดแทนทรัพยากรจากสิ่งแวดล้อมในทุกวันนี้จึงกลายเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมของโลกที่ฉิบหายอันดับต้น ๆ ของโลก นั้นคือประเภทของพลาสติกที่มากเกินส่งผลให้ยากต่อการคัดแยกและรีไซเคิล
ปัจจุบันโลกมีพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการปิโตรเลียมทั้งหมด 7 ประเภทใหญ่ ๆ ซึ่งปัญหาคือประเภทที่มันเยอะมากมายขนาดนี้ส่งผลให้มันยากต่อการแยกรีไซเคิลว่าประเภทไหนเป็นประเภทไหน เมื่อต้นทุนในการคัดแยกสูงขึ้น ราคาที่ขายได้จากการรีไซเคิลจึงลดลง (ขายเป็นกิโลราคาได้ไม่ถึงสิบบาท) พลาสติกจึงเป็นขยะประเภทเดียวที่มีอัตราการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีน้อยที่สุดในบรรดาขยะ ซึ่งนี่ยังไม่รวมพลาสติกที่เราสร้างมาเพื่อตอบสนองความต้องการบางกลุ่ม เช่นพวก Oxo-Degradable Plastics ซึ่งเป็นพลาสติกที่แตกสลายได้เองจากการได้รับรังสี UV และออกซิเจน โดยมันแตกสลายและทิ้งไมโครพลาสติกไว้ให้เราเห็นเป็นของต่างหน้า ซึ่งพลาสติกพวกนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับพลาสติกประเภทต่าง ๆ ทำให้ยากต่อการแยก และเมื่อเรามึนนำมันไปรีไซเคิลรวมกับพลาสติกชนิดอื่นแล้วจะทำให้พลาสติกที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลนั้นมีคุณภาพที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
เมื่อการผลิตมีราคาที่ถูกกว่าการนำมันไปรีไซเคิลเหมือนผลิตภัณฑ์อื่น (เช่น แก้ว อลูมิเนียม) การโยนทิ้งดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีกว่าของผู้บริโภค ตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมาจากการผลิตพลาสติกเราผลิตไปมากถึง 8.3 พันล้านตัน โดยคาดว่ามันกลายเป็นขยะพลาสติกในกองขยะกว่า 6.3 พันล้านตัน และมันถูกนำไปรีไซเคิลแค่ 600 ล้านตันเท่านั้น โดยกว่า 79% ของขยะพลาสติกยังคงอยู่บนกองขยะ ถึงแม้จะมีเปอร์เซ็นต์ที่เป็นส่วนน้อยที่หลุดรอดไปตามสิ่งแวดล้อม แต่จำนวนปริมาณของขยะพลาสติกที่มหาศาลก็มันก็ไม่น้อยเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ผลิตพลลาสติกชิ้นแรกของโลกเรารีไซเคิลมันได้เพียง 9% ของจำนวนพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
การหลุดรอดของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ของโลก อย่างที่เราเห็นตามสื่อต่าง ๆ ที่ผ่านมาในช่วงนี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของสังคมเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ใต้สมุทรที่ลึกที่สุด จนถึงบนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก
เมื่อก่อนมันเป็นเรื่องที่ประหลาดใจหากมีปลาสัตว์ไปติดอยู่ในถุงพลาสติก แต่ถ้าเรามองในสถานการณ์ปัจจุบัน เราจะไม่แปลกใจเลยหากมีปลาติดอยู่ถุงพลาสติก
ปัจจุบันมีจำนวนขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรกำลังจะใกล้เคียงกับจำนวนปลาที่ดำรงชีวิตอยู่ในมหาสมุทร ด้วยปริมาณขยะ มันจึงไม่น่าแปลกใจหากว่าสิ่งมีชีวิตเริ่มหลงผิดมองเห็นว่าถุงพลาสติกสักใบเป็นอาหารมื้อสุดท้ายของพวกมัน
จากการสำรวจจากหลาย ๆ หน่วยงานทั่วทุกมุมโลกนั้น งานวิจัยทั้งหมดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ สัตว์น้ำในปัจจุบันหลงกินไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกายของพวกมันและสะสมอยู่ภายในตัวของพวกมันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะทางตรง (กินเข้าไปตรง ๆ ) หรือทางอ้อม (ปลาใหญ่กินปลาเล็ก) ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นผลดีกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเลย เมื่อมนุษย์ยังคงต้องบริโภคโปรตีนจากมหาสมุทรและสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสายใยอาหารที่เหล่าสัตว์หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบกับสัตว์น้อยใหญ่ขึ้นมานอนตายเกยตื้นบริเวณชายฝั่งกันเป็นจำนวนที่มากขึ้น และทุกครั้งที่มีการชันสูตรศพเหล่านี้ก็จะพบกับขยะพลาสติกมากมายสะสมอยู่ท้องของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นนกทะเล เต่าทะเล วาฬ แมวน้ำ หรือข่าวในช่วงปีนี้พะยูนมาเรียมก็ตายเนื่องจากมีการกินพลาสติกเข้าไปสะสมอยู่ในกระเพาะอาหารและเกิดการอักเสบจนตายลง
ซึ่งตอนนี้งานวิจัยก็เห็นพ้องต้องกันว่าทุกวันนี้อาหารที่พวกเรากินเข้าไปก็มีส่วนผสมของไมโครพลาสติกอยู่ในปริมาณที่ไม่น้อยแต่ยังไม่มีความเห็นเกี่ยวกับไมโครพลาสติกที่เรารับประทานเข้าไปส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะหรือไม่ อย่างไร แต่อย่างไรก็ตามการที่มีสิ่งแปลกปลอมอย่างไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายของพวกเราอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเช่นนี้ก็ไม่อาจจะเป็นผลดีต่อร่างกายของเรราเท่าไหร่นัก
กระแสรักษ์โลก ทำลายโลก
เรามั่นใจว่าผู้อ่านที่กำลังอ่านคอลั่มในบทความนี้อยู่ทุกคนต้องเคยได้รับถุงผ้ารักษ์โลกแจกฟรีจากร้านค้าต่าง ๆ มาก่อนแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันเราเริ่มเห็นคนหลายคนเริ่มหันมาจับกระแสรักษ์โลกผ่านทางการลดการใช้ถุงพลาสติกแล้วหันมาใช้ถุงผ้ากันมากขึ้นเพื่อหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษ์โลก แต่ว่าเรามองเพียงภาพ ๆ เดียวที่เกิดจากการไม่ได้ใช้ถุงพลาสติกเพียงอย่างเดียวจนลืมคิดถึงเบื้องหลังของถุงผ้า
เอาจริงถุงพลาสติกเกิดขึ้นมาในยุคที่ผู้คนทุกคนใช้ถุงกระดาษกันเป็นกิจวัตร ซึ่งแบรนด์ร้านค้าต้องการลดต้นทุนจากถุงกระดาษจึงเลือกที่จะหันปรับเปลี่ยนมาใช้ถุงพลาสติกด้วยต้นทุนที่ถูกกว่ากระดาษแต่ทนทานกว่าและสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้มากกว่าถุงกระดาษ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็อย่างที่เราเห็น จากความตั้งใจต้องการทำให้ถุงพลาสติกถูกกลับมาใช้ซ้ำได้อีกเรื่อย ๆ มันไม่เป็นไปตามที่เขาคาดหวังสุดท้ายผู้บริโภคก็หยิบเลือกความสบายของตนเป็นที่ตั้งและทิ้งถุงพลาสติกอย่างไม่ใยดี
ถุงผ้าทำมาจากผ้าแล้วผ้าทำมาจากอะไร หลายคนอาจจะมองว่าผ้าทำมาจากใยที่มาจากธรรมชาติ แต่ถ้าจะเอาตามตรงผ้าในทุกวันนี้นั้นแทบจะทั้งหมดมาจากใยสังเคราะห์หรือพลาสติกนั้นเอง ซึ่งสุดท้ายมันก็คือพลาสติกอยู่ดีนั้นแหละ ซึ่งสรุปมันก็ไม่สามารถที่จะพูดได้อย่างเต็มปากว่าถุงผ้าที่ใช้รักษ์โลกช่วยลดการใช้พลาสติก ช่วยลดโลกร้อน ในเมื่อของเหล่านี้ล้วนทำมาจากพลาสติก และต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมของถุงผ้ารักษ์โลกเหล่านี้ก็มากกว่าต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของถุงพลาสติกหนึ่งใบ ซึ่งหากต้องการใช้ถุงผ้าให้เท่ากับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของถุงพลาสติก 1 ใบ คุณต้องใช้ถุงผ้านั้นมากกว่า 300 ครั้งมันถึงจะสามารถใช้งานได้คุ้มค่าเทียบกับถุงพลาสติก 1 ใบที่เราใช้งานกันตามปกติ (ใช้จนขาดบางครั้งยังไม่ถึง 300 ครั้งเลย)
แล้วหากเป็นผ้าที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติอย่าง ฝ้าย เป็นต้น ฝ้ายนับว่าเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มี Carbon foot print เยอะที่สุดผลิตภัณฑ์หนึ่ง ยกตัวอย่างกระบวนการในการผลิตกางเกงยีนส์สักตัวหนึ่ง กว่าที่จะได้กางเกงยีนส์แต่ละตัว มันใช้น้ำในกระบวนการตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงการจัดส่งมากเกือบ 4,000 ลิตรเลยทีเดียว ซึ่งมากกว่าจำนวนปริมาณน้ำที่ใช้ในครอบครัวใหญ่ 1 วันด้วยซ้ำ อีกทั้ง Carbot foot print ที่มาจากภาคการขนส่งและการบรรจุภัณฑ์สินค้า นี่คือเป็นเหตุผลที่ผ้าฝ้ายมีราคาที่สูงและต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่สูงมากอีกด้วย ซึ่งถ้าหากต้องการใช้ถุงผ้าฝ้ายให้คุ้มค่ากับต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมจนเทียบเท่ากับต้นทุนสิ่งแวดล้อมของถุงพลาสติกนั้นอาจต้องใช้ระยะเวลาใช้งานเท่ากับตลอดชีวิตของผู้ใช้งานถึงจะให้คุ้มค่ากับต้นทุนของถุงพลาสติก
สิ่งที่อยากให้ตระหนักในส่วนนี้คืออยากให้หลายฝ่ายมองมากกว่ามุมมองด้านใดด้านหนึ่ง ถุงพลาสติกไม่ได้เป็นสิ่งที่แย่สำหรับโลกใบนี้แต่พฤติกรรมใช้แล้วทิ้งของมนุษย์ต่างหากคือพฤติกรรมที่สร้างปัญหา มนุษย์พยายามคิดหาวิธีใหม่ที่แก้ปัญหาดั้งเดิมทั้งที่ปัญหาขยะพลาสติกเหล่านี้แก้ไขได้อย่างโดยง่ายได้เพียงแค่ใช้ของเหล่านี้ให้น้อยลงแล้วพกของใช้ที่สามารถใช้ซ้ำได้ เช่น ตะกร้าหวาย กระเป๋า ปิ่นโต ซึ่งเมื่อก่อนในยุคสมัยที่เรายังไม่ของใช้ประเภทใช้แล้วทิ้งเราก็ยังสามารถดำเนินชีวิตไปได้แต่เพราะเหตุใดในทุกวันนี้เรากลับใช้ชีวิตโดยขาดจากของใช้แล้วทิ้งพวกนี้ไม่ได้อย่างนั้นเสีย เอาง่าย ๆ แค่ใช้ถุงพลาสติกหนึ่งใบซ้ำมากกว่า 1 สัปดาห์ เท่านี้เราก็สามารถ “ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าการเลือกจ่ายเงินตามโปรโมชั่นเพื่อแลกรับถุงผ้ารักษ์โลกฟรีที่แคชเชียร์” ได้มากแล้ว
โดยตามปกติมนุษย์แบ่งงานออกเป็น 4 ประเภทนั้นคือ
- งานที่สำคัญและเร่งด่วน
- งานที่สำคัญแต่ไม่ได้เร่งด่วน
- งานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน
- งานที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน
โดยสมองของมนุษย์นั้นมักจะจัดการแยกแยะความสำคัญกับความเร่งด่วนออกจากกันไม่ค่อยได้เท่าไหร่นัก โดยส่วนมากงานที่สำคัญและเร่งด่วนเรามักสามารถจัดการมันได้อย่างดีแต่เราจะมีปัญหาเมื่อเราต้องทำการเลือกระหว่าง งานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน กับงานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน ซึ่งเรามักจะหลงผิดไปเลือกงานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วนมากกว่างานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เช่น การดูละครหลังข่าว การรีบวิ่งไปซื้อรองเท้าที่กำลังลดราคาเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หรือการรีบไปกินหมูกระทะที่กำลังจัดโปรโมชั่นลดราคากับเพื่อน ซึ่งการที่เรานำเวลาไปใช้กับการให้ความสำคัญกับงานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วนเหล่านี้มันทำให้เวลาที่มีอยู่ไม่เหลือพอสำหรับการไปจัดการกับงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน อย่าง การออกกำลังกาย การลดน้ำหนัก หรือการจัดการปัญหาครอบครัวในระยะยาว เช่นเดียวกับปัญหาโลกร้อน หลายฝ่ายมองว่ามันเป็นปัญหาที่สำคัญ (จริงหรือไม่จริงอันนี้ไม่แน่ชัด) แต่ก็เลือกที่จะมองข้ามไปเพราะคิดว่าปัญหานี้ยังมีเวลาอีกนานสำหรับการแก้ไข แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างอื่นก่อนน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ จนลืมคำนึงไปว่า เราทุกคนล้วนอยู่บนโลกใบนี้ ใบเดียวกัน การที่มั่วแต่ผลัดวันประกันพรุ่งของปัญหาโลกร้อน เหมือนการปล่อยปะละเลยปัญหานี้ให้เป็นดินพอกหางหมู จนวันหนึ่งปัญหานั้นมันก็ใหญ่และรุนแรงเกินกว่าที่มนุษย์จะแก้ไขได้ ดังนั้นการที่จะแก้ไขปัญหาความฉิบหายทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นั้นจะแก้ไขไม่ได้เลยหากเรายังคงยึดติดในมุมมองของระบอบรัฐชาติ ที่ทุกคนต่างมองเห็นประโยชน์เฉพาะของประเทศตนมากกว่าประโยชน์ของทุกคนทุกฝ่ายที่จะได้รับจากการร่วมมือกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม