อาการนอนไม่หลับของนักบินอวกาศ และแนวทางการแก้ปัญหาจาก NASA

หลายครั้งที่คนเราต้องพบเจอกับปัญหาการนอนไม่หลับ หากเป็นบ้างบางวันคงไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร แต่หากเป็นติดกันเป็นเวลานานจนเกิดผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุการนอนไม่หลับและวิธีแก้ไข บ่อยครั้งที่แพทย์มักเลือกที่จะจ่ายยาให้ผู้มีปัญหาการนอนไม่หลับเพื่อให้หลับง่ายขึ้น แต่ยานอนหลับมีผลข้างเคียงเสมอ

คำถามคือ แล้วนักบินอวกาศที่มีอาการนอนไม่หลับจะแก้ปัญหาอย่างไร พวกเขาจะต้องรับประทานยานอนหลับขณะปฎิบัติภารกิจในอวกาศหรือไม่

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการนอนหลับ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 7 ข้อดังต่อไปนี้

  • ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น แสงสว่าง หรือเสียงดัง เป็นต้น
  • อาการเจ็บป่วย ในที่นี้รวมอาการเจ็บป่วยทางจิตใจด้วย เช่น โรคซึมเศร้า เป็นต้น
  • ความเครียด, วิตกกังวล, แรงกดดันจากสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน
  • แอลกอฮอล์, คาเฟอีนในกาแฟ หรือบุหรี่
  • ท้องว่าง หรืออิ่มมากเกินไป
  • ภาวะการนอนหลับผิดปกติ เช่น การนอนละเมอ หรือฝันร้าย เป็นต้น
  •  การไม่มีเวลานอนอย่างชัดเจน

จะเห็นได้ว่าจากปัจจัยทั้ง 7 ข้อที่กล่าวมา นักบินอวกาศจะต้องพบเจอสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับอย่างน้อยก็ 2 ข้อ นั่นคือ การนอนที่จะต้องเจอกับแสงตลอดเวลา เพราะสถานีอวกาศนานาชาติเดินทางรอบโลกทุก ๆ 92 นาที เหล่านักบินอวกาศจึงต้องเจอกับพระอาทิตย์ขึ้นและตก 16 ครั้งต่อวัน นั่นทำให้ร่างกายขณะอยู่ในอวกาศหลั่งฮอร์โมนผิดไปจากร่างกายที่อยู่บนโลก และการออกไปใช้ชีวิตในอวกาศมีหลายอย่างที่ไม่เป็นดั่งบนโลก นั่นอาจทำให้นักบินอวกาศเครียด หรือวิตกกังวลได้

NASA pagou $18k para este homem passar 70 dias deitado numa cama ...
เบาะนอนติดผนังที่ใช้ในสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA

เมื่อยานอนหลับไม่ตอบโจทย์การเป็นนักบินอวกาศที่ต้องปฎิบัติภารกิจเสี่ยงชีวิตในอวกาศ เช่นการทำ EVA ที่จะต้องใช้เวลาทำงานอยู่นอกสถานีอวกาศอย่างน้อย 6 ชั่วโมง โดยไม่มีการพัก ซึ่ง NASA ต้องการให้นักบินอวกาศพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพื่อประสิทธิภาพการทำงานขั้นสูงสุด และการมีสติอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวนักบินอวกาศเอง ฉะนั้น CBT หรือ Cognitive Behavioral Therapy จึงถูกนำมาเป็นหลักในการช่วยให้นักบินอวกาศนอนหลับ

CBT คือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรม โดยนักบำบัดจะใช้วิธีการพูดคุยเพื่อให้ผู้ถูกบำบัดค่อย ๆ พูดถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริงออกมา เช่น สาเหตุที่ทำให้เครียดแท้จริงแล้วคืออะไร เป็นต้น หลายครั้งที่ผู้ถูกบำบัดมักจะพูดถึงสาเหตุออกมาอย่างไม่รู้ตัว เมื่อสาเหตุของทุกข์ถูกนำมาวางไว้ตรงหน้าของทั้งนักบำบัดและผู้ถูกบำบัดแล้ว นักบำบัดจะค่อย ๆ ทำการชำแหละความคิดของผู้ถูกบำบัดออกมาเพื่อให้ผู้ถูกบำบัดรู้เองว่าหนทางแห่งการดับทุกข์คืออะไร เช่น การเครียดจากความกังวลถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น วิธีแก้คือ เชื่อมั่น, ปล่อยวาง และยอมรับว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะผ่านไปได้ เป็นต้น

ตารางการนอนของนักบินอวกาศ ที่มา – NASA via Space.com

โดยการทำ CBT ในอวกาศนั้น นักบำบัดจาก Johnson Space Center ที่ถูกเตรียมการไว้รับมือกับปัญหานี้จะทำการโทรหาเหล่านักบินอวกาศเพื่อบำบัด และนอกจาการทำ CBT แล้ว นักบินยังต้องทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยเพื่อให้นาฬิกาชีวิตไม่ผิดเพี้ยนไปจากบนโลก โดยเริ่มจากการนอนตามตารางการนอนอย่างเคร่งครัดตามตารางด้านบนนี้ ซึ่งตารางการนอนหลับของเหล่านักบินอวกาศจะแตกต่างกันออกไป และจะถูกวางแผนล่วงหน้ามาโดยละเอียด

ต่อมาคือการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิ, แสง, เสียง, คาร์บอนไดออกไซด์ และเบาะนอนแบบพิเศษที่ช่วยให้ไม่ลอยเคว้งคว้างขณะนอนหลับ โดยไฟที่ใช้ในสถานีอวกาศนานาชาติได้ถูกเปลี่ยนจาก General Luminaire Assemblies (GLAs) ไปเป็นแบบ Solid-State Light Assemblies (SSLAs) ซึ่งเสปกตรัมและความส่องสว่างสามารถปรับได้เพื่อช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวยามตื่นนอนและผ่อนคลายยามนอนหลับ

ไฟที่ใช้บนสถานีอวกาศนานาชาติ ที่มา – NASA via Space.com

สำหรับใครที่มีปัญหานอนไม่หลับอาจจะเริ่มสังเกตสิ่งรอบตัวกับพฤติกรรมของตนก่อนว่าเหตุใดจึงนอนไม่หลับ หากเป็นที่สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมนอนหลับไม่เป็นเวลา อาจลองนำวิธีจัดการกับสิ่งแวดล้อมและทำตารางการนอนหลับไปใช้ แต่หากไม่สามารถจัดการกับตนเองได้ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ บางทีอาการนอนไม่หลับอาจมาจากการเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือจิตใจได้

ส่วนการทำ CBT นั้นเป็นสิ่งที่แพทย์และนักบำบัดจะต้องใช้บำบัดอยู่แล้วหากพบว่าอาการนอนไม่หลับมาจากความเครียด หรือความเจ็บป่วยทางจิตใจด้วยโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ในฐานะผู้ถูกแพทย์บำบัดด้วยการทำ CBT ขอยืนยันอีกเสียงว่า CBT เป็นวิธีการที่ยอดเยี่ยมและใช้ได้ผลจริง ๆ แต่ควรรับการทำ CBT จากผู้เชี่ยวชาญ เพราะคำพูดเล็กน้อยอาจส่งผลต่อจิตใจกับผู้ป่วยทางจิตเวชที่รับการบำบัดได้

อ้างอิง

Sleepless in Space: Therapy Helps Astronauts Snooze

Sleeping in Space: How Astronauts Get a Good Night’s Rest

กิ๊ก นิศาชล - ลาออกจากโรงเรียนเพราะไม่ชอบระบบการศึกษา ชอบอวกาศ เพราะอวกาศแสดงความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสิ่งและทุกศาสตร์ รักแมวเหมียว ร้องเมี๊ยวๆเดี๋ยวก็มา