ดาวหางฮัลเลย์ การจากลา เพื่อกลับมาพบกันใหม่ในอีก 75 ปี

มีคนเคยกล่าวกับผู้เขียนไว้ว่า “ดาวหางฮัลเลย์ก็เหมือนคนที่รักเรา เขาจะยังวนมาเจอเราเรื่อย ๆ ไม่ไปไหน ” ถ้าวันที่ดาวหางฮัลเลย์โคจรจากไปเป็นวันเดียวกันกับวันที่คนที่เรารักเขาและเขารักเราต้องโคจรจากกันไป ใน 75 ปีข้างหน้าเขาอาจจะกลับมาอีกก็ได้ เหมือนการวนกลับมาเจอโลกของดาวหางฮัลเลย์ แล้ววันนั้นการดูดาวหางของคุณอาจจะโรแมนติกและควรค่าแก่การรอคอยเป็นอย่างยิ่ง

ฮัลเลย์เป็นดาวหางดวงเดียวที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ที่มีคาบการโคจรต่ำกว่า 200 ปีด้วยกัน และยังเป็นเพียงดวงเดียวเท่านั้นที่อาจมาให้เราเห็นได้ถึงสองรอบในช่วงชีวิตของคน ๆ หนึ่ง มารู้จักกับดาวหางฮัลเลย์เพิ่มเติมกัน ก่อนที่มันจะกลับมาหาพวกเราอีกครั้งในเวลา 41 ปีต่อจากนี้

องค์ประกอบของฮัลเลย์

ดางหางฮัลเลย์นั้นประกอบไปด้วยน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นและแอมโมเนีย มีขนาดราว ๆ 15 กิโลเมตร x 8 กิโลเมตร และความงามอันเป็นเอกลักษณ์ของบรรดาดาวหางคือ เมื่อมันโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากพอที่จะได้รับผลกระทบจากอุณภูมิของดวงอาทิตย์ มันจะเกิดเป็นลำแสงออกมาพวยพุ่งเป็นหางยาวอย่างที่เราเห็น

ลักษณะของดาวหาง เมื่อเคลื่อนเข้าใกล้กับดวงอาทิตย์ – ที่มา สมาคมดาราศาสตร์ไทย

รูปแบบการโคจรของดาวหางฮัลเลย์

ภาพแสดงวงโคจรของดาวหางฮัลเลย์ – ที่มา Stem.in.th

จากรูปภาพประกอบข้างบน เราจะเห็นได้ว่าวงโคจรของดาวหางฮัลเล่ย์มีลักษณะเป็นวงรีที่มีความรีสูง และเคลื่อนที่ออกไปไกลเกินวงโคจรของดาวเนปจูนก่อนจะวนกลับมา ซึ่งจุดตัด 2 จุดระหว่างวงโคจรของโลกกับวงโคจรของดาวหางฮัลเลย์จะปรากฎสิ่งที่เรียกว่า “ฝนดาวตก” ซึ่งมันเป็นฝุ่นที่ดาวหางฮัลเลย์ทิ้งไว้ขณะเคลื่อนที่ผ่าน แม้เราจะไม่เห็นดาวหางฮัลเลย์ทุกปี แต่เราก็ได้เห็นฝุ่นของมัน ซึ่งเป็นหลักฐานว่าดาวหางฮัลเลย์และโลกได้เคยพบกันตรงนี้

การทำนายของฮัลเลย์

ในปีค.ศ. 1705 Edmond Halley นักดาราศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ นักวิชาการฝนดาวตก และนายแพทย์ชาวอังกฤษคนนี้ได้ตีพิมพ์ผลงานที่แสดงการคำนวณให้เห็นว่า ดาวหางที่เห็นบนท้องฟ้าในปี ค.ศ. 1531 ค.ศ. 1607 และ ค.ศ. 1682 จริง ๆ แล้วเป็นดาวหางดวงเดียวกัน และเขายังทำนายว่ามันจะปรากฏตัวอีกครั้งในปี ค.ศ. 1758 ซึ่งระยะห่างในการปรากฎคือ ราว ๆ 75 – 76 ปี แม้เขาจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่พิสูจน์การคำนวณของเขาด้วยตนเองได้ แต่คนทั่วโลกก็ได้ประจักษ์กันดีแล้วว่า การคำนวณของเขานั้นถูกต้อง  จึงเป็นที่มาของชื่อดาวหางฮัลเลย์

และเราจะได้เห็นดาวหางฮัลเลย์อีกครั้งในปี ค.ศ. 2061 ซึ่งจะนับเป็นเวลาอีก 41 ปีต่อจากนี้ ถ้ายังไม่หมดอายุขัยกันไปเสียก่อน

ภาพถ่ายดาวหางฮัลเลย์ในปี ค.ศ. 1986 – ที่มา NASA

และอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า แม้การรอคอยการกลับมาของดาวหางฮัลเลย์จะยาวนาน แต่ทุก ๆ ปีเราจะได้เห็นสิ่งที่ดาวหางฮัลเลย์ได้ทิ้งไว้ให้ นั่นก็คือฝนดาวตก ซึ่งในแต่ละปีเราจะสามารถเห็นฝนดาวตกจากฝุ่นของดาวหางฮัลเลย์ได้ 2 ครั้งด้วยกัน นั่นคือในเดือนพฤษภาคม และเดือนตุลาคม ซึ่งฝนดาวตกที่ปรากฏให้เห็นในเดือนพฤษภาคมนั้นมีชื่อเรียกว่า ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ และในส่วนของฝนดาวตกเดืออนตุลาคมนั้นมีชื่อเรียกว่า ฝนดาวตกกลุ่มดาวนายพราน แต่อันที่จริงแล้วกลุ่มดาวทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรมากหรอก เพียงแต่ว่าเป็นฉากหลังให้เท่านั้นเอง

เมื่อจินตนาการถึงวันที่เข็มของนาฬิกาพาเราไปถึงวันที่ดาวหางฮัลเลย์โคจรมาเจอโลกอีกครั้ง แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็จินตนาการไม่ออกว่าวันนั้นเราจะนั่งมองแสงของดาวหางที่พุ่งพวยออกมากับใคร ที่ไหน และตอนนั้นเราจะยังเป็นคนเดิม เป็นคนที่ดีขึ้น หรือเป็นคนที่แย่ลงกัน แทบไม่มีอะไรแน่นอนเลยยกเว้นการกลับมาของดาวหางฮัลเลย์ ที่ยังไงมันก็จะกลับมาเจอโลกเสมอ

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง

Halley’s comet

1P/Halley

กิ๊ก นิศาชล - ลาออกจากโรงเรียนเพราะไม่ชอบระบบการศึกษา ชอบอวกาศ เพราะอวกาศแสดงความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสิ่งและทุกศาสตร์ รักแมวเหมียว ร้องเมี๊ยวๆเดี๋ยวก็มา